KM00079 : กังฟูแพนดา "จิตปล่อยวาง"


ในชีวิตจริงเมื่อเห็นภาพนี้ สิ่งที่คิดในใจเป็นไปได้ทั้งสองทาง คือ "ทางบวก" และ "ทางลบ" หากไม่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเรา สิ่งที่เราคิดจากภาพที่ปรากฏจะขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นทันที
"หากคุณเห็นลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ เป็นแบบนี้ในที่ทำงานคุณคิดอย่างไร"
เป็นภาพที่ผมชอบถามผู้เข้าร่วมกิจกรรม แทบทุกครั้งหากมีโอกาสไปเป็นกระบวนกร KM (แบบสมัครเล่น) คำตอบที่ได้จากผู้ร่วมกิจกรรม มักจะเป็นไปในทาง "บวก" เพราะเป็นคำตอบในคนหมู่มาก เช่น "เขาคงไม่สบาย" "ลูกคงไม่สบาย" หรือ "เมื่อคืนคงทำงานดึก" แต่ก็มีคนตอบทีเล่นทีจริงในทาง "ลบ" เช่น "สงสัยเมื่อคืนเที่ยวดึก" หรือ "สงสัยเมื่อคืนดูฟุตบอลแหงๆ" แต่ส่วนใหญ่สิ่งที่ตอบกันมาก็เป็นสิ่งที่ในใจแต่ละท่านเคยนึกคิดกันมาแล้วทั้งสิ้น
ในชีวิตจริงเมื่อเห็นภาพนี้ สิ่งที่คิดในใจเป็นไปได้ทั้งสองทาง คือ "ทางบวก" และ "ทางลบ" หากไม่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเรา สิ่งที่เราคิดจากภาพที่ปรากฏจะขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นทันที หากเรามีประสบการณ์ที่ดีกับบุคคลนั้นตลอดมา เช่น เขาเป็นคนขยันทำงาน เขาเป็นคนตั้งในทำงาน เราอาจ "ตัดสินในใจ" ทันทีว่า "เขาไม่สบาย" หรือ "อาจมีปัญหาสักอย่างที่น่าเห็นใจ" แต่หากเรามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับบุคคลนั้น เช่น "มาทำงานสายบ่อย" "ทำงานไม่ค่อยเสร็จ" เราอาจ  "ตัดสินในใจ" ทันทีว่า "ต้องเที่ยวมาดึกแน่" "ต้องไปทำอะไรไม่ดีมาเมื่อคืนแน่"
อ.วรภัทร (ดร.วรภัทร ภู่เจริญ) เคยเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง (จำไม่ได้อ่านของท่านหลายเล่ม) ใช้คำว่า "Voice of Jugdement" หรือ VOJ แปลว่า เสียงของการพิพากษา ซึ่งน่าจะหมายถึง เสียงที่เกิดขึ้นในใจ ตัวอย่างที่เราอาจเคยประสบพบมา ก็เช่น คุณครูหรืออาจารย์เมื่อเห็นเด็กเกเรประจำห้องสักคนนอนฟุบอยู่บนโต๊ะขณะเรียน ก็ปาช็อคใส่ (เดี๋ยวนี้อาจไม่ใช้ช็อคแล้ว ไม่รู้ปาอะไร) หรือสมัยผมเรียนและฝึกงาน มีเพื่อนคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมด้านการเรียนไม่สู้ดี เมื่ออาจารย์มานิเทศ ก็จะซักไซร้ไล่เรียงอยู่แต่กับเพื่อนคนนั้น เพราะอาจารย์ "ตัดสินไปในใจ" แล้วว่า นักศึกษาคนนี้ต้องไม่เตรียมตัวมาฝึกงานแน่นอน ทั้งๆ ที่บางครั้งผมและเพื่อนคนอื่นก็ไม่ได้เตรียมตัวมา (ตัวอย่างที่ดีอาจหาอ่านได้ในหนังสือ "โรงเรียนป(ล)าฏิหารย์! Schools of Fish!)
ที่กล่าวมาทั้งหมด จะชี้ให้เห็นว่า "การตัดสินหรือพิพากษา" ใครคนใดคนหนึ่งจากประสบการณ์ของตนเอง "อาจเป็นการปิดกั้นโอกาสทั้งของตนเองและผู้อื่น" ไม่ใช่เรื่องจากภาพที่ผมแสดงหรือเรื่องนักเรียนเกเรเท่านั้น แต่แทบเป็นทุกๆ เรื่อง เพราะหากเราตัดสินใครในใจไปแล้วก็ตาม จะทำให้ "ประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี" ดูแย่ลง ง่ายๆ แค่เรื่องการฟัง หากเรา "ตัดสินในใจเชิงบวก" กับใครก็ตามเราก็อาจมีประสิทธิภาพการฟังลดลง ซึ่งหมายถึง "เราอาจเชื่อเขาทุกอย่างโดยขาดสติไตร่ตรอง" ขณะเดียวกัน หากเรา "ตัดสินในใจเชิงลบ" เราก็อาจพลาดสิ่งดีๆ ที่คนนั้นพูดถึง เพราะเราไม่ตั้งใจ "ฟัง" เท่าไหร่
หลายคนอาจถามแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เกิด VOJ อันนี้ก็ต้อง "ฝึก" ครับ มนุษย์ปุถุชนคนธรรมดากิเลสอย่างเรา (อย่างผม) ยากที่จะไม่คิดสิ่งเหล่านี้ในใจ ในพุทธศาสนาสอนเรื่อง "พรหมวิหาร ๔" ไว้ นำมาใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการสร้าง "มโนกรรม" ที่ดีให้กับเรา ผมดูภาพยนต์ Animation กับลูก เรื่อง "กังฟูแพนดา" ทั้ง ๒ ภาค สนุกดี แต่แฝงปรัชญาน่าคิดทั้ง ๒ ภาค ภาคแรก สุดยอดคัมภีย์ยุทธที่ทุกคนแย่งกัน คือ "กระดาษเปล่า" และแพนดาของเราก็ตีโจทย์แตกจนสามารถเอาชนะศัตรูได้ ส่วนภาคสองไม่ต่างกัน อาจารย์ของแพนดาสอนเรื่อง "จิตปล่อยวาง" เมื่อแพนดาเข้าใจก็เอาชนะศัตรูได้เช่นเดียวกัน แม้แต่กระสุนปืนใหญ่ก็สามารถมองเห็นและรับไว้ได้ ลองเอาไป "ฝึก" ดูนะครับ "จิตปล่อยวาง" อาจทำให้เราเห็นทุกสรพสิ่งได้ดี และเอาชนะมันได้ (ชนะใจตัวเองครับ) ไม่นาเชื่อจาก KM มาเป็นการ์ตูนเด็กได้
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 472337เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2011 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท