น้ำท่วม : เมื่อสายน้ำไม่รอใคร แล้วเหตุใดเราต้องรอคอยสายน้ำ (ที่ใดมีทุกข์ ที่นั่นมีรัก)


การลงพื้นที่ล่วงหน้าเช่นนั้น คือการไปปลุกปลอบชาวบ้านเป็นระยะๆ เป็นการสร้างพื้นที่ให้นิสิตได้เรียนรู้และลงมือทำอะไรๆ ด้วยตนเองอย่างมีตัวตน เป็นการพิสูจน์ว่านิสิตคิดและขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อย่างไร และจะวางแผนต่อยอดกันอย่างไร

เพียงไม่กี่วันที่ผ่านมา  ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับอดีตลูกทีมที่เคยทำงานสู้ภัยน้ำท่วมแบบเคียงบ่าเคียงไหล่มาด้วยกัน  โดยเมื่อสามปีที่แล้วเขายังมีสถานภาพเป็น “นิสิตกลุ่มไหล”  ส่วนผมเป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น

ครั้งกระโน้นทั้งผมและนิสิตกลุ่มไหล รวมถึงน้องๆ ในสายงานบางคนได้ตะลุยเวิ้งน้ำเข้าสู่หมู่บ้าน  เพื่อทำหน้าที่บรรเทาทุกข์บำรุงสุขให้กับชาวบ้านที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะ “น้ำท่วม”

 

การงานในครั้งนั้น  เราเริ่มต้นจากภาวะส่วนตัวก่อน แล้วค่อยขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบ  พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงไปสู่มหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยหันมาสนธิกำลังร่วมกัน  จนในที่สุดก็เกิดวาทกรรมที่ผมชูโรงนำกระบวนการทั้งปวงว่า “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”

ครั้งนี้ผมไม่ได้ร่วมคิดร่วมสร้างอะไรมากมายนัก  ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการลาออกจากสายงานของการเป็น “หัวหน้า”   แต่ถึงกระนั้นก็ยังมิวายเขียนโครงการของบประมาณไว้รองรับวิกฤตน้ำท่วมอย่างเสร็จสรรพ  ด้วยหวังว่าสิ่งที่ผมทำให้นั้น  จะช่วยให้ทีมงานได้ทำงานได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ครับ,..โครงการที่ว่านั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการเสริมสร้างกระบวนทัศน์สู่การเป็นผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน (สานพันธกิจหนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน บรรเทาทุกข์บำรุงสุขวิกฤตน้ำท่วม สู่การทำดีเพื่อในหลวง)

แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ  คล้ายกับว่าอะไรๆ จะขับเคลื่อนไปอย่างล่าช้าอยู่ไม่ใช่น้อย  มีการลงพื้นที่ล่วงหน้าไปแล้วร่วมสัปดาห์เศษๆ แต่ก็ยังไม่ปรากฏภาพเชิงรุกในวงกว้างให้ได้เห็นกันอย่างถ้วนทั่ว  จนผมอดที่จะถามทักแบบถึงลูกถึงคนไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น...

ผมและอดีตลูกทีมถกคิดกันเข้มข้นมาก  โดยเฉพาะผมนั้นยอมรับว่าถามทักไล่ต้อนอย่างถึงพริกถึงขิง  โดยหลักๆ พยายามกระตุ้นให้เขาได้รับรู้ว่า “สายน้ำไม่รอใคร แล้วทำไมเราต้องรอสายน้ำ”

 

แน่นอนครับ  ผมคิดในทำนองนั้น  เพราะเจ้าตัวบอกกับผมในทำนองว่า  หลังจากลงพื้นที่นั้นพบว่า “..น้ำยังไม่หลากมาก ชาวบ้านยังรับมือไหว..”  จึงยังไม่โถมแรงเข้าสู่กิจกรรมนั้นเต็มสูบ กอปรกับช่วงนี้ภารกิจเยอะแยะเต็มไปหมด พลอยให้การงานเหล่านี้สะดุดไปเป็นจังหวะๆ...

ภายหลังได้รับฟังมุมมองเช่นนั้น  ผมจึงโถมถั่งมุมมองของตัวเองออกมาราวกับน้ำหลาก  ด้วยหวังว่าจะชวนให้เขาได้ “ถอดบทเรียน”  ร่วมกันสักยก และเสริมพลังให้เขาได้ลุกขึ้นมาอย่างมีพลังกันอีกสักรอบ

กรณีดังกล่าว  ผมสะท้อนให้เขาขบคิดว่า ครั้งนี้มีจุดแข็งที่เด่นชัด และแตกต่างจากครั้งที่เขาและผมเคยร่วมชะตากรรมมาด้วยกันอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ (1)  ครั้งนี้ผมของบประมาณมารองรับเรียบร้อย  ตรงกันข้ามกับครั้งกระโน้นไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว ทุกอย่างต้องลุยหากันเอง  (2)  ครั้งนี้มีเครือข่ายชุมชน ขณะที่ครั้งกระโน้นไม่มีเครือข่ายชุมชน จนต้องตะลุยเวิ้งน้ำเข้าหมู่บ้านกันอย่างระห่ำ..

ครับ,เอาแค่สองเหตุผลแค่นี้  ก็ไม่น่าจะทำให้การงานสะดุด หรือล่าช้าไปได้เลย  มิหนำซ้ำยังบอกกล่าวกับผมว่าจะรอลงพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ตุลาคม 2554

 

พอได้ฟังเช่นนั้น  ผมยิ่งร้อนดังไฟเผาตัว  และไม่รีรอที่จะถกคิดกลับไปยังเขาอีกรอบประมาณว่า “เงินเราก็มี...เครือข่ายชุมชนเราก็มีมาก ซึ่งเป็นผลพวงของกิจกรรม 1 คณะ 1 หมู่บ้าน  ทำไมต้องรอให้ทุกอย่างล่าช้าแบบนี้  เพราะในอดีตผมเคยพาประเมินสถานการณ์ทุกวันว่าจะน้ำจะเพิ่มกี่มากน้อย เพื่อให้รู้จุดหมายและห้วงเวลาของการทำงานเชิงรุก  เพื่อให้คนที่อยู่ปลายน้ำรับรู้ว่าเรากำลังจะไปช่วย...”

แน่นอนครับ  ผมยืนยันหนักแน่นว่า  "วิธีคิดแบบนั้น  มันเป็นวิธีคิดที่กระตุ้นให้เรามีพลัง เห็นปลายทางที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อน  เราทำงานแข่งกับสายน้ำ เพราะเรารู้ว่าสายน้ำไม่รอใคร แล้วทำไมต้องรอให้น้ำท่วมหลากจนถึงหมู่บ้านแล้วค่อยเข้าไปเยียวยา..."

นอกจากนั้น  ผมก็ยังเน้นหนักว่า  หากเราสามารถเคลื่อนลงไปก่อน  ก็เท่ากับว่าเราสามารถสร้างพื้นที่ให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ด้วยตนเองอย่างเข้มข้น  นิสิตจะได้เป็น “พระเอก นางเอก” ด้วยตนเอง  ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอลงพื้นที่พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ได้ 

วิธีคิดเช่นนั้น  ผมไม่เห็นว่าจะเสียหายอะไร  อย่างน้อยก็เป็นการลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านล่วงหน้า  ดีกว่ารอไปพร้อมกับมหาวิทยาลัย  ซึ่งไม่รู้เลยว่าพอถึงวันนั้น  น้ำจะท่วมมากแค่ไหน ชาวบ้านจะเป็นอยู่อย่างไร..

Large_dsc_0215

Large_dsc_0218-2

 

ไม่เพียงเท่านั้น  ผมยังชวนให้เขาทบทวนบทเรียนในสองปีย้อนหลังว่ามีอะไรเป็นเครื่องมือในการทำงานบ้าง  เพื่อให้รู้ว่า “ปีนี้จะงัดอะไรมาสู้กับวิกฤตนี้บ้าง”  เช่น  การประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคี  การตักบาตรช่วยผู้ประสบภัย  การตรวจสุขภาพ  การร้องรำทำเพลงปลุกปลอบขวัญ ฯลฯ

ครับ,  ภายหลังการถกคิดและกระตุ้นแบบระห่ำจากผม  เวลายังไม่ทันข้ามวัน  ทั้งเขาและทีมงาน หรือแม้แต่นิสิตก็ตัดสินใจลงพื้นที่กันเองในวันที่ 1 ตุลาคม 2554  เป็นการลงสู่ชุมชนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน  โดยการพลิกสถานการณ์จากการรอวันที่ 8 ตุลาคม 2554  มาแบบเร่งด่วน 

Large_dsc_0253

Large_dsc_0251

 

ก่อนพลบค่ำของวันนั้น  ผมได้รับการบอกข่าวกลับมาว่า “พร้อมลุย”  มีการตระเตรียมข้าวของอย่างคึกคัก  แกนนำชุมชนเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ...นิสิตเดินรุกขอรับบริจาคโดยไม่สะทกสะท้อนต่อการสอบปลายภาค-

ผมมองว่าการลงพื้นที่ล่วงหน้าเช่นนั้น  คือการไปปลุกปลอบชาวบ้านเป็นระยะๆ  เป็นการสร้างพื้นที่ให้นิสิตได้เรียนรู้และลงมือทำอะไรๆ ด้วยตนเองอย่างมีตัวตน  เป็นการพิสูจน์ว่านิสิตคิดและขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อย่างไร  และจะวางแผนต่อยอดกันอย่างไร...

และที่สำคัญก็คือเป็นการถามทักเจ้าหน้าที่ว่าเขาได้ถอดบทเรียนในแต่ละครั้งกี่มากน้อย  และเขาต้องเรียนรู้ว่างานบางอย่าง  มันต้องใช้พลังใจในการขับเคลื่อน  ไม่ใช่เอาระบบเข้าขับเคลื่อนไปซะทุกอย่าง  และงานบางงานก็ต้องทำแบบเป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่คิดและทำแบบเงียบๆ เนียนๆ ...

การคิดดังๆ บางทีก็ทำให้เรารู้สึกว่า  เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในโลกใบนี้  ยังมีใครอีกหลายคนที่พร้อมเสมอกับการร่วมชะตากรรมกับเรา...

Large_dsc_0291-1

Large_dsc_0308


นี่แหละครับ  ใจนำพา..ศรัทธานำทาง
นี่แหละครับ  บทเรียนแห่งการต่อยอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
เพราะในเมื่อ “สายน้ำยังไม่รอใคร แล้วทำไมเราต้องรอสายน้ำ...”

สรุป...ลุยเลยครับ อย่ารอให้น้ำท่วมแล้วค่อยขับเคลื่อน...!
และการขับเคลื่อนก็ไม่จำเป็นต้องจ่อมจมอยู่แต่เฉพาะมหาสารคามเท่านั้น  "ที่ใดมีทุกข์ ที่นั่นมีรัก" ดังนั้นจะกลัวอะไรในเมื่อโครงการ ผมก็เขียนครอบคลุมไว้หมดแล้ว ทั้งงบประมาณและพื้นที่...

 

หมายเหตุ

1.เป็นการลงพื้นที่ในบ้านห้วยชัน,บ้านกุดหัวช้าง,บ้านโขงกุดเวียน
2.มอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ถุง
3.วันที่ 7 ตุลาคม 2554  นิสิตลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านที่กาฬสินธุ์
4.วันที่ 8 ตุลาคม 2554  มหาวิทยาลัยฯ ลงพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

ภาพ : จากงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ
กองกิจการนิสิต มมส

 

หมายเลขบันทึก: 463980เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ร่วมมือร่วมใจ ช่วยไทยด้วยกัน

ช่วยเหลือแบ่งปัน  ทุกข์นั้นผ่อนคลาย

"ความคิดดัง เท่า ๆ กับ หัวใจเดิน" ;)...

เป็นแบบอย่างแห่งการร่วมใจ ไม่ต้องรอให้ภัยมานะคะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท