ชีวิตที่พอเพียง : 1418b. ชีวิตในสถานการณ์เสี่ยง


ศปภ. ไม่มีนโยบายให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเปิดเผยต่อสาธารณชน

ชีวิตที่พอเพียง  : 1418b. ชีวิตในสถานการณ์เสี่ยง

๒๒ ต.ค. ๕๔

ตอนเช้ามืด ตรวจสอบข้อมูลน้ำท่วมจากเว็บไซต์สรุปสถานการณ์ได้ว่ายังคงทรงๆ   ที่ถนนแจ้งวัฒนะน้ำท่วมประมาณ ๓๐ ซ.ม. รถเก๋งผ่านไม่ได้ ตรงตัดกับคลองประปาไปทางหลักสี่   แต่มาทางปากเกร็ดถนนแห้ง ดังข่าวนี้   และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงขึ้นกว่าเดิม ในหลายที่ปริ่มตลิ่ง ดังข่าวนี้

สาวน้อยพูดถึงธรรมศาสตร์โมเดล ตั้งแต่เมื่อวาน   ผมเข้าเว็บ OK Nation พบที่นี่ ดีมากครับเสนอไว้ตั้งแต่ ๒๐ ต.ค. ๕๔   แต่ทางรัฐบาล และ กทม. เฉย

เนื่องจากสาวน้อยมีอาการเครียดเพิ่มขึ้น กังวลเรื่องแผนดีเดือดของผมที่จะย้ายออกจากบ้านเมื่อน้ำท่วมบ้าน ๒ – ๓ วัน เพื่อหาประสบการณ์   เธอกังวลว่าจะเสี่ยงอันตรายเกินไป  ผมจึงเสนอให้เธอไปอยู่กับลูกสาวและป้าอี๊ดที่พญาไทพลาซ่า   โดยผมจะเฝ้าบ้านคนเดียว   เธอตกลงทันที 

เรานั่งแท็กซี่ออกจากบ้านเวลาเกือบ ๘ โมงเช้า   รถโล่งมากตลอดทางไปและกลับ   ผมใช้เวลาชั่วโมงเดียวก็กลับถึงบ้าน   บนทางด่วนมีรถจอดหนีน้ำอยู่  แต่ส่วนใหญ่จอดเลนเดียวที่เลนข้างทาง   มีบ้างที่จอดซ้อน ๒ แถว โดยเฉพาะใกล้งามวงศ์วาน   บางช่วงของทางด่วนในเมืองไม่มีรถจอดเลย   น่าดีใจว่าการจัดการให้เกิดความปลอดภัยและจราจรสะดวกบนทางด่วนได้ผล  เราลงทางด่วนที่ทางลงพระราม ๖ จึงได้เห็นระดับน้ำในคลองประปา ว่าปกติหรือต่ำกว่าปกตินิดหน่อยด้วยซ้ำ 

โชเฟอร์แท็กซี่บอกว่าเพิ่งออกรถวันนี้ เพราะเถ้าแก่ให้เอารถไปเก็บบนทางด่วนหลายวันแล้ว   จนเขาเงินหมด จึงขอไปเอารถมาขับ   ซึ่งก็ดีมาก เพราะรถแท้กซี่น้อย ความต้องการมาก  และถนนโล่ง   เขาบอกว่าเมื่อวานไปดูน้ำท่วมที่ถนนแจ้งวัฒนะตรงคลองประปา   มีปลาเมาน้ำเสียลอยตัวให้เขาทอดแหได้มากมาย 

มาถึงบ้านผมต้องการเงินไปบริจาคให้หมู่บ้านใช้เลี้ยงดูอาสาสมัครที่มาช่วยป้องกันน้ำแก่หมู่บ้าน   จึงเดินไปตรงทางเข้าหมู่บ้านเอื้ออาทร เพื่อกด เอทีเอ็ม เอาเงิน  ปรากฏว่าเหลือเพียงตู้ของธนาคารออมสินเท่านั้นที่ยังใช้การได้   บางธนาคารมีกระดาษแปะไว้ว่าปิด   บางธนาคารบอกว่า Line Connection Disorder

ตอนนี้ผมอยู่บ้านคนเดียว มีแม่บ้านของบ้านลูกสาวอยู่อีกบ้านหนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลหมา ๒ ตัว กับหมอ ๑ คน  ขณะที่ผมกำลังพิมพ์บันทึกนี้ที่ระเบียงบ้านชั้นล่าง   เพื่อนบ้านของผมทำเสียงอื้นอึงอยู่บนต้นไม้  ได้แก่กะรอก นกอีแพรด และนกอื่นๆ   ไม่แน่ใจว่าเพราะเขาเจองูที่เตรียมหนีน้ำขึ้นต้นไม้หรือไม่  เมื่อเช้ามืดวันที่ ๒๐ ผมจะออกไปขี่จักรยานดูลาดเลาน้ำท่วม   ไปเจอลูกงูเหลือมขดรอบต้นปาล์มคอนวลตรงริมประตูรั้ว   ถ่ายรูปโดยใช้แฟลชช่วยออกมา ลวดลายสวยงามมาก   เมื่อวาน วันที่ ๒๑ ตอนเช้า เห็นไส้เดือนตัวยาว ออกมาดิ้นตรงพื้นซีเมนต์หน้าบ้าน   เดาว่าสัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีประสาทรับรู้พิเศษว่าน้ำจะท่วม 

ถึงตอนนี้ความเป็นขั้วตรงกันข้ามระหว่างสาวน้อยกับผมก็ชัดเจนมาก   ในเรื่อง risk appetite (ภาษาธุรกิจ)   ในขณะที่ผมน่าจะมีสูง (เกินไปในสายตาของสาวน้อย)   สาวน้อยก็แทบจะไม่ยอมรับเอาเลย (ในสายตาของผม)   ชีวิตคู่ของเราจึงมีความสำเร็จดี  เพราะพลังของขั้วขัดแย้งกันนี่เอง  นี่คือวิธีคิดแบบโลกสมัย 21st Century ตามที่ผมกำลังอ่านหนังสือ The Post-American World : Release 2.0  และตามหลักการ เคออร์ดิค   ทั้งนี้หมายความว่า ทั้งสองฝ่ายต้องรู้จักใช้สองขั้วตรงกันข้ามให้เกิดพลัง synergy   ไม่ใช่ปล่อยให้เป็น conflict ตามธรรมชาติ   ซึ่งก็ต้องสารภาพว่า ผมใช้เวลากว่า ๑๐ ปี กว่าจะคลำพบเคล็ดลับนี้   และขอเผยเคล็ดลับว่า ได้แก่ความเชื่อถือไว้วางใจต่อกันและกัน  และมีเป้าหมายเดียวกันคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  และเห็นอกเห็นใจต่อกัน

ดังนั้นตอนนี้ผมรู้สึกผ่อนคลายจากการอยู่บ้านคนเดียว   บ้านสงบ มีแต่เสียงกะรอกและนกอื้ออึงอยู่กว่า ๑๕ นาทีติดต่อกัน  เสียงของเขาน่าจะเป็นสัญญาณอันตราย   การได้อยู่กับธรรมชาติช่วยให้ผมผ่อนคลาย 

โทรศัพท์ไปหาสาวน้อย เธอก็ผ่อนคลายเช่นเดียวกัน   สาธุ! ที่ตัดสินใจถูก แบบคนรู้ใจ   นี่เป็นการตัดสินใจถูกครั้งที่ ๒ เกี่ยวกับการผจญความเสี่ยงน้ำท่วมบ้านของผมคราวนี้   ถูกครั้งแรกคือยกเลิกงานของวันที่ ๒๐ – ๒๑ และของวันที่ ๒๒ ทำให้สาวน้อยสบายใจว่าผมไม่ทอดทิ้งให้เธอเผชิญความเสี่ยงโดยไม่มีผมอยู่ด้วย  นี่คือศิลปะของการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน

ข่าวบอกว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์กล่าวในรายการพบประชาชนเช้าวันนี้ ว่าน้ำเข้ากรุงเทพแน่นอน   โดยจะต้องรักษาส่วนที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไว้ และเตรียมแผนช่วยเหลือประชาชน อ่านได้ที่นี่  ผมคิดว่าน้ำท่วมนั้นหากท่วมไม่สูงมาก และไม่นานเกิน ๑ – ๒ สัปดาห์ ก็เป็นเรื่องที่พอทน 

เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. บุรุษไปรษณีย์มาส่งจดหมาย   ผมถามข่าวน้ำท่วม เขาบอกว่าน้ำเข้าเมืองทองแล้ว เอ่อมาที่สี่แยกไฟแดงถนนติวานนท์สามแยกเข้าเมืองทองธานีแล้ว   ผมรีบเข้าเว็บของ นสพ. ทั้งหลาย ยังไม่มีข่าวใดๆ เกี่ยวกับน้ำเข้าเมืองทองเลย   แต่ข่าวนี้ ที่แสดงว่าน้ำจากคลองประปายังล้นออกท่วมบริเวณถนนแจ้งวัฒนะยังคงอยู่ ก็ทำให้ผมเสียว

เมื่อวานอ่านจากมติชนว่าคนมี iPhone หรือ iPad สามารถใช้ประโยชน์ยามน้ำท่วมได้สารพัดประโยชน์ รวมทั้ง download App น้ำท่วมประเทศไทยมาตรวจสอบข่าวได้   ผมก็ download เอามาไว้ รวม 4 App ได้แก่ ThaiFlood View, ThaiFlood Report, FloodFeed, และ ThaiFlood HelpList  ยังไม่ได้ลองใช้มากนัก ทั้งหมดนี้เป็น Free App   บ่ายวันนี้ได้โอกาสจึงลองใช้ พบว่า ThaiFlood View ช่วยบอกว่าที่ไหนเหตุการณ์ปกติ หรือน้ำยังไม่ท่วม หรือท่วมแล้ว ฯลฯ ไปจนถึงต้องการความช่วยเหลือด่วน   ผมพยายามหาทางรายงานบ้าง จนพบว่า App สามารถตรวจจับตำแหน่งของเราได้หากเราอนุญาต  และจับตำแหน่งในแผนที่ของผู้รายงานได้ด้วย ก็รู้ว่าอยู่ในละแวกเดียวกับบ้านเราไหม  ห่างกันแค่ไหน   และในที่สุดผมก็พบว่า ต้องใช้คู่กับ ThaiFlood Report สำหรับรายงาน  ผมลองรายงานบ้าง เขาบอกได้เลยว่ารายงานมาจากหมู่บ้านสิวลี ต. บางพูด ปากเกร็ด 

จาก App นี้ทำให้ผมทราบว่าน้ำท่วมเมืองทองธานี ตรง บอนด์สตรีทที่ผมนั่งรถผ่านทุกเช้าเพื่อทะลุเมืองทองไปขึ้นทางด่วน ตรงตามที่บุรุษไปรษณีย์บอก   แต่น้ำไม่ได้สูงขึ้นฮวบฮาบ   นอกจากนั้นยังพบว่าน้ำท่วมตรงหมู่บ้านลานทองซึ่งอยู่ห่างจากบ้านผมประมาณ ๑ ก.ม.  ข่าวเหล่านี้หาในเว็บของ นสพ. ไม่พบ   นี่คือพลังของ social media 

ผมพบว่ามีอีก App หนึ่งชื่อ ThaiFlood Reporter เป็นการรวมเอาสอง App คือ ThaiFlood View กับ ThaiFlood Report เข้าไว้ด้วยกัน และคิดราคา $0.99   เขาบอกว่าไม่ต้องซื้อก็ได้  ใช้ 2 App นั้นได้เท่ากัน  แต่ผมต้องอุดหนุนเสียหน่อยเพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำประโยชน์แก่สังคม  

ระหว่างนั่งพิมพ์บันทึกนี้นกทั้งหลายก็ร้องกันอื้ออึงอีก คราวนี้มีนกกางเขนร่วมผสมโรงด้วย   แต่ก็มองหาตัวงูไม่พบ   จนเกือบค่ำเสียงจึงสงบลง

ตกค่ำผมพบข่าวนี้ ว่าเว็บ thaiflood ประกาศแยกตัวไม่ทำงานร่วมกับ ศปภ.   ช่วยให้ผมตาสว่างว่าที่ผมสังหรณ์ใจนั้นเป็นจริง   คือ ศปภ. ไม่มีนโยบายให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเปิดเผยต่อสาธารณชน  และยังมีกลุ่มประชาสังคมส่ง อี-เมล์ ปรึกษากันว่าจะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรื่องนโยบายเกี่ยวกับน้ำท่วม รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล

ผมอ่านหนังสือ The Post-American World : Release 2.0 เกือบจบแล้ว   ต่อไปนี้คือ short note ส่วนตัว ที่ผมขอเอามา share

ในช่วงที่อเมริกันเป็นจ้าวโลกหนึ่งเดียว ได้แสดงท่าทีหยิ่งยะโส และเอาแต่ใจและผลประโยชน์ของตนเอง  จนความรู้สึกนิยมอเมริกันตกต่ำลง   ที่ก่อผลรุนแรงที่สุดคือการบุกอิรัก  

แต่ที่จริง สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ทรงพลังที่สุดในโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  และหลังจากนั้นอเมริกาได้แสดงความใจกว้างส่งเสริมช่วยเหลือและให้เกียรติประเทศต่างๆ จนเป็นที่รักใคร่นิยมนับถือทั่วโลก 

ในปัจจุบันอเมริกามีความครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในโลกในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และวัฒนธรรม   และจะทรงพลังอย่างนี้ไปอีกนาน

เสนอให้ สรอ. ทำหน้าที่เป็น global broker ช่วยประสานประโยชน์ระหว่างฝ่ายต่างๆ   ซึ่ง สรอ. สามารถใช้จุดแข็งที่มีในการทำหน้าที่ได้ดีกว่าชาติใดๆ ทั้งหมด   และโดยบทบาทนี้ สรอ. ก็จะยังดำรงสถานะเด่นในโลกไปอีกนาน  

ในการทำหน้าที่นี้ ต้องใช้ "อำนาจอ่อน" นำ เสริมด้วย "อำนาจแข็ง"   เป็นการทำหน้าที่ superpower ในยุคใหม่   อำนาจอ่อนทำโดยหลักการ 3C : consultation, cooperation และ compromise   ในทางปฏิบัติ เป็นกระบวนการ AIC : setting Agenda, defining the Issue, และ mobilizing Coalitions   โดยที่การแสดงบทบาทเช่นนี้ ต้องทำร่วมกันทุกภาคส่วนของประเทศ   คือต้องเป็นนโยบายของทั้งสังคม   และผมมองว่าเท่ากับเอาท่าทีของรัฐบาลอเมริกันสมัย ปธน. รูสเวลต์ และทรูแมนมาปรับใช้นั่นเอง  

ท่าทีของความร่วมมือเช่นนี้ บริษัทข้ามชาติของ สรอ. เรียนรู้และใช้อยู่แล้ว

ผู้เขียนเห็นด้วยกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของ ปธน. โอบาม่า ว่า แทนที่ สรอ. จะเน้นเอาใจใส่ประเทศที่ก่อปัญหาเป็นอันดับแรก เช่นประเทศในบริเวณอ่าว (อาระเบีย)   ควรเน้นเอาใจใส่สร้างความร่วมมือกับประเทศที่กำลังรุ่งในเอเซียมากกว่า    ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าบุคคลหรือประเทศหรือองค์กร ต้องเน้นเชิงรุกเชิงสร้างสรรค์มากกว่าเน้นแก้ปัญหา   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องเน้นจัดการอนาคต มากกว่าจัดการอดีต

เขาเสนอแนวทางที่อเมริกาควรดำเนินการ ๖ อย่าง ดังนี้

  1. เลือก (Choose)  หมายความว่า ไม่ว่าจะมีอำนาจเหนือประเทศอื่นๆ เพียงใด  ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญของการทำหน้าที่พี่เบิ้ม   ต้องเลือกทำเฉพาะเรื่องที่สำคัญ  ไม่หลงติดกับเรื่องด่วน   ผมสรุปสั้นๆ อย่างนี้ แต่ในหนังสือเขายกตัวอย่างเรื่องจริงอ่านสนุกและประเทืองปัญญามาก

  2. สร้างกติกากว้างๆ ไม่ใช่เดินตามผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ  การเมืองระหว่างประเทศหนีไม่พ้นที่จะพ่วงผลประโยชน์ของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ภายในประเทศ   ถ้าไม่กำหนดแนวทางหลักไว้ให้ดีๆ   ก็อาจหลงไปมัวทำเรื่องจุกจิกเพือ่เอาใจบางกลุ่ม  จนลืมเรื่องหลักของประเทศ ในฐานะเป็นพี่เบิ้ม

  3. จงเป็น บิสมาร์ค ไม่ใช่บริเทน  นี่เป็นสำนวนให้เห็นว่า เมื่ออังกฤษเป็นพี่เบิ้ม ได้เดินยุทธศาสตร์ผิด   โดยหาทางกดไม่ให้ประเทศอื่นเติบโตพัฒนาขึ้นมาเพราะเกรงจะมาท้าทายความเป็นมหาอำนาจของตน   แต่ บิสมาร์ค ใช้นโยบายร่วมมือช่วยเหลือประเทศมหาอำนาจทุกฝ่าย   Fareed Zakaria แนะให้สหรัฐใช้ยุทธศาสตร์ร่วมมือส่งเสริมประเทศที่กำลังเข้มแข็งขึ้นมาทุกประเทศ เพื่อดำรงความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของตนไว้   โดยที่ต้องเข้าใจประเทศอื่นและมีวิธีที่จะแสดงและเพิ่มอำนาจของตนผ่านความร่วมมือ 

  4. จงสั่งอาหารตามเมนู (a la carte)  หมายความว่า ในการสัมพันธ์กับแต่ละประเทศต้องเสิร์พอาหารตามสั่ง ไม่ใช่จัดแบบเหมือนกันหมด   โดยคำนึงถึงความต้องการหรือความพอใจของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ไม่ใช่มองแค่ความต้องการของอเมริกา   

  5. จงคิดแบบไม่สมมาตร  อย่าคิดว่าการต่อสู้เอาชนะกัน กำลังมากจะชนะกำลังน้อยเสมอไป   มีการสู้รบนอกแบบ และตัวอย่างมากมายที่ประเทศที่กำลังเหนือกว่าทุกด้านหลายเท่า ไม่สามารถเอาชนะกองกำลังที่ใช้วิธีรบนอกแบบได้   ต้องอย่าหลงผิดว่ากำลังทหารจะเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้   มีกิจกรรมหลายอย่าง ที่ "พลังอ่อน"  มีผลต่อความสำเร็จมากกว่า   โดยเน้นที่ความร่วมมือ เช่นด้านวิชาการ ประชาสังคม และธุรกิจ

  6. ความชอบธรรมคืออำนาจ   หัวใจของความชอบธรรมในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งบางเรื่องของบางประเทศคือความเชื่อถือ (trust)   ว่าสหรัฐเข้าไปจัดการเพื่อผลประโยชน์ด้านมนุษยธรรม ไม่มีผลประโยชน์ของตนแอบแฝงอยู่เลย   เขายกตัวอย่างทั้งตัวอย่างบวก ที่สหรัฐทำแล้วโลกแซ่ซร้องสรรเสริญ   และตัวอย่างลบ ที่สหรัฐอ้างความชอบธรรมโดยไม่มีใครเชื่อ คือกรณีบุกอิรัก

 

สรุปว่าจนถึงค่ำวันที่ ๒๒ ต.ค. น้ำยังมาท่วมบ้านผม   แต่ก็ใกล้เต็มทีแล้ว

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๔

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 465655เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2011 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อยู่บ้านคนเดียว ระวังตัวด้วยนะค่ะอาจารย์ รักษาสุขภาพค่ะ

ได้เรียนรู้อย่างมากมายเลยค่ะจากบันทึกนี้รวมถึงวิธีคิดของอาจารย์...

"สติสัปชัญญะที่เกิดสะท้อนถึงการดำรงอยู่อย่างเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นการอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกัน ไม่หักล้างหรือหักโค่น หรือใช้ความรุนแรง หากแต่เป็นศิลปะของการเผชิญหน้ากับสภาวะธรรมชาติ อันปราศจากอารมณ์และความคิดด้านลบ"

...

 

 

เป็น PBL อีกอย่างหนึ่งในยามนี้นะคะ ..

  • เสี่ยงเอ๋ย เสี่ยงภัย
    เสี่ยงให้มันรู้ไปภัยน้ำท่วม
    บอกตัวเองรับได้ไม่ถึงอ่วม-
    อรทัยคิดร่วมตัดสินใจ
  • 
  • อยู่บ้านเฝ้าเรือน
    ไม่แชเชือนเปิดรับข่าวรอบทิศ
    ดูฟังคิดเครียดไปขอให้ปิด
    เชื่อลิขิตกรรมดีที่ทำมา
  • ห่วงเอ๋ย ห่วงใย
    คนอยู่ไกลห่วงใยในเหตุการณ์
    แม้เชื่อมั่นท่านรู้ทุกสถาน
    ขอท่านผ่านพ้นภัยไปด้วยดี.

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท