นักวิจัยชั้นหนึ่ง


นักวิจัยชั้นหนึ่งใจดี ใจเสียสละ ทำได้ตลอด ไม่มีงบก็ทำได้ ทำไปเรื่อย ไม่มีหยุด ไม่มีเหน็ดเหนื่อย เพราะความสุขของเขาไม่ได้อยู่ที่เงิน "เขาเสพควาสุขจากความรู้"

จุดอ่อนของระบบงานวิจัยในปัจจุบันคือ "การเอาทุนหรืองบประมาณตั้งต้น"

คือ เมื่อจะทำอะไรก็ต้องรอดูว่ามีทุนไหม ได้งบประมาณจากหน่วยงานไหน

ถ้าหากจะให้ความรู้ที่ดีจริง ๆ ต้องเริ่มจาก "ความอยากที่จะเรียนรู้"

ความอยากไม่ใช่ของไม่ดี เพราะความอยากเป็นตัวกระตุ้น ดันหลังคนเราให้ไปถึงจุดหมายปลายทางนั้น

อย่าไปเริ่มต้นที่ "อยากได้เงิน อยากได้ตำแหน่ง" ขอให้เปลี่ยนทัศนคติใหม่ลงไปตรงที่ "อยากเรียนรู้"

คนที่อยากเรียนรู้จริง เป็นคนที่ "เสียสละ"

เสียสละอะไรบ้าง...?

อย่างแรก เสียสละเงินของตนเองนี่แหละที่จะไปเรียนรู้

ถ้านักวิจัยอยากรู้จริง เขาก็จะกล้าควักสตางค์ของตนเติมน้ำมัน จ่ายค่าตั๋วรถเมล์ เพื่อไปเรียน ณ ที่ที่มีความรู้

ไม่มีคำว่าขาดทุนสำหรับคนที่จะเรียนรู้ ทุกบาทที่จ่ายไปได้ความรู้กลับมา "เต็มหัวใจ"

เงิน รถ วัสดุอุปกรณ์ เสียสละ ทุ่มเทลงไปเพื่อ "ให้" โดยที่ไม่หวังอะไรตอบแทน

 

ในทางกลับกัน หน่วยงานสนับสนุน จึงต้องมีระบบสนับสนุนที่จะ support นักวิจัยที่ลงทุนตัวเองไปก่อนในระยะหนึ่งทั้งในและนอกสังกัด คือ มีระบบการเบิกจ่ายย้อนหลัง เพื่อสนับสนุนนักวิจัยที่ดีโดยที่ไม่ต้องเข้าเนื้อตัวเองตลอด

ไม่ต้องสนับสนุนให้ร่ำให้รวย แต่สนับสนุนให้เพียงพอที่จะไม่ทำให้เขาลำบาก ครอบครัวเขาลำบาก

 

ระบบจ่ายก่อนจึงทำ ถ้าไม่จ่าย ฉันไม่ทำ...

ระบบในปัจจุบันเป็นการนั่งโต๊ะเขียนโครงร่างเพื่อเสนอของบ เขียนได้ก็ทำ ไม่ได้งบก็หยุดไป ไม่มีใครกล้าลงทุน

นั่งวิจัยตัวจริงเขาลงทุนก่อน เขาไม่มานั่งรองบ ได้ก็ช่าง ไม่ได้ก็ "ช่างหัวมัน" เพราะอย่างไรเขาก็ได้ความรู้

ระบบสนับสนุนงานวิจัยจะต้องเป็นระบบเชิงรุก เห็นใครทำได้ ทำดีในระบบหนึ่งแล้วต้องรีบ "เสนอหน้า" เขาไปให้ทุนเขา อย่ามัวรั้งรอ มี "ทิฏฐิมานะ" รอให้เขามาขอ "เพราะงานของเขาก็เป็นผลงานของเรา"

 

ถ้าเรามัวแต่นั่งรอคนเขียนโครงร่างมาขอเงิน เราก็ไม่มีโอกาสที่จะเจอนักวิจัยชั้นหนึ่ง นักวิจัยชั้นหนึ่งคือนักวิจัยที่ "เสียสละ" เสียสละเพื่อที่จะได้ความรู้จริง ๆ

เพราะนักวิจัยชั้นหนึ่ง นอกจากจะไม่รอทุนที่ไหนมาเป็นเครื่องกั้นจิตกั้นใจในการหาความรู้

นักวิจัยชั้นหนึ่งยังไม่มีขอบเขตของเวลา ที่เป็นแบบว่า "หมดงบ หมดทุน หมดใจ"

นักวิจัยชั้นหนึ่งใจดี ใจเสียสละ ทำได้ตลอด ไม่มีงบก็ทำได้ ทำไปเรื่อย ไม่มีหยุด ไม่มีเหน็ดเหนื่อย เพราะความสุขของเขาไม่ได้อยู่ที่เงิน "เขาเสพควาสุขจากความรู้"

Large_1901201103

 

 

โครงการวิจัยของนักวิจัยชั้นหนึ่งจึงต้องเป็นโครงการระยะยาว งบน้อย ๆ พออยู่ พอกิน พอเดินทาง แต่ผูกพันธ์กันระยะยาว ทำไปเรื่อย ๆ มีความรู้ใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ความรู้แบบนี้จะมั่นคง ต่อเนื่อง และยืนนาน

เพราะเขาเห็นอะไรที่ขาด อยากจะหาอะไรเพิ่มเติมก็ทำไปเรื่อย ไม่มีกรอบมาขีดเส้นว่า ทำเท่านั้นเท่านี้ เพราะความรู้มันไม่มีขอบเขต แต่โครงร่างงานวิจัยที่เสนอขอกันนั้นมีขอบเขต งบประมาณการวิจัยจึงต้องหลวม ๆ แต่เอื้ออำนวยความสะดวกให้นักวิจัยที่ดี แน่นมากก็ไม่ใช่จะรัดกุม คนจะดี งานจะดีอยู่ที่หัวใจ ระเบียบ ข้อบังคับใช้ได้ยากกับคน (ไทย) ในปัจจุบัน

"ความรู้แบบไฟไหม้ฟาง ล้มลุก เตาะแตะ" ปีนี้ใช้ได้ ปีหน้าใช้ไม่ได้แล้ว หวือหวา มาเร็ว ไปเร็ว ไม่มีเคลมนะ จบแล้ว จบกัน

เราต้องสนับสนุนคนดี ให้มีกำลังจิตกำลังใจ ตามย้อนหลังให้เขา ไม่ต้องกลัวว่าจะขาดทุน เพราะการทำแบบนี้เป็น win-win solution ได้ทั้งคู่ เพราะเราก็ได้ผลงานเขามาเชิดหน้าชูตาหน่วยงานของเรา

เราก็มีตังค์เติมน้ำมันไปได้ไกลขึ้น ครอบครัวเขาก็หมดห่วงได้มากขึ้น เขาก็มีกำลังจิตกำลังใจทำงานเพื่อเสียสละได้มากขึ้น

การยกย่องเชิดชูคนดี เป็นหน้าที่ของคนไทยด้วยกันมิใช่หรือ

การยกย่องเชิดชูนักวิจัยที่ดีก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

นักวิจัยที่ดี นักวิจัยชั้นหนึ่งเขาทำงานวิจัยก่อนได้เงินนะ เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยทางกาย แต่ความรู้นี่สิ เป็นปัจจัยที่ไม่เคยล่มสลายไปจากหัวใจของนักวิจัยที่ดี...

Large_1801201105

 

 

หมายเลขบันทึก: 468913เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาเชียร์นักวิจัยชั้นหนึ่งครับ

อยากเป็นบ้าง แต่มักจะรอเงิน อิอิ

เป็นบทความที่มีพลัง "กระตุก" ความคิดมากคะ

เท่าที่เห็นในปัจจุบัน คือ มีทุนมา ประกาศ ให้คนเขียนโครงการเพื่อรับทุน

ซึ่งก็เป็นสิ่งดีสำหรับการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ๆ

แต่คนที่มีใจรักทำงานใดต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ส่งผลดีต่อสังคม

ก็ควรมีระบบสนับสนุนให้เขาไม่ต้องดิ้นรน ทำงานที่ "distract" เพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

นักวิจัยชั้นหนึ่งเป็นนักวิจัยที่ตั้งใจในการทำความดีมาก ตั้งใจในการเสียสละมาก

นักวิจัยแบบนี้ไม่ง้อของบใคร เป็นนักวิจัยที่มีความสุขในการ "ให้" ความรู้

ผู้มีความสุขในการให้ย่อมไม่ขี้เหนียวความรู้ที่ได้มา ไม่กลัวอด ไม่กลัวหมด

ในทางกลับกัน ผู้ที่ให้มากย่อมได้รับกลับมามาก

การต่อยอดความคิดที่จะหมุนเกลียวขึ้นไปได้ย่อมเกิดขึ้นจากการ "ให้" เป็นมูลเหตุที่สำคัญ

ถ้าหากเราไม่คลายเกลียวออกสักนิด ความรู้ใดเล่าจะแทรกตัวเข้ามาได้

น้ำชาที่เต็มถ้วยอยู่ ถ้าหากไม่รินแจกจ่ายให้ใครบ้าง แล้วน้ำชาหยดใหม่ใดเล่าจะเข้ามาผสมและเติมเต็มได้

นักวิจัยชั้นหนึ่งขอแค่มีเพียงปัจจัย 4 ที่เพียงพอในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องรบกวนเงินจากพ่อแม่ มีเงินส่งให้พ่อแม่เพื่อตอบแทนบุญคุณท่านบ้าง หรือไม่ถ้ามีครอบครัว ก็มีเงินให้ลูกให้ผัวแค่นั้นก็เป็นพอ

ครอบครัวของนักวิจัยชั้นหนึ่งก็เป็นกองทุนที่สำคัญ เป็นสามีเป็นภรรยาที่ให้กำลังใจกัน เป็นลูกที่ให้กำลังใจพ่อแม่ในการทำความดี เป็นครอบครัวที่มีความเสียสละเป็นพื้นฐาน

ในมุมมองของหน่วยงานสนับสนุนนั้น ต้องมีสายตาที่กว้างไกล เห็นใครทำได้ ทำดีแล้วต้องรีบสนับสนุน รีบต่อยอด เติมเต็มให้เขา อย่าให้เขาถึงต้องแล่เนื้อเถือหนังตัวเองเพื่อทำงานวิจัย

คนไทยเราใจดี มีน้ำใจให้กันเสมอ บ้านเมืองกำลังต้องการคนใจดีมีน้ำใจที่จะคอยช่วยเหลือกัน

เมตตาธรรมเป็นธรรมที่ค้ำจุนโลก

นักวิจัยและหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยก็เป็นกัลยาณมิตรที่จะค้ำจุนซึ่งกันและกัน

การทำความดีต้องรีบเร่ง เร่งด่วน ทำความดีต้องไม่กลัว ทำความชั่วต่างหากที่ต้องกลัว

การทำความดีต้องใช้ใจ นักวิจัยชั้นหนึ่งเป็นคนที่มีใจดี ใจที่ดีย่อมมีแรงผลักดันที่จะทำความดีและเสียสละตลอดไป...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท