เส้นแบ่งที่ข้ามได้


ระหว่างอยู่เชียงใหม่ เลขาฯได้โอกาสไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนที่สมัครโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแบบยั่งยืน ได้พบสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน นำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

โรงเรียนบ้านห้วยตอง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่เสนอโครงการเข้ามา เลขาฯมีโอกาสดี ไปพักอยู่ในกิ่ง อ.ดอยหล่อ ติดกับ อ.แม่วาง เลยติดต่อขอไปเยี่ยมโรงเรียนเสียหน่อย

 บ้านห้วยตอง อยู่ลับเข้าไปในภูเขา เดินทางจากตัวอำเภอแม่วางราว 40 กิโลเมตร  เลขาฯนัดแนะล่วงหน้าเล็กน้อย ก็ประสบความสำเร็จในการโบกรถคุณครูที่เดินทางจากบ้านในอ.สันป่าตองขอเข้าไปด้วยในเช้าวันจันทร์

หมู่บ้านรอบๆโรงเรียนบ้านห้วยตอง ประชากรเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเสียเป็นส่วนใหญ่ นับถือศาสนาคริสต์ และพุทธรองลงมา คุณครูเล่าให้ฟังว่า ตอนเช้าหลังเคารพธงชาติ จะมีการสวดมนต์ของทั้งสองศาสนา

ปีการศึกษา 2549 นี้ โรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 304 คน มีครู 15 คน ไม่มีครูที่เป็นคนในพื้นที่เลย ที่ผ่านมาเคยจ้างชาวเขามาเป็นครูอัตราจ้าง 1 คน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ออกไปทำงานที่กรุงเทพฯแทน ครูที่ทำงานอยู่ตอนนี้ อยู่มานานที่สุดคือ 6 ปี อัตราการย้ายสูงมาก ใครๆก็อยากอยู่ในที่ที่สบายกว่านี้ เนื่องจากครูหลายคนมีบ้านอยู่ที่อ.สันป่าตอง ครูกว่าครึ่งของโรงเรียนเลยรวมตัวกันหารค่าน้ำมัน วิ่งรถสองคันไปกลับวันละกว่า 100 กิโลเมตรทุกวัน เรามีภาระทางบ้าน ต้องดูแลพ่อแม่ ต้องดูแลลูก นี่คือเหตุผลหลัก ตราบใดที่มาตรฐานการศึกษาและการรักษาพยาบาลยังแตกต่างกันมาก ปัญหานี้ก็คงยังมีต่อไปเรื่อยๆ

พื้นที่ของโรงเรียนบ้านห้วยตองมีประมาณ 10 ไร่ อยู่บนไหล่เขา อาคารแต่ละหลังอยู่กันคนละระดับ ครูและนักเรียนไต่ขึ้นไต่ลงกันวันละหลายๆรอบ สนุกไปอีกแบบ แถมข้างๆยังเป็นที่ทำการโครงการหลวงทุ่งหลวง คอยแนะนำให้ชาวบ้านปลูกผักปลอดสารและรับซื้อให้ในราคาพอสมควร ชาวบ้านในแถบนี้นับว่าโชคดีมาก เด็กๆเองก็โชคดี มีผักจากโครงการหลวงมาให้กินอยู่เสมอ  

อาจจะด้วยความที่อยู่ในพื้นที่ศาสนาคริสต์ ทำให้โรงเรียนบ้านห้วยตองมีชาวต่างชาติมาเยือนอยู่บ่อยๆ วันที่เลขาฯไปเยี่ยมก็มีอาสาสมัครอเมริกันเชื้อสายเวียดนามหลายคน นำโดยบาทหลวงชาวเวียดนาม เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆเป็นเวลาสองสัปดาห์ อาจารย์บอกว่า มีแขกแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลืออยู่บ่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงแนะนำมา

โรงเรียนยังได้รับบริจาคห้องสมุดหลังใหญ่จากบริษัทญี่ปุ่น ผ่านมูลนิธิดร.พิชนี โพธารามิก เพิ่งเสร็จสมบูรณ์มีพิธีเปิดไปเมื่อสิ้นปีที่แล้วนี่เอง ช่วงบ่ายของวันที่ไปเยี่ยม หลังจากหมดแรงกับเด็กอนุบาลตัวน้อย เลขาฯว่าจะไปแอบงีบเสียหน่อย บังเอิญไปเจอหนังสือ "เจ้าชายน้อย" วรรณกรรมในดวงใจของหลายๆคนนอนเปิดปกอยู่บนชั้นหนังสือ เลยได้หยิบมาอ่านเป็นครั้งแรกในชีวิต เป็นการพักผ่อนที่ดีไปอีกแบบค่ะ ห้องสมุดที่นี่ได้รับบริจาคหนังสือมาพร้อมกับตัวห้องสมุด มีหนังสือดีมาก (ในสายตาคนเมืองอย่างเลขาฯ)อยู่มากมาย แต่มีอาจารย์หลายท่านแอบกระซิบว่า "หนังสือดี แต่ไฮโซไปหน่อย หนังสือเด็กอ่านไม่ค่อยมี" 

ที่โรงเรียนบ้านห้วยตอง มีเด็กโตสวมชุดธรรมดามาเรียนหลายคน คุณครูเล่าให้ฟังว่า ที่นี่มีนักเรียน ปวช. ด้วยค่ะ เรื่องนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย เริ่มต้นที่ผู้อำนวยการที่ย้ายมาใหม่ คุยกับชาวบ้านว่า อยากให้มีการพัฒนาอะไรเกี่ยวกับการศึกษาของลูกหลานบ้าง ชาวบ้านบอกว่า อยากให้ลูกหลานได้เรียนสูงขึ้น เดิมทีพอจบม.3 จากโรงเรียนบ้านห้วยตอง อยากเรียนต่อก็ต้องเดินทางออกไปไกลถึง 40 กิโลเพื่อเรียน ม.4 ที่บ้านกาด หากอยากเรียนสายอาชีวะก็ต้องไปไกลกว่านั้นอีก ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ยังรับภาระนี้ไม่ไหว เด็กที่โชคดีได้ทุนไปเรียนต่อด้านศาสนาคริสต์ก็มีเพียงนิดเดียว

โรงเรียนบ้านห้วยตองดูความจำเป็นและความเป็นไปได้แล้ว ก็ไปคุยกับหลายๆฝ่าย ได้ความร่วมมือจากวิทยาลัยเกษตรเชียงใหม่ที่สันป่าตอง มาเปิดสาขาวิชาเกษตรกรรม ใช้สถานที่โรงเรียนบ้านห้วยตองนี่เอง ครูของโรงเรียนรับสอนวิชาสามัญ และครูจากวิทยาลัยเกษตรจะขึ้นมาสอนให้สัปดาห์ละ 2-3 วันตามตารางเรียน นักเรียนสามารถจบ ปวช. ที่นี่โดยไม่ต้องออกไปเรียนที่ไหน ความรู้ที่ได้ก็เอาไปเสริมในการประกอบอาชีพได้ทุกวัน ไม่ต้องรอให้จบการศึกษา ในโรงเรียนมีแปลงเกษตรทดลองขึ้นให้เห็นอยู่หลายแปลง และความรู้ส่วนนี้ก็จะได้นำไปใช้ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันด้วย

ดีใจจริงๆค่ะที่มีโอกาสมาเห็นการก้าวข้ามเส้นแบ่งที่ถูกขีดไว้หลายๆเส้น ถ้าเอาความเป็นจริงในท้องถิ่นขึ้นมาเป็นตัวตั้ง และตั้งใจทำเพื่อท้องถิ่นจริงๆล่ะก็ ไม่ว่าเส้นแบ่งอะไรก็น่าจะก้าวข้ามไปได้ทั้งนั้นนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 46895เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นางสาวปะวีนัด อินทร์ศรี

อ่านแล้วก็มีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาเป็นกองเลยค่ะ เพราะเรื่องนี้เป็นเหมือนเรื่องที่อยู่ในความฝันเลยที่มีรร.กลางหุบเขาทางภาคเหนือ มีหมู่บ้าน และชาวบ้าน ทุกคนที่นั่นก็มีความตั้งใจที่จะให้ลูกหลานได้เรียนสูงๆ และยิ่งมีคุณครูที่เสียสละ ทุ่มเท กับตรงนี้ รู้สึกประทับใจ และอยากจะไปเป็นครูสอนนักเรียนที่นั่นบ้าง  แต่ตอนนี้ยังเรียนไม่จบเลย ก็จะตั้งใจเรียนให้จบเพื่อที่จะหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านที่ฝันเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนแต่ขอให้ได้อยู่กับธรรมชาติ เหมือนหมู่บ้านนี้ก็พอค่ะ

   แต่เสียดายที่พี่มุไม่ลงรูปไว้เลยอดดูเลย

ขอบคุณที่เอาเรื่องดีๆมาเล่าสู่กันฟังค่ะ ทำให้เกิดความหวังว่าเราจะมีคนดีๆ รักท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางเรื่องร้ายๆในบ้านเมืองณ.วันนี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท