การศึกษา กระบวนทัศน์การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ สู่งานชุมชน


การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์สู่งานชุมชน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ( รพ.สต) เป็นนวัตกรรมของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นพัฒนามาตรฐานสถานีอนามัยในการดูแลสุขภาพชุมชนในขั้นปฐมภูมิ (Primary care)  โดยการจัดหากำลังคน เช่น พยาบาลวิชาชีพเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางวิชาการ การจัดอุปกรณ์ และการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์  โดยหวังผลการการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการมากยิ่งขึ้น  แต่ยังพบปัญหาในการเข้าถึงความต้องการและปัญหาสุขภาพที่แท้จริงของชุมชน หากคำนึงถึง การบริการ ใกล้บ้าน ไกลใจ เป็นปัญหาที่ทีมสุขภาพต้องพัฒนารูปแบบ กลวิธีในการเข้าถึงผู้ป่วย วัตถุประสงค์ เพื่อเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Patient centered approach) เพื่อเรียนรู้การค้นหาปัญหาสุขภาพในมุมองของผู้ป่วย          (Illness)  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชน ท้องถิ่นได้เข้าร่วมศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลรวมทั้งหาประเด็นปัญหาเชิงพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนเอง โดยใช้วิธีศึกษาแบบมีส่วนร่วม คือ ผู้ป่วย ญาติ ทีมสุขภาพ แกนนำ อปท.จำนวนทั้งสิ้น 93 คน โดย ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ ทบทวนระบบบริการปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริการ  ร่วมกันสร้างกรอบแนวคิดในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ปฏิบัติการร่วมกัน และสะท้อนการปฏิบัติ พัฒนาปรับปรุง ให้ได้วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ระยะเวลาการศึกษา 1 ปี 8 เดือน

ผลการดำเนินงาน ทีมสุขภาพมีการปรับกระบวนทัศน์  ในการดูแลผู้ป่วย เริ่มจากการเข้าหาผู้ป่วย ชุมชน ฟังปัญหาการเจ็บป่วยด้วยเสียงของผู้ป่วยเอง ด้วยวิธีการฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินด้วยมุมของความเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในการดำเนินงานได้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจนต่อผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่การเจ็บป่วยทำให้ผู้ป่วยเกิดการความท้อแท้ หวาดระแวงครอบครัว และหลบหลีกสังคม คือผู้ ป่วยที่มีแผลที่หลังขนาดใหญ่จากการเป็นมะเร็งผิวหนัง และส่งกลิ่นเหม็น จากกระบวนทัศน์ในการดูแลแบบใหม่ ทำให้ผู้ป่วยครอบครัวและชุมชนช่วยกันพัฒนา นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะบุคคล ได้แก่ เสื้อมหัศจรรย์ หนูรับไว้เอง แก้ปัญหาลดกลิ่นเหม็นจากแผลมะเร็ง และได้มีการดัดแปลงในผู้ป่วยรายอื่นในชุมชน ได้แก่ กระเป๋าผาสุก คลอบปิด ลดกลิ่นแผลผ่าตัดเปิดลำไส้ทางหน้าท้อง  (Colostomy)   ผ้ากันเปื้อนดักกลิ่นแผล ในผู้ป่วยแผลกดทับ (Presser sore)  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน ทีมสุขภาพ พัฒนาต่อยอดไปสู่  ภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น

บทเรียนที่ได้รับ การดูแลผู้ป่วยในชุมชนเป็นการดูแลที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ต้องให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ซึ่ง  เป็นสิ่งที่ท้าทาย การร่วมกันศึกษาเริ่มต้นจากตัวผู้วิจัยได้ขยายผู้ร่วมศึกษา ได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยครอบครัว ชุมชน ร่วมกันเรียนรู้พัฒนารูปแบบการทำงานทำให้เกิดการค้นหาปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่คลอบคลุม

ปัจจัยแห่งความสำเร็จเกิดเจ้าภาพที่ร่วมกันดูแลสุขภาพของชุมชนโดยชุมชนเอง การปรับมุมมองในการทำงานโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ มีความสนุกในการทำงานแม้จะเหน็ดเหนื่อยกายก็ตาม  การที่เรามองเห็น ทุกข์ จากการเจ็บป่วย จะทำให้เรามองเห็นการแก้ไขปัญหาเพื่อผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง

คำสำคัญ กระบวนทัศน์การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  ชุมชน

หมายเลขบันทึก: 464479เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท