จดหมายถึงแม่ : (อีกครั้ง) เพราะชีวิตไม่โตเกินกว่าจะบอกรักแม่


จดหมายเกินครึ่งเดินทางกลับ “บ้านเกิด” อันเป็นท้องทุ่ง เพราะเป็น “ลูกชาวนา”

(๑)

 

ย้อนกลับไปสู่กิจกรรม “จดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน” กันอีกสักครั้ง
        ผมและทีมงานตัดสินใจจัดกิจกรรมดังกล่าวในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ด้วยเหตุผลบางประการเช่น วันที่ ๑๒ ตรงกับวันศุกร์ เกรงว่าจัดแล้วจะไม่มีคนเข้าร่วมกิจกรรม เพราะสุ่มเสี่ยงกับการกลับบ้านของนิสิต
        ประการถัดมา เจาะจงวันที่ ๑๕ ซึ่งตรงกับวันจันทร์  เพราะมีนิสิตที่เรียนในวิชาพัฒนานิสิตอยู่กลุ่มหนึ่งที่สามารถนำเข้าสู่การเรียนรู้ร่วมกันได้  โดยให้ถือว่ากิจกรรมที่จะมีขึ้นนั้น เป็นการเรียนการสอนในอีกระบบหนึ่ง

 


 

(๒)

        ก่อนการจัดกิจกรรมครั้งนี้  ผมและทีมงานทำการ “ทบทวน” บทเรียนจากปีที่ผ่านมาร่วมกัน  เน้นบรรยากาศการทบทวนแบบ “โสเหล่”  หรือสุนทรียะแห่งการสนทนาเป็นที่ตั้ง
        หลักๆ เราเห็นภาพสะท้อนเชิงบวกจากปีที่ผ่านมาร่วมกันอย่างชัดเจน  เพราะทุกครั้งที่จัดกิจกรรมนี้ ก็จะประสบความสำเร็จทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ  ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เรายังคงมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปยังบ้านของนิสิตที่ชนะการประกวดเขียน “จดหมายถึงแม่” อย่างเงียบๆ โดยไม่ให้นิสิต หรือแม้แต่ผู้ปกครองของนิสิตได้รับรู้ถึงกระบวนการที่กำลังจะมีขึ้น

        การลงพื้นที่เช่นนั้น  เป็นการเดินทางไปถ่ายทำสารคดีชีวิต “คุณแม่” ของนิสิต เพื่อสะท้อนภาพชีวิตในแต่ละวันเชื่อมโยงมาสู่การเรียนรู้ร่วมกันในเวทีกลางที่จะมีขึ้นในมหาวิทยาลัย

        นอกจากนั้น  เราได้ขยายผลการดำเนินงาน โดยการนำจุดเด่นและจุดอ่อนของปีที่แล้วมาสานงานใหม่  เช่น  จัดทำหนังสืออ่านเล่นในชื่อ “จดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน”  นิทรรศการสำเนาจดหมายทุกฉบับที่ส่งเข้าประกวด, นิทรรศการภาพถ่ายที่เกี่ยวกับแม่, นิทรรศการโปสการ์ด หรือการ์ดอวยพรของนิสิตหอพักและนักเรียนจากโรงเรียนบ้านใคร่นุ่นฯ ที่ทำขึ้นเพื่อบอกรักแม่มาร่วมแสดงอย่างมีสีสัน  รวมไปถึงการแสดงดนตรีเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่อง “ความรัก ความกตัญญู”

        ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่เพียงเสริมสร้างสีสันบนเวทีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเกิดเครือข่ายการทำงานที่หลากหลาย ทั้งในมิติหน่วยงาน,ส่วนงาน,องค์กรนิสิต และนิสิตอิสระ หรือแม้แต่นิสิตทั่วไปที่ลงเรียนในวิชาพัฒนานิสิตด้วยเช่นกัน

        สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการของการมุ่งสร้างเสริมเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและอัตลักษณ์ของนิสิตไปแบบเนียนๆ  ด้วยการกระตุ้นให้นิสิตได้แสดงความรักความกตัญญูต่อ “แม่” ผ่าน “จดหมาย”  โดยอีกนัยหนึ่งก็กระตุ้นให้นิสิตได้เห็นความสำคัญของสื่อสารด้วยภาษาไทย อันเป็นมรดกทางสังคมที่บรรพชนได้รังสรรค์ไว้ให้

        

 

(๓)

  

ก่อนวันงานเพียงไม่ถึง ๓ วัน  ทีมงานสามคนลงพื้นที่ในจังหวัดอำนาจเจริญอย่างเร่งด่วน  เราไม่มีเงินในระบบราชการติดตัวกันไปสักบาท  แต่ก็ใช้กระบวนยุทธ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” ไปก่อน 

วันนั้น- ผมจำได้แม่นยำว่าตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม...

บ่ายคล้อยของวันนั้น  ผมได้รับโทรศัพท์จากทีมงานว่าตามหาผู้ปกครองของนิสิตที่ชนะการประกวดเขียนจดหมายถึงแม่ยังไม่ได้ (...ลึกๆ ผมทั้งขำและหมั่นไส้ เพราะไม่คิดว่าการตามหาคนจะยากแค้นแสนสาหัสได้ถึงเพียงนั้น...)

แต่พอฟังคำอธิบายจากพวกเขาก็พอเข้าใจได้ว่า “มาถึงหมู่บ้านแล้ว แต่หาตัวคนเป็นๆ ยังไม่เจอ”

ครับ, ไม่มีอะไรมาก  ไม่มีอะไรในกอไผ่  ที่หาไม่เจอก็เพราะว่าผู้ปกครองของนิสิตไป “นอนนา”  นั่นเอง  (เพราะช่วงนี้อยู่ในห้วงการทำนา จึงจำต้อง “ปิดบ้าน” ไว้และขนข้าวของไปปักหลักดำนาอยู่ที่ทุ่ง)

ถึงกระนั้นก็เถอะ...เอาเข้าจริงๆ ก็ใช่ว่าจะหาตัวได้ง่ายๆ เสียที่ไหน  เพราะทุ่งนาที่ว่านั้นก็กว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน ไม่รู้ที่นาใครเป็นที่นาใคร ไกลก็ไกล ลึกก็ลึก ..

 


        จวบเจียนจะมืดค่ำของวันนั้น  ทีมงานก็โทรศัพท์กลับมายังผมอีกรอบ หลักๆ เขาบอกเล่าว่า หลังจากพูดคุยกับแม่ของนิสิตแล้ว  เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะพาคุณแม่มาหาลูก  เพราะหลังจากที่แม่เคยมาส่งลูกที่มหาวิทยาลัยตอนปี ๑ แล้วก็ไม่เคยมาอีกเลย
        ผมถามทักกลับไปแบบส่วนตัวๆ กับทีมงานในทำนองว่า “...ทำไมแม่ไม่มาเยี่ยมลูกบ้างเลยล่ะ ...”
        ทีมงานตอบแบบเก๋ๆ เพียงสองเหตุผลหลักคือ (๑)  จำทางมา มมส ไม่ได้ (๒) ไม่มีตังค์ค่ารถ...

       ครับ, คำตอบที่ผมได้รับ  ทำให้ผมไม่ลังเลที่จะฟันธงไปเลยว่า “มาเลย...”

  

  

 

(๔)

 

        สารภาพแบบตรงไปตรงมาว่าการขานรับกึ่งสั่งการเช่นนั้น  ผมไม่ได้คิดอะไรมาก  ผมลืมกระทั่งว่ามีค่าใช้จ่ายมากมายที่จะตามมา  ลืมไปเลยว่าทีมงานต้องนอนค้างที่นั่นอีกอย่างน้อย ๑ คืน เพื่อพาแม่ของนิสิตเดินทางมายังมหาวิทยาลัยแบบเงียบๆ...

        ไม่รู้สิ,...ผมตัดสินใจไปตามสัญชาตญาณ 

        ผมแค่รู้สึกอิ่มใจกับเรื่องที่บอกเล่า และปรารถนาที่จะนำพา “ความดีงาม” มาพบปะกัน  ถึงแม้ต้องควักต้องจ่ายอะไรเพิ่มเติม  ก็มองข้ามไปหมด  รู้แต่เพียงว่าอยากให้ “แม่กับลูก” ได้เจอกันเท่านั้นเอง

        เช่นนั้นแล้ว  จึงฝากฝังทีมงานภาคสนามให้ดูแลตัวเอง พร้อมๆ กับการดูแลแม่ของนิสิตให้เต็มกำลัง  ส่วนผมและทีมงานที่เหลือที่อยู่ทางนี้ ก็รับผิดชอบเรื่องการวิ่งเต้นจัดหาที่พักไว้รองรับ...

ซึ่งกรณีที่พักนั้น  ก็ไม่ง่ายเลย  เพราะเราไม่มีตังค์  อีกอย่างก็เร่งด่วนมาก  จึงจำต้องอาศัยเครดิตส่วนตัวโดยการยกสายพูดคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เปิดห้องเป็นกรณีเร่งด่วนและพิเศษ  ส่วนตังค์มีเมื่อไหร่ จะไปจ่ายให้ทีหลัง-

        นี่คือพลังของการใช้ใจนำพา...
        นี่คือพลังเครือข่ายที่สุดท้ายก็หนุนนำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น

 

 

(๔)

 

        เย็นวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม...
        นิสิตจำนวนมากเริ่มทยอยเข้าสู่เวทีกลาง  หลายคนนั่งฟังเพลง  หลายคนเดินดูนิทรรศการต่างๆ 
         ส่วนคุณแม่ของนิสิตนั้น  ยังคงเก็บตัวเงียบในห้องพัก โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดียิ่ง

        นิสิตกลุ่มที่ส่งจดหมายเข้าประกวดเริ่มเดินทางมาลงทะเบียน  ตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่า “ใครได้รับรางวัลบ้าง..”  เพราะเราเจตนาจะประกาศผลแบบสดๆ บนเวทีให้รับรู้ร่วมกัน  ซึ่งผมและทีมงานจัดเตรียมทุนการศึกษาและเกียรติบัตร  เพื่อประดับความดีงามนี้ไว้อย่างเสร็จสรรพ

        ครับ, กิจกรรมต่างๆ ขับเคลื่อนไปตามแผนที่วางไว้ ดนตรีนำพาทุกคนให้รื่นรมย์  พิธีกรสร้างสรรค์บรรยากาศได้คึกคัก  กระทั่งที่สุดแล้วก็ประกาศผลแบบสดๆ บนเวที  พอประกาศผลเสร็จ ก็สัมภาษณ์นิสิตสั้นๆ ถึงแรงบันดาลใจที่เขียนจดหมาย  ...

        เมื่อสัมภาษณ์เสร็จก็เปิดวีดีทัศน์ที่ตัดต่อแบบเร่งด่วนให้ทุกคนได้ชมพร้อมๆกัน  ทำเอานิสิตต้นเรื่องและนิสิต หรือแม้แต่เจ้าหน้าจำนวนไม่น้อยนิ่งเงียบและร้องไห้กับด้วยความปลาบปลื้ม

        ไม่เพียงเท่านั้น- ผมกับทีมงานก็วางแผนซ้อนแผนอีกรอบ ด้วยการต่อโทรศัพท์ให้แม่ได้คุยกับลูก  โดยลูกไม่รู้เลยว่าบัดนี้ แม่ได้มาอยู่ใกล้ๆ แล้ว...

        ดูเหมือนนิสิตจะนิ่งอึ้งและสะอื้นอย่างเบาๆ  กับคำขานทักของแม่ที่ผมตระเตรียมให้คือ “…ทำไมไม่กลับบ้าน...ทำไมไม่กลับมาช่วยทำนาบ้าง...”

        ครับ, ขณะลูกกำลังนิ่งเงียบฟังปลายสายจากแม่...แม่ก็ค่อยๆ ขยับเดินเข้าหาเจ้าตัวอย่างเงียบๆ และที่สุดแล้วก็ยืนเด่นอยู่ต่อหน้าลูก  ทำเอาทุกคนในเวที “อึ้ง” ไปตามๆ กัน  โดยไม่คาดคิดว่า “แม่” ของ “นิสิต”  จะมาจริงๆ ...

 Large_dsc_0018-36

  

(๕)

 

        ครับ, ผมจำภาพนั้นได้ทุกจังหวะของการเคลื่อนตัวของผู้คน
         ผมได้ยินกระทั่งเสียงเต้นของหัวใจของใครต่อใครอย่างชัดแจ้ง...

        ผมจำได้แม่นยำว่าทันทีที่นิสิตเห็นคุณแม่ของตัวเอง  ...นิสิตลุกจากเก้าอี้ และก้มกราบแม่โดยอัตโนมัติเลยทีเดียว...
        ขณะที่แม่ก็ก้มลงกอดประคองอย่างอบอุ่น  พร้อมๆ กับพูดแบบสวยใสว่า “อย่างร้องนะ...ถ้าร้องแล้วแม่จะตี...”

       

                                                (๖)

 

        แน่นอนครับ  ผมและทีมงานไม่ได้เร่งรีบกับกระบวนการที่เหลือ  และไม่จำนนต่อเวลาที่เคลื่อนมาอย่างเร่งร้อน ตรงกันข้ามกลับปล่อยให้แม่กับลูกได้โอบสัมผัสและปลอบเร้ากันและกันอยู่พักใหญ่  ถัดจากนั้นจึงเริ่มสู่การเสวนาถอดบทเรียนชีวิต “ความเป็นแม่และความเป็นลูก”  สู่กันฟัง

        ไม่แต่เฉพาะแม่เท่านั้นนะครับที่มาเยี่ยมเยือนลูกสาวในวันนั้น  หากแต่น้องสาวตัวเล็กก็ติดสอยห้อยตามมาด้วย  เพราะแกบ่นว่า “คิดถึงพี่สาวเหลือเกิน...”

        มิหนำซ้ำเจ้าเด็กตัวน้อยๆ คนนี้ยังเอาตุ๊กตาแสนรักมาให้พี่สาวด้วยอีกต่างหาก  เธอบอกเล่ากับทีมงานประมาณว่า “ตุ๊กตาตัวนี้ พี่สาวเคยขอกับเจ้าตัวมาแล้วสองถึงสามครั้ง แต่เจ้าตัวไม่ยอมให้สักที เพราะเป็นของรักของหวง  แต่พออ่านจดหมายของพี่สาวแล้ว  ก็อยากมอบให้กับพี่สาวด้วยมือของตัวเอง จะได้เป็นตัวแทน  คอยทำหน้าที่อยู่เป็นเพื่อนในยามอยู่ไกลกัน...”

         ไม่รู้สิ-ฟังดูเหมือนนิยามจริงๆ หรือแม้แต่เหมือนรายการทีวียังไงยังงั้นเลยทีเดียว..

        ครับ,  จะว่าไปแล้ว  มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ  หากแต่กระบวนการทุกอย่าง  ผมยืนยันได้เลยว่า “ผมและทีมงานรักและทุ่มเทกับงานครั้งนี้มาก”  (เราต่างไม่ได้กลับบ้านในวันแม่...เราเทใจทำงานนี้ ทั้งที่รู้ว่าไม่มีทุน, ทำทั้งที่รู้ว่าต้องสู้รบกับระบบบางระบบ  แต่การทำงานแบบใจนำพานั้น  มันเป็นการทำงานแบบมองตารู้ใจ...ทุกอย่างเราต่าง “มอง” และ “ข้ามพ้น” ไปอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเราเข้าใจและมองในมุมเดียวกันว่า “ความดีงาม ไม่สมควรเดินทางอยู่อย่างเดียวดาย” ...

 

 Large_dsc_0040-11


(๗)

 

        จวบจนบัดนี้  ในห้วงที่ผมหลบเร้นบางอย่างมาสงบนิ่งอยู่ในมุมเล็กๆ ในเมืองๆ หนึ่ง ผมกลับรู้สึกอยากเขียนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมาเฉยๆ...
        อยากเขียนทั้งที่รู้ว่ามันล่วงผ่านมาเนิ่นนานแล้ว 
        อยากเขียน,  จนอดไม่ได้กับการถามทักตัวเองว่าทำไมถึงอยากเขียน และอยากบันทึกกิจกรรมนี้เหลือเกิน
       ครับ,  ...ผมตอบตัวเองว่าไม่รู้สิ 
       ผมรู้แต่เพียงว่า “ความดีงาม ไม่สมควรเดินทางอยู่อย่างเดียวดาย” (กระมัง)

  

 (๘)

 

         ครับ, ผมหวนหลับไปทบทวนเรื่องราวในจดหมายทุกฉบับของนิสิตอีกครั้ง  เห็นความงามในหลายมุม หลายมิติ

        ...จดหมายเกินครึ่งเดินทางกลับ “บ้านเกิด” อันเป็นท้องทุ่ง เพราะเป็น “ลูกชาวนา”
        ...จดหมายหลายฉบับยืนยันว่า “นี่คือจดหมายฉบับแรกที่เขียนถึงแม่”
        ...จดหมายหลายฉบับบอกกับแม่ว่านี่คือ “ครั้งแรกที่บอกรักแม่และอยากโอบกอดแม่เหลือเกิน”
        ...จดหมายหลายฉบับถามทักสารทุกข์สุขดิบของพี่น้องร่วมสายโลหิตอย่างอบอุ่นและอ่อนหวาน หรือแม้แต่ปนน้ำเสียงหม่นเศร้านิดๆ...
        ...จดหมายบางฉบับเดินทางไกลไปยังต่างประเทศ เพราะ “คนของความรัก” ไปแสวงโชคอยู่ที่นั่น
        ...จดหมายบางฉบับบ่งบอกถึงความ “ไกลบ้าน” ทั้งที่อยู่ในเมืองไทย และเพื่อนบ้านของไทย
        ...จดหมายบางฉบับสารภาพผิดและบอกเล่าอย่างทระนงว่ากลับตัวกลับใจก็เพราะ “พ่อและแม่” ...ฯลฯ

   Large_dsc_0028-29

(๙) 

        ครับ, แท้ที่สุดแล้ว  ใครจะรู้บ้างว่ากิจกรรมนี้  ผมพยายามสื่อสารให้นิสิต หรือแต่ทีมงาน หรือองค์กรที่ผมสังกัดได้รับรู้ว่า ก่อนการจัดการความรู้ สู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น  มันต้องเริ่มจากการความรัก (หรือเปล่า...)

        หรือแม้แต่การถอดบทเรียนเพื่อการจัดการความรู้นั้น  แท้ที่สุดแล้ว มันคือการถอดบทเรียนชีวิต...(หรือเปล่า)

 

        ท่านละครับ ...

        จดหมายฉบับล่าสุดที่เขียนด้วยลายมือของท่านเกิดขึ้นเมื่อใด
        ปัจจุบันท่านมีจดหมายหลงเหลือให้เก็บไว้บ้าง หรือไม่
        หรือ...วันนี้ ยังคงมีจดหมายฉบับใดอยู่ในความทรงจำของท่านบ้าง....

        ลองถามทักและคุยกับตัวเองดูนะครับ..
        เผื่อบางทีจะรู้ว่า ความสุขบางอย่างก็ซ่อนซุกอยู่ใกล้ๆ ท่านนั่นแหละ-

 

 หมายเหตุ...

๑.อยากเขียนให้สั้นๆ (แต่ก็ยังไม่สั้นสักที)
๒.ขอสงวนสิทธิ์ชื่อนิสิตและผู้ปกครอง..
๓.จดหมายทุกฉบับจัดพิมพ์เป็นหนังสืออ่านเล่นตามแนวคิด “นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส” 

 

หมายเลขบันทึก: 464526เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2011 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • อ่านกิจกรรมนี้แล้วอยากร้องไห้  ซาบซึ้งจริงๆ  ไม่มีใครรักเราเท่าแม่เลย
  • จดหมายหรือ?นานมาแล้วที่เคยเขียน  แต่ก็ไม่ได้เขียนถึงแม่
  • ชีวิตที่ผ่านมาก็มีเพื่อคนอื่นมากกว่าหันกลับมาดูแลแม่อย่างแท้จริง
  • แต่คงเป็นกงกรรมกงเกวียน เพราะเมื่อถึงวันที่เราเป็นแม่..ก็นั่งดูลูกมีชีวิตอยู่กับคนอื่นมากกว่าเรา  แต่เมื่อเขามีความสุข  สิ่งนั้นคือความสุขของแม่
  • ทุกวันนี้พี่เป็นคนโชคดีที่ได้อยู่กับแม่  ดูแลกันทุกวัน  ตื่นเช้าแม่ก็จะเดินมาหา ช่วยกันเก็บกวาดลานบ้าน ดูแลต้นไม้ดอกไม้หน้าบ้าน ไม่ต้องเขียนจดหมาย แต่คงต้องเพิ่มการบอกรักในทุกวัน
  • ขอบคุณกับกิจกรรมดีดีที่ทำให้รักแม่มากขึ้น

ดีครับพี่นัส

ผมไม่รู้หรอกครับว่าบรรยากาศในวันนั้นเป็นอย่างไร เนื่อจากไม่ได้ร่วมอยู่ในกิจกรรมดังกล่าว แต่หลังจากที่อ่านบันทึกนี้ ความรู้สึกที่พี่ได้บรรยายไว้ในบันทึกมันกลับสามารถเกิดขึ้นในการรับรู้ของผมที่ได้อยู่แค่ต่อหน้าข้อความเท่านั้น แม้ข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดมันยังสร้างความ"อึ้ง" "ขนลุก" ได้ถึงเพียงนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่าและงดงามอย่างหนึ่งที่ควรได้รับการสืบสานต่อไป

นับเป็นกิจกรรมที่ดีมากและอยากให้นักศึกษาที่อื่น ๆ ได้รับทราบและเห็นคุณค่าอย่างนี้บ้าง ผมสามารถตามอ่านหนังสือที่ว่านั้นได้ที่ไหนครับ เผื่อเป็นประโยชน์และได้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษาที่รักต่อไป

  • แป๋มอ่านเรื่องราวที่น่าประทับใจกลับไปกลับมาถึงสามรอบ
  • ชอบมากกับวิธีการถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวที่ดูเรียบง่าย
  • หากแฝงความหมายที่เร้นลึกส่งให้ผู้ที่ได้อ่านมองเห็นภาพ
  • อันน่าประทับใจและทึ่งกับแนวคิดนี้ที่สุดยอดมากๆค่ะ
  • คุณค่าของกิจกรรมนี้ไม่อาจประเมินค่าได้นะในความคิดแป๋ม
  • อยากให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งมีกิจกรรมดีดีแบบนี้บ้าง
  • เชื่อว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของนิสิต
  • สู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะดูแลประเทศชาติในอนาคตได้เป็นอย่างดี.

ขอบคุณสำหรับบันทึกอันทรงคุณค่าบันทึกนี้ค่ะ..

คิดๆตามไปด้วยเหือนจะร้องให้เลยครับพี่

เสียดายมากครับที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เห็นแต่ตู้ไปรษณีย์ที่ตั้งอยู่หน้ากองกิจไม่รู้ว่ามีกิจกรรมนี้ มารู้อีกทีก็วันที่จัดงานจริงๆ(๑๕)

ปกติผมก็เป็นคนที่รักแม่นน่ะครับ อยากจะบอกรักแม่ในทุกๆครั้งที่กลับบ้านแต่เจอหน้าแล้วก็อายที่จะบอก แต่ถ้าได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ผมต้องบอกรักแม่ได้แน่ๆ เพราะ

๑ แม่ไม่ได้มายืนอยู่ตรงหน้า จึงมีความกล้าที่จะเขียนบอกรักแม่

๒ ถ้านั่งคิดดีๆ นาน คงได้คำพูดที่ดีและสวยงามมาบอกรักแม่

เสียดายที่ไม่ได้เข้าร่วมจริงๆเลยครับ

พี่พนัสครับ..........

อยากดูวิดีทัศน์ที่ได้ไปถ่ายทำมา และอ่านจดหมายฉบัดที่ได้ที่ 1อ่ะครับ

เพิ่มลงในนี้ได้ป่าวครับ

  • ทำให้คิดถึงแม่ค่ะ
  • เด็ก ๆ เป็นยังไงกันบ้าง
  • สบายดีทุกคนนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท