ใต้ร่มพระบารมี 84 พรรษา


นับเนื่องแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ตลอดกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมาพระองค์ท่านได้ทรงดำรงไว้ซึ่ง “ธรรม” ทั้งปวง และทรงเปรียบประดุจแสงชัชวาลที่คอยส่องนำทางการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

นับเป็นความโชคดีของราชอาณาจักรไทยและปวงชนชาวไทย ที่มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์เจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและเชื่อมความรักสามัคคีของคนในชาติให้สมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกัน ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกและทรงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์เชื่อมระหว่าง “ความรักชาติ” และ “ความศรัทธาในศาสนา” ทรงเป็นสัญลักษณ์ของความดีเลิศแห่งเอกลักษณ์ของชาติ การสืบทอดจารีตประเพณี และความมั่นคงแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นกำลังของแผ่นดินอย่างแท้จริง ดังที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีรับสั่งไว้ว่า "อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่ก็อยากให้เธออยู่กับดิน"  ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยรับสั่งว่า "เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานให้ทำงานแก่ประชาชน"


            นับเนื่องแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ตลอดกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมาพระองค์ท่านได้ทรงดำรงไว้ซึ่ง “ธรรม” ทั้งปวง และทรงเปรียบประดุจแสงชัชวาลที่คอยส่องนำทางการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทรงเปี่ยมด้วยพระปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงเสียสละประโยชน์ส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล โดยไม่ทรงแบ่งแยกสถานะ เชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือหมู่เหล่า ทรงถือว่าทุกข์ของพสกนิกร คือ ทุกข์ของพระองค์ ทรงอุทิศพระวรกาย ทุ่มเทพระสติปัญญา และพระราชทรัพย์ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทั้งพระราชทานคำสอนและทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างอันดีงามในการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง ผู้ใดจะคาดคิดว่าพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง จะอุทิศพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อประโยชน์ และความสุขของประชาชน อย่างมิรู้จักเหน็ดจักเหนื่อย หากหวนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพบว่ามีอยู่อยากมากมายกว่า 4,000 โครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข ด้านการเกษตร ด้านส่งเสริมอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ด้านศาสนา ด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ด้านคมนาคม ทรงอุทิศพระองค์ให้กับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ จนมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีที่แห่งใดในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยย่างพระบาทไปถึง”  ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินจึงยาวไกลกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์เสียอีก            

ในฐานะทรงเป็นพระประมุขในการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยโดยแท้จริง ทรงนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤติทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ดังที่นิตยสารเอเชียวีค ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 ได้มีบทความเฉลิมพระเกียรติ ความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยใส่ในการหาแนวทางช่วยเหลือราษฎรของประเทศให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตลอดเวลา พระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อการเมืองโดยที่พระองค์มิได้เป็นนักการเมืองเลย ถือได้ว่าได้ทรงทำให้สถาบันของกษัตริย์ที่ยั่งยืนมาแต่อดีตนั้นได้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตยที่เจริญก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน”            

แม้กระทั่งการก่อตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็มีรากฐานสำคัญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนยุโรป อเมริกา และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทรงได้รับการต้อนรับ อย่างอบอุ่น ทำให้แทบจะทุกประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น ได้เจรจาเพื่อจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน นั้น มีความง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับการตอบรับอย่างเหมาะสม และเป็นกันเอง            

ตลอดเวลาระยะ 84 พรรษาแห่งพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระองค์เป็นพลังแห่งแผ่นดินไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ทรงอุทิศพระองค์อย่างมิทรงรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของปวงชนชาวไทย ไม่เว้นแม้ในวันที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุมากแล้ว จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ชัดแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติตาม พระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทุกประการ


จากพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลกโดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" หรือ “UNDP Human Development Lifetime Achievement Award” รางวัลประเภทผู้อุทิศตนเพื่อการพัฒนาตลอดชั่วชีวิต (Life-long achievement) ซึ่งพระองค์ท่านได้รับรางวัลประเภทนี้เป็นบุคคลแรกของโลก


เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554  ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ  ทรงเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล พระชนมสุขทุกประการ ขอให้มีพระชนมพรรษายั่งยืนนาน ปราศจากโรคภัยทั้งปวง ทรงประสบแต่ความสุข ขอความสำเร็จแห่งพระราชกรณียกิจ จงมีแด่พระมหาราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐตลอดกาล ทุกเมื่อเทอญ.

หมายเลขบันทึก: 469995เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2011 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท