กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๔๖) : ประสบการณ์ดีๆ ที่ได้เรียนรู้จาก Lesson Study


 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กลุ่มครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๒ ตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสรุปการเรียนรู้จากการเข้าร่วมกระบวนการ Lesson Study การจัดชั้นเรียนแบบเปิด (Open Approach) และการเปิดชั้นเรียน (Open Class) ที่เกิดขึ้นในภาคเรียนจิตตะนี้

 

คุณครูรุ้ง - สายรุ้ง  ดวงมณี  การมีครูพี่เลี้ยงมาช่วยลำดับความคิด แนะนำเรื่องการจัดชั้นเรียนแบบเปิด ทำให้แผนการเรียนรู้ที่คิดเป็นกระบวนการชัดเจนมากขึ้น เปิดโจทย์ได้ดีขึ้น เด็กมีโอกาสแสดงกระบวนการคิด การเรียนเกิดผล เด็กเข้าใจสิ่งที่เรียนชัดเจนมากขึ้น

 

คุณครูจี - จีรพันธ์  ไชยชนะ  การได้เข้าสังเกตการณ์ห้องของเพื่อนทำให้ได้บทเรียนจากเจ้าของชั้นเรียนมาปรับพัฒนาตนเองและกระบวนการเรียนการสอนได้ดีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยสะท้อนให้เจ้าของชั้นเรียนได้พัฒนาขึ้นด้วย

 

คุณครูก้อย - จุฑารัตน์  ยุกตะบุตร  ได้เรียนรู้ว่าการวางแผนการเรียนรู้ที่มีการจัดสรรเวลาสำหรับการจดบันทึกความรู้ที่ช่วยกันสรุป จะช่วยสร้างวัฒนธรรมในการทำงานของนักเรียน และช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจเป้าหมาย ขั้นตอนในการทำงานต่างๆ รู้เวลาด้วยตนเองเมื่ออยู่ในชั้นเรียนได้ดี

 

ระบบการเรียนการสอนแบบ Open Approach ช่วยฝึกให้นักเรียนรู้จักเป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคิดวิเคราะห์ และเป็นผู้พูดที่ดีในเวลาที่เหมาะสม

 

คุณครูนัท - นันทกานต์  อัศวตั้งตระกูลดี  การทำชั้นเรียนแบบเปิดช่วยให้ครูมีสายตาในการมองนักเรียน  ทำให้ได้ฝึกการสังเกตนักเรียนแบบรู้จริง  ในการสอนต้องอาศัยไหวพริบมาก ครูต้องพูดน้อยลง พูดให้เป็นจังหวะ เน้นพูดเฉพาะที่สำคัญ และปล่อยให้ชั้นเรียนเป็นของนักเรียน 

 

ในส่วนการวางแผน การได้ทบทวนว่าครั้งที่ผ่านมาจัดการเรียนการสอนอะไร  เกิดผลกับนักเรียนจริงๆ อย่างไร ทำให้ครูมองเห็น met  before ที่แท้จริงของนักเรียน  และสามารถไปคิดแผนการเรียนในลำดับไป  ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ต่อยอดขึ้นไปได้จริงๆ

 

คุณครูรุ้ง และคุณครูจี  ช่วยเสริมในประเด็นนี้ว่า การได้ทบทวน และมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาทักษะอย่างดี ช่วยให้ทำแผนการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น สบายใจขึ้น ไม่ต้องเกร็งว่าครูวางเนื้อหาเอาไว้แล้วจะต้องทำให้ได้ตามที่ออกแบบไว้  แล้วครูก็ยึดว่าต้องทำแผนไปตามตารางเวลาที่วางไว้

 

ทั้งๆ ที่บางครั้งครูก็รู้ว่านักเรียนยังไม่แม่นยำเรื่องที่ได้เรียนไป แต่ตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ ครูจะต้องไปจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องถัดไปแล้ว ก่อให้เกิดความเครียดทั้งครูและนักเรียน เพราะนักเรียนก็เรียนต่อไม่ได้เนื่องจากความรู้เดิมไม่พอ ครูเองก็ไม่สบายใจที่นักเรียนทำงานที่ครูให้ไม่ได้

 

คุณครูก้อยกล่าวว่าการเรียนรูปแบบนี้ที่เรียกว่า child - centered ที่แท้จริง เพราะนักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่ครูจัดกระบวนการมาให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน

 

คุณครูปุ๊ก - จินตนา กฤตยากรนุพงศ์  การได้มีคนหลายๆ คนมาช่วยกันคิด ทำให้มีหลายมุมมองมาช่วยกันมองลำดับการเรียนรู้ ให้ละเอียด เรียงร้อยกันมากขึ้น มีการสร้าง met before ให้เกิดขึ้นกับนักเรียนและค่อยเรียนไปเป็นลำดับตามที่ควรจะเป็นโดยมีฐานความรู้แม่นยำ การได้เข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียน ทำให้มีการพัฒนาแผนการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

 

 

 

คุณครูอ้อ – วนิดา สายทองอินทร์ บันทึก

 

 

หมายเลขบันทึก: 473039เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท