งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน


ความคิดบางอย่างจะตกผลึกเมื่อเราค่อยๆได้ไตรตรองและฟังอย่างเข้าใจและลึกซึ้ง และบางครั้งตัวแนวคิดล้วนๆไม่สามารถสื่อความหมาย หรืออธิบายความหมายได้อย่างชัดเจน เพราะเหตุที่ว่าแนวคิดล้วนๆ มันยังไม่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการเข้าไปในชีวิตการทำงานได้นั่นเอง

  เมื่อเรานึกถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยปรับเปลี่ยนการทำงานในสถานพยาบาลให้สู่เป้าหมายที่องค์กรต้องการ  ร้อยทั้งร้อยเราจะนึกถึงระบบ หรือกิจกรรมที่เราไม่ปรารถนา ความยากลำบาก การต่อสู้ทางความคิดระหว่างคนทำงานด้วยกัน การนัดหมายประชุม และวาระการประชุมที่เคร่งเครียด  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้พลังมากมายมหาศาล ใช้การสั่งการ และเผลอๆ อาจจะใช้การบังคับจากผู้ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่า 

เคยลองเปิดใจ และเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมประชุม ในหลักสูตร ผุ้นำการเปลี่ยนแปลง  โดยให้ทุกคนหยิบคู่มือมาตรฐานการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลขึ้นมา แล้วให้ลองพลิกอ่านก่อน

เมื่อถามความรู้สึก จะมีคำตอบที่คล้ายๆกันอย่างนี้

“ มันรู้สึกว่ายาก และมีเรื่องต้องทำมากมาย  “

“ มีความละเอียดมาก เกรงว่าจะทำไม่ได้”

“ แค่ภาษาก็ไม่เข้าใจ เสียแล้ว  ยากคะอาจารย์ “

“ เป็นภาษาของชาวเทพ  ชาวดินแบบหนูอ่านไม่เข้าใจหรอก”

 

จึงเห็นได้ว่าแค่เริ่มต้นที่ความรู้สึก  หรือทัศนคติต่อการพัฒนาคุณภาพ ก็เห็นได้ชัดว่าไปไม่ได้ หรือไปไม่เป็นแน่ๆกับอนาคตข้างหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ทางสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพ จึงนำกระบวนทัศน์ใหม่ในการเรียนรู้ เพื่อทำให้งานที่เราจะต้องทำ เข้าไปอยู่ในจิตใจ หรืออยู่ในชีวิตจริงของการทำงานให้ได้

เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพ โดยวิธีการที่ประณีต นุ่มนวล และที่สำคัญ กลั่นกรองออกมาจากพื้นฐานจิตใจที่ดีงามของคนทำงาน ใช้แนวคิดง่ายๆ คือการเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของคนทำงาน บริบท สิ่งแวดล้อม  โดยการบูรณาการเรื่องคุณภาพเข้าไปในสิ่งแวดล้อม หรือบริบทนั้นๆ

หรืออีกนัยยะหนึ่งคือการบูรณาการงานเข้าไปในชีวิต ให้ทั้งสองสิ่งเป็นเรื่องเดียวกัน

Spiritual  HA หรือ SHA จึงก่อกำเนิดมาจากพื้นฐานนี้ โดยอันดับแรก เราต้องสามารถกระตุ้นให้คนมีพลัง  มีแรงบันดาลใจ และ ใช้พลังจากการเชื่อมต่อระหว่างผู้ทำงานด้วยกัน ให้เกิดความคิดที่ใหม่สด และสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนและปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตนเองได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ

ตัวอย่างที่ชัดเจนจากการประชุมเพื่อพัฒนาให้คนทำงานมีทักษะในการกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพ หรือเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพัฒนาคุณภาพ ( facilitator)

คนที่จะสามารถมีทักษะ กระตุ้นให้คนอื่นๆมีใจ หรือมีแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้งานคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้นี้  ต้องถือว่า “ไม่ใช่ธรรมดา”

ที่”ไม่ธรรมดา”เพราะว่าจะต้องสามารถบูรณาการ เรื่องราวของชีวิตมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาเข้ากับเรื่องราวของการพัฒนาคุณภาพ และงานที่เกี่ยวข้องกันให้ได้   งานที่เขารับผิดชอบนั้นสอดคล้องกับปรัชญา อุดมการณ์ และเป้าหมายของชีวิตอย่างไร  เรียกว่าจะต้อง”ยกระดับ” และความเติบโตภายใน ยกระดับศักยภาพภายในให้เขารู้จักภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง เข้าใจและรู้จักตัวเองเป็นอันดับแรก หรือต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อนนั่นเอง

เมือสามารถยกระดับภายในของคนทำงานแล้ว ต่อไปเรื่องการที่จะใช้แนวคิดการพัฒนาคุณภาพเป็นเครื่องมือก็จะช่วยส่งเสริมให้เป้าหมาย อุดมการณ์ หรืองานที่มีคุณค่าของตัวเขานั้นเป็นไปได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างส่วนหนึ่งของการประชุมหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง

    บรรยากาศตอนเริ่มแรกค่อนข้างเกร็ง สัมผัสได้ถึงความไม่ผ่อนคลายสักเท่าไหร่ ผู้เข้าร่วมอบรมคงไม่ทราบว่าในตอนต่อไปลักษณะการแลกเปลี่ยนจะเป็นเช่นไร? ทุกคนนั่งนิ่ง บางคนนั่งก้มหน้า

       จึงต้องเริ่มต้นจากความผ่อนคลาย ความเป็นกันเอง เริ่มต้นจากการ ชวนให้FA ประจำกลุ่มคุยแบบสบายๆๆกันก่อน พี่เสาะ พี่เลี้ยงประจำกลุ่ม เริ่มต้นด้วยลีลาและน้ำเสียงที่ชวนสนุกสนาน ทำให้การเรียนรู้เริ่มผ่อนคลายและทุกคนอยากร่วมในการแลกเปลี่ยน เมื่อสัมผัสได้ว่าการสนทนาในค่ำคืนนี้มีความปลอดภัย และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน

       ด้วยบรรยากาศเช่นนี้จึงทำให้น้องๆทุกคนกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด นับได้ว่าเป็นการเปิดใจที่ดีทีเดียว

       “ เมื่อตอน อาจารย์ ดวงสมร บรรยายนั้นไม่เข้าใจเลย

 ( ฮ่า..ๆๆ  ... แรง.. แรง  )

และพออาจารย์ เรวดีมาพูดซ้ำอีกครั้ง ก็หนูยังไม่เข้าใจอีก

 

 (  โห...เอาไงเนี่ย  )”

       “ แต่พอมาแลก เปลี่ยนกันในกลุ่ม ฟังเรื่องราวจากที่เพื่อนเล่า แล้วเอามาเชื่อมโยงกับที่อาจารย์บรรยายก่อนหน้านี้ จึงได้รู้ว่าอ๋อ มันคืออันนี้นี่เอง”  น้องอธิบายเป็นฉากๆ ชวนให้จินตนาการไปถึงไหนต่อไหน....

 

ความคิดบางอย่างจะตกผลึกเมื่อเราค่อยๆได้ไตรตรองและฟังอย่างเข้าใจและลึกซึ้ง และบางครั้งตัวแนวคิดล้วนๆไม่สามารถสื่อความหมาย หรืออธิบายความหมายได้อย่างชัดเจน  เพราะเหตุที่ว่าแนวคิดล้วนๆ มันยังไม่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการเข้าไปในชีวิตการทำงานได้นั่นเอง

พลังการเรียนรู้แบบนี้ แม้ว่าจะจับต้องได้ยาก สื่อสารให้คนเข้าใจได้ยากแต่จะให้ผลที่ยั่งยืน เพราะว่าการเรียนรู้เหล่านี้จะซึมซับเข้าไปใน วิธีคิด และวิถีชีวิตได้

 เรื่องราว เหล่านี้ยังมีต่อไปในตอนที่๒ คะ โปรดติดตามนะคะ

สวัสดีคะ

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 463971เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท