โรงเรียนพ่อแม่เด็กปฐมวัย


โรงเรียนพ่อแม่เด็กปฐมวัย

                                                                         *นายเทอดศักดิ์  จันเสวี

                การปฏิรูปการศึกษา มีจุดเน้นสำคัญให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งครอบครัว ชุมชน องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษา ในขณะเดียวกันก็ให้สถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรการศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ความรู้ คำปรึกษาเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสมแก่ผู้ปกครอง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งการเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินงานของทั้งฝ่ายโรงเรียนและครอบครัว   ชุมชนดังกล่าว ย่อมจะส่งผลต่อการสร้างความผูกพันความสัมพันธ์ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น ครูซึ่งนับได้ว่าเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองมากที่สุดจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและกระตุ้นให้ครอบครัว  และชุมชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษา รวมทั้งให้โรงเรียน ครูและบุคลากรของโรงเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้การศึกษา และพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้บรรลุผลผู้บริหารและครูผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาและมีความสามารถในการวิเคราะห์สภาพบริบทชุมชน รวมทั้งกำหนดแนวทางแสวงหาความร่วมมือจากครอบครัวและชุมชนให้เข้ามาร่วมจัดและบริหารการศึกษากับทางโรงเรียนนอกจากนี้ ก็เพื่อให้โรงเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาครอบครัวด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็ก และการบริหารพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น อันเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2551

               พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติหลายหมวดหลายมาตรา เช่นในหมวดหลักการสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ที่จะให้สังคม ชุมชน และท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (มาตรา 8 (2)) นอกจากนี้ยังให้มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 9 (2)) ให้มีการระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา ในมาตรา 9 (5) ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นได้มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (มาตรา 12) เป็นต้น

 

                หมวดแนวการจัดการศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและชุมชนร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ (มาตรา 24) ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำสาระของหลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชนสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น (มาตรา 27) นอกจากนี้สถานศึกษายังมีหน้าที่ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการ

 

 

แสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสารเพื่อพัฒนาชุมชนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน (มาตรา 29)   ส่วนหมวดการบริหารและการจัดการศึกษา ได้กำหนดให้มีองค์คณะบุคคลในการบริหารและจัดการศึกษาในระดับต่างๆ ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษา โดยให้มีตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพอยู่ในองค์คณะบุคคลนั้น (มาตรา 32-35,38,40 ) นอกจากนี้ชุมชนและท้องถิ่นยังมีบทบาทให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่พิจารณาเห็นว่า เกี่ยวข้องกับภารกิจของสถานศึกษาตามคำร้องขอของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษานั้น (มาตรา 50)

                หมวดครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา กำหนดให้หน่วยงานทางการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชน และท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญและภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา (มาตรา 57) หมวดทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา กำหนดให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ชุมชน ท้องถิ่นมาใช้จัดการศึกษา โดยอาจเป็นผู้จัดหรือมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา บริจาคทรัพย์สินและทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา และมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็น (มาตรา 61)

จะเห็นได้ว่า ประเด็นการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีหลายลักษณะ และในหลายหมวด อันจะเป็นแนวทางในการปฏิรูปการจัดการศึกษาตามแนวทางใหม่ ที่สำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการปฏิรูปไปสู่เป้าหมายที่พึงปรารถนา ฉะนั้นการสร้างความเข้าใจ แนะนำแนวทางหรือให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางจัดการศึกษาตลอดจนบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองในการมีส่วนร่มจัดการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรตระหนักให้ความสำคัญ เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาต่อไป

 

ทำไมต้องมีโรงเรียนพ่อแม่เด็กปฐมวัย

             เด็กวัย 0-5 ปี หรือวัยปฐมวัยอยู่ในระยะสำคัญของชีวิต เป็นวัยรากฐานของการพัฒนาความเจริญเติบโต ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา   โดยเฉพาะด้านสมอง ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ เป็นวัยที่มีความสำคัญเหมาะสมที่สุด ในการปูพื้นฐานเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกเหนือจากการอยู่รอดปลอดภัย โดยเฉพาะ 2 ปีแรกของชีวิตซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายและสมองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ดีที่สุดทั้งด้านร่างกายและสมอง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาได้เต็มศักยภาพ หากเด็กในวัยนี้ได้รับการดูแลให้เกิดการพัฒนาทางด้านจิตใจ ความคิด และสติปัญญาอย่างถูกต้อง โดยมีครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นหลักเหมาะสมกับวัยแล้ว เด็กจะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติต่อไป

ความหมายของโรงเรียนพ่อแม่                                                                                                           

            โรงเรียนพ่อแม่ หมายถึง บริการที่จัดขึ้นสำหรับการให้ความรู้ แนะแนวพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู ตลอดจนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กวัยปฐมวัย  ดำเนินการทั้งในและนอกสถานศึกษาปฐมวัย ซึ่งในสถานศึกษาอาจจัดไว้ให้เป็นสัดส่วน อยู่ในอาคารหรือนอกอาคารของสถานศึกษา มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการสอนพ่อแม่ สงบเงียบ ไม่มีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเดินผ่านไปรบกวนให้ขาดสมาธิ แสงสว่างเพียงพอ มีบรรยากาศการให้ความรู้ที่เป็นกันเอง มีกระบวนการสอนที่ผู้รับอบรมมีส่วนร่วมที่มุ่งเน้นเพื่อให้พ่อแม่มีความรู้ เจตคติ และทักษะในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยมีหลักสูตร สื่อ แผนการสอนที่ชัดเจนในทิศทางเดียวกัน นอกสถานศึกษาอาจทำในลักษณะการแจกแผ่นพับเอกสารความรู้ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ศึกษาและมีการติดตามผลอย่างเป็นระบบ เพื่อมุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยทั้งร่างกายและอารมณ์

จุดมุ่งหมายของโรงเรียนพ่อแม่

        โรงเรียนพ่อแม่โดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ ดังนี้

  1. เพื่อสร้างความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ที่ครูและผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้และ สร้างความรู้ในเรื่องที่ครู ผู้ปกครองต้องรู้ร่วมกันในการพัฒนาเด็ก 

  2.    เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับผู้ปกครองถึงแนวทางในการพัฒนาเด็ก

3. เพื่อประสานความร่วมมือกัน ระหว่างครูและผู้ปกครองในการพัฒนาเด็ก

 

รูปแบบของโรงเรียนพ่อแม่

โดยทั่วไปโรงเรียนพ่อแม่อาจทำใน  2  รูปแบบ ดังนี้

 

1.  การนำโรงเรียนออกไปหาผู้ปกครอง 

     หมายถึง การที่โรงเรียนโดยครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารนำข้อมูล

ข่าวสารเกี่ยวกับโรงเรียนโดยทั่วไป  เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หรือเรื่องอื่นๆ ออกไปให้ผู้ปกครองรับรู้ ให้ผู้ปกครองปฏิบัติตาม  ด้วยวิธีการต่างๆ  และการออกไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ปกครองที่บ้านในเรื่องต่างๆตลอดจนการที่โรงเรียนออกไปร่วมกิจกรรมกับชุมชน ในแต่ละโอกาส

2.  การนำผู้ปกครองเข้ามาหาโรงเรียน

            หมายถึง การจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในโรงเรียนโดยการเชิญวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆมาให้ความรู้หรือให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนในด้านต่างๆ  ตั้งแต่การวางแนวนโยบายของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอน การเข้ามาจัดกิจกรรมให้โรงเรียน  เข้ามาร่วมมือจัดกิจกรรม  เข้ามาร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน เป็นต้น โดยอาจเข้ามาโดยอาสาสมัคร หรือเข้ามาตามคำเชิญชวนของโรงเรียน

 

รูปแบบกิจกรรมของโรงเรียนพ่อแม่

 

                รูปแบบกิจกรรมของโรงเรียนพ่อแม่หรือรูปแบบกิจกรรมที่ครูปฐมวัยเพื่อให้ความรู้หรือแนะแนวพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่นั้น มีรูปแบบ ดังนี้

                1.   การให้ผู้ปกครองรับรู้

                เป็นรูปแบบของการให้ผู้ปกครองเพียงแต่รับข่าวสารและข้อมูลจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้ทราบความเป็นไปของเด็กที่มารับบริการ สิ่งสำคัญที่ต้องให้ผู้ปกครองรับรู้ คือ

  1. ข้อมูลจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ

          1.1      สุขภาพเด็ก

          1.2      พฤติกรรมของเด็ก

          1.3      การเรียนรู้ของเด็ก

           1.4      กิจกรรมที่ทางสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจัดให้เด็ก

       2.    การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเป็นงานส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองเรียนรู้เพื่อพัฒนาเป็นผู้ปกครองที่มีคุณภาพ สิ่งที่ต้องเรียนรู้  คือ

               2.1  หน้าที่ของสถานพัฒนาเด็ก

               2.2  บทบาท หน้าที่ของผู้ปกครอง

                2.3  การอบรมเลี้ยงดูลูกเพื่อการพัฒนาที่บ้าน

                ซึ่งกิจกรรมหรือวิธีการที่จะให้ข้อมูลหรือสารสนเทศเพื่อให้ผู้ปกครองรับรู้ เช่น   การเยี่ยมบ้าน  การประชุมปรึกษา  การส่งรับเอกสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ผลของการมีส่วนร่วมแบบรับรู้จะมีประโยชน์น้อยสำหรับเด็กและครู  ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองบางคนอาจไม่ใส่ใจต่อข้อมูลหรือสารสนเทศสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่จะให้ ส่วนที่ได้มากคือการประชุมปรึกษาหารือ และการเยี่ยมบ้านโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเด็กร่วมกัน

                 

                2.   การให้ผู้ปกครองร่วมมือ

                การให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนหรือให้ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งการศึกษาสมัยเดิมจะเน้นให้ผู้ปกครองร่วมมือในเรื่องการสร้างกองทุน แต่การศึกษายุคปัจจุบันให้ผู้ปกครองมาร่วมมือในหลายด้าน ได้แก่

                1.   การสอน ผู้ปกครองบางส่วนที่มีความรู้ ความสามารถและพร้อมที่จะมาสอนมาเป็นวิทยากร หรือมาช่วยสอน ดังนั้นทางสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยเข้ามีส่วนร่วมในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในบางครั้งที่เหมาะสม

                2.   การช่วยกิจกรรมของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น เป็นแม่ครัว เป็นอาสาสมัคร เป็นผู้จัดกิจกรรม  เป็นต้น

                3.   การร่วมวางนโยบาย ผู้ปกครองที่มีความสามารถทางการบริหารและคุ้นเคยกับชุมชน อาจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและนโยบายในการดำเนินงานและพัฒนาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเข้ามาในรูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน

                4.   การร่วมพัฒนาของชุมชนในการจัดศึกษา คือ การให้ชุมชนมาร่วมพัฒนาการศึกษาให้อยู่ในกรอบคุณภาพ

               

                3.  การเข้าถึงตัวผู้ปกครอง

                การให้ผู้ปกครองมาร่วมมือกับกิจกรรมได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น แต่มีผู้ปกครองบางคนไม่สนใจที่จะมาที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะคนชุมชนชนบทจะรู้สึกว่าไม่จำเป็น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีเข้าถึงตัวผู้ปกครองโดยตรง ดังนี้

                1.  เยี่ยมเด็ก เป็นวิธีการเข้าถึงตัวผู้ปกครองด้วยการไปเยี่ยมเด็กที่บ้าน และพบผู้ปกครองตัวต่อตัวเพื่อสนทนาปรึกษากันเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก

                2.   เยี่ยมผู้ปกครอง การเยี่ยมบ้านด้วยเจตนาเยี่ยมตัวผู้ปกครองเป็นการสร้างกัลยาณมิตร ที่ครูกับผู้ปกครองจะคุยกันฉันท์คนรู้จักหรือเพื่อนกันได้ เป็นการสร้างมิตรและสนทนาเรื่องเด็กในประเด็นที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

                3.   ครูผู้ปกครองร่วมแก้ปัญหา  วิธีการนี้อาจทำด้วยการเชิญผู้ปกครองมาร่วมคิดแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล โดยการ ให้คำปรึกษา หรือการประชุมปรึกษาแบบกลุ่มเล็ก

                4.   ศึกษาสภาพแวดล้อม เป็นการศึกษาข้อมูลชุมชนและบ้านที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยครูไปศึกษา ณ บ้านเด็กได้

                4.   การจัดกิจกรรมประสานผู้ปกครอง

                สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมซึ่งเรียกว่าเป็นกิจกรรมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

                1.   เปิดสถานพัฒนาเด็กให้ผู้ปกครองเยี่ยมชม (Open House)

                2.   จัดนิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมการศึกษาและการดูแลเด็ก

                3.  จัดฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ปกครองด้วยการนำเสนอความรู้เองหรือเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

                4.   ตั้งสมาคมครูผู้ปกครอง

                5.   เผยแพร่ข้อมูลทั้งโดยเอกสาร ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าโรงเรียนพ่อแม่หรือการให้ความรู้หรือการแนะแนวผู้ปกครองเด็กปฐมวัยเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู การให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครูปฐมวัยต้องให้ความสำคัญ เพื่อจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการอบรมเลี้ยงดูและจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2548).

              พระราช บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไข

              เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.เอ็น.เคแอนด์

               สกายพริ๊นติ้ง จำกัด.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนพ่อแม่
หมายเลขบันทึก: 468917เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2011 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท