มหาวิทยาลัยกับความพอ


สี่ปีในมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสี่ปีที่เพิ่มพูนขึ้นซึ่งความรักความเสียสละจนพร้อมที่จะออกไปเกื้อกูลอย่างเต็มเปี่ยม

แล้วก็ถึงตอนสุดท้ายในบทความเรื่อง "อาจารย์มหาวิทยาลัยกับความพอ" ซึ่งเขียนโดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง   บทความส่วนนี้  เป็นข้อคิดเห็นที่พวกเราในมหาวิทยาลัย ทั้งผู้บริหารและอาจารย์ คงต้องนำไปขบคิดต่อว่า ที่ผ่านมา เราได้หล่อหลอมเด็กๆ ที่เข้ามาในรั้วในมหาลัยอย่างไร เป็นอย่างที่อาจารย์ธีระเขียนไว้หรือไม่ แล้วเราจะเลือกหนทางเดินต่อไปอย่างไร

เข็มมุ่งการศึกษา
 
 ….. เราปฏิเสธไม่ได้เลยวิกฤติต่างๆ ในวันนี้ส่วนสำคัญมาจากผู้เรียนสูง การศึกษาพัฒนาวิชาการจนเติบโตแก่กล้า แต่แคะแกร็นทางจริยธรรม  ศาสตร์ทั้งหลายถูกนำมารับใช้ความเห็นแก่ได้มากกว่าความเห็นแก่ให้  การศึกษาวันนี้จึงมีผลเชิงลบต่อแผ่นดินอยู่ไม่น้อย  กระแสความต้องการของมนุษย์เชี่ยวกรากมากขึ้น เกินกว่าศีลธรรมจะต้านทาน การเรียนสูงเป็นการให้โอกาสของการสร้างความมั่งคั่งมากกว่าสร้างแรงบันดาลใจในการให้  มักจะถูกครอบงำด้วยมาตรฐานการครองชีพแบบหรูหรา ขีดแห่งความรู้สึกเพียงพอในชีวิตของบัณฑิตหนีห่างออกไปทุกวัน  วิกฤติมากขึ้นทุกวัน มนุษย์ส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ลำบากยิ่งกว่ายุคก่อน  ทั้งที่ความก้าวหน้าทางวิชาการสูงขึ้น สีสันทางเทคโนโลยีร้อนแรง ปัญหาสำคัญในสังคมมักจะมีต้นเหตุเกี่ยวพันมาจากผู้ที่เรียนจบสูงๆ อยู่เสมอ จริงอยู่การศึกษาได้มีส่วนให้สังคมนี้อลังการทางวัตถุมากขึ้น แต่คงไม่มีใครกล้ายืนยันว่าการศึกษานี้ทำให้สังคมสงบสุขกว่าชนยุคก่อนนี้  คนเก่งมากขึ้นแต่คุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมไทยอยู่ในระดับวิกฤติ

บ่อยครั้งที่บรรยากาศของมหาวิทยาลัยมีส่วนเปลี่ยนหัวใจใฝ่รู้และใฝ่ให้ของเยาวชนขณะย่างเท้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย ต้องเดินออกไปอย่างใฝ่ได้ สถาบันอุดมศึกษาและสภาพสังคมมีส่วนสลายอุดมการณ์มากกว่าสร้างอุดมการณ์ในหัวใจของเยาวชน

จำเป็นที่จะต้องทบทวนอย่างหนักถึงพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการปลุกเร้าให้นักศึกษาฝันใฝ่ถึงชีวิตที่สงบสุขและกรุณา จะต้องเปลี่ยนความมุ่งมาดปรารถนาของชีวิตจากความหรูหราไปสู่คุณค่า ความสำเร็จของการศึกษาต้องอยู่ที่ปัจเจกชนมีความสงบสุขมากขึ้น เกื้อกูลมากขึ้น ใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น สี่ปีในมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสี่ปีที่เพิ่มพูนขึ้นซึ่งความรักความเสียสละจนพร้อมที่จะออกไปเกื้อกูลอย่างเต็มเปี่ยม จะต้องเปี่ยมในความสามารถในการครองชีพอย่างกินน้อยใช้น้อยเรียบง่ายอย่างสุขใจ

ทิศทางการศึกษาปัจจุบันเป็นทิศทางที่นำไปสู่บริโภคนิยมอย่างเต็มตัว การศึกษาทุกวันนี้เน้นให้บัณฑิตมีอาชีพ และสร้างผลงานทางวิจัยค้นคว้าที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่มหาวิทยาลัยยังขาดประสิทธิภาพในการทำให้คนในสังคมมีความสุข  อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาวันนี้ทำให้มันสมองของเราสว่างไสวขึ้น แต่หัวใจยังไม่หายมืดมน  ถ้าเข็มมุ่งหลักของมหาวิทยาลัยคือ การสร้างอาชีพ และการวิจัยทางวิชาการ แต่มิใช่ความสุขของคนหมู่มากแล้ว นับว่าเป็นก้าวแรกที่ผิดพลาด  แม้อาจเดินอีกพันลี้ไม่มีวันถึงจุดหมาย นอกเหนือจากการก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ การวิจัย การค้นพบ ควรมีเข็มมุ่งที่จริงจังในภารกิจที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้บัณฑิตมีความปรารถนาที่จะให้มากกว่าความปรารถนาที่จะได้ มหาวิทยาลัยต้องมีภารกิจประคับประคองอุดมการณ์ของวัยใส สร้างแรงบันดาลใจให้ปรารถนาที่จะเป็นคนมีคุณค่า มากกว่าปรารถนาเป็นคนร่ำรวย

อ่านบันทึกเรื่องนี้ ตอนที่ 1  ตอนที่ 2

หมายเลขบันทึก: 46405เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท