ชีวิตที่พอเพียง : 1413a. บันทึกอกสั่นหวั่นน้ำท่วมบ้าน


ค้นไปเรื่อยๆ จึงพบว่า ใน gotoknow ก็มีคนรวบรวมลิ้งค์เว็บไซต์สำหรับติดตามข่าวน้ำท่วมที่นี่ และน่าจะเป็นแหล่งรวมความรู้เพื่อการผจญน้ำท่วมที่ดีที่สุด และที่นี่ยังมีคนแนะนำให้ใช้ถุงน้ำอุดกั้นทางน้ำแทนถุงทรายได้ด้วย อ่านได้ที่นี่

ชีวิตที่พอเพียง  : 1413a. บันทึกอกสั่นหวั่นน้ำท่วมบ้าน

ช่วงตั้งแต่วันเสาร์ที่  ๘ ต.ค. ๕๔ เป็นต้นมา คณะกรรมการหมู่บ้านสิวลี ปากเกร็ด ลงมติว่าน้ำท่วมหมู่บ้านแน่    เขาจัดการประชุมลูกบ้าน    “เลขา” ไปร่วมประชุมแล้วกลับมาเตรียมรับมือ    รุ่งชึ้นเช้ารถขนทราย และหินฝุ่นมาลง    ให้ลูกบ้านและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ช่วยกันบรรจุลงกระสอบหรือถุงดำ    แล้วไม่ช้าหน้าหมู่บ้านของเราก็กลายสภาพเป็นปราการกั้นน้ำ

ผมค้นหาเว็บไซต์สำหรับทำนายสถานการณ์อย่างมีหลักวิชาไม่พบ    จึงเขียนบันทึกเสนอแนะที่นี่    

ที่จริงเราไม่มีสมบัติอะไรมากนัก    สิ่งที่เคลื่อนไหวได้ก็หาทางเอาไปฝากไว้ในที่ปลอดภัย    รถของป้าอี๊ดเอาไปฝากที่จุฬาในโควต้าสิทธิ์ของลูกสาวคนโต   รถโตโยต้าคัมรีเอาไปฝากที่รามาในโควต้าของสาวน้อย    เหลือรถนิสสันซันนี่ไว้ใช้คันเดียว

“เลขา” เข้า FaceBook ไป shareข้อมูลน้ำจากภาพถ่ายพนังกั้นน้ำที่วัดบางพัง ที่เราไปดูแทบทุกวัน   และจากการ share ทำให้เขามีคู่มือป้องกันน้ำเข้าบ้านหลาย version และเลือกใช้วิธีการที่ดูไม่เอิกเกริก คือใช้ฝาบ้านนั้นเองเป็นปราการ เพียงแต่เอาถุงดำ เทปกาว และซิลิโคน ยารอยต่อไม่ให้น้ำซึมเข้าไปได้    เขาทำที่บ้านเขา และมาช่วยสาวน้อยทำที่บ้านผมด้วย    เราสำรวจรั้วหลังบ้านแล้วคิดว่าไม่มีรอยรั่ว จึงไม่ได้เอากระสอบทรายมาวางกันน้ำ

แน่นอนว่า เราต้องย้ายหนังสือและเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นชั้นบน    บ้านที่รกอยู่แล้ว ยิ่งรกยิ่งขึ้น 

วันที่ ๑๓ ผมก็เริ่มได้รับสารสนเทศที่อยากได้ คือแผนที่บอกสภาพน้ำท่วมในปัจจุบัน   และคาดการณ์ว่าบริเวณใดน้ำจะท่วมมากน้อยแค่ไหน ดูได้ที่นี่   เป็นผลงานของบริษัทเอกชน คือบริษัท TEAM Consulting   ไม่ใช่ของฝ่ายวิชาการหรือราชการ   แผนที่และคำอธิบายช่วยให้คลายใจ ว่าบ้านของเราอยู่ในพื้นที่โซน ๑ ที่ความเสี่ยงต่ำที่สุด   และได้รับลิ้งค์สำหรับ คู่มือรับสถานการณ์น้ำท่วม จัดทำโดย มช. ซึ่งทำได้ดีและสวยงามมาก   และ บัญญัติ ๒๐ ประการ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วม ของยอดเยี่ยม เทพธรานนท์       และ “เลขา” พบเว็บไซต์ดูระดับน้ำที่ปากเกร็ดได้แบบ real time ดูได้ที่นี่   นี่คือสุดยอดการใช้เทคโนโลยีสำหรับให้ผู้คนได้รับข้อมูลตรงเกี่ยวกับระดับน้ำ    ทำไมเขาไม่ประกาศให้รู้กันกว้างขวางก็ไม่ทราบ 

เช้าวันที่ ๑๔ ต.ค. พบบันทึกของคุณนายด็อกเตอร์ น่าอ่านมาก เป็นการใช้สถานการณ์น้ำท่วมบ้านบันทึกสดความรู้สึกและความรู้ที่ยอดเยี่ยม   และพบเว็บไซต์ของกรมบรรเทาสาธารณภัย ที่สุดจะอืด   รวมทั้งเว็บ www.thaiflood.com ของทางราชการ ที่พอจะใช้หาข้อมูลได้บ้าง ด้วยลักษณะของเว็บราชการที่แข็งทื่อ และเน้นประโยชน์ของตัวเองมากกว่าของผู้ใช้    วิธีใช้คืออย่าไปสนใจกับข่าวโฆษณาตัวเอง   ค้นไปเรื่อยๆ จึงพบว่า ใน gotoknow ก็มีคนรวบรวมลิ้งค์เว็บไซต์สำหรับติดตามข่าวน้ำท่วมที่นี่   และน่าจะเป็นแหล่งรวมความรู้เพื่อการผจญน้ำท่วมที่ดีที่สุด   และที่นี่ยังมีคนแนะนำให้ใช้ถุงน้ำอุดกั้นทางน้ำแทนถุงทรายได้ด้วย อ่านได้ที่นี่  

“เลขา” เป็นคนคล่องแคล่ว เขาคอยตรวจสอบข่าวคราวสถานการณ์น้ำทาง อินเทอร์เน็ต   และคงจะรู้แหล่งข้อมูลดี    ส่วน “สาวน้อย” ถนัดดูจากทีวี ซึ่งมีข่าวตื่นเต้น และทำให้รู้สึกว่าบ้านเราโดนแน่   แต่เช้าวันที่ ๑๔ ก็มาบอกว่ามีข่าวดี ว่าการระบายน้ำออกไปทางตะวันออกและตะวันตกตามแนวทางของในหลวงได้ผลดี   แต่นั่นก็เป็นข่าวจากฟากรัฐบาล   ผมเป็นลูกบ้านคอยรับข่าวมือสอง และคอยรับคำสั่งว่าให้ทำอะไรบ้าง    

เราต้องยกเลิกการไปชุมพร ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ ต.ค. ที่เรานัดกันในหมู่พี่น้องเป็นปี ว่าจะไปทำบุญให้พ่อและบรรพบุรุษอื่นๆ   และเป็นรายการรวมญาติประจำปี   ในวันที่ ๑๕ ต.ค.  

เช้าวันที่ ๑๔ หลังฝนหยุด ป้าอี๊ดไปเดินออกกำลังในหมู่บ้าน   จึงไปฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่บ้าน   ว่าพฤติกรรมของแต่ละบ้านต่างกันมาก   มีตั้งแต่บ้านที่ไม่ทำอะไรเลย ไปจนถึงเตรียมตัวโกลาหลวุ่นวาย   ที่บ้านผมเตรียมบ้างพอประมาณ    และป้าอี๊ดเล่าว่าเมื่อคืนผู้คนแตกตื่นจากฝีปาก ดร. ปลอดประสบ ที่ออกมาบอกว่าหมดหวังทางทีวี   ต้องมีการแก้ข่าวกันวุ่นวาย  

“เลขา” มาเห็นแม่ดูทีวีช่องหนึ่ง    จึงบอกว่าไม่ควรฟังข่าวน้ำท่วมจากช่องหอยม่วง เพราะเป็นทีวีรัฐบาล   ให้ดูจากช่อง Thai PBS   จะเห็นว่าคนมีปัญญาเขารู้จักเลือกเสพข่าวอย่างไร   ตกบ่ายเลขาส่งลิ้งค์นี้มาให้ บอกว่ามีรูปน้ำท่วมสวยมาก

ผมได้เวลาคืนมา ๓ วัน   จึงวางแผนฝึกฝนวิชาเอาเมฆมาใช้งาน   เมฆในที่นี้คือ iCloud ที่สาวก Apple/Steve Jobs อย่างผมมีสิทธิ์ใช้ฟรี   เพื่อความสะดวกในชีวิต    ซึ่งเมื่อเข้าไปใช้จริงๆ ก็พบว่าไม่ใช่เมฆใหญ่ แต่เป็นเมฆเล็กๆ จุเพียง 5 Gigabyte   พอพื้นที่เต็มเขาก็ถามว่าจะเช่าพื้นที่เพิ่มไหม   

               เช้าวันที่ ๑๕ ต.ค. สถานการณ์คงเดิม   หากใครฟังทีวีมาก ก็จะตื่นตระหนกมาก   ใครตั้งสติหาข้อมูล ก็จะคิดว่าสถานการณ์ยังพอสู้ไหว   ใครฟังรัฐบาลและเชื่อ ก็จะคิดว่าปลอดภัย    ผมออกไปวิ่งบริเวณหมู่บ้านเอื้ออาทร ก็พบว่ามีร้านหนึ่งถึงกับสร้างผนังปูนสูง ๑ เมตรกั้นหน้าร้านพร้อมกระสอบทรายอีกกองใหญ่    ถ้าน้ำท่วมผนังกั้นน้ำของเขา ที่พื้นซีเมนต์ในบ้านผมน่าจะท่วม ๒ เมตร  และที่บ้านชั้นล่างท่วม ๑.๕ เมตร

วิจารณ์​พานิช

๑๕ ต.ค.​๕๔

หมายเลขบันทึก: 464804เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2011 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์คะ หวังว่าในที่สุดน้ำจะไม่ท่วมบ้านอาจารย์นะคะ

    ได้เห็นภาพข่าวน้ำท่วมประเทศไทยครั้งนี้แล้วเศร้า สงสารชาวบ้านหลายหนักหนาสาหัสกว่าทุกปีเมืองเหนือ,ภาคกลางไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน เมื่อปี ๒๕๑๗ ไปฝึกสอนที่ร.ร.สุโขทัยวิทยาคม เช้าลงจากบ้านพักน้ำยังไม่มี กลางวันสอนเด็กนร.ที่โรงอาหารน้ำขึ้นเยือบๆผ่านล่องกระดานทั้งที่โรงเรียนมีพนังดินสูงกว่า ๒ เมตร เย็นกลับบ้านพักน้ำท่วมบันไดขั้นที่ ๓ ก้อสูงประมาณ ๖๐ เซ็น.ด้วยความที่เป็นคนใต้ไม่เคยเห็นน้ำท่วมท้นสูงแบบนั้นเย็นเลยไปเล่นน้ำงมหอยขมในนานอกพนังกั้นน้ำได้เยอะเลย

      ช่วงทำงานแล้วกลับมาอยู่ใต้เจอน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ปี๒๕๓๑,๒๕๔๓,๒๕๔๘ และปี๒๕๕๓ ทั้งอุทกภัยที่หาดใหญ่และวาตภัยที่สทิงพระที่ว่าหนักแล้วยังเดือดร้อนสู้น้ำท่วมภาคเหนือล้นไหลผ่านภาคกลางเพื่อออกสู่อ่าวไทยปีนี้ไม่ได้เลย น้ำท่วมขังยังไม่เท่ากับน้ำเน่าที่สกัดเชื้อโรคมาจากกองขยะ กองปฏิกูลที่ผู้คนเสพสุขแล้วเมื่อน้ำท่วมจึงเจอปัญหาสุขภาวะเป็นพิษย้อนกลับทำร้ายผู้คนกันเองครับอาจารย์

  

สถานการณ์แนวโน้มและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๕ ของจังหวัดสงขลาโดยภาคประชาชน ผ่านสื่อมวลชน และเวทีประชาคม

  • กระบวนการเรียนรู้
    • เปิดเวทีการเรียนรู้ ( ให้รู้จักน้ำ-รู้จักลม , รู้จักการจัดการ , และเข้าใจความเป็นไปของสังคมโลก-สังคมเรา )
    • เวทีเสวนา / สัมมนา ระดมความคิด ติดอาวุธทางปัญญา หาทางเตรียมตัวป้องกันรับมือ
    • ศึกษาภูมิเวศน์ เพื่อออกแบบในการบริหารจัดการ
  • กระบวนการชุมชน
    • ระบบฐานข้อมูล ( สื่อ , หน่วยงานเตือนภัยพิบัติ , ภูมิปัญญาท้องถิ่น )
    • ระบบการสื่อสาร (หอกระจายข่าว , วิทยุสื่อสาร , รถแห่ , อินเตอร์เนต , วิทยุชุมชน , สถานีวิทยุ-โทรทัศน์ , หอเตือนภัยพิบัติ , สถานีวิทยุเตือนภัยพิบัติ FM. ๙๒.๗๕  MHz. และ ๑๐๐.๗๕ MHz. )
    • ระบบการพึ่งพาตนเอง การพึ่งพากันเอง( คนในครอบครัว , เครือญาติ , เครือข่าย ในชุมชน )
    • ระบบเครือข่าย ( เครือข่ายนอกชุมชน )
    • ท้องถิ่น , หน่วยงานของรัฐ

 การเตรียมตัวเพื่อช่วยเหลือตัวเองในการรับมือกับภัยพิบัติ

  • ปัจจัย และวัสดุ-อุปกรณ์ จำเป็นที่ใช้ในการยังชีพให้เพียงอย่างน้อย ๑๕ วัน
    • ข้าวสาร-อาหารแห้ง-นมเด็ก-น้ำจืด
    • ยาประจำตัว – ยาสามัญประจำบ้าน และสมุนไพรที่จำเป็น
    • เงินสด
    • เชื้อเพลิง (แก๊ส,ไม้ฟื้น,เทียนไข,ไฟฉาย,น้ำมันรถ,แบตเตอร์รี่ไฟฉาย,โทรศัพท์,วิทยุ)
    • เครื่องมือสื่อสารวิทยุทรานซิสเตอร์ชนิดใช้ถ่าน,วิทยุสื่อสาร,โทรศัพท์,นกหวีด
    • พาหนะ รถ,เรือ,ทุ่น,
    • เชือก หรือสริงสำหรับใช้โรยตัว
    • เสื้อผ้า
    • พื้นที่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ควรจะเตรียมความพร้อมและคิดใหม่ทำใหม่ ดังนี้
      • ชาวบ้าน ใช้ท่อ พีวืซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ นิ้วทำแพยาว ๓ เมตร เป็นฐานรองรับตู้เย็น,เตาแก๊ส,เครื่องซักผ้า ผูกเชือกยาว ๔-๕ เมตร ล่ามยึดไว้กับพื้นบ้าน ยามน้ำมาจะค่อยๆลอยขึ้นไม่ต้องกังวลนั่งถ่างตารอขนย้าย
      • ซื้อทรายเก็บไว้ในกระบะข้างบ้านใกล้โรงรถอย่างน้อย ๒ ลบม. เย็บถุงผ้าขนาดบรรจุทรายขนาด ๒๐ กก. พอเด็ก,คนแก่,ผู้หญิง ช่วยกันยกไหว สัก ๑๐๐ ถุงแบบพึ่งพาตนเองถึงเดือนตุลาบรรจุทรายใส่ถุงเตรียมไว้ มีนาคมเททรายใส่กระบะ เก็บถุงไว้ใช้ปีต่อไป
      •  ต้องออกแบบบ้านให้เป็นอาคารใต้ถุนสูงอย่างน้อย ๔ เมตร และเปิดโล่งทำเป็นลานจอดรถ ๒ ชั้น พร้อมให้เช่า

กราบสวัสดีค่ะ

เห็นจริงค่ะ ว่าชาวบ้านขาดคือ ข่าวสารที่เป็นข้อมูลค่ะ

อ่านบันทึกท่านอาจารย์ครั้งไร...ก็ยิ่งชื่นชมท่านอาจารย์ที่เมตตาเขียนแนะนำความรู้ให้ได้ศึกษาต่อยอดค่ะ

กราบขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท