สแกนสมองมองหาพวกบ้าแฝง [EN]


สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์เรื่อง 'Brain analysis can help predict psychosis: study' = "(การวิเคราะห์) ตรวจสมองช่วย (พยากรณ์) บอกโรคจิต: (ผลการศึกษา)" หรือ "ตรวจสมองบอกโรคบ้า", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
  • [ schizophrenia ] > [ s - ขิส - โซ - ฟรี้ - เหนี่ย; 's' หน้าคำ ออกเสียง "ซะ" สั้นๆ ] > http://www.thefreedictionary.com/schizophrenia > noun = จิตเภท โรคจิต-โรคบ้าที่พบบ่อยที่สุด; คำนี้มาจากภาษากรีก ศัพท์เดิม = split (แตก ทำลาย) + mind (จิต ใจ) = ใจแตก จิตเภท ("เภท" บาลี = แตก แยก เช่น สังฆเภท = ทำสงฆ์ให้แตกกัน)
  • [ psychosis ] > [ ไส่ - โค้ - สิส - s; 's' ท้ายคำ ออกเสียง "สึ" สั้นๆ ทำโดยการสบฟัน อ้าปาก พ่นลมรั่วออกมา ] > http://www.thefreedictionary.com/schizophrenia > noun = โรคจิต
เป็นที่ทราบกันดีว่า การมีผู้นำประเทศ หรือบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา สมาชิกสภา หัวหน้าหน่วยงาน ประธานบริษัท ฯลฯ เพี้ยนๆ เป็นอันตรายต่อสังคมสูงมาก... การมีกฎหมายบังคับให้บุคคลสำคัญเหล่านี้ต้องผ่านการทดสอบว่า ไม่เพี้ยน ไม่บ้า เป็นเรื่องความปลอดภัยของสาธารณะ
.
ทีมวิจัยจากสถาบันคิงส์ คอลเลจ และมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน อังกฤษ (UK - ตีพิมพ์ใน Psychological Med) ทำการศึกษาด้วยเครื่องตรวจสแกน MRI (ใช้สนามแม่เหล็ก-คลื่นวิทยุ) พบว่า สมองคนบ้าไม่เหมือนกับสมองคนทั่วไป
.
เมื่อองค์ความรู้เรื่องนี้ดีขึ้น... น่าจะใช้ตรวจคัดกรองบุคคลสำคัญของประเทศ หรือวิสาหกิจสำคัญได้
.
โรคสคิซโซฟรีเนีย หรือจิตเภท (จิตแตก) พบในประชากรทั่วไป (คิดจากสถิติผู้ใหญ่อเมริกัน) ประมาณ 1.1% หรือประมาณ 1% เช่น คนไทย 63.9758 ล้านคน หรือประมาณ 64 ล้านคน น่าจะมีคนเป็นโรคจิตเภทประมาณ 703,734 คน [ thailandmeter ]; [ NIMH ]
.
ทว่า... มีคนที่ได้รับยารักษาโรคจิตเป็นประจำน้อยกว่านี้มาก ปัญหาคือ พวกที่ไม่ได้รับการรักษาอาจจะมีอาการบ้า เพี้ยน หรือคลุ้มคลั่งเป็นพักๆ ได้ [ thailandometer ]
.
อาการเด่นของโรคจิต (psychosis) คือ คนที่เป็นโรคมักจะมีวิธีคิด รู้สึก และทำ (คิด-พูด-ทำ) ต่างไปจากคนทั่วไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีประสาทหลอน (hallucinations) เช่น ภาพหลอน ได้ยินเสียงคนพูด ฯลฯ หรือคิดแปลกไปจากคนทั่วไป
.
คนบนโลก 6,973,492,908 คน หรือประมาณ 7,000 ล้านคน ป่วยเป็นโรคทางใจ เช่น จิตเภท 24 ล้านคน ฯลฯ ไม่นับโรคอื่นๆ เช่น อารมณ์สองขั้ว (คุ้มดีคุ้มร้าย - ร่าเริงสลับเศร้า) และอาการโรคจิตที่พบในโรคอื่นๆ เช่น พาร์คินสัน (บางคน ไม่ใช่ทุกคน), ติดเหล้า ติดยา ศิษย์เก่ายาบ้า (ถึงเลิกเสพแล้ว ส่วนใหญ่จะมีสภาพจิตไม่เต็มร้อย) ฯลฯ [ Census ]
.
การศึกษาเร็วๆ นี้พบว่า คนที่สูบกัญชา (cannabis) ในวัยเด็ก เพิ่มเสี่ยงอาการโรคจิตหลายอย่าง และถ้าสูบต่อเนื่องกันนาน... ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นมาก
.
ปัญหาที่พบบ่อย คือ อาการโรคจิตมักจะขึ้นๆ ลงๆ... คนไข้ไม่ได้บ้าตลอดเวลา ทว่า... มีประสาทหลอน หูแว่ว สัมผัส(ทางกาย)หลอน หรือหลงผิด (คิดไม่เป็นเหตุเป็นผล คิดหลุดโลก... ซึ่งพบบ่อยในผู้บริหารหลายคน) เป็นพักๆ ทำให้การวินิจฉัยโรคยากมาก
.
การตรวจหาโรคจิตในช่วงที่อาการเบาลงทำได้ยาก คนไข้เกือบทั้งหมดจะไม่ยอมรับว่า เป็นโรคจิต แถมยังด่าหมอ-ฟ้องหมอในข้อหา "(สบประมาท) หาว่าเป็นโรคจิต" อีกต่างหาก
.
การศึกษาใหม่ ทำโดยการตรวจสแกนสมอง MRI กลุ่มตัวย่างคนไข้โรคจิต 100 ราย เทียบกับกลุ่มควบคุม (ไม่บ้า) 91 ราย, ติดตามไป 6 ปี
.
การวิจัยทำโดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างโรคจิต 28 รายมีอาการโรคจิตต่อเนื่อง (continuous), 28 รายมีอาการโรคจิตเป็นพักๆ (episodic), เทียบกับกลุ่มควบคุม 28 ราย โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยการวินิจฉัย (algorithm)
.
ผลการศึกษาพบว่า โปรแกรมใหม่วินิจฉัยแยกแยะคนบ้า-คนไม่บ้าได้มากถึง 7 ใน 10 ราย (70%) แถมยังใช้เวลาวินิจฉัยโรคได้ภายใน 10 นาที เร็วกว่าการตรวจคัดกรองโดยจิตแพทย์-นักจิตวิทยา ซึ่งคนไข้ประเภท "แก่วัด" หรือ "รอบจัด" บางท่านอาจจะหลอกหมอว่า ไม่บ้าได้
.
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกเริ่ม จำเป็นต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุน หรือคัดค้านต่อไป ทว่า... บอกเป็นนัยว่า โปรแกรมวินิจฉัยผ่านสแกนสมอง MRI น่าจะช่วยในการตรวจคัดกรองโรคจิต หรือพวกบ้าแฝงได้
.
ประโยชน์อย่างสำคัญของโปรแกรมนี้ คือ การคัดกรองผู้นำ หรือบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา สมาชิกสภา หัวหน้าหน่วยงาน ประธานบริษัท ฯลฯ
.
ถ้าโปรแกรมคัดกรองโรคจิตผ่านสแกนสมอง MRI ใช้ได้ผลดี... เราคงจะเข้าใจบ๊อส (boss = เจ้านาย หัวหน้าหน่วยงาน) ได้มากขึ้นกว่านี้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 8 พฤศจิกายน 2554. ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 467974เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท