ก้าวข้ามลำโขงสู่ต่างแดน (1) ...วิจัยเชิงคุณภาพ


ในส่วนตัวของผมงานวิจัยเชิงคุณภาพมีเสน่ห์มากครับ เพราะทำให้ผมคิดแบบสามเหลี่ยม เหลี่ยมแรก คือ คำถามวิจัยของตนเอง เหลี่ยมสอง คือ แนวคิดทฤษฎีที่เรานำมาจับประสบการณ์ และเหลี่ยมสาม คือ การเก็บข้อมูล ผมเดินรอบ ๆ สามเหลี่ยม แล้วก็วิเคราะห์ข้อมูลไปพร้อม ๆ กัน ...สำหรับมือใหม่ยิ่งอยู่ในพื้นที่รับรองว่า คุณทำได้ เราไม่ต้องเป็น-คนใน- แต่เราต้องฟังเสียงหัวใจของผู้ที่ให้ข้อมูลเรา...เดินรอบสามเหลี่ยมอย่างมีสติ...นอกจากผลงานวิจัยที่เราได้ (อาจดีหรือไม่ดีบ้าง) มันไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับ...ขอบคุณผู้ให้ข้อมูลของเราทุกท่าน คือ ครู ของเรา...ครูที่ทำให้เราเข้าใจตนเอง..ผู้อื่น...และโลกครับ
อ่านบันคัดย่อครับ...ภาวะสุขภาพและการรับบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในภาคการผลิต

 

ก่อนหน้านี้การดำรงชีวิตของแรงงานข้ามชาติชาวลาว ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพดั้งเดิม เช่น ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ด้วยอาชีพที่สร้างรายได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจข้ามลำโขง (ข้ามชาติ) เพื่อมาหารายได้เพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง เมื่อได้คู้ครองกับชาวไทยแล้ว ก็จะเปลี่ยนอาชีพจากรับจ้างทั่วไป เป็นอาชีพภาคเกษตรกรรม เช่น รับจ้าง ทำไร่ ทำนา เป็นต้น ตามอาชีพของสามี

 

            จาการสัมภาษณ์  นางสาวน้อย (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติชาวลาว วัย 23 ปี (เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551) ชาวลาวที่กำแพงนครเวียงจันทร์ รูปร่างเล็ก เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 3 เดือน ที่แล้ว พบว่า น้อยมีพี่น้องร่วมพ่อ-แม่เดียวกัน 4 คน ตนเองเป็นน้องสาวคนสุดท้อง และเป็นหญิงเพียงคนเดียว พ ๆ อยู่ประเทศลาว (ชื่อเต็ม คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ละเลี้ยงสัตว์ รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว บางครั้งต้องไปรับจ้าง เงินรายได้จากการไปรับจ้างถูกมาก ได้เดือนละ 1,500 บาทไทย หรือเดือนละ 360,000 กีบ เดินทางข้ามมาทาง ขัวไทย-ลาว (หมายถึง สะพานไทย-ลาว)   ไม่ได้ตรวจร่างกายก่อนผ่านแดน เวลาเจ้าหน้าที่ตรวจก็มีหนังสือเดินทางให้ตรวจ ตอนจะเข้ามาต้องตรวจที่ขัว ด้วยวัตถุประสงค์มาเที่ยวในประเทศไทย โดยการชักนำของญาติห่าง ๆ ที่รู้จักกันที่ร้านอาหาร ให้มาเป็นพนักงานบริการในสวนอาหาร  รายได้ดีได้วันละ 100 บาท หรือวันละซาวสี่พันกีบ ถ้าหากคิดเป็นเดือนก็ประมาณเดือนละ 720,000 กีบ (มากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าแรงที่ลาว) หากจะเดินทางไปต่อสามารถไปได้ถึงกรุงเทพฯ (จะถูกระบุในหนังสือเดินทาง) มาแล้ว ที่เมืองไทยดีกว่า หาเงินได้ง่าย เจ็บป่วยก็มีหมอรักษา หมอก็อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่า ยังไม่มีบัตรประกันสังคม

 

 

            น้อยเล่าว่า          “... ทุกเดือนต้องนำสมุด Pass Sport ไปต่ออายุ และเมื่อครบปีเขาจะเปลี่ยนหัวใหม่ให้ (เล่มใหม่) ตอนกลับไปเยี่ยมบ้าน ปกติกับบ้านเดือนละครั้งอยู่แล้ว...” ปัจจุบันนี้น้อยได้ใช้ชีวิตใหม่กับสามีชาวไทย โดยไปอยู่กินกับสามีตั้งแต่เดือน มกราคม 2552 สามีประกอบอาชีพรับจ้างและ    ทำนา สะท้อนให้เห็นว่า การข้ามชาติของสาวลาว ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องการเข้ามาหารายได้ มีกฎเกณฑ์ให้เข้ามาที่เป็นทางการ มีเครือข่ายทางสังคมเป็นเครือญาติที่ชัดเจน ในการชักชวนเข้ามา

 

 

            นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก  “นางจันที”  (นามสมมติ)  แรงงานข้ามชาติหญิงชาวลาววัย 30 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2552 พบว่า นางจันสี  เป็นชาวลาวลุ่ม ลูกกำพร้อย (กำพร้าทั้งพ่อแม่) สถานภาพหย่าร้าง ภูมิลำเนาอยู่บ้านเรียงใหม่ เขตหลวงพระบาง อยู่ติดกับผานม มีบุตรหนึ่งคนให้ญาติเลี้ยงที่หลวงพระบาง เข้าถึงแหล่งงานโดยผ่านทางช่องทางสามีของนายจ้าง ซึ่งประกอบธรกิจโรงงานน้ำดื่มที่หลวงพระบาง เหตุผลที่ทำให้ย้ายถิ่นข้ามข้ามชาติเข้ามาประเทศไทย เพราะว่า ประเทศไทยมีงานทำและรายได้ดีกว่าในประเทศลาว ด้วยความคาดหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากรายได้ที่ดีกว่า สำหรับเส้นทางการเข้ามาหารายได้ในประเทศไทยนั้น ผ่านทางสามีของนายจ้าง ซึ่งพาไปพบที่หลวงพระบาง เลยขอมาทำงานด้วย นายจ้างจึงพามาดูสถานที่ทำงานในเมืองไทยก่อนแล้วจึงกลับมาเตรียมตัว และกลับไปเริ่มทำงานในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า การเข้าออกเมืองไทยนั้น สะดวกสบาย เป็นเสรีที่จะใช้ชีวิตตามความพอใจ

 

 

            ต่อมาก่อนเริ่มทำงานจะมีการตรวจร่างกาย ได้แก่ ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท ต้องจ่ายเอง แล้วยื่นขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว (ตามแบบ ทร.38) และขึ้นทะเบียนทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันทำงานมาได้ 5-6 ปี แล้ว (ต่ออายุใบอนุญาตทุกปี) มีเครือข่ายทางสังคมเฉพาะ  เครือญาติที่ทำงานกับสามีนายจ้างที่หลวงพระบาง  แต่เครือข่ายแรงงานลาวในประเทศไทยนั้นไม่มี การติดต่อกับครอบครัวที่ลาวผ่านทางโทรศัพท์ เพราะสะดวกโดยติดต่อประมาณเดือนละ 1 ครั้ง (ค่าใช้จ่ายนาทีละ 5 บาท) ชี้ให้เห็นว่า แรงงานลาวมีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานะให้กับตนเอง โดยความคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีงานทำและรายได้ดี เมื่อเดินทางข้ามลำโขง ผ่านระบบการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว จะมีการตรวจร่างกาย ดังนั้น จึงสะดวกต่อการดูแลตนเองในต่างแดน และเป็นการเฝ้าระวังและเตือนภัยการระบาดของโรคติดต่อด้วย

 

 

            เช่นเดียวกับ “นางเดือน”  (นามสมมติ)  แรงงานข้ามชาติชาวลาววัย 43 ปี จากการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2552 พบว่า นางเดือนมีสถานภาพสมรส  มีบุตร 4 คน อยู่ในการดูแลของสามีที่บ้านหลักซาว ที่เป็นภูมิลำเนาเดิม ในประเทศลาว โดยจะเดินทางกลับบ้านปีละ 2-3 ครั้ง จะนำสิ่งของกลับบ้านด้วย เช่น เสื้อผ้า และของใช้ การเข้าถึงแหล่งงานโดยผ่านเครือข่ายเพื่อนชาวลาวในจังหวัดขอนแก่น ด้วยเหตุผลที่ว่า ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทย จะมีงานทำและรายได้ดีกว่าในประเทศลาว ด้วยความคาดหวังที่จะมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น การได้งานทำทีมีรายได้ดี และเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ 5 ปี แล้ว โดยเริ่มทำงานในร้านอาหารที่สามเหลี่ยม (ผ่านนายหน้าชาวลาว เสียค่าหัวประมาณ 6,000 บาท) ก่อนจะย้ายมาทำงานที่ร้านอาหารอีกแห่งหนึ่ง โดยทำงานผ่านเพื่อน ๆ ชาวลาว  มีเพื่อนชาวลาวเป็นเครือข่ายทางสังคมประมาณ 2-3 คน สะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบการข้ามชาติของแรงงานชาวลาว มีระบบแผนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในทัศนะของแรงงานที่สืบทอดกันมาผ่านระบบนายหน้าหางานคนงาน สร้างเครือข่ายทางสังคม สร้างความคาดหวังที่จะสร้างรายได้เพื่อดูแลครอบครัว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้สภาพครอบครัวแยกกันอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวมั่นคง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ขาดความอบอุ่นในครอบครัว ขาดการขัดเกลาทางสังคม และเสี่ยงต่อการหย่าร้างของครอบครัวในระยะยาว ดังเช่นครอบครัวของ “นางแต๋ว”  (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติหญิงชาวลาววัย 23 ปี จากการสัมภาษณ์เชิงลึก  เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552  แต๋วเป็นคนลาวเขตหลวงพระบาง เล่าว่า

 

 

“...ตั้งแต่จำความได้      “นาง”   (ชาวลาวผู้หญิงใช้คำแทนตัวเองว่า “นาง”)  ไม่ค่อยสนิทสนมกับพ่อเท่าไหร่   เพราะเมื่อเกิดคนหล้า คนเล็ก พ่อกับแม่ก็ปะกัน  แยกย้ายไปอยู่ที่อื่น   จำความได้ ก็อยู่กับแม่เป็นหลัก  และ  น้าบ่าว (น้องชายแม่)   มีพี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน ทั้งหมด 6 คน  คนที่แรก เป็นผู้ชาย  (ไม่ได้บอกชื่อ) คนที่สอง ชื่อ แม้ว   (ตอนนี้มากับเพื่อนๆ  ชาวลาว เถ้าแก่อ้อย  บรรทุกรถกระบะมาตัดอ้อยที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง   ประมาณ 10 กว่าคน   มาอยู่เมืองไทย ประมาณ 3 เดือน ก็กลับเมือง   และแม่ (นางน้อย)  ซึ่งเป็นคนกลายเป็นคนบ้านนี้ไก้แล้ว  ไปร่วมสมทบรับจ้างตัดอ้อยด้วยกับลูกชาย โดยตั้งเต้นท์ที่ไร่อ้อย  ซึ่งแม่เทียวไปเทียวมา  เพื่อมาดูแลพ่อ (สามีใหม่) ที่เป็นคนบ้านนี้  เกือบทุกอาทิตย์  คนที่สามเป็นผู้หญิง  (ไม่ได้บอกชื่อ คนที่สี่ คือ นาง  (แต๋ว)คนที่ห้า เป็นน้องสาวชื่อ อ้อย  ชื่อภาษาไทย คือ  ลัดดาวัลย์  อายุ 10 ปี  ตอนนี้เรียนอยู่โรงเรียน  ซึ่งแม่ก็รับมาจากเมืองลาว  มาอยู่ด้วยกับแม่ที่นี้    และคนที่หก เป็นผู้ชาย อายุประมาณ 8 ปี  ตอนนี้ นาง กับอ้อย  เท่านั้นที่มาอยู่เมืองไทย...” 

 

 

            ชี้ให้เห็นว่า ชาวลาวยังขาดการดูแลสุขภาพในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การวางแผนครอบครัว ทำให้บุตรมีจำนวนมาก เมื่อบุตรมีจำนวนมากก็ทำให้คุณภาพชีวิตค่อนข้างไม่ค่อยดี ดำเนินชีวิตอยู่ในภาวะเสี่ยงทางสังคม เช่น การลักลอบอพยพแรงงาน จากการหย่าร้างของครอบครัว ครอบครัวจึงแตกแยกเข้ามารับจ้างตัดอ้อยกับผู้ว่าจ้างแรงงาน เสี่ยงต่อการถูกจับกุม และการป้องกันโรคติดต่อจากการที่มาตั้งเต็นท์หลับนอนในไร่อ้อย ก็เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ เช่น โรคไข้มาลาเรียจากยุงก้นปล่องและไข้สมองอักเสบจากยุงรำคาญ เป็นต้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 470028เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2011 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือวิจัยคือตัวเราเอง

ดังนั้น จึงมีความยาก เพราะต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง นอกเหนือหลักวิชาการ

ต้องเรียนรู้จากคนที่ทำได้ดีและมีความสุข อย่างคุณหมออดิเรกแล้วละค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท