ชีวิตชาวนาไทย


ใครได้ ? ใครเสีย ? กับโครงการรับจำนำข้าว

ใครได้?  ใครเสีย? ในโครงการรับจำนำข้าวชาวนาไทย

          หลังจากรัฐบาลมีนโยบายรับจำนำข้าวชาวนา บรรดาโรงสีต่างๆก็ดำเนินการรับจำนำข้าว พี่น้องชาวนาต้องขนข้าวนอนรอคิวยาวเพื่อเอาข้าวไปขายที่โรงสี  นี่คือภาพที่น่าสงสารสำหรับชาวนาที่ไม่มีโอกาสได้รับสิทธิของความเป็นคนไทยในการดูแลจากรัฐบาลอย่างจริงจัง  เพราะไม่มีการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานอย่างจริงจังจากหน่วยงานของทางราชการว่า นโยบายที่กำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15 % เกวียนละ 20,000 บาท นั้น ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน หรือปล่อยให้โรงสีเป็นผู้ชี้ชะตาชีวิตของชาวนาต่อไป เพราะสิ่งที่พบ คือ

          1. ยังไม่มีโรงสีใดที่รับจำนำข้าวในราคา 20,000 บาทต่อเกวียน  สูงสุดในจังหวัดที่ผู้เขียนอยู่ คือ 16,000 บาท ส่วนใหญ่ผู้รับซื้อ (เจ้าของโรงสีจะเป็นผู้กำหนดราคาว่าจะให้เท่าไร) โดยที่ชาวนาไม่มีโอกาสได้ต่อรอง

          2. การตรวจสอบคุณภาพข้าวของโรงสีขาดมาตรฐาน ไม่เป็นธรรม ชาวนาขาดความรู้เรื่องการตรวจสอบคุณภาพข้าว (ความชื้น,เมล็ดข้าวแตกหัก)

          3. ตาชั่งไม่ได้มาตรฐาน ขาดการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องเป็นปัจจุบัน

          4. สิ่งที่พบชัดเจนคือ ข้าวที่โรงสีรับซื้อจากชาวนาที่บอกว่าคุณภาพไม่ดีนั้น แล้วกดราคานั้น เมื่อรับซื้อแล้วก็นำไปเทรวมเป็นกองเดียวกันกับข้าวที่รับซื้อต่างราคากัน

          นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยไม่มีโอกาสได้มีปากมีเสียงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับตนเอง ต้องก้มหน้ารับกรรมต่อไป  ในขณะที่นักการเมืองทั้งหลายใช้พวกเขาเหล่านี้เป็นฐานให้เหยียบย่ำ ปีนป่ายสู่อำนาจ วาสนา สุดท้ายก็คือ ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

          แนวทางแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีหน่วยงานของรัฐมากมายที่อยู่ในพื้นที่ เช่น พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด หรือแม้แต่ ส.ส. ในพื้นที่เองก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้  ไม่ต้องรอให้มีเจ้าทุกข์ไปร้องเรียน  เราต้องทำงานในเชิงรุกมากกว่านี้  ไม่ใช่นั่งรออยู่ในห้องแอร์รอชาวบ้านมาร้องเรียน เสียดายเงินภาษีของประชาชนที่จ้างท่านมาทำงาน

          ใครได้ คำตอบคือ โรงสีที่รับจำนำข้าว ซื้อถูก ขายแพง

          ใครเสีย คำตอบคือ ชาวนา  ลงทุน ลงแรง ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากการกำหนดราคาข้าวอย่างไม่เป็นธรรม

          ทำอย่างไรจะทำให้ชาวนามีอำนาจในการต่อรองราคา และมีความรู้ในอาชีพของตนเองอย่างแท้จริง คือ โจทย์ที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องตอบให้ได้

ลูกหลานชาวนาไทย

หมายเลขบันทึก: 471848เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2011 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ÄÄÄ..ทางเลือกของชาวนามีทางเดียว..คือ..ปลดแอก..ตนเอง..เจ้าค่ะ...ซึ่งชาวนาที่เป็นชาวนาจริงๆต้องไฝ่ใจและร่วมใจกัน..อย่างพร้อมเพียง..ตามเหตุและปัจจัย...

ร่วมใจกันปลูกไว้แค่บริโภคเองเลย ไม่ต้องปล่อยให้ผลผลิตออกสู่ตลาด แล้วให้พวกท่านๆทั้งหลายบริโภคขนมปังกันไป (เป็นฝรั่งเลย) สักพักเดียวจะต้องดิ้นรนหามาบริโภคกัน (ตามสันดานดิบของสิ่งมีชีวิต)จริงๆผมไม่อยากให้เป็นเช่นนี้หรอก เพราะผมก็เดือดร้อน แต่เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ และเห็นใจพวกชาวนาที่ท่านลงทุน ลงแรง แล้วต้องมาพบกับ "วิบากกรรม" ที่ตนเองก็ไม่ได้สร้าง อีกทั้งอาชีพ "ชาวนา" ก็นับวันจะลดน้อยลงไป ทั้งที่เป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก คนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะ "ลุ่มหลง" ตกเป็นทาสวัตถุนิยมกันหมด โดยลืม "รากเหง้า" ที่มาของตนเอง

ขอบคุณในเสียงสะท้อนนี้ครับท่านอาจารย์ อย่างน้อยทำให้ผมรู้คุณค่าของข้าวทุกเมล็ดที่ทานอยู่ทุกวัน มีโอกาสจะเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์อีกนะครับผม

วิถีชีวิตชาวนาไทยเปลี่ยนไปตามยุคโลกาภิวัฒน์ มองไม่เห็นความคุ้มทุนแต่ดูเหมือนสมยอม

น่าเห็นใจนะครับ เกษตรกรลงทุนมากที่สุดในกระบวนการผลิต แต่กลับได้ผลตอบแทนน้อยกว่าพ่อค้า มันควรมีกลไกลอะไรเพื่อเกษตรกรจริงๆเลยครับ แต่ก็นั่น ถ้าขึ้นราคายังไงพวกพ่อค้า ก็จะผลักภาวะให้ผู้บริโภคอยู่ดี พวกนี้ไม่เคยจะยอมลดผลประโยชน์ของตนเองลงเลย

มาเชียร์ชาวนาไทยให้มีรายได้มากขึ้น ทำงานน้อยลงหน่อยนะครับ

อีกทางเลือกคือทำอย่างไรให้ปัจจัยการผลิตลดลง เช่น ราคาปุ๋ย พันธ์ข้าว ยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น การขึ้นราคารับซื้อข้าวไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะกระทบกับผู้บริโภค ส่วนที่สอง คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ พัฒนากรอำเภอ ธกส. ต้องเข้ามาร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง ไม่ควรนั่งรอให้ชาวบ้านเข้ามาหา

เหตุผลแรกต้องให้เกษตรยอมเปลี่ยนความคิดเดิมของตนเองซะก่อน

เลิกยอมให้เขาเอาเปรียบในทุกๆด้าน

หันมาลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถ้าชาวนามืออาชีพจริงผมพอจะสรุปได้ว่า

ผลผลิตที่ได้-ต้นทุนการผลิต=กำไร ไม่ใช่ว่าทำนาได้ไร่ละ 1 ตันเหมือนเกษตรกรทุกวันนี้ไม่เคยหันหลังดูต้นทุนการผลิตเลยแม้แต่น้อย และน้อยคนมากที่คิดต้นทุนการผลิต ผมเองก็อีกคนหนึ่งที่กำลังกลับไปเปลี่ยนความคิดพ่อแม่ของตนเอง เพื่อพัฒนาตนเองเป้นชาวนามืออาชีพ ผมเรียนรู้จากชาวนาเงินล้าน(ชัยพร)กับคุณต้นกล้าชาวนาวันหยุด

  • เป็นอาชีพ ที่ด้อยโอกาสเกือบ ๓๖๐ องศา..ไม่ว่าด้านผลิต การตลาด ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่.. การยอมรับที่แท้จริงของสังคม....เห็นด้วยกับคุณปานเทพครับ

ชาวนาทั้งประเทศต้องร่วมกันก่อตั้งเป็นรูปบริษัท เป็นผู้ผลิต เป็นผู้สีข้าวเอง เป็นผู้เสนอขายข้าวเอง ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลางหรือหยง ไม่ต้องขายให้โรงสี โดยดำเนินการเองทั้งหมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท