ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๖๓. ชีวิตนี้เพื่อผู้อื่น



          วันที่ ๙ ธ.ค. ๕๔ ผมตื่นตีสาม ขับรถไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อบินไป ขอนแก่น และนั่งรถไปมหาสารคาม   แล้วกลับในวันเดียวกัน ถึงบ้านห้าทุ่ม   เอามาบันทึกไว้เพื่อจะบอกว่า เมื่ออายุย่าง ๗๐ ผมยังแข็งแรง

          ผมไปร่วมงานนำเสนอผลงานLLEN มหาสารคาม ด้วยความศรัทธา ในความเอางานเอาการของ อ. ดร. ฤทธิไกร ไชยงาม และอยากรู้ความ ก้าวหน้าของเครือข่าย LLEN มหาสารคาม ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงเรียนระดับ มัธยม

          ผมมีความเชื่อ (ฉันทาคติ?) ว่า LLEN จะเกิดผลจริง ต้องมีคนแบบ ดร. ฤทธิไกรนี่แหละ เป็นกำลังสำคัญในการจัดการเครือข่าย   จึงชื่นชม ความโชคดีของ มมส. ที่มีคนแบบนี้มาทำงานและเข้าร่วมรับผิดขอบ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดมหาสารคาม

          ดังนั้น เมื่อท่านเชิญผมจึงตอบรับ แม้จะรู้ว่าวันนี้จะเป็นวันยาวนาน และเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง

          แต่จะเป็นวันแห่งความสุขที่ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ

          แล้วผมก็ไม่ผิดหวัง   เพราะผมได้มากกว่านั้น   ผมได้การเรียนรู้ ที่มีค่า   ส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้จากภายในของผมเอง

          อ่านรายงานก้าวที่สามของ LLEN มหาสารคาม ที่นี่ และบันทึกเชิง AAR การประชุมครั้งนี้ของพ่องาน ดร. ฤทธิไกร ไชยงาม ที่นี่

          เริ่มจากความตกใจและผิดหวัง ที่เห็นงานใหญ่โตหรูหราผู้คน มากมาย   ผมบอกตัวเองว่า งานนี้คงจะมีแต่เปลือกไร้แก่น   เอาคนมาก เข้าว่า   (ผมเป็นคนสวนกระแสเช่นนี้เอง)

          ๑๐ น. - ๑๑.๑๕ น. เป็นการแสดงฟ้อนและเซิ้งที่งดงามและหนวกหู ที่สุดสำหรับผม   ยิ่งผมหลงไปนั่งใกล้ลำโพงยิ่งทรมานที่สุด เพราะเสียงเบส เขาตีทีไรมันสะทือนหูเข้าไปถึงสมองและหน้าอก   ซึ่งก็มีข้อดีคือผมได้ฝึก ทำใจให้ไม่หมกมุ่นอนิฏฐารมณ์   บอกตัวเองว่าหนุ่มสาวเขาตั้งใจเต็มที่ ที่จะทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของผู้มาร่วมงาน   โดยที่คน ส่วนใหญ่เขาไม่เหมือนผม   เขาต้องการความยิ่งใหญ่ของงาน   แต่คนบ้า อย่างผมต้องการไปดูด้านการพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งสังคมไทยเราถือเป็น ที่สอง ไม่ใช่ที่หนึ่ง   ที่หนึ่งคือความอลังการ์สนุกสนานของงาน   ยิ่งเป็น งานฉลองครบรอบ ๔๔ ปีของ มมส. ด้วยแล้ว ต้องอลังการ์ไม่อลังการ์ ก็ล้มเหลว   ผมเป็นคนบ้าที่ไม่ชอบความอลังการ์ และหาว่ามีแต่เปลือก

          ผมบอกตัวเองว่า อย่าเอาวิธีคิดและรสนิยมของตนเองเป็นตัวตั้ง   ต้องถือตามคนส่วนใหญ่   เราต้องเจียมตัวว่าเราเป็นชนกลุ่มน้อย

          ที่จริงวงดนตรีและวงศิลปะการแสดงของโรงเรียนนาดูนประชาสรรค์เขาแสดงได้ดีมาก และถือเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากของมหาสารคาม และเขา ตั้งใจมาแสดงเต็มที่   และด้วยความเกรงใจที่เวลาจำกัด ที่นำมาแสดงนี้จึง เป็นเพียงชุดเล็ก

          งานนี้เป็นงานฉลอง มมส. และงานของนักเรียนชั้นมัธยมที่มาร่วมงาน   พวกเราคนแก่เป็นเพียงตัวประกอบเล็กๆ   อย่าเข้าใจผิดว่าเราเป็นส่วน สำคัญของงาน ผมเตือนสติตัวเอง

          เขามีเวลา ๑ ช.ม. ให้เดินดูนิทรรศการโครงงานที่นักเรียนของ โรงเรียนในเครือข่าย LLEN มหาสารคาม

          ผมบอก ดร. ฤทธิไกรว่าต้องออกแบบงานว่าจะเน้นให้เกิดประโยชน์ แก่นักเรียนที่มาร่วมงานเป็นหลัก   ไม่ใช่เน้นจัดงานเพื่อพวกเราที่ไปจาก กรุงเทพ   ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นที่เกิดจากความเขลาของผม   ที่จริงเขาเน้น จัดงานเพื่อฉลอง ๔๔ ปี มมส.   นี่คือบันทึกสารภาพบาปของผม

          ข้อเรียนรู้คือ เมื่อเป้าหมายของการจัดงานมีหลายเป้า ก็จะไม่บรรลุเป้าใดเลย   ได้ผลที่ประนีประนอมได้ทุกเป้า ซึ่งสำหรับผม หมายความว่าไม่ตรงเป้าใดจังๆ เลย   นี่คือสัจธรรมของวัฒนธรรมไทย

          ผมเดินดูนิทรรศการโครงงานได้ไม่ถึงครึ่ง เริ่มจากปูทูลกระหม่อม การทำสารส้มจากกระป๋องอะลูมิเนียม  การศึกษาโปรตีนจากแมลงที่กินได้ ในท้องถิ่น  ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ   จักรยานเก็บขยะ  จักรยานปั่นน้ำ   และอีก ๒ - ๓ โครงงานที่ผมยังนึกไม่ออก

          ข้อสรุปจากการซักถามนักเรียนคือ นักเรียนยังเรียนรู้ได้ไม่ลึกพอ

          การเสนอผลงาน LLEN มหาสารคามครั้งนี้เน้นที่การเรียนรู้แบบ“โครงงาน” ตามความเข้าใจว่า นี่คือตัวอย่างผลสำเร็จของการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning)   ซึ่งผมคิดว่าเป็นการตีความที่ทั้งถูกและผิด

          ที่ว่าถูกคือนักเรียนได้ลงมือทำ ได้ลงมือค้นคว้าด้วยตัวเอง   ทั้งจากแหล่งอ้างอิงและจากสัมผัสตรงของตนเองจากการทดลองหรือจากการไปสำรวจ   รวมทั้งได้นำเสนอจากความเข้าใจของตนเอง

          ที่ว่าผิดก็คือ ผมรู้สึกว่ายังมีการตีความ “โครงงาน” ในความหมายเดิม   คือมองโครงงานเป็นกิจกรรมเสริม ไม่ใช่กิจกรรมหลักของการเรียนรู้

          ผมได้ข้อสรุปนี้ (ไม่ทราบว่าเข้าใจผิดหรือถูก) จากการประชุมกลุ่มครู ตอนบ่าย   ที่เห็นว่าโครงงานเป็นกิจกรรมเรียนรู้สาระวิชาวิทยาศาสตร์ กับสาระวิชาบูรณาการเป็นหลัก   หนึ่งโครงงานสนองการเรียนรู้หนึ่งสาระ วิชา   ไม่ใช่หนึ่งโครงงาน เรียนรู้ได้ทุกกลุ่มสาระวิชาตามหลักการของ PBL   มีโรงเรียนเดียวคือเชียงยืนพิทยาคม ที่ครูเพ็ญศรี ใจกล้า บอกว่าครู ร่วมกันออกแบบให้เรียน ๕ สาระวิชา   แต่ผมสังเกตจากตอนไปเยี่ยมชม ผลงานที่นำมาแสดง คิดว่ายังเน้นที่ผลงานมากไป   ใจผมอยากให้เน้นการ เรียนรู้มากกว่า

          ผมได้สังเกตว่า การเรียนรู้แบบโครงงานที่ทำกันนั้น มุ่งผลสำเร็จของ โครงงานเป็นหลัก  ไม่ได้เน้นกระบวนการเรียนรู้จากการทำโครงงาน เป็นหลัก  และไม่เห็นความรู้ของครู ว่ามีหลักการโค้ชการเรียนรู้แบบโครงงานของศิษย์อย่างไร 

          ได้โจทย์เพื่อการทำงานต่อเช่นนี้ ก็คุ้มเหนื่อยแล้ว

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ธ.ค. ๕๔

นักเรียนมาร่วมงานคับคั่ง


 

ห้องชมการแสดง และชมนิทรรศการโครงงาน


 

ดร. เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ ผู้ประสานงานโครงการ LLENกล่าวต่อผู้มาร่วมงาน


 

ฟ้อนเผ่าไท ของโรงเรียนนาดูนประชาสรรค์


 

วงโปงลาง


 

รำแพรวาโรงเรียนหนองปรง


 

 วง AAR ของครูในตอนบ่าย


 

โจทย์ AAR


 

บรรยากาศในวง AAR อันเข้มข้น


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 472992เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจมาก ขอบคุณมากนะครับ

ขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งครับ ใช่ครับได้โจทย์ไปทำต่อแล้วครับ จะไม่ยอมให้ท่านเหนื่อยเปล่าครับ ค

 สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕ ค่ะ Ico64 ขอส่งความสุขด้วยคำกล่าวว่า สุขสันต์ วันปีใหม่ และทุกวันคืนตลอดไปนะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท