เจ๊ (ปุย) นุ่นผู้กระตุ้นจีดีพี (GDP)


‘45 – 45 – 45 สูงร้อยกว่า ๆ ชอบมั๊ย ชอบมั๊ย’ ถือเป็นสโลแกนประจำตัวของเจ๊ (ปุย) นุ่น เศรษฐีนีเจ้าแม่เงินกู้ประจำอำเภอ ผู้ที่มีส่วนเกินเหนือคำบรรยายจนหลาย ๆ คนไม่คิดที่จะอิจฉา นอกเสียจากว่าความร่ำรวยมั่งคั่งที่แกมีอยู่เท่านั้นที่คนส่วนใหญ่นึกอิจฉา!

 

              เจ๊ (ปุย) นุ่นสาวใหญ่ในวัยสี่สิบปลาย ๆ ถือได้ว่าเป็นเศรษฐีนีในเขตพื้นที่อำเภอที่ผมอยู่ โดยแกเป็นเจ้าแม่เงินกู้รายใหญ่ที่มีจิตใจดีไม่หน้าเลือดเหมือนกับเจ้าหนี้เงินกู้รายอื่น ๆ คนในอำเภอจึงมาอุดหนุนใช้บริการเงินกู้ของแกเป็นส่วนใหญ่ทำให้กิจการของแกรุ่งเรืองเกินหน้าเกินตารายอื่น ๆ นอกจากนั้นแกยังเป็นเจ้าของห้องแถวที่ปล่อยให้คนเช่าอีกหลายคูหา

 

               ว่าถึงชื่อแล้วแท้จริงแกชื่อ ‘นุ่น’ เฉย ๆ แต่พอเริ่มโตเป็นสาวขึ้นมาหน่อยปรากฏว่ารูปร่างที่เคยระหงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่แกเคยสัมผัสมาในครั้งหนึ่งของชีวิตซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่แกมีความสุขและภูมิใจมากที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ มันเริ่มขยายออกด้านหน้าและทางด้านข้างจนยั้งไม่อยู่! ซึ่งแกก็พยายามทุกวิถีทางที่จะลดมันแต่ปรากฏว่าไม่รู้ลดอีท่าไหนจึงทำให้พองเอา ๆ แต่เห็นเขาเล่ากันว่าแกป่วยด้วยโรคบางอย่างคือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ ทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารโดยเฉพาะไขมันนั้นช้ากว่าปกติซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญ เมื่อทำยังไงก็เอาไม่อยู่แกก็ต้องทำใจปล่อยให้เลยตามเลย แต่ก็ได้หาสิ่งมาชดเชยก็คือแกชอบเข้าร้านเสริมสวยเพื่อขัดสีฉวีวรรณรวมทั้งทำโน่นทำนี่เกี่ยวกับเครื่องหน้าของแกเพื่อให้แลดูอ่อนวัยอยู่เสมอ และอีกสิ่งหนึ่งที่เสริมขึ้นมาก็คือแกเพิ่มชื่อหน้าเข้าไปเป็น ‘ปุยนุ่น’ เห็นว่าเวลาได้ยินใครเรียกชื่อนี้แล้วมันรู้สึกเบา โปร่งโล่งสบาย ถึงแม้ว่ามันจะดูขัดใจและต่างกันราวฟ้ากับดินกับสภาพร่างกายของแกซะเหลือเกินก็ตามที แต่แกก็บอกกับใคร ๆ ว่าพอได้ฟังชื่อนี้ทีไรแล้วทำให้จิตใจมันแช่มชื่นขึ้น ดังนั้นคนส่วนใหญ่ในอำเภอจึงพร้อมใจเรียกแกว่า ‘เจ๊ปุยนุ่น’ ตั้งบัดนั้นมา...

 

ถึงแม้ว่าแกจะอยู่ในปิตุภูมิมาตุคามที่อาจจะเรียกได้ว่าห่างไกลจากใจกลางของความเจริญศิวิไลซ์มากมายพอสมควร แต่แกก็ไม่เคยตกเทรนไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องใช้ต่าง ๆ ล้วนแบรนด์เนมทั้งนั้นซึ่งเป็นที่มาของฉายา ‘เจ๊ (ปุย) นุ่น ผู้กระตุ้นจีดีพี’ ที่แกภูมิอกภูมิใจนักหนากว่าฉายาอื่นที่มีคนยัดเยียดให้มาก่อนหน้าไม่ว่าจะเป็น ‘ตู้ทองหรือตู้เพชรเคลื่อนที่’ หรือ ‘ธิดาช้าง (น้อย)’ บ้างหละ หรือ ‘เจ๊ (ปุย) นุ่นเชฟบ๊ะ’ บ้างหละ ซึ่งฉายาต่าง ๆ ที่กล่าวมาถ้าไม่ใกล้เคียงกับตัวตนเป็น ๆ ของแกก็ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงเหมือนประชดประชันหรือกระแทกแดกดันซะมากกว่า ซึ่งต่างกับฉายาล่าสุดคือ ‘เจ๊ (ปุย) นุ่น ผู้กระตุ้นจีดีพี’ ที่ฟังดูดีและที่แกภูมิอกภูมิใจเป็นนักหนาก็คือเป็นฉายาที่บ่งบอกถึงการได้ช่วยชาติในทางด้านเศรษฐกิจให้ดีขึ้น! ซึ่งคนที่ตั้งฉายาดังกล่าวก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือพ่อผมเอง...

 

          ย้อนกลับไปเมื่อกว่า ๕ ปีก่อนตอนนั้นประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจล้มละลายและทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลในสมัยนั้นจึงมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการชักชวนให้ประชาชนในประเทศช่วยกันจับจ่ายใช้สอยโดยการสนับสนุนและขอความร่วมมือกับพ่อค้าและธุรกิจโดยการจัดงานมหกรรมสินค้าราคาถูก เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อทำให้ปริมาณเงินในระบบหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดีโดยที่หนึ่งในนั้นก็คือ เจ๊ (ปุย) นุ่น นั่นเองซึ่งถึงขนาดที่แกบอกว่ามันช่างถูกกับจริตของแกซะเหลือเกินที่มีนิสัยในการชอบซื้ออยู่แล้ว โดยแกถึงกับลงทุนขับรถมาช็อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของเมืองหลวงเลยทีเดียว

 

       “เป็นไงบ้างได้ใช้เงินแล้วคงสบายใจขึ้นเยอะเลยนะ (ปุย) นุ่น” พ่อผมแซวขึ้นเมื่อเจอกันในวันต่อมาหลังจากที่แกกลับมาจากไปช็อปปิ้งที่เมืองหลวง

 

           “ก็ดีจ๊ะน้า...แต่พูดแล้วรมณ์เสีย!...” แกตอบกลับมาด้วยเสียงแหบ (เสน่ห์) อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของแก และเลือกที่จะกลืนประโยคสุดท้ายลงคอไปไม่พูดต่อซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงภาวะอารมณ์ (เสียมาก) ของแกในขณะนี้เป็นอย่างดีเพราะหากว่าอารมณ์ของแกไม่ขุ่นมัวตามที่พูดจริง ๆ แล้วก็จะได้ยินเจ๊แกฮัมเพลงโปรดต่อท้ายไปว่า ‘อารมณ์เสีย...อารมณ์เสีย...อารมณ์เสีย’ พร้อมกับออกสเต็ปพลิ้วไหวนิดหน่อยเป็นประจำ

 

           “แต่อะไรเหรอ” พ่อผมถามออกไป

 

           “ก็...คือยังงี้น้า ตอนที่ไปช็อปมันก็เพลินดีหละนะ โอ้โห!” แกร้องขึ้นทำตาโตอย่างมีความสุขราวกับว่ากำลังอยู่ในห้างจริง ๆ ก่อนที่จะพูดต่อ “มีของลดราคาเยอะแยะมากมายล้วนแต่แบรนด์เนมทั้งนั้น ฉันเห็นแล้วน้ำลายจะไหลให้ได้ อดใจไม่ไหวก็เลยช็อปซะกระจาย...แต่ที่น่าเจ็บใจก็คือ มันมีอยู่ช็อปหนึ่งฉันเห็นคนมุงดูกันเต็มก็เลยเบียดเข้าไปดูบ้างซึ่งมันเป็นช็อปเครื่องสำอางค์ยี่ห้อดังที่อิมพอร์ตมาจากเมืองนอก...น้าก็รู้ว่าฉันเห็นเป็นไม่ได้” แกหยุดกลืนน้ำลายลงคอก่อนพูดต่อ

 

         “พอฉันเห็นแล้วร่างกายก็หลั่งสารช็อปปิ้งออกมาทันที และที่สำคัญก็คือมันมีของแถมที่สวยงามมากมาล่อบอกว่ามีเพียง ๑๐๐ ชิ้นเท่านั้นในเมืองไทย! หากว่าใครซื้อสินค้าครบตามที่กำหนดก็จะได้ของแถมนั้นไปทันที พอฉันได้ยินอย่างนั้นเลือดนักช็อปในตัวก็ยิ่งสูบฉีดขึ้นทันที ก็เลย...”

 

        “จัดไปอย่าให้เสียว่างั้นเถอะ” พ่อผมต่อให้ในขณะที่เจ๊ (ปุย) นุ่นพยักหน้าหงึก ๆ

          “แต่ที่ฉันเจ็บใจก็คือดันซื้อไปได้ตั้งเกือบแสน! เพียงเพราะหน้ามืดอยากได้ของแถมราคาไม่กี่ร้อย แต่ตอนนั้นมันหน้ามืดจริง ๆ นะน้าเหมือนกับคนที่เกิดสุญญากาศทางสติไปชั่วขณะ” แกย้ำให้ฟังด้วยน้ำเสียงจริงจัง “แต่พอกลับถึงบ้านได้อาบน้ำนำพาความสดชื่นกลับคืนสู่ร่างกายอีกครั้ง สติสัมปชัญญะเริ่มทำงานค่อยคิดได้ว่า ‘นี่เราซื้อมาทำไมตั้งเยอะแยะมากมาย’ นึกแล้วเจ็บใจตัวเองจริง ๆ แทนที่จะได้ช็อปของอย่างอื่นมาอีก นี่ก็ไม่รู้จะใช้กี่เดือนกี่ปีถึงจะหมดเห็นทีต้องแต่งหน้าก่อนนอนเพิ่มขึ้นอีกซะหละมั๊ง พูดแล้วรมณ์เสีย” แกพูดอย่างหงุดหงิดและเซ็ง ๆ แต่น้ำเสียงเริ่มดูอารมณ์ดีขึ้นมาหน่อยหลังจากได้ระบายออก

 

       “เอาน่า อย่าคิดมากถือซะว่าช่วยชาติกระตุ้นจีดีพี*” พ่อผมพูดออกไปหลังจากฟังเจ๊แกระบายออกมา

 

       “อะไร เจวีซี นะน้าฉันฟังไม่ถนัด” เจ๊ (ปุย) นุ่น ถามขึ้นอย่างงง ๆ เพราะโดยปกติแล้วแกไม่สนใจเกี่ยวกับข่าวเศรษฐกิจ ยกเว้นข่าวบันเทิงดารา ซุบซิบนินทา หรือความสวยความงามที่แกสนใจเป็นพิเศษ

 

       “อ๋อ เขาเรียกจีดีพี ถ้าเจวีซีนั้นมันเครื่องไฟฟ้า” พ่อผมพูดยิ้ม ๆ

       “ฉันก็ว่างั้นแหละ...แล้วไอ้จีดีพีที่ว่ามันคืออะไรหรือน้า” แกถามขึ้นทันที

       “จีดีพี มันก็คือ เป็นตัววัดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่ใช้วัดว่าเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้นหรือแย่ลงอะไรเทือกนั้นแหละหากจีดีพีเพิ่มขึ้นก็แปลว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแต่หากจีดีพีลดลงก็แปลว่าเศรษฐกิจมันแย่ลงอะไรทำนองนั้นแหละ” พ่อผมอธิบายเป็นภาษาง่าย ๆ เพื่อให้เข้าใจในขณะที่เจ๊แกพยักหน้าตามแบบงง ๆ ก่อนที่พ่อของผมจะพูดต่อ

 

          “ก็อย่างที่ (ปุย) นุ่น ไปช็อปมาน้าถึงบอกว่าได้ไปช่วยกระตุ้นจีดีพียังไงหละ เพราะเมื่อเราไปซื้อสินค้า ทำให้ผู้ขายมีเงินเอาไปผลิตสินค้าเพิ่มและทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม เมื่อมีการจ้างงานเพิ่มแรงงานก็มีรายได้เพิ่มเมื่อมีรายได้เพิ่มก็มีเงินไปซื้อสินค้าอื่น ๆ เพิ่มมันก็จะหมุนเวียนกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ดังนั้น น้าจึงบอกว่าเป็นการช่วยชาติในการกระตุ้นจีดีพีไงหละ” ประโยคสุดท้ายของพ่อทำให้เจ๊ (ปุย) นุ่น ถึงกับยิ้มออกและภูมิใจที่ตัวเองมีส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ความหงุดหงุดในหัวใจจึงมลายหายไปพร้อม ๆ กับความภาคภูมิใจที่เบียดบังเข้ามาขอคืนพื้นที่ทางอารมณ์แทน

 

         “แต่...(ปุย) นุ่น ก็ต้องหัดเตือนตัวเองบ่อย ๆ หละ อย่าให้อารมณ์ที่อยากได้เกินไปอยู่เหนือสติ โดยเฉพาะปัจจุบันการโฆษณาชวนเชื่อรวมทั้งการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมต่าง ๆ ที่มายั่วน้ำลายและกระตุ้นต่อมความอยากได้ให้ทำงานตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาซึ่งถ้าหากว่าเราไม่มีสติกำกับก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสติดกับดักได้ง่ายเหมือนอย่างที่ไปเหมาเครื่องสำอางค์มาจากห้างไงหละ” พ่อผมพูดเตือนเจ๊ (ปุย) นุ่นก่อนที่จะแซวในตอนสุดท้ายซึ่งก็ทำให้เจ๊แกยิ้มแหย ๆ

 

          “จ๊ะน้า...ต่อไปฉันคงต้องพยายามหักห้ามใจให้ได้ถึงแม้...ว่ามันอาจจะยากสักหน่อยสำหรับฉัน” เจ๊แกพูดขึ้นเบา ๆ อย่างไม่ค่อยมั่นใจซักเท่าไหร่โดยเฉพาะในประโยคตอนท้าย ซึ่งการที่เจ๊ปุย (นุ่น) แกยอมเชื่อฟังคำเตือนของพ่อผมก็เพราะว่าแกมีความเคารพนับถือเป็นการส่วนตัวโดยเฉพาะเวลาที่แกมีปัญหาหนักอกหนักใจเรื่องอะไรก็มักจะได้รับคำแนะนำที่ดีและมีประโยชน์จากพ่อผมอยู่เสมอ แต่ก็มีอยู่เรื่องเดียวที่ทั้งพ่อผมและใครไม่สามารถให้คำปรึกษาแกได้ก็คือ ‘เรื่องน้ำหนัก’

 

           หลังจากนั้นเป็นต้นมาเวลาที่แกไปช็อปปิ้งที่ไหนมาหากมีใครถามก็จะได้รับคำตอบจากเจ๊ (ปุย) นุ่นว่า

 

              “ไปกระตุ้นจีดีพี” มาจ๊ะเป็นประจำ

 

            แรก ๆ หลาย ๆ คนก็ยังงง ๆ หาว่าเจ๊แกแปลก ๆ คล้ายกับคนที่พูดคนละเรื่องเดียวกันในทำนองที่ถามว่า ‘ไปไหนมา แต่กลับตอบว่า สามวาสี่ศอก’ อะไรเทือกนั้น แต่พอหลัง ๆ มาทุกคนก็เริ่มเข้าใจในความหมายและพร้อมใจกันขนานนามให้เจ๊แกว่า “เจ๊ (ปุย) นุ่นผู้กระตุ้นจีดีพี” ซึ่งเป็นฉายาที่เจ๊แกภูมิอกภูมิใจนักหนามาจนกระทั่งปัจจุบัน...

 

       

         

     *ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product - - GDP) คือ มูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่งโดยถือเอาอาณาเขตทางประเทศเป็นสำคัญ กล่าวคือสินค้าและบริการใดก็ตามที่ผลิตขึ้นภายในประเทศใดถือเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศนั้น โดยที่ไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตว่าเป็นของชนชาติใด

         โดย GDP ถือได้ว่าเป็นดัชนีทางเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญในการใช้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องสั้น
หมายเลขบันทึก: 463977เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 06:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท