เหนือพรมแดน...วิชาการและความรู้บนความเมตตากรุณาและจิตคารวะต่อกัน


.......การคารวะต่อกัน การมีความอ่อนโยน เมตตากรุณาต่อกัน ทำให้กระบวนการสนทนา พบปะ และปรึกษาหารือกัน สร้างสารแห่งความสุข หรือเอนโดฟิน การคิดสร้างสรรค์ด้วยจิตใจที่เอิบอิ่มและเต็ม จึงทำให้มุ่งไปในทางต่างให้ความดีแก่กันและกัน........

              จิตใจที่ทำความคิดเห็นให้เป็นสัมมาและมุ่งที่จะเป็นผู้ให้แก่กันเสียแล้ว มักผุดความดีและความงดงามให้กันระหว่างเพื่อนมนุษย์อยู่เสมอ 

             ที่ทำงานผมมีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกับมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ปีนี้ได้รับเกียรติมากจากศาสตราจารย์นากามูระ ที่ได้กรุณารับเป็นนักวิชาการรับเชิญ มาอยู่ที่สถาบัน นอกเหนือจากทีมผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศอื่นๆ

             ศาสตราจารย์นากามูระ  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health) และอนามัยแม่และเด็ก จบมาจากฮาร์วาร์ด มีชุดโครงการวิจัยข้ามวัฒนธรรมในโพ้นทะเล ระหว่างนักวิชาการของญี่ปุ่นกับประเทศไทยและนานาชาติหลายโครงการ เช่น ความร่วมมือของนานาชาติในวิกฤติการณ์ อุบัติภัย และภัยพิบัติ / การทำร้าย-ใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน / การพัฒนาคู่มือและนวัตกรรมอนามัยแม่และเด็ก / การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นต้น

           อาจารย์มีลูกศิษย์ เครือข่าย และมิตรทางวิชาการทั่วโลก การมาเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการระดับนานาชาติให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน...ที่ทำงานผมนี้ ทำให้เรามีโอกาสใช้กระบวนการต่างๆ ที่อาจจะเรียกว่าเป็นการจัดการความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนความทรงคุณวุฒิของท่าน ให้เป็นแนวพัฒนาคนและองค์กรของเรา ในฐานะที่เป็นองค์กรจัดการความรู้เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาคนเพื่อสร้างสุขภาพระหว่างประเทศ....เรื่องที่ท่านกรุณาพบปะและหารือกับคณะของเรา มีหลายเรื่อง ซึ่งล้วนสำคัญต่อการพัฒนาหน่วยจัดการความรู้ระดับนี้ทั้งสิ้น คือ

  • การพัฒนาหลักสูตร  การเรียนการสอน ให้สนองตอบต่อความจำเป็นในปัจจุบันทั้งของประเทศและในเวทีนานาชาติ
  • หลักสูตรระยะสั้น และการอบรม เพื่อการพัฒนาคนในระยะสั้น
  • การพัฒนาระเบียบวิธีการวิจัยที่เชื่อมโยงกับภาคปฏิบัติ และแนวทางการพัฒนาบทความทางวิชาการแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่งานวิจัยและงานวิชาการในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
  • การพัฒนาวารสารทางวิชาการและเวทีระดับนานาชาติ

          ในความเป็นจริงแล้ว ศาสตราจารย์นากามูระ เป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสมาก ทั้งโดยประสบการณ์ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ ทว่าท่าทีสุภาพ อ่อนน้อม เมตตากรุณา กับทุกคน ช่วงหนึ่งของการหารืออาจารย์ท่านหนึ่งของที่ทำงานผม ได้ออกปากเปรยไปว่า วารสารการสาธารณสุขระหว่างประเทศ (International Health Journal) ที่ท่านอยู่ในกองบรรณาธิการด้วยนั้น จะรับตีพิมพ์ผลงานของสมาชิกและผู้ที่ได้รับเชิญอย่างเป็นพิเศษเท่านั้น การสมัครสมาชิกเป็นรายบุคคล ทำให้องค์กรที่มีนักวิชาการและนักวิจัยอยู่หลายคน มีโอกาสน้อยในการได้รับพิจารณาเพื่อการตีพิมพ์ หากสามารถให้สมัครเป็นสมาชิกในนามสถาบัน(ที่ทำงานของผม)  แล้วแต่ละคนที่เป็นคนจากสถาบัน ได้รับการพิจารณาในฐานะองค์กรสมาชิก ก็น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาเวทีทางวิชาการ  รวมทั้งพัฒนาการตีพิมพ์ผลงานในเวทีนานาชาติ ได้มากยิ่งๆขึ้น

           ศาสตราจารย์นากามูระ รับฟังด้วยอาการแบบตื่นเต้น ประหลาดใจ และมีแรงบันดาลใจ ท่านบอกว่าจริงด้วย แล้วก็กลายเป็นฝ่ายขอบคุณพวกเรายกใหญ่ ท่านบอกว่าเป็นความคิดที่วิเศษอย่างยิ่ง สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน จากประเทศไทย จะเป็นองค์กรแรกที่เป็นสมาชิกแบบองค์กร ของวารสารการสาธารณสุขระหว่างประเทศ ของประเทศญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น ท่านบอกว่า ขอนำความคิดนี้ไปประสานงานกับประเทศอื่นๆในกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดจีน และเอเชียแปซิฟิก ด้วย

            จากนั้นก็มีแนวพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการด้วยกันหลายเรื่อง รวมทั้งในปีหน้า ท่านจะเป็นประธานจัดประชุมวิชาการ การสาธารณสุขระหว่างประเทศ ของประเทศญี่ปุ่น ก็ออกปากเชิญนักวิชาการของสถาบัน คือ คุณหมอศิริกุล...รองศาสตราจารย์ศิริกุล   อิศรานุรักษ์ ผอ.สถาบัน ไปเป็นผู้ร่วมนำการประชุมด้วย

            ผมประทับใจวิถีวิชาการของ ศาสตราจารย์นากามูระ มาก นึกในใจว่า ไม้ใหญ่นั้นค้อมต่ำ ช่างดูสง่างามและยิ่งใหญ่เหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้น บรรยากาศการหารือ เต็มไปด้วยพลังต่อเติมปัญญาและความริเริ่มสร้างสรรค์ให้กัน ไม่มีเลยที่จะมีท่าทีการอวดตน  ประชันขันแข่ง อวดความเป็นเลิศต่อกัน

            การคารวะต่อกัน การมีความอ่อนโยน เมตตากรุณาต่อกัน ทำให้กระบวนการสนทนา พบปะ และปรึกษาหารือกัน สร้างสารแห่งความสุข หรือเอนโดฟิน การคิดสร้างสรรค์ด้วยจิตใจที่เอิบอิ่มและเต็ม จึงทำให้มุ่งไปในทางต่างให้ความดีแก่กันและกัน นี้อาจจะเป็นอีกแง่หนึ่งของความรู้และสุขภาวะปัญญา ที่เอื้อต่อสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขของคนเรา พ้นพรมแดนแห่งความเป็นชาติ ภาษา คุณค่าและความหมายแห่งชีวิต .

 

หมายเลขบันทึก: 47218เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

         เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ "ไม้ใหญ่นั้นค้อมต่ำ ช่างดูสง่างามและยิ่งใหญ่"   เหมือนกับผู้ใหญ่ในสังคมเมืองไทยของเราหลายท่าน ด้วยเหตุเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ปลูกฝังการมีสัมมาคารวะซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า การสร้างสรรค์ทางวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานของการอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยจิตใจที่อ่อนโยนมีเมตตากรุณา จึงมักก่อให้เกิดความงอกงามของความรู้ได้อย่างแผ่ไพศาล  อ่านแนวคิดทางวิชาการพร้อมกับความก้าวหน้าทางการสร้างสรรค์ผลงานของอาจารย์ รวมถึงแนวทางการขยายเครือข่ายความรู้และการจัดการความรู้ของอาจารย์แล้ว อิจฉาสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน และมหาวิทยาลัยมหิดลจังเลยค่ะ ที่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในด้านการผลิตผลงานวิชาการแล้ว ต้องบอกว่ายอมรับในความคิดเห็นจริงๆ ค่ะ และประการสำคัญคือ นอกจาก ศาสตราจารย์นากามูระ  จะเป็นไม้ใหญ่ที่ค้อมต่ำแล้วดูสง่างามแล้ว  ดร.วิรัตน์  ก็ไม่แตกต่างกันกับท่านเลยค่ะ

ตัวเองได้โชคดีที่พบปะอาจารย์วิรัตน์หลายครั้ง  เห็นด้วยมากๆ กับคุณยุพา อาจารย์เป็นผู้ที่น่าคารวะ   เป็นเลิศในทางวิชาการ และเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาอย่างแท้จริงค่ะ 

อันที่จริง  ทั้งสองท่าน คือคุณยุพา และคุณ Sue นั่นแหละที่น่าคารวะ  เขาว่าคนชื่นชมและให้กำลังใจผู้อื่น  เป็นคนจิตใจกว้างและเต็ม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท