ก้าวข้ามลำโขงสู่ต่างแดน (2) ...วิจัยเชิงคุณภาพ


ในส่วนตัวของผมงานวิจัยเชิงคุณภาพมีเสน่ห์มากครับ เพราะทำให้ผมคิดแบบสามเหลี่ยม เหลี่ยมแรก คือ คำถามวิจัยของตนเอง เหลี่ยมสอง คือ แนวคิดทฤษฎีที่เรานำมาจับประสบการณ์ และเหลี่ยมสาม คือ การเก็บข้อมูล ผมเดินรอบ ๆ สามเหลี่ยม แล้วก็วิเคราะห์ข้อมูลไปพร้อม ๆ กัน ...สำหรับมือใหม่ยิ่งอยู่ในพื้นที่รับรองว่า คุณทำได้ เราไม่ต้องเป็น-คนใน- แต่เราต้องฟังเสียงหัวใจของผู้ที่ให้ข้อมูลเรา...เดินรอบสามเหลี่ยมอย่างมีสติ...นอกจากผลงานวิจัยที่เราได้ (อาจดีหรือไม่ดีบ้าง) มันไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับ...ขอบคุณผู้ให้ข้อมูลของเราทุกท่าน คือ ครู ของเรา...ครูที่ทำให้เราเข้าใจตนเอง..ผู้อื่น...และโลกครับ
อ่านบันคัดย่อครับ...ภาวะสุขภาพและการรับบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในภาคการผลิต

 

ก้าวข้ามลำโขงสู่ต่างแดน (1) ...วิจัยเชิงคุณภาพ

 

แต๋วเล่าว่า  “...ตามจริง ยายของนาง  เป็นคนไทย  เป็นคนอีกตำบลหนึ่งในอำเภอแห่งนี้  แต่เนื่องจากสมัยก่อน  (แม่เล่าให้ฟัง)  เกิดอาเพศใหญ่ในหมู่บ้าน  มีคนล้มตายมาก คนส่วนใหญ่  จึงอพยพย้ายครอบครัวไปอยู่เมืองลาว   ยายของนางจึงได้กับตา ซึ่งเป็นคนลาว   จึงได้แม่น้อย   จึงถือว่า แม่น้อย เป็นคนลาว เพราะเกิดที่ลาว  ยายจึงได้ย้ายกับมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง  โดยไม่ได้นำตา และแม่น้อย มาด้วย  ... ต่อมาประมาณ 6 ปี ก่อน  แม่น้อย  ติดคุกที่เรือนจำอำเภอ  ไม่ทราบว่า ทำผิดอะไร  (จากการสอบถามจาก อสม. พบว่า  เป็นคดีขายยาบ้า  เพราะคนบ้านนี้  ขายยาบ้ามากในช่วงเวลานั้น)   แม่เทียวมาเทียวไป  มาหาแม่ตลอด   สามีใหม่ของแม่  ซึ่งเป็นคนที่นี้  ได้มา “จองเอา ”   คือ จับจองหมายหมั้นแม่  ตั้งแต่อยู่ในคุกว่า จะรับแม่เป็นเมีย เมื่อออกจากคุก   เมื่อออกจากคุก สักพัก  แม่ก็รับนาง มาอยู่กับแม่ที่เมืองไทย…”

 

 

            สะท้อนให้เห็นว่า ก่อนนี้ชาวลาวสามารถข้ามไป-มา ระหว่างชาติได้อย่างสะดวกสบาย  บางรายก็ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย และ “การหย่าร้าง” แล้วมีสามีใหม่เริ่มเป็นเรื่องปกติ

 

 

“...มีตอนหนึ่งจำได้ อาจไม่แม่น  เพราะเกิดมาไม่เคย  ออกไปไหนจากบ้าน  อยู่กับน้าบ่าว และพี่ๆ น้องๆ เสมอ  แม่มารับที่บ้าน ( เมืองลาว)  ตอนนั้น อายุ 17 ปี  แม่บอกว่า  จะพาไปเมืองไทย  ก็ไม่ได้คิด  เป็นเด็กด้วย แม่บอกว่า ดี ก็เชื่อ   ให้มาอยู่กับแม่  แม่เป็นห่วง  เป็นสาวแล้ว  เป็นผู้หญิงด้วย  ถ้าอยู่ที่นี้    แม่ไม่ได้ดูแล  น้าบ่าว ก็ต้องเลี้ยงดูพวกเราหลายคน   เมืองไทย อุดมสมบูรณ์  เจริญกว่าบ้านเราเยอะ  งานก็มีให้ทำ  ถ้าไม่ขี้เกียจ ก็มีเงินใช้  ได้แต่งตัว  ได้มีเงินซื้อของที่อยากได้  แม่ก็พูดถึงแต่สิ่งดีๆ  แต่อย่างไง  นางก็จะมากับแม่อยู่แล้ว  คิดถึงแม่  อยากมาเมืองไทยด้วย นั่งรถสองแถวจากบ้าน  ถึงหลวงพระบาง  แล้วนั่งเรือ   ตรงท่าด่าน   ถึงเมืองเลย  ประเทศไทย   ตำรวจก็ตรวจบัตรว่า  จะเข้าเมืองไทย ได้ไหม  ซึ่งก็เข้าได้  เพราะแม่ทำ   ใบข้ามด่าน  ให้มาทำงานที่จังหวัดชัยภูมิ  บัตรนี้ต่ออายุ ทุกปี  ต่อมา 2 ครั้งแล้ว  พ่อ (สามีใหม่ของแม่) และแม่  ไปทำให้ที่จังหวัดขอนแก่น  ปีละประมาณ 2-3 พันบาท  ถึงมีบัตรแล้ว ก็กลัว  เพราะได้ยินตำรวจพูดว่า  ถ้าสังเกตคนลาวต้องสังเกต   คนลาว  ตาโบ๋ คนลาวตอนย่าง (ก้าวเดิน)  จะย่างก้าวใหญ่  คนไทยจะเดินก้าวน้อย...”

 

 

นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์  “นายแม้ว”  (นามสมมติ)  แรงงานข้ามชาติชายชาวลาววัย 24 ปี พว่า นายแม้วยังโสด ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เคยผ่าตัด ไม่มีอาการบ่งบอกถึงความพิการ หรือป่วยด้วยโรคร้ายแรง แต่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม เพราะแม่ป่วยเป็นเบาหวาน ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นางแต๋ว ว่า พี่ชายชื่อ “แม้ว” เดินทางจากฝั่งลาวเข้าไทย ตั้งแต่หลังปีใหม่ (ปี 2552) มารับจ้างตัดอ้อยที่หมู่บ้านในอีกตำบล ซึ่งแม่แต๋ว หรือ แม่น้อย ก็ได้ตัดอ้อยร่วมกับนายแม้วด้วย ปัจจุบันที่อยู่ในลาวอยู่ที่บ้านตับเต่า แขวงนครหลวงเวียงจันทร์ เข้ามาเมืองไทยมาทำงานตัดอ้อยที่เมืองไทยในครั้งนี้ เป็นครั้งที่สอง เป็นพี่น้องพ่อ-แม่เดียวกันกับนางแต๋ว นายแม้วให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วแม่ (นางน้อย) เคยแต่งงานกับคนลาวแล้ว 3 คน คนไทยคนปัจจุบัน เป็นคนที่ 4 สรุปแล้วแม่มีสามีทั้งสิ้น จำนวน 4 คน

      

 

      ผู้วิจัยเกรง นายแม้วจะไม่ไว้ใจคณะผู้วิจัย หรือให้ข้อมูลไม่เต็มที่ จึงได้หารือกับพ่อผู้ใหญ่บ้าน เดิมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ให้ประสานงานกับสามีใหม่ของนางน้อย (ซึ่งเป็นลูกบ้าน) โทรศัพท์บอกนางน้อย และนัดหมายวัน อธิบายให้ทราบถึงวัตถุประสงค์การวิจัย และให้ อสม. ในหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง เดินทางไปกับนักวิจัยด้วย จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (เมื่อวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552) แม้วเล่าว่า

 

 

“  คุ้นเคยกับการเข้ามาเมืองไทยมาก    ตนเองเคยเข้าเมืองไทย ตั้งแต่การเดินทางด้วยการเดิน และการนั่งรถสองแถวเข้ามา เข้ามาทางอำเภอเชียงคานบ้าง  อำเภอปากชมบ้าง  จังหวัดเลย  และทางหนองคาย แต่ถ้าเดินทางเข้ามา เพื่อรับจ้างทำงานเมืองไทย เลือกผ่านด่านที่อำเภอเชียงคาน เพราะถ้าโดนปรับ เนื่องจากเลยเวลาเข้าเมืองลาว ทางการไม่เคร่งครัด เหมือนที่อื่นๆ   แต่ถ้าเข้ามาท่องเที่ยวตามประสาคนลาว หรือวัยรุ่นลาว ต้องเข้าด่านที่จังหวัดหนองคาย  เพราะมีที่เที่ยวมากมาย รวมถึงเสื้อผ้า ข้าวของ ขนมมากมากมาย...”    

 

 

            ชี้ให้เห็นว่า ชาวลาวมีข้อมูลพื้นฐานเพียงพอ ในการเข้าเมืองไทย และยังสามารถเลือกช่องทางเข้าเมืองได้อย่างสะดวกสบาย ตามเงื่อนไขของตนเอง และทางราชการ

 

 

แม้วเล่าต่อว่า   “...เดินทางด้วนรถสองแถว แล้วผ่านด่านที่เชียงคาน  ได้บัตร " บัตรท่องเที่ยว ”  เข้าเมืองไทย จำนวน 3 วัน เท่านั้น  แต้แม้วไม่กังวลใจมากนัก เพราะศึกษาข้อมูลจากเพื่อนๆ คนที่เคยเข้ามาทำงานที่ไทยหลายครั้ง  รวมถึงแม่น้อย ก็มาอยู่เมืองไทยหลายปีแล้ว ก็ทำเช่นเดียวกัน  บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เกิน 3 วัน  เพราะครั้งที่แล้ว แม้วก็มาอยู่ 3 เดือนกว่า คือ มาหลังปีใหม่ และกลับก่อนวันสงกรานต์ ก็ประมาณ 3 เดือนกว่า  ตอนกลับก็ยื่นบัตรให้ทางการ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ไม่พูดอะไรมาก  บอกเพียงว่า เสียค่าปรับจำนวน 500 บาทไทย ก็ไม่ได้ยึดบัตรอะไร หรือตัดเตือนอะไรเลย  มีความรู้สึกว่า สะดวกสบาย  ไม่ได้บอกเหตุผล หรือโดนจับเข้าคุก  หรือโดนหมายหัวไว้...”

 

 

            สะท้อนให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติชาวลาว มีความคุ้นชินกับการเข้ามาที่ผิดต่อบัตรอนุญาต ด้วยมีความเชื่อว่า ถ้ามีค่าปรับก็จะอยู่นานเท่าไหร่ก็อยู่ได้ และอาจจะคุ้มเมื่ออยู่แล้วมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าปรับ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การใช้แรงงานในไทยรับจ้างให้เงินไปเรื่อย ๆ เมื่อตอนกลับก็เสียค่าปรับเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้

 

 

           กล่าวได้ว่า การข้ามชาติเป็นเรื่องปกติของชาวลาว ได้ผ่านกระบวนการเข้าเมืองตามกฎหมาย เพื่อมาใช้ชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น แต่ด้วยความเป็นคนต่างถิ่น จึงมีความไม่มั่นใจในช่วงแรก ๆ การเดินไวหรือเดินช้า อาจจะสื่อถึงพฤติกรรมหลายอย่าง เช่น  ไม่อยากอยู่ในพื้นที่ทางสังคมเป็นเวลานาน ๆ เพราะเกรงว่า คนจะจับได้ (ความไม่มั่นใจ) หรือด้วยความเป็นแรงงานมาหารายได้ จึงจำเป็นต้องทำเวลาเพื่อแข่งกับงาน เป็นต้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 470032เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2011 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท