๒๒๒.สบายอย่างตุ๊ (สบายอย่างพระ)


อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังถือว่าได้อานิสงส์บางส่วนที่เกิดจากความตั้งใจ, ได้มีน้ำใจไปส่ง และได้ร่วมฝึกในคราวสมโภชพระธาตุจอมทองจำนวน ๓ วัน นับว่าพอมีต้นทุนอยู่บ้างแม้ไม่มากนัก

 

    ช่วงนี้ เป็นช่วงแห่งเทศกาลท้ายปี มักมีหลายเรื่องที่ผู้เขียนต้องทำ ซึ่งทำให้เห็นว่าแนวคิด "สบายอย่างตุ๊" (สบายอย่างพระ) เป็นสำนวนที่ชาวบ้านทางภาคเหนือใช้เปรียบเปรยระหว่างพระกับคฤหัสถ์ว่า พระไม่ต้องทำอะไร คือกินแล้วนอนหรือไม่มีงานอะไรอื่นทำ แต่ผู้เขียนกับเห็นว่า พระในยุคนี้ได้ช่วยทำงานขับเคลื่อนสังคมในหลาย ๆ มิติมิใช่น้อย ยกตัวอย่างผู้เขียนเอง ที่ได้มีภาระกิจอื่น ๆ ทั้งงานราษฎร์ งานหลวง เช่น

     วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๕๔ ไปส่งนิสิตใจสิงห์จำนวน ๑๐ รูปที่ขอสมัครไปฝึกอบรมปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเข้มที่วัดพระธาตุจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่โดยมีอาจารย์สุเทพ สารบรรณเป็นผู้ดูแล ปกตินิสิตที่เป็นบรรพชิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ต้องเข้าฝึกปฏิบัติในสถานที่ทางมหาวิทยาลัยฯ กำหนด แต่นิสิต ๑๐ รูปนี้ต้องการฝึกให้เข้มข้นตามหลักสูตรของสำนักที่มีชื่อเสียง

     ในจำนวนนี้ เป็นพระสังฆาธิการ หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระผู้ปกครองตั้งแต่เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ไปด้วยหลายรูป ซึ่งท่านเหล่านั้นล้วน ไปเพื่อนำเทคนิคการฝึกอบรมจิตและเจริญสติตามหลักทฤษฎี "สติปัฏฐานสี่" มาใช้กับสังคมชุมชนของตนเอง ไม่มากก็น้อย

     ผู้เขียนตั้งใจไปอยู่ร่วมฝึกหัดประจำปีเหมือนๆ ปีก่อนๆ แต่เนื่องจากมีภาระกิจที่เข้ามาในช่วงนี้เป็นจำนวนมาก เรียกว่าเกิดปริโภช หรือปลิโพธ ขึ้นมา (งานที่รับปากไว้ยาวหลาย ๆ งาน) ซึ่งคำนี้หมายความว่า เป็นเครื่องหน่วงเนี่ยว ผูกพันไม่ให้ทำในสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้  ซึ่งผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการเจริญกรรมฐาน ในพระพุทธศาสนา มี ๑๐ ประการ ยกตัวอย่าง เช่น ความกังวลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย(วัด)  ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลหรือญาติโยมผู้ให้ความอุปถัมภ์ ความกังวลเกี่ยวกับลาภสักการะที่จะได้ ความกังวลเกี่ยวกับศิษยานุศิษย์,หมู่คนที่ต้องรับผิดชอบ  ความกังวลเกี่ยวกับภาระงานการก่อสร้าง  ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไปกิจธุระ  ความกังวลเกี่ยวกับญาติโยมสัทธิวิหาริกกำลังเจ็บป่วย  ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตน ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น

     อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังถือว่าได้อานิสงส์บางส่วนที่เกิดจากความตั้งใจ, ได้มีน้ำใจไปส่ง และได้ร่วมฝึกในคราวสมโภชพระธาตุจอมทองจำนวน ๓ วัน นับว่าพอมีต้นทุนอยู่บ้างแม้ไม่มากนัก

     วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๕๔ ไปสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง  จันทร์งาม และรองศาสตราจารย์สมหมาย  เปรมจิตร  จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากผู้เขียนติดหนี้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มาแล้ว ๒ ปีขึ้นปีที่ ๓ (ทุนปี๒๕๕๓) เพราะภาระกิจ(คำกล่าวอ้าง)ที่มากนั้นเอง........ 

     การไปสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผู้เขียนตั้งประเด็นเกี่ยวกับธรรมราชา ตามหัวข้องานวิจัยเรื่อง "การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดธรรมราชาตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา" ซึ่งผู้เขียนจะต้องค้นงานเอกสารและทำการสัมภาษณ์คนอยู่ ๓ กลุ่มๆ ละ ๕ รูป/คน คือปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา, ผู้นำทางการเมือง และผู้นำชุมชน เพื่อนำแนวคิดมาวิเคราะห์ จำแนก แจกแจง ตามทฤษฎี

     วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๕๔ ไปส่งลูกศิษย์ไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ คือพระครูสมุห์สุวิทย์ กลฺยาณธมฺโม ที่กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "ศึกษาบทบาทพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น" ในระดับมหาบัณฑิต หลังจากนั้นก็เดินทางกลับจังหวัดพะเยา

     วันที่ ๑๙-๒๐ ธค.นี้ยังได้แวะคารวะและไปส่งหลวงพ่อพระราชวิริยาภรณ์รองอธิการบดี มจร.วิทยาเขตพะเยา ที่เดินทางจะไปขึ้นเครื่องฯ เพื่อเดินทางต่อไป...ทัศนะศึกษา นมัสการสังเวชนียสถาน ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล พร้อมนิสิตคณะพุทธศาสตร์ ของศูนย์บัณฑิตศึกษา พะเยา จำนวน ๒๐ รูปที่เดินทางไปล่วงหน้าที่สุวรรณภูมิก่อนแล้ว

     การไปครั้งนี้ นอกจากจะให้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแล้ว ยังไปทัศนะศึกษาเพื่อเปรียบเทียบหลักฐานข้อมูล ซึ่งการศึกษาทางเอกสาร กับการเห็นที่เรียกว่าความรู้เชิงประจักษ์นั้นเป็นเช่นใด เช่น ในหลักสูตรพุทธประวัติ ที่แต่งโดยพระมหาสมณเจ้าฯ บอกว่าเจ้าชายนักบวชเมื่อฉันภัตตาหารแล้ว ได้นำถาดทองคำไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา แล้วไปนั่งใต้ต้นโพธิ์ริ่มฝั่งแม่น้ำ ซึ่งในมโนภาพของผู้เรียนกับข้อเท็จจริงที่ไปดูด้วยตนเอง จะเห็นว่ามีข้อแตกต่างหรือรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก

     ข้อเท็จจริงคือพระองค์เมื่อลอยถาดทองคำแล้ว พระองค์ได้ข้ามแม่น้ำเนรัญชรามาอีกฝากหนึ่งเพื่อมานั่งใต้โคนของพระศรีมหาโพธิ์ และแม่น้ำเนรัญชราในปัจจุบันมีแต่ทรายที่ตืนเขิน นั้นเป็นเครื่องยืนยันในทฤษฎีของพระพุทธเจ้าในแง่ของ "สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่จีรังยั่งยืน แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตามกฏเกณฑ์ของไตรลักษณ์"

     วันนี้ที่ ๒๑ ธันวาคม ๕๔ ไปร่วมงานสัมมนาสวัสดิการชุมชนสู่ความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดพะเยา เป็นเจ้าภาพ ณ ห้องภูกามยาว ชั้น ๕ ศาลากลางจังหวัดพะเยา ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๓๐ น.เพื่อไปรอให้ข้อคิดตอนสรุปท้ายสุดโดยใช้เวลา ๘ ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งงานนี้ครูมุกดา อินต๊ะสาร เป็นแม่งานใหญ่

     นั่นก็หมายความว่า พระก็ต้องให้สติ ให้ธรรมะแก่ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้คนในสังคมได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณให้กับสังคม ในมิติต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย แม้ต้องทนนั่งฟังเป็นวัน ๆ ก็ตาม ซึ่งจะอธิบายต่อไปในคราวหน้า....

 

หมายเลขบันทึก: 471991เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2011 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการ ด้วยความเคารพ

เพิ่งจะพบบทความของพระคุณท่าน

เมื่อเข้าเยี่ยมอ่าน ได้สาระหลากหลาย

ถือเป็นบุญที่ท่านมอบช่อดอกไม้ให้

จึงได้พบสิ่งดี ๆ จากพระคุณท่าน

นมัสการ

เจริญพรคุณโยมธนา ที่ได้แวะเวียนเข้ามา

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของกันและกัน

ย่อมทำให้สติปัญญาเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ สาธุ...........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท