ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม


การปรับตัวของพ่อแม่ในระหว่างและหลังจากน้ำท่วมมีผลต่อเด็ก

น้ำท่วมนอกจากจะทำให้บ้านเรือนเสียหาย การเดินทางลำบาก ผู้ประสบภัยต้องเครียดกับการดำรงชีวิตที่ต่างไปจากปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การเดินทาง การขับถ่าย บางครอบครัวต้องสูญเสียผลิตผลทางการเกษตรทั้งพืช สัตว์และอุปกรณ์ต่างๆ ประสบปัญหากับการว่างงาน ขาดรายได้ หลังจากนั้นในขั้นตอนทำความสะอาดจะเหนื่อยและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถูกไฟดูด ได้รับบาดเจ็บเกิดแผล หรือถูกสัตว์กัด เจ็บป่วยจากน้ำ อาหารที่ไม่สะอาด อากาศที่ไม่ถ่ายเท มีปัญหาด้านสุขภาพจิต

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

น้ำท่วมมีผลทางจิตใจเช่นเดียวกับสุขภาพกาย มีผู้เสียชีวิต ผู้ที่ต้องสูญเสียบ้าน สมาชิกในครอบครัวอาจจะต้องทุกข์ทรมาน มีอาการทางสุขภาพจิตได้นานถึง 2 ปี หลังเหตุการณ์น้ำท่วม

เด็กจะเห็นความวิตกกังวลและความกลัวของพ่อแม่  เห็นความพยายามของผู้ใหญ่ที่พยายามจะปกป้องบ้านของตนเอง สูญเสียสัตว์เลี้ยงหรือต้องทิ้งของเล่นที่เสียหายหรือสกปรก เด็กอาจเห็นคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ปฏิกิริยาทางจิตใจและอารมณ์ที่พบบ่อยในเด็กที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

-         รู้สึกว่าไม่มั่นคง ไม่ยุติธรรม วิตกกังวล กลัว เศร้า ผิดหวัง กังวลเกี่ยวกับอนาคต

-         มีปัญหาพฤติกรรม ร้องกวน ร้องอาละวาด ซน ไม่นิ่ง ก้าวร้าว หรือมีพฤติกรรมถดถอยกลับไปเป็นเด็กกว่าปกติ

-         กังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีก

-         ติดแม่หรือผู้เลี้ยงดูมากกว่าปกติ

-         มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับหรือฝันร้าย ไม่อยากรับประทานอาหาร

-         มีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง

-         ไม่รับผิดชอบ ไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยทำตามปกติ แม้แต่การเล่นกับเพื่อน

-         กังวลในความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัว บุคคลที่รัก เพื่อนหรือสัตว์เลี้ยง

-         มีปัญหาการเรียน เช่น ไม่สนใจการเรียน การทำการบ้าน เนื่องจากแรงจูงใจในการเรียนลดลง ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำลง เป็นต้น

-         ในวัยรุ่นอาจจะแตกต่างจากเด็กเล็ก โดยอาจจะแยกตัวจากสังคม โกรธหรือหงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมเสี่ยง ทำร้ายตนเอง ใช้สารเสพติดหรือขัดแย้งกับผู้ใหญ่

การฟื้นฟูหลังภาวะน้ำท่วม

ระยะเวลาของการฟื้นคืน (recovery) ขึ้นอยู่กับว่าได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน ต้องอพยพออกจากบ้านหรือไม่ ความเครียดและการปรับตัวของครอบครัวดีหรือไม่เพียงไร การช่วยเหลือสนับสนุนจากครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และจากองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน บางครอบครัวปรับตัวมาใช้ชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็ว แต่บางครอบครัวต้องดิ้นรนต่อสู้เนื่องจากสูญเสียบ้านหรือทรัพย์สินต่างๆ การเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลนาน และมีปัญหาทางการเงินเนื่องจากตกงานหรือสูญเสียรายได้

การปรับตัวของพ่อแม่ในระหว่างและหลังจากน้ำท่วมมีผลต่อเด็ก เด็กมักจะหันไปหาผู้ใหญ่เพื่อขอข้อมูล คำแนะนำและความช่วยเหลือ พ่อแม่ควรมีท่าทีที่สงบ ไม่ตื่นตระหนก แสดงความเครียด โกรธ วิตกกังวลหรือเศร้าจนเกินไป ตอบคำถามของเด็กตามความเป็นจริง และควรตอบสนองต่อคำถามหรือการเรียกร้องของเด็กอย่างเหมาะสมที่สุด

บทบาทของพ่อแม่ในการช่วยเหลือเด็ก

-         พ่อแม่ควรใช้เวลาพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น

-         เป็นแบบอย่าง มีท่าทีที่สงบในการจัดการกับความเครียด

-         ระมัดระวังในการพูดคุยของพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมที่อาจจะทำให้เด็กแปลความหมายผิดและตกใจ

-         จำกัดเวลาในการรับชมสื่อต่างๆเกี่ยวกับน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์หรืออินเตอร์เน็ต

-         ให้ความมั่นใจกับเด็กว่ามีความปลอดภัย ควรมีเวลาพิเศษในการทำกิจกรรมกับเด็ก เช่น การเล่น หรืออ่านหนังสือด้วยกัน

-         จัดหาของเล่นทดแทนของเล่นที่เสียหายหรือหายไป

-         ดูแลสุขภาพของเด็ก ให้เด็กได้พักผ่อน ออกกำลังกาย ได้รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด

-         จัดเวลาของกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลาและใกล้เคียงปกติ เช่น เวลารับประทานอาหารและเวลาเข้านอนที่สม่ำเสมอทุกวัน

-         ส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นจะช่วยให้เด็กปรับตัวได้เร็วขึ้น เช่น การทำความสะอาดง่ายๆ

-         มองโลกแง่บวกอย่างมีความหวังจะช่วยให้เด็กเห็นสิ่งที่ดีในโลกรอบตัว

การบำบัดรักษา

ถ้าเด็กยังคงมีปฏิกิริยานานกว่า 6 สัปดาห์หลังน้ำท่วม ควรปรึกษาทีมสุขภาพจิตเพื่อประเมิน

เด็ก หากเด็กจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำปรึกษา เทคนิคที่มีหลักฐานว่าช่วยเหลือเด็กให้ฟื้นคนเร็วที่สุดคือ การปรับแนวคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy : CBT) ในการบำบัดรักษาควรคำนึงถึง

-         การมีส่วนร่วมของครอบครัว

-         ระดับพัฒนาการของเด็ก วัฒนธรรมและศาสนาที่ต่างกัน

-         ปัญหาสุขภาพจิตที่เคยมีมาก่อน

-         การอธิบายและทำให้ปฏิกิริยาทางจิตใจของเด็กกลับสู่ภาวะปกติ

 

 

เอกสารอ้างอิง

http://www.nctsn.org/trauma-types/natural-disasters/floods

http://www.ksre.ksu.edu/library/hlsaf2/mf1154.pdf

หมายเลขบันทึก: 467914เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2011 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท