การจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้องแบบฮักเมืองน่าน


 

การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบฮักเมืองน่าน ตามกระบวนการเรียนรู้แบบมุฑิตาจิตนั้น หัวใจหลักคือการดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคน องค์กร/ชุมชน (Tacit Knowledge) ขึ้นมาให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน โดยใช้ทุนฐานเดิมที่เป็นความศรัทธา ความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเพณี เป็นกระบวนการในการสร้างการเรียนรู้

ในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้(Knowledge Sharing) เพื่อเสริมพลังของฮักเมืองน่านนั้น มีกระบวนการเรียนรู้อยู่ ๒ ลักษณะ คือ การจัดกระบวนการเรียนในห้อง และการจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่จริง (อาจเป็นลานวัด ใต้ต้นไม้ ห้างนา ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แปลงนา แปลงเกษตร ป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ริมแม่น้ำฯลฯ)

.......................................................

สำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้อง จะเป็นลักษณะการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีสื่อและอุปกรณ์พร้อมในการช่วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ กระดาษฟลิปชาร์ท โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ

กระบวนการแบบนี้เหมาะสำหรับการจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มใหญ่ หรืออาจเป็นกลุ่มไม่ใหญ่ แต่ต้องการสื่อช่วยในการจัดกระบวนการเรียนรู้ สถานที่อาจเป็นศาลาการเปรียญ ห้องประชุม กศน. ห้องอบต. ห้องประชุมสำนักงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งห้องประชุมโรงแรม(หากมีตังค์) แต่ที่ฮักเมืองน่านใช้บ่อยเป็นศาลาการเปรียญ วัดอรัญญาวาส อันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิฮักเมืองน่าน เพราะสะดวก ประหยัด และเรียบง่าย

สำหรับประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ฮักเมืองน่าน มักจะใช้กับการจัดการเรียนรู้กับกลุ่มภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย หรือ อาจเป็นการจัดกระบวนการเปิดการเรียนรู้ก่อนดำเนินการโครงการ และการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียนจากการปฏิบัติการ หรือสรุปโครงการ

 

การจัดกระบวนการเรียนรู้ 

  • การเตรียมการก่อนจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนัดหมายทีมผู้จัดและทีมสนับสนุนการเรียนรู้(FA) ในการกำหนดรายละเอียดหลักสูตรการจัดกระบวนการเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่กำหนดวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย สถานที่จัดการเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ วัสดุอุปกรณ์ รวมไปถึงการมอบหมายภารกิจของแต่ละคน ด้วย

กระบวนการเริ่มจากนัดทีมจัดการและทีม FA (Facilitators) ได้มาทำความเข้าใจร่วมกันถึงวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เสร็จแล้วก็จะได้กำหนดบุคคลเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามากระบวนการเรียนรู้ว่า จำนวนเท่าไร แล้วทำอย่างไรจะให้ได้ตัวจริงเสียงที่เราต้องการให้เข้ามาร่วม อันนี้จำเป็นต้องมีการคุยกันในทีม และมอบหมายงานกัน

เมื่อได้คนที่ต้องการเข้าร่วมเรียนรู้แล้ว เราจะจัดหลักสูตรการเรียนรู้อย่างไรให้เหมาะสมกับลักษณะจำนวนของกลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลา และงบประมาณ

การวางแผนหลักสูตรการเรียนรู้เน้นการทำตารางหลักสูตรตั้งแต่วัตถุประสงค์หลัก กลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมย่อยๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ แต่ละช่วงใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้กระบวนการกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มย่อย ใช้สื่ออุปกรณ์อะไรบ้าง ใครเป็น FA หลัก ใครเป็น FA ประจำกลุ่ม

เสร็จแล้วก็มาพิจารณาว่ากลุ่มเป้าหมายอย่างนี้ จำนวนนี้ หลักสูตรประมาณนี้ สถานที่ที่เหมาะสมควรใช้ที่ไหน แต่หากคุยกันแล้วไม่มีสถานที่ที่เราต้องการได้ ก็อาจปรับกลุ่มเป้าหมาย และหลักสูตรให้เหมาะกับสถานที่ที่มีอยู่ รวมถึงงบประมาณที่มีอยู่ อันนี้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์

  • การจัดกระบวนการเรียนรู้ อันนี้ผู้เขียนคิดว่ามันขึ้นอยู่กับผู้นำกระบวนการด้วยเช่นกัน แต่เท่าที่ผู้เขียนและกัลยาณมิตรฮักเมืองน่านใช้ คือ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม(Participatory learning – PL) ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experience Sharing) ดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ และศักยภาพของกลุ่ม/ชุมชน ขึ้นมาให้เห็น เกิดความภาคภูมิใจ แล้วนำไปสู่การจัดการใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม 

เริ่มจากตั้งแต่การเปิดการเรียนรู้แบบมีพลัง ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาผู้เขียนมักใช้การน้อมนำเอาพระราชดำรัสของในหลวงในเรื่องที่เกี่ยวกับหัวเรื่องการเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้เห็นคุณค่า ความหมาย และประเด็นที่เรากำลังจะเรียนรู้กัน หลังจากนั้นมักจะใช้วีดีทัศน์หรือคลิปโฆษณาที่เกี่ยวโยงกับเรื่องที่เราจะเรียนรู้กัน เป็นการกระตุกพลัง จิตสำนึกในการเรียนรู้ หรือเห็นประเด็นปัญหา รวมไปถึงเห็นตัวอย่างขององค์กร/ชุมชนที่ทำเรื่องนี้ได้ดี

หลังจากนั้นผู้เขียนมักต่อด้วยการกลับมาทบทวนดูใจของเราเอง เป็นการนั่งสมาธิภาวนาแบบสั้นๆ อาจใช้การเสียงการภาวนาแบบมีบทนำ หรือนำการภาวนาเอง หัวใจสำคัญคือให้ละวางความว้าวุ่นใจทั้งหลาย เป็นการฝึกการเรียนรู้ภายในไปด้วย และวางใจให้พร้อมที่จะเรียนรู้ในครั้งนี้ ผู้เขียนคิดในกระบวนการพัฒนาประชาสังคมจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาด้านภายในของคนทำงานด้วย แต่การจัดกระบวนการแบบนั้นดุ้นๆ อาจจะไม่ค่อยเป็นที่ชอบของบางคน จึงพยายามแทรกเรื่องราวความเป็นมนุษย์แท้ไว้ในกระบวนการเรียนรู้เท่าที่จะทำได้

หลังจากนั้นก็จะเริ่มพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันถึงวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้

แล้วเริ่มมุฑิตาจิตความดีงาม โดยการแบ่งกลุ่มย่อยประมาณ ๘-๑๐ คน ตั้งวงเล่าเรื่องความดีงามความภาคภูมิใจที่ตนเอง องค์กร/ชุมชนของตนเอง ว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้าง มีอะไรที่เป็นที่น่าภาคภูมิใจ ลงรายละเอียดเรื่องเล่าจนไปเห็นถึงกระบวนการคิด กระบวนการที่ทำ ใครมาเกี่ยวข้องบ้าง เกิดผลลัพธ์อย่างไร มีอะไรที่เป็นที่ภาคภูมิใจ เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงประสบการณ์ (Knowledge Sharing)

หลังจากนั้นก็ให้กลุ่มช่วยกันสรุปต้นทุนความดีงามที่มีอยู่ แล้วต่อด้วยการช่วยกันถกประเด็นที่ยังเป็นปัญหาหรือสิ่งที่กำลังจะเป็นปัญหาในอนาคตร่วมกัน เป็นการเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตนเองมาแลกเปลี่ยนกัน เสร็จแล้วให้กลุ่มย่อยนำเสนอความรู้จากการแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อย แล้ว FA ช่วยสังเคราะห์องค์ความรู้ในภาพรวม ทั้งที่เป็นศักยภาพ และปัญหา แล้วให้โจทย์ต่อว่า จะหาทางออกร่วมกันอย่างไร โดยใช้ทุนฐานที่มีอยู่ โดยเริ่มจากตัวเอง กลุ่ม/ชุมชนของตนเอง ไม่คิดอะไรที่ไปไกลกว่าชุมชนถิ่นฐานตัวเอง หรือเกินศักยภาพที่ตนเองจะทำได้ อาจเป็นเรื่องราวเล็กๆ แต่มันสร้างคุณค่า ความหมายต่อชุมชน ทำให้เกิดพลังความร่วมมือกัน

สุดท้ายก็จะเห็นทางออกร่วมกันว่าจะไปทางไหนอย่างไร แล้วสรุปการเรียนรู้ภาพรวมทั้งหมดในการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้ บวกกับภารกิจหลังจากนี้ร่วมกัน

และผู้เขียนมักปิดท้ายการเรียนรู้ร่วมกันด้วยสไลด์ Power point ที่สร้างการตื่นรู้ ท้าทายในการทำงาน และจบด้วยวีดีทัศน์หรือคลิปโฆษณาที่เสริมพลังใจ สร้างพลังทางบวก เป็นการให้กำลังใจกันและกัน เรียกว่าจบด้วยใจที่เป็นสุขและมีใจฮึกเหิมอยากไปทำต่อในพื้นที่

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดยืดหยุ่นตามสถานการณ์และบรรยากาศการเรียนรู้

  • การถอดบทเรียนการเรียนรู้ เป็นการสรุปกระบวนการเรียนรู้ของทีมจัดการและ FA เป็นการ AAR (After Action Review) ร่วมกันว่ามีอะไรที่ทำได้ดี ชื่นชมให้กำลังใจกันและกัน รวมทั้งหาสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี และหาทางปรับปรุงแก้ไขในการจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งต่อไป กระบวนการอันนี้สำคัญ เพราะบางทีเหนื่อยล้าจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ทำให้ไม่ได้ทำในจุดนี้ไป แต่เท่าที่ประสบการณ์ที่ผ่านมาเราสามารถทำได้ตลอดช่วงกระบวนการเรียนรู้ และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดจะได้ใช้เวลา AAR ไม่มาก
  • การสรุปการเรียนรู้เป็นเอกสาร อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ หลายครั้งที่เราจะมอบหมายให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำหน้าที่บันทึกการเรียนรู้ แต่จะเจอปัญหาคือเขามักจะไปทำหลังการจัดการเรียนรู้ไปแล้ว และก็ไม่ค่อยมีเวลาทำต่ออีกแล้ว เพราะมีงานอื่นๆ เข้ามาอีกมากมาย แล้วเอกสารสรุปที่ได้มักจะเป็นเอกสารที่สรุปจากฟลิปชาร์ท ที่ขาดเนื้อหาสาระสำคัญที่เป็นเป็นเชิงกระบวนการ ความรู้สึกนึกคิด คำพูด ความมีชีวิตชีวาไป ระยะหลังก็เลยปรับคนบันทึก ๑-๒ คน ที่คอยบันทึกตลอดกระบวนการ เมื่อเสร็จกระบวนการก็สามารถปริ้นท์แจกผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้เลย ที่เหลือก็มาบันทึกเพิ่มเติม ก็จะลดปัญหาในเรื่องการสรุปเอกสาร สามารถนำไปรายงานผลการดำเนินการกิจกรรมได้

 

ตัวอย่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้อง

หลักสูตรการเรียนรู้ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน”

ปลูกต้นกล้า สิ่งแวดล้อมศึกษา

          เท่าที่เล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างของกระบวนการหลักของการจัดการเรียนรู้เท่าที่ได้ทำมา มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง สำคัญคือว่า ได้ให้คนมาวิสาสะ เอาใจมาเชื่อมต่อกัน เชื่อมร้อยพลังคนเล็กคนน้อย รวมเป็นพลังทวีคูณ เห็นพลังร่วมและทางออกร่วมกัน

          การจัดการเรียนรู้ในห้อง เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะพร้อมในสรรพอุปกรณ์ที่ช่วยในการจัดการเรียนรู้ แต่ก็ขาดมิติชีวิตที่สัมพันธ์กับเรื่องราวปฏิบัติการจริงหรือรูปธรรมในพื้นที่จริง ดังนั้นจึงมีอีกกระบวนการหนึ่งคือการจัดการเรียนรู้นอกห้อง หรือการจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ มีเวลาจะบันทึกมาแบ่งปันกันครับ

 

หมายเลขบันทึก: 465238เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2011 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท