๒๒๙.ปีเก่าสอนใจ-ปีใหม่สอนธรรม


ในอดีต พระพุทธเจ้าอาศัยปัญหา ค้นหาปัญหาและทางออกด้วยปัญญา จึงได้ตั้งทฤษฎีแห่งการเผชิญหน้ากับปัญหานั้น ๆ ว่า "อริยสัจจ์สี่" จึงเป็นผู้รู้แจ้งโลก คนไทยในฐานะเป็นพุทธสาวก ควรน้อมนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้เพื่อให้รู้แจ้งธรรมบ้าง...

  

     ปีเก่าผ่านไปแล้ว ด้วยเรื่องราวมากมายหลายประการ ประสานกันหมุนเวียนเปลี่ยนกันเข้ามาทั้งดีและร้าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งคน ประเทศ และโลก แต่ละเหตุการณ์ล้วนแล้วเป็นบทเรียนสำหรับชีวิตแทบทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับมุม พื้นที่ และเวลาที่เรามองออกไป เช่น เหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมา หากมองในแง่ปัญหาก็พาให้เศร้าใจ เนื่องจากผลของเหตุการณ์บ่งบอกถึงการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เวลา โอกาส ฯลฯ อย่างน่าโหยหายิ่ง

     แต่หากมองในแง่ของปรัชญา ก็จะทำให้ดูได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  โดยมองในสิ่งดี ๆ จากมุมมองที่แย่ ๆ ได้เสมอ เช่น การมองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง การผันแปรของสิ่งแวดล้อม อารมณ์ของผู้คน ความรักความสามัคคี ความเอื้ออาทร การชำระล้างในสิ่งที่ไม่ดีให้จากไปกับสายน้ำ เป็นต้น

     นั้นก็แสดงว่า เราได้เรียนรู้แล้วว่าจิตใจเราหนักแน่น นิ่ง หวั่นไหว ฯลฯ มากน้อยแค่ไหน? หลาย ๆ คนให้คะแนนตนเองเต็มสิบ หลาย ๆ คน ก็ให้ ๙, ๘, ๗, ๖, ........จนถึง ๐ คะแนน หรืออีกหลายท่านอาจมีติดลบด้วยซ้ำไป

     สถานการณ์เหล่านี้ บอกใบ้อะไรให้กับเรา เราจะเสริมความเข้มแข็งให้กับภาวะจิตใจได้อย่างไร?

 

     ปัญหาทุกปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นบททดสอบของชีวิต ความคิดของคน ว่าจะวางท่าที่ ในการเผชิญหน้า และแก้ปัญหาอย่างไร? เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด เหมือนนักกีฬาก่อนการแข่งขันมักจะมีการฝึกซ้อมกันอย่างหนัก แต่เมื่อลงแข่งขัน พี่เลี้ยงหรือโค้ช ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยในสนามได้ฉันใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ย่อมหมายถึงการลงเล่นสนามจริง ไร้ซึ่งครูผู้ฝึกสอนและพี่เลี้ยง

     หากขยับเข้ามา มองดูเฉพาะปัญหาชีวิตของแต่ละบุคคล ล้วนแล้วเป็นปัญหาเฉพาะตัว เป็นปัญหาที่ใคร ๆ ไม่สามารถช่วยเหลือ หรือแก้ให้สำเร็จเด็ดขาดได้ ยกเว้นตัวของบุคคลนั้น ๆ เอง เนื่องจากที่มาของปัญหา สิ่งแวดล้อม เงื่อนไข เป็นของปัจเจกบุคคล ไร้ซึ่งความเข้าใจจากบุคคลรอบข้าง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่คิด ซึ่งผู้บอกเล่าเองก็จะบอกในสิ่งที่อยากบอกให้ฟัง และเก็บงำในส่วนหนึ่งไว้ เรียกง่าย ๆ ว่าบอกข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียว

     ปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้อื่นเพียงแต่รับทราบเท่านั้น แต่จะให้ร่วมแก้นั้น ก็แก้ไม่ถูกจุดเสียที เนื่องจากปัญหาดังที่กล่าวมา แต่อยากนำเสนอเพียงสั้น ๆ ว่า ทุกข์หรือปัญหานั้น เราต้องมองมาจากข้างใน คือน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง (โอปนยิโก-ศึกษาจากกายที่กว้างหนึ่งศอก ยาวหนึ่งวา หนาหนึ่งคืบของตนเอง) ซึ่งจะทำให้ทราบชัดได้ด้วยตัวเอง (ปัจจัตตัง) เพราะความจริงแล้ว สาเหตุที่แท้นั้นอยู่ที่ใจ ว่าจะปรุงแต่ง เพิ่มเติมสีสัน ให้ยุ่งยากกว่าเดิมหรือไม่? อย่างไร?

     ดังนั้น ปีเก่าที่ผ่านไป จงถือเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาสอนใจ ส่วนปีใหม่ที่กำลังดำเนินไปอยู่นี้ ให้เอาไว้สอนธรรม กล่าวคือ ถ้าเราเชื่อในทฤษฎีของพระพุทธเจ้า หลักที่ว่าด้วย "ไตรลักษณ์" (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เราจะสามารถเตรียมพร้อมรับมือไว้ทุกสถานการณ์ หากสิ่งที่เตรียมไว้ไม่ได้ผล ก็ยังเตรียมใจเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์นั้น ๆ 

     ปี ๒๕๕๔ ผ่านไป ควรหาเวลานั่งเงียบ ๆ เพื่อประมวลในสิ่งที่เกิดขึ้น ลองให้คะแนนสำหรับตนเองว่าผ่านวิกฤติทั้งเล็กใหญ่ ปานกลาง หนักหนาอย่างไร? จงมองดูวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นว่าได้ผลแค่ไหน? ท่าทีที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์เป็นแบบใด? สุดท้ายตนเองพอใจหรือไม่? อย่างไร? .............เป็นการสรุปผลอย่างคราว ๆ

     ส่วนปี ๒๕๕๕ นี้เราได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้? เตรียมการอะไรไว้บ้าง? แนวทางที่จะเป็นมีหรือไม่? โอกาสจะเปิดให้แค่ไหน? จะทำอะไรก่อนหลังดี? .............ก็ควรจะคิดไว้บ้าง?

     ในอดีต พระพุทธเจ้าอาศัยปัญหา  ค้นหาปัญหาและทางออกด้วยปัญญา จึงได้ตั้งทฤษฎีแห่งการเผชิญหน้ากับปัญหานั้น ๆ ว่า "อริยสัจจ์สี่" จึงเป็นผู้รู้แจ้งโลก คนไทยในฐานะเป็นพุทธสาวก ควรน้อมนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้เพื่อให้รู้แจ้งธรรมบ้าง...

..............................

ข้อคิดจากการให้คำปรึกษาญาติโยม

ระหว่างวันที่ ๓๐ ธค.๕๔ -๒ มค.๕๕

หมายเลขบันทึก: 473276เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2012 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะเข้ามาทักทายครับอาจารย์....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท