DNATyping1: เริ่มต้นจากไมโครแซทเทลไลท์


     "ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ" มาจากคำว่า DNA fingerprint เป็นคำที่ทำให้หลายคนรู้จักการทดสอบ เพื่อตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด อย่างเช่น ตรวจการเป็น พ่อ-ลูก หรือ แม่-ลูก หรือจะให้ตรวจพร้อมกันเลย พ่อ-แม่-ลูก เหมือนอย่างที่ดารา เขานิยมท้ากันให้มาตรวจเพื่อดูว่า ลูกเธอนี่มันลูกฉันด้วยหรือปล่าว  เจ้าคำนี้มีที่มาจากการพัฒนาการทดสอบที่เรียกว่า RFLP : restriction fragment length polymorphism ซึ่งเป็นการใช้เอ็นไซม์ตัดจำเพาะ มาตัดชิ้นดีเอ็นเอ แล้วนำชิ้นดีเอ็นเอสั้นๆเหล่านี้ไปวิ่งในกระแสไฟฟ้า จากนั้นก็นำมาย้อมสี ทำให้เห็นภาพดีเอ็นเอเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงกันเป็นแถบคล้ายรหัสแท่ง (bar code) เจ้ารหัสแท่งแบบนี้แหละมีลวดลายจำเพาะของแต่ละคน นั่นหมายถึงแต่ละคนมีรหัสแท่งของตัวเอง และไม่เหมือนกับคนอื่น ทำให้เราแยกแต่ละคนออกจากกันได้ ทั้งนี้ยกเว้นเพียงแค่ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน (identical twin) ที่มีลายพิมพ์ดีเอ็นเอเหมือนกัน  แต่การทดสอบแบบนี้ ปัจจุบันไม่นิยมใช้ตรวจแล้วครับ เพราะมีข้อจำกัดในการใช้ผลการทดสอบค่อนข้างมาก เดี๋ยวนี้เขาก็เลยเปลี่ยนมาตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ด้วยวิธีการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ หรือที่เรียกว่า PCR : polymerase chain reaction เมื่อเปลี่ยนวิธีการตรวจเป็นวิธีใหม่ แล้วเจ้าวิธีใหม่ ก็ไม่ได้ให้หน้าตาของผลการตรวจเป็นรหัสแท่งเหมือนวิธีเดิม ทำให้เขาเปลี่ยนคำเรียก จากคำว่า DNA fingerprint มาเป็นคำว่า DNA profile ภาษาไทยใช้คำว่า "รูปแบบดีเอ็นเอ" ครับ ทำให้คำว่า "ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ" ค่อยๆห่างหายการใช้ออกไป แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงได้ยินการใช้อยู่บ้าง

     เจ้ารูปแบบดีเอ็นเอนี้ ได้จากการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอบริเวณส่วนที่เรียกว่า "ไมโครแซทเทลไลท์ : microsatellite"  เจ้านี่มันมี key word อยู่ 2 คำครับที่อธิบายลักษณะของมัน คือคำว่า "เบสแกนกลาง : core base" กับคำว่า "จำนวนซ้ำ : copy number" 

     เบสแกนกลาง หมายถึงลำดับเบสของดีเอ็นเอที่เรียงต่อกันเป็นแกนกลางครับ โดยเจ้าไมโครแซทเทลไลท์ ต้องมีเบสแกนกลางตั้งแต่ 2-6 เบสครับ จะเป็น 2 เบส ก็ได้ จะเป็น 3 เบสก็ได้ จะเป็น 4 เบสก็ได้ จะเป็น 5 เบส ก็ได้ หรือจะเป็น 6 เบส ก็ได้ แต่ไม่เกินนี้ครับ พวกที่เป็น 7 เบส 8 เบส ขึ้นไป นั้นไม่เจอแล้วครับ เอาเป็นว่า สูงสุดได้ไม่เกิน 6 เบสครับ ภายในเบสแกนกลาง จะมีการเรียงตัวของลำดับเบสเป็นแบบไหนก็ได้ เช่น 

     ATATATAT อย่างนี้เบสแกนกลาง คือ AT

     CGTCGTCGT อย่างนี้เบสแกนกลาง คือ CGT

     CCATCCATCCAT อย่างนี้เบสแกนกลาง คือ CCAT

 

     จำนวนซ้ำ หมายถึง การเรียงตัวของเบสแกนกลาง ว่ามีกี่ซ้ำ เจ้าไมโครแซทเทลไลท์ มีจำนวนซ้ำไม่เกิน 100 ซ้ำครับ นั่นหมายถึงขนาดของดีเอ็นเอตรงส่วนนี้เรียกว่า ไม่ใหญ่มากครับ ทำให้สะดวกในการทดสอบ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับพวกพี่น้องของไมโครแซทเทลไลท์ อย่างเช่น มินิแซทเทลไลท์ หรือ แซทเทลไลท์ แล้ว เจ้า ไมโครแซทเทลไลท์นี้เป็นรุ่นเล็กไปเลยครับ แต่เราอย่าไปยุ่งกับพี่น้องสองตัวของเจ้านี่มันเลย เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักกับเจ้าไมโครแซทเทลไลท์ตัวเดียวก็พอครับ ยกตัวอย่างเช่น

     AATGAATG อย่างนี้มีเบสแกนกลางเป็น AATG มีจำนวนซ้ำ 2 ซ้ำ

     AATGAATGAATG อย่างนี้มีเบสแกนกลางเป็น AATG มีจำนวนซ้ำ 3 ซ้ำ

     AATGAATGAATGAATG อย่างนี้มีเบสแกนกลางเป็น AATG มีจำนวนซ้ำ 4 ซ้ำ

     ทีนี้เวลาเราบันทึก เราบันทึกเฉพาะจำนวนซ้ำครับ ว่ามีกี่ซ้ำ ส่วนเจ้าเบสแกนกลาง ให้กระโดดข้ามไปเลย หมายถึงถ้าไม่มีใครถามก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมันครับ แต่ถ้ามีคนสนใจ ก็ให้บอกว่ารอเดี๋ยว แล้วค่อยไปเปิดหนังสือ หรือ website ดูว่า ที่ตำแหน่งที่เราตรวจนั้น มันมีเบสแกนกลางเป็นอะไร

หมายเลขบันทึก: 467880เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2011 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท