สมรส


สมรส สม รส

เมื่อคืนวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๕ ผู้เขียนได้ไปร่วมงานมงคลสมรสของเพื่อนโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย (ม.๖ รุ่น ๒) ซึ่งโดยปกติทุกๆ ปี พวกเราเพื่อนโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย (ม.๖ รุ่น ๒) จะจัดงานเลี้ยงรุ่นโรงเรียนในช่วงของวันหยุดของปีใหม่ อย่างไรก็ดีในปีนี้ พวกเราก็เลยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันรวมรุ่นเลี้ยงรุ่นพร้อมแสดงความยินดีกับเพื่อนไปด้วย สำหรับเพื่อนของผู้เขียนนั้นเป็นเพื่อนชาย (หากเป็นเพื่อนหญิงคงอาจจะเลยวันอันควรไปแล้ว) ที่แต่งกับรุ่นน้องอายุห่างกัน ๒๐ ปี (ก็ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าจะรุ่นน้องหรือไม่)

เพื่อนๆ ของผู้เขียนก็เลยรวมตัวกันก่อนเข้างาน โดยเมื่อพร้อมก็ไปลงทะเบียนและเขียนคำอวยพรพร้อมกัน โดยเพื่อนๆ ให้ผู้เขียนเป็นคนที่เขียนนำก่อน ช่วงเสี้ยวของวินาทีทำให้ผู้เขียนคิดว่าจะเขียนว่าอะไรดี ก็เลยเขียนคำว่า "สมรส"

มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าเขียนเพียงคำว่า "สมรส" เท่านั้นเหรอ ด้วยเวลาที่เร่งรีบที่มีผู้คนเพื่อนๆ รออยู่ด้านหลัง ผู้เขียนก็เลยเขียนขยายต่อไปเป็นดังนี้

สม คือ ขอให้สมปรารถนาทุกเรื่องในชีวิตคู่

รส คือ ขอให้มีรสชาติของความสุขในชีวิตคู่

ที่นี้เมื่อผู้เขียนเข้าไปในงานก็เลยนึกคิดต่อว่า "เราน่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ คำว่า สมรส" เพิ่มเติมก็น่าจะดี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของเรื่องนี้ ดังนั้น จึงขอเริ่มด้วยคำว่า " สม" ก่อน

"สม" หมายถึง เหมาะ พอดี ร่วมกัน เหมือนกัน เป็นดั่ง โดยคำว่า "สม" เรามักจะไม่ใช้หรือเห็นเป็นคำโดดๆ หรือเดี๋ยวๆ ซึ่งโดยส่วนมากเราจะพบเห็นเป็นว่า "สม" นั้นมักอยู่ด้านหน้าของคำอื่นๆ เช่น

สมหวัง สมประสงค์ สมนึก คือ เป็นดั่งที่หวังไว้

สมใจ สมฤดี คือ เป็นเหมือนที่ใจได้ตั้งไว้

สมชาย คือ เป็นชายอย่างเหมาะพอดี เป็นต้น

แต่บางครั้ง คำว่า "สม" หากอยู่ด้านหน้าของคำอื่นก็อาจจะความหมายไม่ค่อยดีสักเท่าไรนัก เช่น

สมน้ำหน้า คือ (ผู้เขียนไม่ขอออกความเห็น)

สมเพช คือ (ผู้เขียนไม่ขอออกความเห็น) เป็นต้น

สำหรับ "รส" ท่านผู้อ่านคงจะทราบดีว่าหมายถึงอะไร ซึ่งโดยส่วนมากแล้วมักจะเกี่ยวกับการกิน (รับประทานที่ใช้ประสาทของลิ้นรับรู้) อันเป็นเรื่องของรสชาติ ประกอบด้วย รสเผ็ด รสเค็ม รสขม รสเปรี้ยว รสหวาน รสจืด (ไม่แน่ใจว่าเขาเรียกว่ารสหรือไม่) รสเด็ด (คงจะหมายถึงรสชาติที่เอร็ดอร่อยอย่างมาก) แต่ก็ยังมี "รส" อีกอย่างหนึ่งที่อาจจะไม่เกี่ยวกับการใช้ประสาทของลิ้น รสที่ว่าคือ "รสนิยม" อันหมายถึง ความชอบ ความพอดี ความพอใจ ความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

ดังนั้น จากความหมายข้างต้นของคำว่า "สม" และ "รส" หากว่าเรานำมาใช้รวมกันโดยให้ "สม" อยู่ด้านหน้าของคำว่า "รส" ก็จะมีความหมาย เป็นดังนี้ (แต่หากว่าเอา "รส" ขึ้นก่อน "สม" แล้ว ผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหมายถึงอะไร)

สมรส คือ สองสิ่ง (ชายกับหญิง หรือ ชายกับชาย หรือ หญิงกับหญิง) ที่มีความเหมาะสม เหมือนกัน พอดีกัน มีจิตใจร่วมกันพร้อมที่จะเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้สถานการณ์ที่มีหลากหลาย (หลากหลายรสชาติ : หวาน มัน เค็ม เปรี้ยว ขม จืด แต่ไม่ควรที่จะเรียงลำดับของชีวิตสมรสตามนี้นะครับ หวาน มัน เค็ม เปรี้ยว ขม จืด)

ครับ สุดท้ายนี้ หากท่านใดที่สมรสแล้วก็จง “สมรส” ต่อไปด้วยรสชาติของความหวานในชีวิตตลอดไป  และท่านใดที่สมรสแล้วรสชาติมันขมก็เติมความหวานเข้าไป ส่วนท่านใดที่ยังไม่ “สมรส” ก็ขอให้ “สม” ก่อนก็แล้วกันครับ

คำสำคัญ (Tags): #สมรส สม รส
หมายเลขบันทึก: 473424เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท