๒๒๓.กองทุนสวัสดิการชุมชนกับงานวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา


แต่ละกองทุนฯ ได้นำเสนอความเป็นมา จุดเริ่มต้น การดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน อุปสรรค์ การบริหารจัดการ และเป้าหมายต่อไป

 

    วานนี้ (๒๑ ธค.๕๔) ได้ไปให้ข้อคิดงาน "เวทีขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนแบบมีส่วนร่วมจังหวัดพะเยา" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนฯ ณ ห้องภูกามยาว ชั้น ๕ ศาลากลางจังหวัดพะเยาตลอดทั้งวัน งานนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัด(นายกาจพล เอิบสุขสิริ) เป็นประธานในการเปิดเวที ส่วนตอนปิดมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาคนใหม่(นายวรวิทย์ บูรณะศิริ) เป็นประธาน โดยมีแกนนำใหญ่อย่างครูมุกดา อินต๊ะสาร เป็นแม่งานใหญ่

     งานนี้ สืบเนื่องจากการริเริ่มโครงการในปี ๒๕๕๒ พะเยาไปรับแนวคิดมาจาก พอช. ซึ่งเป็นการเริ่มผลักดันด้านกฏหมายของกลุ่มครูมุกดา เมื่อนำมาสู่ภาคเหนือตอนบนพะเยา รับเป็นศูนย์อบรมแกนนำ(ส่วนภาคเหนือตอนล่างศูนย์ฝึกอบรมอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร) เพื่อนำแกนนำระดับหัวกระทิจาก ๘-๙ จังหวัดๆ ละ ๑๒ คนเข้ามาผ่านหลักสูตรแล้วส่งต่อให้ไปขยายฐานแนวคิดและกำลังคน ตามลำดับ

     งานนี้ผู้เขียนได้มีส่วนร่วม โดยไปร่วมรับแนวคิดจาก พอช. สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และเข้าร่วมฝึกแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างหลักสูตรจากวิทยากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดินทางไปจังหวัดจันทบุรีเพื่อรับแนวคิดจากพระอาจารย์มนัส  ที่สามารถสร้างกองทุนในมูลค่า ๕๐๐ ล้านบาทเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านสวัสดิการต่าง ๆและเดินทางไปจังหวัดตราดเพื่อให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากพระอาจารย์สุบินเมื่อกลับมาพะเยา ผู้เขียนได้ปรับประยุกต์ใช้แนวคิดที่ได้มาสู่ภาคปฏิบัติ แล้วฝึกอบรมด้านธรรมะ หรือคุณธรรมจริยธรรมให้กลับแกนนำของภาคเหนือตอนบนทั้งหมด รวมทั้งพะเยาด้วย

     ส่วนพะเยา มีแกนนำแรกเริ่มจำนวน ๑๒ คน จากไม่กี่ตำบลเมื่อนับแล้วนิ้วมือทั้ง ๑๐ ยังนับไม่ครบเลย เมื่อลุล่วงมา ๒ ปี เวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก จากแนวคิดดังกล่าว พะเยาทำครบทั้ง ๖๘ ตำบล นี้คือความสามารถของ หน่วยทะลวงฟัน(กล้าตาย)ทั้ง ๑๒ คนที่กล่าวมาแล้ว ต้องขอยกนิ้วให้พร้อมกับสาธุดัง ๆ ๓ ครั้ง

     ตอนเช้า นอกจากรองผู้ว่าฯ (กาญพล) จะมาเปิดแล้ว ยังได้ให้หลักการ ๔ ประการไว้ คือ ๑)หลักร่วมกันคิด  ๒)หลักการสร้างระบบร่วมกัน  ๓)หลักการบริหารจัดการร่วมกัน และ ๔)หลักการรับผลประโยชน์ร่วมกัน หลังจากนั้น ก็มีคุณจำรูญ จะโรครัมย์ จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา ได้มาพูดถึง พรบ.หรือกฏหมายการรับรององค์กรทางชุมชนท้องถิ่น หรือ องค์กรทางชุมชนอื่น ๆ ผลประโยชน์ที่ได้รับ แบบฟอร์ม ระยะเวลาในการยื่น การจดทะเบียน ฯลฯ

     ต่อจากนั้น ทีมของมหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย ผศ.มนตรา พงษ์นิล ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาความมั่นคงของกองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดพะเยา" ซึ่งได้รับงบอุดหนุนการทำวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC-UN) พ.ศ.๒๕๕๒ มีข้อเสนอในการพัฒนาความมั่นคงของกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่น่าสนใจ ดังนี้

     ๑.ด้านความมั่นคงทางการเงินของกองทุนสวัสดิการชุมชน

          ก.กองทุนฯ จะต้องศึกษาโครงสร้างด้านประชากรศาสตร์ อัตราและรายละเอียดการเกิด อัตราและรายละเอียดการตาย อัตราและรายละเอียดการเจ็บป่วย รวมถึงรายละเอียดโครงสร้างกลุ่มอายุของแต่ละตำบลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจการวางแผนเพื่อการปรับเปลี่ยนระเบียบกองทุนฯ เพื่อให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบริบทของกองทุนที่มีความแตกต่างกันออกไปของข้อมูล

          ข.กองทุนฯ ที่มีการจ่ายบำนาญจะต้องหาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากเงินสะสมเพื่อการลงทุนที่มีความมั่นคงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราผลตอบแทนภายในที่สมาชิกจะได้รับ

          ค.แนวโน้มรายจ่ายที่เกิดขึ้นของแต่ละกองทุน ส่วนหนึ่งมาจากภาวะสุขภาพ ดังนั้นกองทุนฯควรร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อหามาตรการและแนวทางการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ

     ๒.ด้านการสร้างและรักษาสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน

          การผลการศึกษาพบว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีข้อจำกัดในการพัฒนารูปแบบการสื่อสารตราสินค้าและด้านการตลาดอยู่มาก จึงมีข้อเสนอให้มีการพัฒนา/สร้างตราสินค้าให้ชื่อกองทุนสวัสดิการชุมชนมีลักษณะที่สื่อสารในเชิงคุณค่า หรือปรัชญาของกองทุนให้มากขึ้น ตลอดจนให้มีการสร้างคุณค่าเพิ่ม (value add) ที่เป็นจุดเด่นของตัวสินค้าที่สื่อสารออกไป

     ในลำดับต่อมา คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยพะเยา ชุดดังกล่าว ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง "การถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรชุมชนในการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน จังหวัดพะเยา กรณีศึกษาตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว และตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา" ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและคณะอนุกรรมการกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จังหวัดพะเยา พ.ศ.๒๕๕๒ โดยนำเสนอขอสรุปพัฒนาการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลใน ๓ ระยะคือ ช่วงก่อวุ้น  ช่วงก่อตั้ง และช่วงเติบโต

     ต่อจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตัวแทนของกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จำนวน ๘ อำเภอ ขาดไปเพียงแค่อำเภอจุนเท่านั้น คือ

     ๑.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลดงเจน    อำเภอภูกามยาว

      ๒.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลอ่างทอง    อำเภอเชียงคำ

     ๓.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ    อำเภอดอกคำใต้

    ๔.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลแม่สุก    อำเภอแม่ใจ

   ๕.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลขุนควร    อำเภอปง

   ๖.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลบ้านต๋อม    อำเภอเมือง

   ๗.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลทุ่งกล้วย    อำเภอภูซาง

    ๘.ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ จากเทศบาลตำบลบ้านสระ    อำเภอเชียงม่วน

   แต่ละกองทุนฯ ได้นำเสนอความเป็นมา จุดเริ่มต้น การดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน อุปสรรค์ การบริหารจัดการ และเป้าหมายต่อไป

     เป็นการจบกิจกรรมในภาคเช้า ก่อน.......

 

หมายเลขบันทึก: 472133เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2011 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เจริญพรท่านอาจารย์โสภณด้วยเช่นกัน อนุโมทนา...สาธุ

สนใจที่จะเขียนงานวิจัย งานสวัสดิการชุมชน ส่งรายงาน อาจารย์ที่เรียน

อยากร่วมแลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์ เพราะทำสวัสดิการอยู่ที่น่านค่ะ

เจริญพรคุณโยมชุติมา งานวิจัยนี้ผู้ทำงานอยู่กับสวัสดิการชุมชนได้ทำแล้ว

และกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดระบบความรู้เชิงวิจัย และ

อาตมาเป็นผู้เสริมทางด้านความคิดเชิงพุทธเข้าไป

นี้คือ การบูรณาการจาก ๓ เสาหลักทางสังคม คือประชาชน(แกนนำ)+นักวิจัย+พระพุทธศาสนา

งานออกมาจึงน่าสนใจยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท