Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณพิมเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยของมารดาซึ่งมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติเชื้อสายจีนฮ่อที่เกิดในประเทศไทย


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔

ข้อเท็จจริง

คุณพิม [IP: 168.120.44.63] ได้เข้ามาคุยกับอาจารย์แหววใน http://www.gotoknow.org/ask/archanwell/13145  เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๐.๓๘ น. โดยมีใจความว่า

“สวัสดีค่ะอาจารย์ คือแม่ของดิฉันเป็นบุคคลพื้นที่สูง เกิดในไทย แต่ไม่ได้รับการศึกษาเพราะอยู่บนดอย แต่พอโตก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพแต่เขาต้องการบัตรประจำตัว แล้วตอนนั้นก็ยังอ่านเขียนไทยไม่เป็นเลย พูดได้แต่จีนเพราะตากับยายอพยพมาจากจีน พอไปทำบัตรเขาก็กรอกไปให้ว่าจีนฮ่อ แม่ดิฉันตอนนั้นก็ไม่รู้อ่านไม่ออกเลยไม่ได้แก้อะไรไป จนตอนนี้ก็ผ่านมาหลายสิบปีแล้วค่ะ ตอนนี้แม่ดิฉันได้เป็นบัตรสีชมพู พวกเพื่อนของแม่ที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันก็ได้กันหมดแล้วเพราะเขาอ่านไทยออกบ้างตอนทำบัตรครั้งแรกก็เขียนว่าเกิดในไทย แล้วแบบนี้ แม่ดิฉันมีสิทธิ์ได้บัตรประชาชนคนไทยไหมคะ? แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง

แล้วก็ที่ดิฉันได้หาข้อมูลเกี่ยวกับการทำบัตรประชาชนของบุคคลไม่มีสัญชาติไทย เห็นเขาบอกว่า หากอยู่ในไทยครบ ๑๐ ปี อายุ ๔๐ ก็มีสิทธิ์ขอสัญชาติไทยได้ แล้วหญิงที่แต่งงานกับสามีไทยก็มีสิทธิ์เช่นกัน แม่ดิฉันก็แต่งงานกับพ่อที่เป็นคนไทยสัญชาติไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ในใบสูติบัตรของดิฉันก็เขียนไว้นะคะว่าพ่อแม่ชื่ออะไร แบบนี้พอใช้อ้างอิงได้ไหมคะ แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะขอสัญชาติไทยได้สักที เพราะตอนนี้ บัตรชมพูทำให้ทำมาหากินลำบากมาก ใบขับขี่ก็ไม่มีสิทธิ์ขอทั้งๆ ที่จำเป็นมากกับการทำมาหากินของแม่ ก็ได้แต่นั่งแท๊กซี่กับรถรับจ้างยกของทุกวันๆ วันๆ นึงต้องเสียค่าใช้จ่ายกับรถพวกนี้เยอะมาก เศรษฐกิจก็แย่

ขออาจารย์ช่วยแนะนำแนวทางหรือวิธีที่ถูกต้องและรวดเร็วให้ทีนะคะ ขอบคุณมากค่ะ"

---------------------------

คำตอบของอาจารย์แหวว

---------------------------

ในประการแรก ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทย อาจารย์แหววฟังข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของคุณได้ว่า มารดาของคุณพิมเป็นคนเชื้อสายจีนที่เกิดจากบุพการีซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน และได้รับการยอมรับว่า เป็นคนไร้รัฐหรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร จึงได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร “ประเภทจีนฮ่อ” ในประการแรกนี้ อาจารย์แหววจึงขอสรุปว่า มารดาของคุณพิมมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทหนึ่งอย่างแน่นอนแล้ว แต่ไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้ต่อไป เว้นแต่คุณพิมให้ให้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ (๑) หากคุณเข้าในว่า “แม่ของดิฉันเป็นบุคคลพื้นที่สูง” มารดาของคุณเป็นชาวเขาเผ่าใดคะ ? แต่ขอเตือนว่า จะเป็นชาวเขาหรือไม่ เป็นสำคัญ ไม่มำให้อะไรดีขึ้นหรือเลวลง ที่ดีที่สุด ขอให้บอกเล่าตามความเป็นจริง จะจัดการปัญหาได้ดีกว่า (๒) บนบัตรจีนฮ่อที่กล่าวถึง ปรากฏข้อความว่าอย่างไร หากยังมีสำเนาบัตร กรุณาเอามาอ่าน และบอกข้อความทั้งหมดมาด้วย (๓) บัตรสีชมพูที่ถืออยู่ในวันนี้ มีข้อความอะไรบ้าง โปรดบอกมาทั้งหมดนะคะ (๔)  การที่ยืนยันว่า มารดาเกิดในไทยนั้น มีพยานหลักฐานไหมคะ ? พยานเอกสาร ? พยานบุคคล ? (๕) มารดาเกิดที่ไหนในประเทศไทยอย่างแน่นอน ? (๖) มารดาเกิดเมื่อใด ?

ในประการที่สอง ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติไทยนั้น คำตอบขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่อาจารย์แหววถามในประการแรก จึงขอให้รีบตอบมา จะได้วิเคราะห์ให้ทราบค่ะ หากฟังว่า มารดา “มี” ข้อเท็จจริงที่ทำให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ก็ไปร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือหากฟังได้ว่า มารดา “ไม่มี” ข้อเท็จจริงที่ทำให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ก็ไปร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทย การวิเคราะห์ต่อไปจะทำได้ ก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากคุณพิม

ในประการที่สาม เพื่อตอบที่คุณพิมถามว่า “หากอยู่ในไทยครบ ๑๐ ปี อายุ ๔๐ ก็มีสิทธิขอสัญชาติไทยได้” อาจารย์แหววขอตอบว่า มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขล่าสุด ๒๕๕๑ รับรองสิทธิของคนต่างด้าวที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนไทยที่จะร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติเป็นไทยเมื่อมีชื่อในทะเบียนบ้านมาแล้วอย่างน้อย ๕ ปี แต่การอนุญาตตามคำขอนั้นเป็นดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่อย่างไรก็ตาม โปรดทราบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติยอมรับให้ชนกลุ่มน้อยในทะเบียนราษฎรไทยที่รับสำรวจก่อน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้สัญชาติไทยหากอาศัยอยู่มาเกินกว่า ๑๐ ปี แต่ในความเป็นจริง หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยท่านใดไม่เอาใจใส่ประชาชน ก็ไม่ค่อยปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเท่าไหร่

ในประการที่สี่ เพื่อตอบที่คุณพิมถามว่า “แล้วหญิงที่แต่งงานกับสามีไทยก็มีสิทธิ์เช่นกัน แม่ดิฉันก็แต่งงานกับพ่อที่เป็นคนไทยสัญชาติไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ในใบสูติบัตรของดิฉันก็เขียนไว้นะคะว่าพ่อแม่ชื่ออะไร แบบนี้พอใช้อ้างอิงได้ไหมคะ” อาจารย์แหววขอตอบว่า มาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ รับรองสิทธิของหญิงต่างด้าวที่จะร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยโดยการสมรส แต่การอนุญาตตามคำขอนั้นเป็นดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยท่านใดไม่เอาใจใส่ประชาชน ก็ไม่ค่อยสนใจที่จะอนุญาตให้สัญชาติไทยแก่หญิงในสถานการณ์นี้

ในประการที่ห้า ในระหว่างที่ยังไม่มีสัญชาติไทย การทำงานก็ไม่มีความลำบาก หากมีการศึกษากฎหมายที่ให้สิทธิและการต่อสู้เพื่อทำความเข้าใจกับทางราชการให้เข้าใจปัญหาที่เผชิญอยู่ สิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นสิทธิมนุษยชน มีความลำบากประการเดียวสำหรับคนต่างด้าว ก็คือ คนต่างด้าวจะต้องขออนุญาตตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว หากเป็นกรณีที่รับจ้าง หรือตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หากเป็นกรณีของการลงทุนเป็นเจ้าของกิจการหรือธุรกิจเอง เรื่องแรกอยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในขณะที่เรื่องที่สองอยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การตื่นตัวที่จะรู้กฎหมายที่ให้สิทธิและการยอมรับความเป็นจริงของชีวิตจะทำให้การจัดการปัญหาเป็นไปได้เรื่อยๆ ไม่มีอับจน

ในประการที่หก กรมการขนส่งทางบกยอมรับสิทธิในการทำใบขับขี่ของคนที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมักถูกเรียกว่า “บัตรสีชมพู” ประเภทจีนฮ่อทั้ง “จีนฮ่ออพยพพลเรือน” และ “จีนฮ่ออิสระ” ดังนั้น ขอให้คุณพิมพามารดาไปร้องขอทำใบขับขี่เสียค่ะ ถ้ามีปัญหาอะไร ก็คงเป็นเพราะส่วนราชการที่ไปติดต่อไม่รู้กฎหมายหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง คงต้องร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือศาลปกครองค่ะ

ประการสุดท้าย ขอแนะนำให้จัดการทัศนคติก่อนค่ะ การแก้ไขปัญหาด้วยความรู้บนความเป็นจริงจะยั่งยืนและสัมฤทธิ์ผลในที่สุด

หวังว่า คำตอบในวาระแรกเท่านี้ คงเป็นประโยชน์นะคะ รอให้บทวิเคราะห์ต่อไปเมื่อคุณให้ข้อเท็จจริงมาเพิ่มเติม

------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 467581เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ถึง"คุณพิม"ค่ะ เข้าใจว่าประเด็นที่คุณพิม ถามอาจารย์แหววนั้น เป็นเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยของมารดา แต่ยังขาดข้อเท็จจริงบางประการสำหรับวิเคราะห์ข้อกฎหมาย  ....แต่เห็นมีประเด็นเล็กๆที่คุณพิมถามเรื่องว่า "หญิงที่ขอสัญชาติไทยตามสามี" ตามคำตอบในประการที่ 4 ของอาจารย์แหววค่ะ

คือ หญิงที่มีสิทธิขอสัญชาติไทยตามสามี ตาม ม.9 แห่งพรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508 นั้น จะ"สมรส(แต่งงาน)ตามกฎหมาย"  ถ้าแค่อยู่กินฉันสามีภรรยาเฉยๆจะไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ใน ม.9 ค่ะ    ซึ่งการสมรสตามกฎหมายในที่นี้ ถ้าตามกฎหมายไทย ก็คือ "การที่ฝ่ายชายและหญิง ไปจดทะเบียนสมรส ณ อำเภอ หรือสำนักงานเขตนั่นเองค่ะ"  

ส่วนที่คุณพิมถามว่า "ในสูติบัตรของคุณมีชื่อ แม่และพ่อ ใช้อ้างอิงพอหรือไม่" ประการนี้ยังไม่เพียงพอจะฟังว่าเป็นการสมรสตามกฎหมายนะคะ แค่ฟังได้ว่าเบื้องต้น ว่าพ่อ และแม่คุณพิมชื่ออะไร เป็นใครเท่านั้นค่ะ สูติบัตรนั่นแสดงแค่ความสัมพันธ์ของคุณพิมกับพ่อและแม่ค่ะ   ไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ของพ่อกับแม่ว่าเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายจริงหรือไม่ค่ะ

ขอบคุณคุณพวงรัตน์ที่มาเพิ่มเติมให้ จำได้ว่า คุณพวงรัตน์มีบันทึกเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายระหว่างคุณคูโดะและคุณทิพย์ไม่ทราบเผยแพร่แล้วยัง ถ้ายัง ก็เอามาเผยแพร่ให้คุณพิมได้อ่าน หรือถ้าเผยแพร่แล้ว ก็เอา URL มา paste ให้คุณพิมอ่านซิคะ

ขอบคุณ อ.ขจิต และคุณเพ้งค่ะ

ยินดีค่ะอาจารย์แหวว ส่วนเคสเรื่องการจดทะเบียนสมรสของคุณคูโดะและพรทิพย์ เคยเผยแพร่ไว้แล้วค่ะ

ถึงคุณพิมค่ะ  อันนี้เป็นบันทึก วิธีการ หลักเกณฑ์การจดทะเบียนสมรสของคนที่ไร้สัญชาติเช่นกันค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่สนใจอยากจะจดทะเบียนสมรสกัน ก็ลองศึกษาดูได้ค่ะ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/445922 แม้ว่าข้อเท็จจริงจะไม่ได้เหมือนกันหมดกับคุณแม่ของคุณพิม แต่ฝ่ายหญิงเป็นคนไร้สัญชาติที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยเช่นกันค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์แหวว

  • ไม่นึกว่าจะได้มาพบอาจารย์ที่นี่
  • อาจารย์สวยจนจำไม่ได้
  • ครูหยุยยังคุยถึงอาจารย์อยู่บ่อยๆ แต่ช่วงนี้ไม่ได้เจอกันเพราะต่างคนต่างก็ต้องอพยพหนีน้ำ
  • อาจารย์แหววสบายดีนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์สันติสุข สบายดีนะคะ ยังคิดออกถึงเพลงเพราะๆ ของอาจารย์ค่ะ

บ้านน้ำท่วมไหมคะ

ขอบคุณอาจารย์แหววกับคุณพวงรัตน์มากนะคะสำหรับคำแนะนำ

แล้วที่อาจารย์แหววบอกว่าแม่ดิฉันสามารถไปทำใบขับขี่ได้ แต่ทำไมตอนที่แม่ของดิฉันไปถาม(เมื่อหลายปีก่อน)เขาบอกว่าทำไม่ได้ ล่าสุดก็ถามที่เชียงใหม่(ขนส่ง อ.ฝาง)เขาก็บอกว่าทำไม่ได้ หรือว่ากฎหมายเปลี่ยนคะ? คือดิฉันกลัวว่า หากตอนนี้พาคุณแม่ไปทำแล้วเขาไม่ให้ ดิฉันก็กะจะบอกไปว่าที่ได้ข้อมูลมาเขาบอกว่าทำได้ แล้วก็กะจะปรินท์พวกกฎหมายที่หาได้ในอินเทอร์เน็ตไปยืนยันด้วย แต่กลัวว่าเขาจะโมโหที่เราไปทำอะไรแบบนี้แล้วเขาจะยกเลิกไม่ทำให้แม่ดิฉัน รวมทั้งเรื่องบัตรประชาชนที่เขาบอกว่า หากอยู่ในไทยครบ ๑๐ ปี อายุ ๔๐ ก็มีสิทธิขอสัญชาติไทยได้ ก็กะจะปริ้นท์ไปยืนยัน ก็กลัวว่าเขาจะยกเลิกบัตรชมพูไปด้วยเลย แล้วหากร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไป ก็กลัวว่ามหาดไทยเขาจะไม่พอใจ แบบนี้เวลาไปติดต่อทำใบขับขี่ควรเตรียมอะไรไปบ้างคะ รวมทั้งบัตรประชาชนจะใช้วิธีนี้ได้หรือเปล่า

เรื่องสัญชาติของแม่ดิฉันนะคะ คือ จีนฮ่อเป็นเชื้อชาติ ส่วนสัญชาติเขาระบุเกิดที่จีนเลยค่ะ พวกเพื่อนของแม่ที่ระบุไทย บ้างก็ไม่ได้ระบุก็ได้บัตรกันหมด แต่แม่ดิฉันเกิดที่ไทยนะคะ แล้วจะทำอย่างไรดี แม่ดิฉันเคยไปถามที่อำเถอเขาบอกว่าข้อมูลบัตรแบบของแม่ดิฉันยังไม่เข้าเกณฑ์ บัตรต่างด้าวยังไม่มีสิทธิด้วยซ้ำ เขาบอกถ้าจะทำบัตรประชาชนต้องรอไปก่อน แล้วจะต้องรอนานเท่าไหร่ เพราะตอนนี้มันหลายสิบปีแล้ว

แม่ดิฉันบอกเสมอว่าไม่เข้าใจจริงๆ ทำไมคนที่ทำบัตรพร้อมกันวันเดียวกัน ข้อมูลเหมือนกัน แต่เวลาได้บัตร ต่างคนต่างได้คนละแบบ บางคนได้บัตรประชาชน บางคนบัตรต่างด้าว บางคนบัตรบุคคลพื้นที่สูง ทั้งๆที่ต่างก็มาจากหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อนๆรุ่นเดียวกันทั้งนั้น

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณอาจารย์แหววกับคุณพวงรัตน์อีกครั้งนะคะที่ช่วยดิฉัน

สุขสันต์วันที่11/11/11ค่ะ สวัสดีค่ะ

ในประการแรก ต้องถามคุณพิมว่า อยากจะตกอยู่ในความหวาดกลัวโดยไม่มีเหตุมีผลต่อไปไหมคะ  เพราะถ้าคุณจะกลัวอำนาจเถื่อนของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เคารพกฎหมาย ก็ไม่ต้องมาหารือนักกฎหมาย ก็จงปล่อยให้คุณแม่ของคุณตกอยู่ในความอยุติธรรมต่อไป คนที่ไม่สู้ กลัวในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ก็ต้องทุกข์นานหน่อย และอาจถูกข่มเหงตลอดไป ขอให้คิดดีๆๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำตามกฎหมายอย่างนั้นหรือ ?? ลองคิดดูดีๆๆ ซิ หากคุณเองก็ไม่มีเหตุผล กลัวอำนาจเถื่อน คุณแม่ของคุณก็ไม่มีวันได้รับการแก้ปัญหา จะตกอยู่ภายใต้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ดีต่อไป

ในประการที่สอง ขอความกรุณาคุณพิมกลับไปดูชื่อเอกสารต่างๆ และเรียกให้ถูกตามที่ระบุในเอกสาร อ.แหววงงกับสิ่งที่คุณบอกเล่ามาค่ะ

ในประการที่สาม หากต้องการให้ช่วยวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจน กรุณาอ่านที่ตอบไปให้ถี่ถ้วน และตอบคำถามดังต่อไปนี้มาด้วยค่ะ (๑) หากคุณเข้าในว่า “แม่ของดิฉันเป็นบุคคลพื้นที่สูง” มารดาของคุณเป็นชาวเขาเผ่าใดคะ ? แต่ขอเตือนว่า จะเป็นชาวเขาหรือไม่ เป็นสำคัญ ไม่มำให้อะไรดีขึ้นหรือเลวลง ที่ดีที่สุด ขอให้บอกเล่าตามความเป็นจริง จะจัดการปัญหาได้ดีกว่า (๒) บนบัตรจีนฮ่อที่กล่าวถึง ปรากฏข้อความว่าอย่างไร หากยังมีสำเนาบัตร กรุณาเอามาอ่าน และบอกข้อความทั้งหมดมาด้วย (๓) บัตรสีชมพูที่ถืออยู่ในวันนี้ มีข้อความอะไรบ้าง โปรดบอกมาทั้งหมดนะคะ (๔)  การที่ยืนยันว่า มารดาเกิดในไทยนั้น มีพยานหลักฐานไหมคะ ? พยานเอกสาร ? พยานบุคคล ? (๕) มารดาเกิดที่ไหนในประเทศไทยอย่างแน่นอน ? (๖) มารดาเกิดเมื่อใด ?

ในประการสุดท้าย การที่ไม่แก้ไขปัญหาจนถึงที่สุด การหมักหมมปัญหา ก็คือ การสร้างปัญหาไม่รู้จบ และจะแก้ไขยากขึ้นทุกทีค่ะ ขออนุญาตให้สติ

คุณพิมจะกลัวเจ้าหน้าที่โกรธ หรือโมโห ปัญหาของคุณพิมก็จะไม่ได้รับการแก้ไขหรอกครับ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กลัวแล้วไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย ปัญหา ความต้องการก็จะไม่ได้รับการตอบสนอง และแก้ไข และนักกฎหมายก็ช่วยอะไรต่อไม่ได้เหมือนกัน

มันจะต้องมีการเริ่มต้น มีการยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่ หากเขารับความต้องการคุณก็ถูกตอบสนอง หากเขาปฏิเสธก็ขอเหตุผล หากคุณกลัวเขาปฏิเสธ คนอื่นก็ไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ปัญหาได้อย่างไร

ขอบใจคุณเพ้ง บางทีความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะเจ้าของปัญหากลัวการแก้ปัญหานะคะ ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท