DNATyping2: มาอ่านกราฟรูปแบบดีเอ็นเอกันเถอะ


     เมื่อเรารู้จักเจ้าไมโครแซทเทลไลท์กันแล้ว ทีนี้เราก็มาทำความรู้จักเพิ่มเติมครับ ว่ารูปแบบดีเอ็นเอที่เราใช้ในการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด อย่างเช่น พ่อ-ลูก หรือ แม่-ลูก หรือ พ่อ-แม่-ลูก มันมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามารู้จักคำเพิ่มเติมก่อนครับ นั่นคือคำว่า

     locus คำนี้หมายถึงตำแหน่งที่เราตรวจดีเอ็นเอครับ ว่าเป็นตำแหน่งอะไร หากตรวจกันมากกว่า 1 ตำแหน่งเจ้าคำนี้ก็จะเรียกว่าเป็น loci เช่น ตำแหน่งที่ตรวจได้แก่ตำแหน่ง D8S1179 เป็นต้น 

     อัลลีล : allele หมายถึงลักษณะที่สามารถแสดงออกได้ของตำแหน่งดีเอ็นเอที่เราตรวจ ในที่นี้เราบันทึกไว้เป็นจำนวนซ้ำของไมโครแซทเทลไลท์ อย่างเช่น ที่ตำแหน่ง D8S1179 มีจำนวนซ้ำได้ตั้งแต่ 7 ถึง 20 ซ้ำ อย่างเพิ่งเข้าใจผิดว่าแต่ละคนมีได้ตั้งแต่ 7 ถึง 20 ซ้ำ แต่หมายความว่า ในประชากรกลุ่มหนึ่งๆถ้าเราสนใจเฉพาะตำแหน่ง D8S1179 แล้วจะพบว่า บางคนเป็น 7 ซ้ำ บางคนเป็น 8 ซ้ำ บางคนเป็น 9 ซ้ำ ไล่ไปจนถึงบางคนเป็น 20 ซ้ำครับ แต่รวมๆหมดแล้วในประชากรกลุ่มนี้ก็จะพบได้ตั้งแต่ 7 ซ้ำไปจนถึง 20 ซ้ำ

 

   ความที่เจ้าโครโมโซมของเรามันมีลักษณะเหมือน ปาท่องโก๋ คือมีแขนสองข้าง มาเชื่อมติดกันตรงกลาง ตำแหน่งที่เราตรวจรูปแบบดีเอ็นเอ เราเรียกว่า locus แล้วลักษณะที่เราตรวจพบว่ามีกี่จำนวนซ้ำที่ตำแหน่งนั้นๆ เราเรียกว่า อัลลีล ทีนี้โครโมโซมมันมีแขนสองข้าง ดังนั้นตำแหน่งที่เราตรวจแม้จะเป็นเพียงตำแหน่งเดียว แต่มันอยู่บนแขนสองข้างของปาท่องโก๋ มันก็เลยมีค่า อัลลีลให้เราจดไว้ได้ 2 ค่าด้วยกันเสมอ อย่างเช่น 

     ที่ตำแหน่ง D8S1179 นาย ก มีอัลลีลเป็น 16, 18 แสดงว่าที่ locus ที่เรียกว่า D8S1179 ที่แขนข้างหนึ่งของโครโมโซม มีค่าอัลลีลเป็น 16 ส่วนแขนอีกข้างมีค่าอัลลีลเป็น 18 การที่อัลลีลบนแขนโครโมโซมทั้งสองข้างมีค่าไม่เหมือนกัน มันมีศัพท์เฉพาะอีกคำ เรียกว่า heterozygous

     ที่ตำแหน่ง D21S11 นาง ข มีอัลลีล เป็น 30, 30 แสดงว่าที่ locus ที่เรียกว่า D21S11 ที่แขนทั้งสองข้างของโครโมโซม มีค่าเป็น 30 ซ้ำ การที่อัลลีลบนแขนโครโมโซมทั้งสองข้างมีค่าเหมือนกัน มันก็มีศัพท์เรียกอีกคำว่า homozygous

     เห็นไหม ทีนี้เราก็รู้จักวิธีการจดบันทึกรูปแบบดีเอ็นเอ กันแล้วล่ะ งั้นเรามาลองดูของจริงสักตัวอย่างกันดีกว่า ลองดูภาพด้านล่างนี้ เป็น รูปแบบดีเอ็นเอของเด็กหญิง ค ได้หน้าตาแบบนี้ครับ

 

ลองดูไปทีละตำแหน่งนะครับ ด้านบนของกราฟแต่ละรูปจะมีชื่อตำแหน่งที่เราตรวจดีเอ็นเออยู่แล้วครับ

ตำแหน่งแรก D8S1179 บันทึกได้เป็น  10, 12

ตำแหน่งที่สอง D21S11 บันทึกได้เป็น  29, 32.2

ตำแหน่งที่สาม D7S820 บันทึกได้เป็น  10, 12

ตำแหน่งที่สี่ CSF1PO บันทึกได้เป็น  12, 13

ตำแหน่งที่ห้า D3S1358 บันทึกได้เป็น  15, 16

ตำแหน่งที่หก THO1 บันทึกได้เป็น  9, 10

ตำแหน่งที่เจ็ด D13S317 บันทึกได้เป็น  8, 12

ตำแหน่งที่แปด D16S539 บันทึกได้เป็น  9, 11

ตำแหน่งที่เก้า D2S1338บันทึกได้เป็น  20, 21

ตำแหน่งที่สิบ D19S433 บันทึกได้เป็น  13, 14.2

ตำแหน่งที่สิบเอ็ด vWA บันทึกได้เป็น  14, 17

ตำแหน่งที่สิบสอง TPOX บันทึกได้เป็น  8, 8

ตำแหน่งที่สิบสาม D18S51 บันทึกได้เป็น  13, 16

ตำแหน่งที่สิบสี่ Amelogenin บันทึกได้เป็น  X, X

ตำแหน่งที่สิบห้า D5S818 บันทึกได้เป็น  10, 11

ตำแหน่งที่สิบหก FGA บันทึกได้เป็น  20, 22

     เอาล่ะ ถ้าคุณมาได้ถึงตอนนี้แล้ว แสดงว่าตอนนี้คุณอ่านผลรูปแบบดีเอ็นเอจากกราฟได้แล้วครับ พอก่อนไหม....สำหรับวันนี้

หมายเลขบันทึก: 468164เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2011 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท