ชีวิตที่พอเพียง : 1426. เรียนรู้เรื่องความสุข


สาระสำคัญของ Easterlin Paradox ก็คือ เมื่อคนมีรายได้และระดับความเป็นอยู่ดีขึ้นถึงระดับหนึ่ง แม้รายได้จะสูงขึ้นอีก ความรู้สึกเป็นสุขก็ไม่เพิ่มหรือเพิ่มไม่มาก

ชีวิตที่พอเพียง  : 1426. เรียนรู้เรื่องความสุข

หนังสือ The Spirit Level Delusion : Fact-Checking the Left’s New Theory of Everything  บทที่ 3 The Pursuit of Happiness อ้างถึงหนังสือ Happiness : Lessons from a New Science เขียนโดย Richard Layard (เวลานี้เป็น Baron Layard of Highgate)   ทำให้ผมได้รู้จัก Easterlin Paradox   และได้อ่านรายงานผลการวิจัยที่ค้าน Easterlin Paradox ฉบับนี้   ต้องอ่านรายละเอียดเอง    และใช้วิจารณญาณของตนเองว่าจะเชื่อฝ่ายไหน

สาระสำคัญของ Easterlin Paradox ก็คือ เมื่อคนมีรายได้และระดับความเป็นอยู่ดีขึ้นถึงระดับหนึ่ง   แม้รายได้จะสูงขึ้นอีก ความรู้สึกเป็นสุขก็ไม่เพิ่มหรือเพิ่มไม่มาก

นี่คือวิชาการสาขาที่เรียกว่า Happiness Economics   ซึ่งเป็นความพยายามที่จะวัดความสุขออกมาเป็น “ปริมาณ”  จากการถามความรู้สึกของแต่ละคน   จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิชาการสาขานี้จะมีเรื่องโต้แย้งถกเถียง กันมาก

ยิ่งถกเถียงกันมาก ยิ่งเป็นบ่อเกิดทางปัญญา    เพียงแต่อ่าน Wikipedia เรื่อง  Happiness Economics ผมก็ได้ความคิดว่า การมีลูกและเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เป็นการลงทุนทางสังคมอย่างหนึ่งในชีวิต   เป็นเสมือนการ ลงทุนระยะยาว   

คุณหมออภิสิทธิ์ และคุณหมอทานทิพย์ แห่งโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ชักชวนชาวบ้านให้ลงทุนปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นบำนาญชีวิต ระยะยาว ดังบันทึกนี้   การมีลูกและเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีก็เป็นการสั่งสมบำนาญชีวิตเช่นเดียว กัน   ผมเห็นตัวอย่าง แม่ของตนเอง และเริ่มเห็นผลในชีวิตของตนเองด้วย    ซึ่งหมายถึงการมีครอบครัวที่ดี เป็นปัจจัยหนึ่งของความสุข

ยิ่งถ้าเราขยายความรู้สึกและความเชื่อมั่นรักใคร่ต่อกันออกไปนอกสายเลือด    ไปสู่คนที่อยู่ร่วมชุมชน เดียวกัน คล้ายการผูกเกลอของคนสมัยก่อน   เราก็สามารถสร้างความอบอุ่นสบายใจในท่ามกลางความเป็นชุมชน ที่เอื้ออาทรต่อกัน    

และยิ่งต่อสายใยออกไปทั่วทั้งสังคม ในการช่วยกันปลูกฝังความเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม    เป็นคนที่รู้จักทำเพื่อผู้อื่น   เป็นคนที่มีทั้งสติปัญญาและมี EF ของสมองดี    ก็เท่ากับเป็นการ “ปลูกคน” หรือลงทุน สร้างคนรุ่นใหม่    ซึ่งจะมีผลดียิ่งกว่าปลูกต้นไม้

ลองอ่านเรื่อง Happiness Economics ดูนะครับ จะพบว่าเอ่ยถึง Thai GNH Index ด้วย    และจากนั้น เวลานี้ สสส. และองค์กรภาคี กำลังขับเคลื่อน NPI ต่อเนื่อง   สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน พื้นที่ และประเทศ    ผมเขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ที่นี่

ความสุขเป็นเรื่องหลายมิติ   นอกจากมิติเชิงวัตถุ และมิติเชิงสังคมแล้ว ยังมีมิติเชิงจิตวิญญาณ   ที่การปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ (และต่อเนื่องจนวัยชรา) ช่วยให้มีรากฐานความสุขจากการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า altruism   และมหาวิทยาลัยมหิดลนำมาเป็นค่านิยมหลักตัวหนึ่ง

ความสุขเป็นเรื่องซับซ้อน และคิดแคบเฉพาะตนเองไม่ได้   ต้องคิดเชื่อมโยง และคิดอย่างมีดุลยภาพ   เพราะปัจจัยที่หลากหลาย ทางสังคมและเศรษฐกิจ มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความสุขของเรา    การคิดถึงความสุขอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จึงดีกว่าคิดถึงความสุขอย่างเห็นแก่ตัว

ผมได้รู้จัก World Values Survey   ซึ่งสำรวจความเชื่อ คุณค่า หรือค่านิยมของผู้คนในประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ พ.ศ.​๒๕๒๔   ทำความรู้จัก WVS ได้ที่นี่   ที่น่าสนใจคือเขาแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็น ๔ กลุ่มตามเกณฑ์แยกแยะ ๒ เกณฑ์ดังนี้ 1) Traditional values versus Secular-rational values and  2) Survival values versus Self-expression values   เสียดายไม่มีไทย แต่ผมเดาว่าเราอยู่ในกลุ่ม Traditional values – Survival values   การตีความเรื่องแบบนี้น่าจะโต้แย้งกันได้มาก   และนักวิจัยไทยน่าจะมีโอกาสทำวิจัยเพื่อทำความ เข้าใจสังคมไทยจากหลากหลายมุมมองได้อีกมาก  

   ในเว็บไซต์ของ WVS มีบทความเรื่องความสุขที่น่าสนใจ มากที่นี่ ว่าประชาชนใน ๔๕ จาก ๕๒ ประเทศมีความสุข เพิ่มขึ้นใน ช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๕๐   โดยปัจจัยสำคัญคือเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย และความอดทน ต่อกันทางสังคม    คำที่ผู้คนบอกว่าทำให้เขามี ความสุขคือการมีโอกาสได้เลือก อย่างเป็นอิสระ   การวัดความสุขในรายงานผลการวิจัยนี้เรียกว่า SWB (Subjective Well Being)   ซึ่งชื่อก็บอกแล้ว ว่าเป็นความรู้สึก    น่าเสียดาย ที่ประเทศไทยไม่อยู่ในกลุ่ม ๕๒​ประเทศนี้  

วิจารณ์ พานิช

๑​พ.ย.​๕๔

หมายเลขบันทึก: 467355เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2011 04:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท