เรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้ยุทธศาสตร์การจำ


การจำเป็นความสามารถพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้

   

 

 

 

 

  เฉลิมลาภ ทองอาจ 

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม 

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

            แนวคิดเรื่องการพัฒนาทักษะการจำ ดูเสมือนว่าจะถูกหลงลืมไปจากระบบการเรียนการสอนภาษาไทยในระยะหลังมานี้ ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรนัก เพราะปัจจุบันทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มสร้างความรู้  (constructivist theory of learning) และแนวคิดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (child-centered approach)  ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งก็เป็นสาเหตุให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปว่า ในการเรียนการสอนต้องห้ามนัำกเรียนจำ ทั้งที่จริงๆ แล้ว  "การเรียนด้วยการท่องจำ" กับ "การเรียนด้วยการฝึกจำ" เป็นคนละเรื่องกัน  

          อันที่จริงแล้ว แนวคิดการเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ (learning by doing) เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงเบื้องหลังของกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้มิติพุทธิปัญญา (cognitivism paradigm)  เสียก่อนว่า  การที่ผู้เรียนลงมือปฎิบัติอะไรก็ตาม  เพื่อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างปัญญา (schema) อันเป็นกระบวนการภายในเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลใหม่นั้น  ที่จริงแล้วต้องอาศัยความรู้เดิม (prior knowledge) ในหน่วยความทรงจำระยะยาวของผู้เรียนเป็นพื้นฐาน     ก็ความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีนี้เอง ถ้ามีมาก ก็เรียกว่า “จำได้มาก” และเช่นเดียวกัน ถ้าความรู้เดิมมีน้อย เราก็อาจเรียกว่า  “จำได้น้อย” ด้วยเหตุนี้ เราจึงปฎิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะการจำข้อมูลให้ได้มากและคงทน ย่อมเป็นตัวชี้วัดศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน   กล่าวคือ  หากผู้เรียนไม่สามารถจะจดจำสิ่งที่เพิ่งได้เรียน  การเรียนรู้ครั้งใหม่ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก 

          ก่อนอื่น ในฐานะที่เป็นเป็นครู เราจะต้องมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่าทักษะการจำ (memory skills)  สามารถที่จะพัฒนาได้  ผู้เรียนของเราจะจำได้น้อย ได้มาก ได้ดี ได้ช้า  ย่อมขึ้นอยู่กับกลวิธีและเวลาที่ใช้ในการฝึกหัดจดจำ  ไม่ใช่เป็นเพราะโง่หรือฉลาด  หากจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ การจำเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้และไม่ใช่ลักษณะที่ติดตัวบุคคลมาและคงอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งไปตลอด  คำว่าการพัฒนาในที่นี้ หมายถึง  การส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้กลวิธีการต่างๆ ในการ “จัดการ” ข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเก็บไว้ในหน่วยความทรงจำระยะยาวได้รวดเร็วและคงทน  อุปมาเหมือนการนำเงินฝากเข้าธนาคาร  หากเรานำเงินซึ่งมีทั้งเหรียญและธนบัตรมูลค่าต่างๆ  ปนกัน  ไปฝากโดยไม่ได้จำแนกและจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่แล้วไซร้ การให้เจ้าหน้าที่นำเงินเข้าฝากในระบบ  ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาในการคัดแยกเงินเป็นอย่างยิ่ง  ข้อมูลที่ไม่ได้จัดการให้ดีจึงไม่ต่างจากเงินที่ไม่ได้จัดเรียงฉะนั้น 

          การเรียนการสอนภาษาไทยในสาระการเรียนรู้โดยเฉพาะการอ่านและการฟัง จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะการจำเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำข้อมูลที่จำมาใช้ในการดำเนินชีวิต แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ข้อมูลที่ได้รับมาแต่มิได้มีการจัดการให้เป็นระบบย่อมจำได้ยาก ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการจัดการข้อมูล ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ทำให้ข้อมูลนั้นมีความหมายหรือจดจำได้ เพราะการจำได้นี้ ย่อมเป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับสัมฤทธิผลในเชิงวิชาการของผู้เรียนด้วย ดังที่  Bergin และ Bergin (2011)  ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจำสรุปได้ว่า  ความสามารถในการจำมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้  (achievement)  หมายความว่า  หากจะเพิ่มผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้            ก็จะต้องเริ่มจากการเพิ่มความสามารถในการจำ ซึ่งมีหลายกลวิธีด้วยกัน  กลวิธีที่นักวิชาการทั้งสองเสนอแนะ  ได้แก่  การช่วยให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้  การสอนยุทธศาสตร์การจำ  การเพิ่มอัตราการฝึกจำและการทดสอบผู้เรียน  ครูภาษาไทยสามารถนำกลวิธีดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการจำของผู้เรียน  ในการเรียนรู้สาระการเรียนรู้ภาษาไทยได้  โดยในที่นี้  ผู้เขียนของเรียงร้อยกลวิธีดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้จำได้ง่ายว่า  “เชื่อมโยงของเก่า  เฝ้าใช้วิธีจำ  ฝึกซ้ำสม่ำเสมอ  ไม่พลั้งเผลอต้องทดสอบ”  

                      1. เชื่อมโยงของเก่า  การเชื่อมโยงของเก่าในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเรื่องที่ได้อ่านได้ฟังกับเรื่องราวในอดีต  แต่หมายถึง การให้ผู้เรียนนำข้อมูลใหม่ ที่ได้รับเข้ามาผ่าน   การอ่าน การฟังหรือการดู มาเชื่อมโยงกับความรู้เดิม (prior knowledge)  ที่ผู้เรียนมีเกี่ยวกับข้อมูลนั้นอยู่แล้วให้ได้มากที่สุด  ดังนั้น การเชื่อมโยงที่จริงแล้วก็คือ  “การจัดการ” ข้อมูลให้มีความหมายต่อตัวผู้เรียนนั่นเอง  ครูสามารถใช้เทคนิคการถาม เช่น  “จากหัวข้อ/เรื่อง....นี้ นักเรียนมีความรู้หรือ              เคยมีประสบการณ์อะไรบ้าง”  หรือ  “นักเรียนเคยทราบเกี่ยวกับเรื่อง.....อย่างไร ช่วยเล่าให้เพื่อนฟังด้วย” เป็นต้น  การเชื่อมโยงของเก่า จึงไม่ใช่การเชื่อมโยงเรื่องเก่า เช่น การเชื่อมโยงกับเรื่องในประวัติศาสตร์    แต่หมายถึง การเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับสิ่งที่ผู้เรียน “เคยรู้”  เกี่ยวกับเรื่องนั้น ซึ่งในการจะเชื่อมโยงข้อมูลให้ได้มากหรือได้น้อย นอกจากจะขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับกลวิธีการถามคำถามของครูและ        การนำเสนอข้อมูลใหม่ให้สอดคล้องกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียนอีกด้วย  ตัวอย่างในการเรียนการสอนภาษาไทย เช่น  ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ถ้าครูจะต้องสอนนิราศภูเขาทอง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปรัชญาชีวิตที่เกิดขึ้นขณะเดินทาง ครูอาจให้นักเรียนเล่าความรู้เดิมเกี่ยวกับคำว่า “นิราศ” แล้วให้นักเรียนเล่าประสบการณ์ของตนเองว่า  มีการเดินทางครั้งใดของผู้เรียนหรือไม่ ที่มีการคิดคำนึงถึงชีวิตตนเอง     หรือระหว่างที่เดินทางไปเยือนสถานที่ต่างๆ  ผู้เรียนเคยเกิดความคิดอย่างหนึ่งอย่างใดหรือระลึกถึงใครบ้างหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น  การฝึกให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเช่นนี้  ย่อมทำให้ผู้เรียนสามารถจัดการข้อมูลใหม่ให้เป็นระบบ  และจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้สะดวกยิ่งขึ้น      

                        2. เฝ้าใช้วิธีจำ  ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า  การจำเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ หรือก็คือสามารถที่จะสอนหรือฝึกหัดให้ผู้เรียนเกิดทักษะการจำได้  ซึ่งวิธีการสอนและการฝึกหัดดังกล่าวมีหลายวิธี ดังนั้น ครูควรสาธิตการใช้วิธีการจำให้ผู้เรียนดูเป็นตัวอย่าง  จากนั้นฝึกหัดให้ผู้เรียนใช้วิธีจำด้วยตนเอง  วิธีจำมีอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น  การให้ผู้เรียนพยายามสร้างจินตภาพจากข้อมูล หรือการจัดข้อมูลที่จะต้องจำให้กลายเป็นภาพ เช่น ให้ผู้เรียนวาดภาพ สร้างแผนผัง แผนภูมิหรือใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ผู้เรียนเข้าใจความหมายแทนข้อมูลนั้น  การบอกให้ผู้เรียนสังเกตข้อมูลที่จะต้องจำเช่น  “ตรงนี้ต้องจำ” หรือ “ตรงนี้ห้ามลืม”  แล้วให้ผู้เรียนทำสัญลักษณ์หรือทำเครื่องหมายช่วยจำตรงบริเวณข้อมูลที่สำคัญ  การใช้คำถามหรือกิจกรรมทบทวนก่อนให้ข้อมูลใหม่ เช่น  “เมื่อชั่วโมงที่แล้ว ครูได้พูดถึงเรื่อง...ใครจำได้บ้างว่า.......    เป็นอย่างไร เพราะเหตุใด” การกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับกลวิธีการที่พวกเขาสามารถที่จะใช้ในการจำ เช่น  “ถ้านักเรียนจะต้องจำข้อมูลตรงนี้ จะมีวิธีจำอย่างไร”  หรือ  “ข้อมูลตรงนี้มีความสำคัญ นักเรียนลองเสนอวิธีการจำที่ง่ายและเร็วที่สุดมาคนละหนึ่งวิธี” เป็นต้น  การใช้เทคนิคการขยายความคิด (elaboration) หรือการขยายข้อมูลให้มาเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม เช่น คำซ้อน เหมือนกับคู่แฝด ที่มีลักษณะเหมือนกัน (ในด้านความหมาย) เป็นต้น  หรือการใช้เทคนิครัสพจน์ (acronym) หรือคำย่ออักษรตัวแรกของข้อความหรือประโยค ตัวอย่างการใช้รัสพจน์ เช่น การจำชื่อทะเลสาปใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ด้วยการจำว่า “HOMES”  ซึ่งอักษรแต่ละตัวแทนชื่อทะเลสาบ ได้แก่ Huron Ontario  Michigan  Erie และ Superior  สำหรับเทคนิคนี้อาจนำมาปรับเพื่อใช้ในการจำข้อมูลในรายวิชาภาษาไทย เช่น การจำชื่อชนิดคำสรรพนามทั้ง 6 ชนิด ตามแนวคิดของพระยาอุปกิตศิลปสาร  อาจให้ผู้เรียนจำว่า  “บุรุษนิยม  อนิยมปฤฉา  วิภาคประพันธ์” หรือการจำชื่อตำแหน่งพระมเหสีในวรรณคดีเรื่องอิเหนา  ครูอาจให้นักเรียนจำว่า   “ประมะเด      มะลิเหมา” ซึ่งมาจาก  ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู  และ  เหมาหลาหงี เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม  ครูควรให้นักเรียนเป็นผู้ผูกคำย่อต่างๆ ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นเอง  เพราะผู้เรียนแต่ละคนอาจมีวิธีการเชื่อมโยงคำไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเขา  ซึ่งการย่อคำด้วยตนเองจะช่วยให้ผู้เรียนจดจำ       คำได้รวดเร็วและคงทนยิ่งขึ้น  

                        3.  ฝึกซ้ำสม่ำเสมอ  การจำเป็นความสามารถที่สามารถลดระดับลงได้หากไม่มีการทบทวน  ดังนั้น ครูจะต้องฝึกให้ผู้เรียนได้ทบทวนความทรงจำของตนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้ลืมข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย  มีการวิจัยพบว่า  หากจะฝึกหัดให้ผู้เรียนจำข้อมูลได้หรือไม่ลืมข้อมูลในระยะเวลา         1 เดือน จะต้องฝึกหัดหรือมีกิจกรรมให้ผู้เรียนฝึกจำอย่างน้อยทุกๆ  สัปดาห์  และหากจะฝึกหัดให้จำข้อมูลใดๆ ได้ปีหนึ่งโดยไม่ลืม จะต้องมีกิจกรรมทบทวนอย่างน้อยทุกๆ  3-4 สัปดาห์ เป็นต้น  สำหรับในรายวิชาภาษาไทย หลังจากที่ผู้เรียนจำข้อมูลได้แล้วในเบื้องต้น ครูควรเน้นย้ำหรือให้ผู้เรียนทบทวนข้อมูลนั้นอย่างสม่ำเสมอ เช่น  ในการท่องจำบทอาขยาน ซึ่งอย่างน้อยผู้เรียนจะต้องจำข้อมูลบทอาขยานได้ประมาณ 1 เดือน ครูอาจให้นักเรียนทุกคนในห้องทบทวนด้วยการท่องอาขยานพร้อมกันในห้องทุกสุดสัปดาห์ในเดือนนั้น แล้วในเดือนต่อมาจึงกำหนดวันทดสอบการท่องอาขยาน หรือในการท่องจำชนิดของคำในภาษาไทยทั้ง 7 ชนิด ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ตามแนวคิดของพระยาอุปกิตศิลปสาร ครูอาจมีกิจกรรมทบทวนเรื่องชนิดของคำในภาษาไทยในทุกๆ เดือนของปีการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ครูจะต้องถือหลักว่า การจำได้เร็วและคงทนต้องอาศัยการ “เน้นย้ำซ้ำทวน” อย่างสม่ำเสมอ   

                        4.  ไม่พลั้งเผลอต้องทดสอบ  ผลของการไม่เน้นย้ำซ้ำทวนก็คือ ผู้เรียนจะค่อยๆ ลืมข้อมูลไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้ นอกจากกิจกรรมการทบทวนแล้ว หากกลัวว่าผู้เรียนจะพลั้งเผลอจนลืมสิ่งที่เรียนแล้วล่ะก็ ครูควรที่จะใช้การทดสอบซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าการทบทวนในการเพิ่มความสามารถในการจำ  สังเกตได้จากตัวของเราเอง เมื่อทราบว่าจะต้องได้รับการทดสอบเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เราก็จะมีความตั้งใจและมีสมาธิเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน  ซึ่งผลที่ตามมาคือ เราจะสามารถจดจำข้อมูลในเรื่องที่จะออกสอบได้มากยิ่งขึ้น นักวิจัยด้านความจำได้เสนอแนะให้ครูใช้วิธีการทดสอบผู้เรียนให้บ่อยครั้ง  แต่การทดสอบนั้นมิได้หมายถึงการทดสอบที่ว่ามีเป้าหมายเพื่อการเก็บคะแนนหรือตัดสินว่าผู้เรียนควรได้หรือตก แต่เป็นการทดสอบความทรงจำของผู้เรียน เพื่อให้พวกเขาไม่ลืมสิ่งที่ได้เรียนไปด้วยวิธีการทดสอบในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น  การถามคำถามทดสอบ  การให้ผู้เรียนเล่าหรืออธิบายซ้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีการทดสอบในลักษณะสะสม (cumulative tests) กล่าวคือ  การทดสอบความทรงจำครั้งใหม่ควรครอบคลุมข้อมูลเดิมในการทดสอบครั้งที่แล้ว เช่น  การทดสอบความจำเรื่องประโยคซ้อน ควรให้ผู้เรียนอธิบายหรือตอบคำถามย้อนไปถึงข้อมูลเรื่องประโยคสามัญ และคำสรรพนามหรือคำวิเศษณ์เชื่อมข้อความ  ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประโยคซ้อนด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ หลักการใช้วิธีการทดสอบเพื่อเพิ่มความสามารถในการจำยังมีอีกประการหนึ่ง คือ ครูจะต้องให้ผลป้อนกลับแก่ผู้เรียนทันทีหลังการทดสอบ สำหรับการทดสอบด้วยข้อสอบอาจใช้วิธีการเฉลยคำตอบ    แต่หากเป็นการทดสอบด้วยการเขียนหรือการพูด ครูสามารถเฉลยหรือให้ผลป้อนกลับด้วยการบอกตัวอย่างประเด็นความคิดหรือแนวทางที่ควรจะเป็นคำตอบ  เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบหลังการทดสอบว่าสิ่งที่ตนเองจำได้นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด 

          การ “เชื่อมโยงของเก่า  เฝ้าใช้วิธีจำ  ฝึกซ้ำสม่ำเสมอ  ไม่พลั้งเผลอต้องทดสอบ” เป็นกลวิธีง่ายๆ ที่ครูสามารถฝึกหัดให้ผู้เรียนใช้เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถในการจดจำข้อมูลในการเรียนรายวิชาภาษาไทย  ซึ่งถ้าสังเกตได้ดีแล้วจะพบว่า วิธีการต่างๆ เหล่านี้ ผู้เรียนควรที่จะเป็นผู้ใช้และควบคุมการใช้ด้วยตนเอง เพราะหากผู้เรียนทราบว่าจะต้องนำข้อมูลใหม่มาพิจารณา  เพื่อเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของตน  ทราบว่าจะใช้วิธีการอะไรจดจำข้อมูลนั้นให้รวดเร็ว ง่ายและสะดวกที่สุด  รวมทั้งตระหนักว่า ตนเองจะต้องหมั่นทบทวนความทรงจำ  ด้วยการตั้งคำถามหรือการทดสอบตนเองอยู่เป็นระยะๆ เช่นนี้แล้ว  ผู้เรียนก็จะมีทักษะการจำเพิ่มสูงขึ้น  และการทำงานของการเก็บและเรียกคืนข้อมูลมาใช้ในกิจการต่างๆ ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน  ในท้ายที่สุดนี้   จงจำไว้ว่า ครูจะต้องให้ผู้เรียนฝึกหัด  “จัดการ” ข้อมูลต่างๆ  เสียก่อน พวกเขาจึงจะสามารถ “จดจำ” ข้อมูลเหล่านั้น  แล้วนำใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่าง  “จัดเจน” ในที่สุด 

 

_____________________________________

การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ ไปเผยแพร่ด้วยวิธีการใดๆ ควรทำตามหลักจรรยาบรรณ มาตรฐานทางวิชาการและความเป็นมนุษย์

 

หมายเลขบันทึก: 465298เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2011 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท