กะเหรี่ยงบางกลอย ในผืนป่าแก่งกระจาน คนดั้งเดิม-กับชุมชนที่รอการพิสูจน์ยืนยัน


“เขาทำเหมือนเราเป็นสัตว์” ถ้อยคำสั่นเครือของปู่คออี้ ที่บอกเล่าหลังจากรับรู้ข่าวเรื่องบ้านที่ถูกเผาและยุ้งข้าวที่ถูกทำลาย รอบนี้ความหวังที่จะกลับไปสร้างบ้านอีกครั้งบนผืนดินเก่ายังไม่อาจคาดคิด รอบนี้คงเกินที่กาย-ใจชายชราจะรับไหว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว  
เจ้าหน้าที่สื่อสารสาธารณะ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ,
21 กันยายน 2554[1]

แม้จะไม่ได้เห็นบ้านเผามอดไปต่อตา

และไม่ได้กลับขึ้นไปดูสภาพบ้านด้วยตาของตนแต่ปู่คออี้ก็ใจแทบสลาย วันที่ปู่ถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ พร้อมกับหลานลงมาที่บ้านบางกลอยล่าง ก่อนหน้านั้น 1 วัน นอแอะ ลูกชายของปู่ ที่พักอยู่บ้านเดียวกัน ถูกจับกุมลงมาขังที่โรงพักแก่งกระจาน พร้อมกับภาพถ่ายของนอแอะคู่กับปืนแก๊ปจำนวน 8 กระบอก (ที่ใช้ได้เพียง 3 กระบอก) นอแอะบอกว่าที่ถูกจับเพราะปู่คอออี้ไม่ยอมรับการย้ายลงมาจากบ้านที่บางกลอยบน  

ก่อน ขึ้นฮอปู่ขอเอาเสื้อผ้าและข้าวลงไปด้วย แต่สุดท้ายปู่และหลานๆมีเพียงเสื้อผ้าติดตัวลงไปคนละชุด ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ใส่มาวันนี้ ส่วนข้าวของที่เหลือไว้ในบ้านก็ไม่มีอีกแล้ว

 

1.


ภาพโดย กฤณนกรรณ  สุวรรณกาญจน์

 

ชาย ชราท่วงท่าอ่อนแรง ได้รับการพยุงจากรถกระบะมายังม้านั่งใต้ร่มไม้ ก่อนที่พวกเราจะมานั่งรายล้อมวงกัน ดวงตาที่ดูฝ้าฟางไม่สู้แสงด้วยวัยและสังขารที่ร่วงโรยประกอบกับเพิ่งผ่านการ ผ่าตัดตามาอยู่หลังแว่นตาดำที่ดูไม่เข้ากับกับเสื้อทอปาเกอญอสีซีดที่สวมใส่ กับผ้าโพกหัวสีมอ ข้าพเจ้ารู้สึกคุ้นตากับลักษณะการแต่งตัวที่ละม้ายกับชาวปาเกอญอที่เคยพบเจอ ที่ผู้ชายจะไว้ผมยาวและโพกผม กินหมากปากแดง ที่ดูแปลกตาซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวปาเกอญอในแถบจังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

แม้วัยจะล่วงเลยมากว่า 103 ปี แล้วก็ตาม แต่เค้าร่างสูงใหญ่ แม้ร่างกายจะคุ้มงอลงไปบ้างก็ยังดูชัดเจนเมื่อเทียบกับคนรุ่นหนุ่มอีกหลายคน ทำให้ข้าพเจ้านึกภาพของหนุ่มใหญ่ ร่างกายกำยำ อดีตพรานไพร ที่อาศัยอยู่ในผืนป่ามายาวนานที่วันนี้มานั่งอยู่ตรงหน้าพวกเรา ห่างจากผืนดินเกิด ที่เติบโตอาศัยอยู่มาทั้งชีวิต ไกลออกไปร่วม 1 วันเดินเท้า รวมกับอีกราว 4 ชั่วโมงโดยรถกระบะ

ถ้อย คำสั่นเครือของชายชราพูดเสียงพึมพำเป็นภาษาปาเกอญอสักพัก พร้อมกับยกมือพนมขึ้นท่วมหัว กลางวงล้อม ทำให้พวกเราเงียบเสียงจดจ่อฟัง แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าใจความหมายใดๆ ซึ่งสรุปความได้ว่าเป็นคำอธิษฐานของปู่ที่บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง เทวดา แม่ธรณี ก่อนที่จะพูดคุยกัน วิถีแห่งความสัตย์ซื่อที่ยึดถือได้ปรากฎตรงหน้าเรา

ปู่คออี้ เป็นที่รู้จักเมื่อมีการเชื่อมโยงว่า มีกลุ่มของชาวกะเหรี่ยงขมังเวทย์ทำให้เกิดปรากฎการณ์ฮอตก ในช่วงหลังปฏิบัติการเผาทำลายบ้านชาวบ้าน

นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่าปู่คออี้ มีมิ ปาเกอญออาวุโสผู้เป็นที่นับถือของปาเกอญอแก่งกระจานเป็นสหายของเสด็จตา-พระ เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งได้ เดินทางมาพบกับปู่คออิ้อีกครั้ง ในช่วงที่เราลงพื้นที่ฯ ว่าตนจดจำได้ว่า “ปู่คออี้” คือคนเดียวกันซึ่งในสมัยเด็กนั้นตนเรียกว่า “จออี้” โดยจดจำลักษณะรูปร่าง หน้าตา รวมทั้งรอยสักที่แขนได้

โดย ในสมัยนั้นปู่คออี้ ได้เดินทางนำเนื้อสัตว์ พริก มาถวายให้เสด็จตาเสมอ และเป็นพรานที่ได้นำเสด็จตาและคณะเข้าป่าล่าสัตว์ และปู่คออี้คนนี้เองที่เป็นผู้ที่ช่วยแนะนำวิธีการเลี้ยงดูช้างเผือกที่นำมา จากป่า ซึ่งภายหลังตั้งชื่อว่า “จะเด็จ” ตามวิธีของปาเกอญอ

“ผม ได้รับการดูแลมากับป่า เพราะความรู้ของกะเหรี่ยงทำให้ผมเลี้ยงช้างรอดชีวิต และเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ทำลายป่า ผมอยากย้ำเจตนาของโครงการพระราชดำริว่าให้เอาตัวอย่างคนกะเหรี่ยงเพราะเป็น คนที่ไม่ทำลายป่า และไม่เคยมีนโยบายให้ไล่คนออกจากป่า ชาวบ้านเขาอยู่มานาน บรรพบุรุษเขาก็ฝังกันอยู่ตรงนั้น”

เป็นหนึ่งคำยืนยันถึงการเป็นชาวเขาดั้งเดิมในพื้นที่

 

(ภาพประวัติศาสตร์ การสำรวจและจัดทำท.ร.ชข.ในปี 2531ชุมชนบ้านบางกลอยบน)

รวมทั้งหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ปู่คอออี้ มีเหรียญชาวเขา และครอบครัวมีทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข.(บันทึกชื่อ “โคอิ”) จากการเข้าไปสำรวจของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา(เดิม)จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงปี 2531 โดย ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะที่เดินทางไปสำรวจจัดทำท.ร.ชข.ดังกล่าว ให้ภาพว่าชุมชนที่ไปพบกระจายอยู่ตลอดแนวลำน้ำบางกลอย โดยเจ้าหน้าที่เองซึ่งเป็นกะเหรี่ยง สามารถจำแนกแยกแยะลักษณะชาวบ้าน ได้จากสำเนียงภาษาพูดและการแต่งกายว่าไม่ใช่เป็นกลุ่มที่อพยพโยกย้ายมาจาก พม่า นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศตลอดแนวบ้านบางกลอยบนก็เป็นเขาสูงมีความยากลำบาก ห่างไกล ไม่ใช่เส้นทางที่มีลักษณะใช้เป็นจุดที่มีการเดินทางโยกย้ายข้ามพรมแดนไปมา โดยในพื้นที่แถบนั้นจุดที่มีการข้ามแดนอพยพเข้ามาจะอยู่ไปด้านของลำน้ำภาชี ของฝั่งจังหวัดราชบุรี และหากจะมีชาวบ้านอพยพจากฝั่งราชบุรีเพื่อมาหาที่ทำกินยังบริเวณบ้านบางกลอย บนก็ยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากระยะทางไกล ต้องใช้ระยะเวลาเดินเท้าประมาณ 3-4 วัน

นอกจากนี้ภาพถ่ายที่มีภาพสวนหมากขนาดใหญ่ ที่คาดว่าอายุหลายสิบปี ก็เป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นชุมชนดั้งเดิม

ซึ่งหากกระบวนการต่อจากนั้นไม่หยุดชะงัก  ด้วยสถานะที่เป็นกลุ่มกะเหรี่ยงดั้งเดิมติดแผ่นดิน ย่อมมีสัญชาติไทย การเข้าไปบังคับโยกย้าย เผาทำลายบ้านเรือน-ยุ้งข้าว โดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและตระหนักถึงสิทธิของความเป็นชุมชนและคนดั้งเดิมจึงนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและไร้ซึ่งมนุษยธรรมอย่างมาก

 

2.

คำ บอกเล่าจากลูกหลานที่กลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบนครึ่งเดือนให้หลัง หลังจากถูกอพยพลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ได้พบว่าบ้านของปู่คออิ้และครอบครัวที่อยู่อาศัยร่วมกันกว่า 13 ชีวิต ถูกเผา ไม่เหลือข้าวของที่อยู่ในสภาพจะนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้  และยุ้งข้าวที่เก็บข้าวเปลือกร่วม 400 ถัง ที่เก็บไว้สำหรับเลี้ยงดูครอบครัวในอีกครึ่งปีที่เหลือ ถูกรื้อหลังคา ผนัง ให้ข้าวหล่นกระจาย รวมทั้งมีการกระจายข้าวบริเวณพื้น จนต้นข้าวแตกใบไม่สามารถนำมาหุงกินได้แล้ว

“บ้านที่หลบอยู่ในป่า เขาเพิ่งเดินลงมา มีเด็กหลายคน แล้วก็ลูกเล็กๆด้วย ข้าวก็ไม่มีกิน”

ชะตา กรรมของชาวบ้านที่นั่นเป็นภาพที่ไม่ต่างกับครอบครัวปู่คออี้นัก และข้าวที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งมีภาพถ่ายและชี้แจงว่าได้นำกลับ ลงมาด้วยเพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่อพยพลงมา ไม่ได้เผาทิ้งตามที่เป็นข่าว ก็ได้รับการยืนยันจากชาวบ้านที่ตอนนี้กำลังเดือดร้อนหนักเพราะต้องหาเงินมา ซื้อข้าวกิน เนื่องจากส่วนใหญ่มีสมาชิกในครอบครัวจำนวนมาก ว่าไม่เคยได้เห็นหรือได้รับข้าวที่ทางอุทยานเอ่ยถึงเลย

ครอบครัวของปู่ได้รับผลพวงจากการปฏิบัติการอย่างหนัก 2 ครั้ง

ปี 2539 มีการอพยพโยกย้ายชาวบ้านลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง โดยได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินให้ และครอบครัวของปู่เป็น 1 ใน 57 ครอบครัว ที่ยินยอมลงมา ในขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังโยกย้ายบ้านอยู่ ในบริเวณชุมชนเดิม แต่หลังจากนั้นเพียงสามเดือน นอแอะลูกชายปู่ตัดสินใจพาพ่อและครอบครัวอพยพกลับไปยังบ้านเดิมเพราะบ้านใหม่ ทั้งร้อนกายและร้อนใจพ่อจนอยู่ไม่ได้

ถัดมาอีกหลายปี พฤษภาคมปีนี้ หลังจากการมาถึงของทีมเจ้าหน้าที่อุทยานในช่วงเช้า ได้มีการแจ้งให้ครอบครัวปู่อพยพลงมาอีกครั้ง และเมื่อปู่ยืนยันว่าจะไม่ลงมา นอแอะลูกชายปู่ จึงได้รับการบอกว่ามีความผิดที่ยิงสัตว์ป่า และถูกนำตัวขึ้นฮอลงไปเพียงลำพัง

ส่วน ปู่คออี้ แม้จะไม่ยินยอมอพยพ เช้าวันถัดมาก็ถูกนำตัวขึ้นฮอลงมาพร้อมกับหลานๆ โดยชาวบ้านซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ร่วมไปรับปู่กับคณะของเจ้าหน้าที่ด้วย บอกเล่าเพียงว่าเมื่อฮอบินขึ้นไปแล้วจึงได้ยินเสียงไฟไหม้และเห็นเพียงควัน เท่านั้น

ข้าวของในบ้านของปู่ไม่ว่าจะเป็นหม้อชุด(มีหลายขนาดเล็ก-ใหญ่) ที่ซื้อมาไว้รวม 24 ใบ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือทำกิน มีด พร้า เสื้อผ้าเก่า ใหม่- ที่มีผ้าทอฝีมือแม่นอแอะกว่าสิบชุด รวมทั้งเงินสดราว 13,000 บาท ที่ได้สะสมจากการขายพริกแต่ละครั้ง ซึ่งนอแอะซ่อนไว้ในบ้าน เครื่องประดับจำพวกตุ้มหูเงิน สร้อย ทั้งหมดไม่ได้นำออกมาเลยสักชิ้น และข้าวในยุ้งอีกกว่า 400 ถัง ที่กระจายเกลื่อนกลาด

และสมบัติสำคัญของครอบครัวอีกอย่าง นอแอะถูกจับและนำไปขังที่โรงพักแก่งกระจาน 1 คืน และที่เรือนจำอีก 4 คืน ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือให้ประกันตัวออกมา

 “ทำไมไม่หนีตอนเจ้าหน้าที่มา” ข้าพเจ้าถามไถ่

 “เพราะยอมรับเจ้าหน้าที่”

คำตอบของนอแอะได้รับการอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2535 นอแอะเป็นหนึ่งในสองชาวบ้านปกาเกอญอที่เสี่ยงชีวิตเดินเท้าเข้าไปในเขตพม่า เพื่อไปช่วยเหลือตชด.กลุ่มที่รอดชีวิตแต่พลัดหลงป่าและหมดแรงหมดเสบียง เนื่องจากการตามล่าของทหารพม่า จนสามารถช่วยเหลือตชด.ออกมาได้อย่างปลอดภัย แม้ความดีความชอบในครั้งนั้นจะไม่ปรากฏต่อสาธารณะ แต่สำหรับนอแอะนั่นคือความคุ้นชินกับเจ้าหน้าที่และไม่คาดคิดว่าการกระทำที่ เคยให้ความร่วมมือให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในครั้งนั้นจะได้รับการตอบแทน ในลักษณะนี้ นอกจากนี้เหตุผลสำคัญคือความห่วงใยต่อพ่อเฒ่าที่อายุมากรวมทั้งหลานๆที่ยัง เด็กในขณะที่น้องชายกับภรรยาก็ไม่อยู่ หากจะแยกย้ายกันหลบหนีเจ้าหน้าที่ก็คงยากลำบากไม่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้นนอแอะคงเข้าใจไม่ได้ว่าการมีปืบแก๊ปเพื่อใช้ล่าสัตว์เล็กน้อยมาโดยตลอดนั้นมันมีความผิดยังไง ภาพที่ทางอุทยานนำมาเผยแพร่คือนอแอะกับกระบอกปืนแก๊ปเก่าที่หมดสภาพ ไม่มีไก ไม่ต่างกับท่อนไม้ท่อนหนึ่ง วันที่ถูกจับกุมตัว

นอ แอะรับสารภาพว่าเป็นเจ้าของปืน และโชคดีที่ได้รับการช่วยเหลือให้ประกันตัวออกมาแล้ว โดยนายทัศน์กมล โอบอ้อม หรือ “อาจารย์ป๊อด” (ถูกลอบยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา) หนทางจากนี้ได้แต่เฝ้ารอว่าผลของคดีจะออกมาอย่างไร

 

ตอนนี้ครอบครัวของปู่ กับลูกชายทั้งสอง ลูกสะใภ้และหลานๆ รวม 13 คน ที่มาจากบางกลอยบน อยู่รวมกับครอบครัวลูกสาวอีก 9 คน ที่บ้านบางกลอยล่าง เพราะไม่มีทางเลือก สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือรับจ้างเท่าที่มีงานเพื่อหาเงินมาซื้อข้าวเลี้ยงดูกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฯ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งลงมาให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น จำนวน 10 ครอบครัว โดยมอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 20 ถุง พระบรมฉายาลักษณ์ จำนวน 10 ภาพ และเงินพระราชทานครอบครัวละ 5,000 บาท ส่วนปู่โคอิ้ ยังได้รับสังกะสี จำนวน 70 แผ่น เพื่อมาซ่อมแซมหลังคาบ้านที่ปู่ได้อาศัยอยู่ในขณะนี้ด้วย ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อนที่เข้า มาแจ้งกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางกลอย-โป่งลึก แล้วได้รับการถ่ายรูปและลงรายการ ในขณะที่ชาวบ้านที่กระจายไปอยู่ในพื้นที่อื่นๆก็ยังไม่สามารถเข้าถึงความ ช่วยเหลือ

และ วันที่ 14- 16 กันยายน ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไปรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านที่ได้ รับความเสียหายโดยตรง

ใน ขณะที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ ก็กำลังเดินหน้าเตรียมให้ความช่วยเหลือในทางคดีกับชาวบ้านผู้เสียหาย พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือในด้านสถานะบุคคล แม้ว่าชาวบ้านจะยังไม่เห็นความสำคัญ เนื่องจากคำบอกเล่าจากชาวบ้าน ที่ว่าแม้จะมีบัตรประชาชนหรือไม่มีบัตรปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือถูกเผา บ้านไม่ต่างกัน

คนดั้งเดิม-กับชุมชนดั้งเดิมยังเป็นประเด็นสำคัญที่รอการพิสูจน์ยืนยัน และจำเป็นต้องมีข้อสรุป

 

“เขาทำเหมือนเราเป็นสัตว์” ถ้อยคำสั่นเครือของปู่คออี้ ที่บอกเล่าหลังจากรับรู้ข่าวเรื่องบ้านที่ถูกเผาและยุ้งข้าวที่ถูกทำลาย

สำหรับ ปู่คออิ้และชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เราได้พบ ที่แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ชาวบ้านคงยังนอนหลับได้ไม่เต็มตานัก หัวอกของคนที่กลับย้อนไปเห็นสภาพบ้านและยุ้งข้าวที่ไม่เหลือให้หอบหิ้วอะไร กลับลงมา เป็นสิ่งเราคงไม่อาจจะรับรู้และเข้าใจได้

คำบอกเล่าสุดท้ายที่ได้รับรู้เกี่ยวกับปู่ระหว่างเดินทางกลับ ว่าขณะนี้ต้องช่วยกันดูแลใกล้ชิดเพราะปู่อยากฆ่าตัวตาย

รอบนี้ความหวังที่จะกลับไปสร้างบ้านอีกครั้งบนผืนดินเก่ายังไม่อาจคาดคิด รอบนี้คงเกินที่กาย-ใจชายชราจะรับไหว

 

 


[1] บันทึก ภายหลังจากการลงพื้นที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ วันที่ 3-4 กันยายน 2554  เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ถูกอพยพ และถูกเผาทำลายบ้าน ยุ้งข้าว, ปรับปรุงจากฉบับวันที่ 5 กันยายน 2554
           ข้อมูล ของด้านอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในบทความนี้อ้างอิงจากข้อมูลบางส่วนและคำชี้แจงของหัวหน้าอุทยานฯ ที่เข้าฃี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554
          บทความนี้มีการตัดตอน เผยแพร่ครั้งแรก ในชื่อ "คนดั้งเดิม กับชุมชนที่รอการพิสูจน์" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นโลกทัศน์ คอลัมนืจุดประกาย วันพุธที่ 21 กันยายน 2554

หมายเลขบันทึก: 463968เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณความรู้นี้มากครับ

เป็นความฝันของผมที่ผมเรียนเกษตร ก็เพราะอยากให้มีโครงการหลวงเข้าถึงเผ่าหรือชุมชนต่างๆที่อยู่ห่างไกล อยากไปช่วยเหลือเขา ผมคิดว่าสัญชาติเป็นแค่บทบัญญัติที่แบ่งแยก แบ่งปันคือบทบัญญัติที่มนุษยชาติพึงมีมากกว่า เขาจะเป็นใครเราไม่รู้ ที่เรารู้เขาเป็นคนเหมือนเราแน่ๆ เขาอาจจะเป็นคนที่ดีกว่าเราสะด้วยซ้ำ อย่าทำให้เขาต้องจำว่า ยุติธรรม เป็นแค่ คำ ที่ไม่เคยมีในสังคม

สวัสดีค่ะ ดีใจที่มีโอกาสได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวสู่กันค่ะ

ตอนนี้ชาวบ้านลำบากมาก และกำลังใจก็น่าเป็นห่วง เพราะชาวบ้านตั้งบ้านอยู่ภายในเขตอุทยาน ดังนั้นตอนนี้ก็เจอแรงกดดันมากมาย การจะเข้าไปเก้บรวบรวมข้อเท็จจริงของสภาทนายความก็ยังต้องขออนุญาตทางอุทยานเพื่อเข้าพื้นที่ ดังนั้นกว่าความยุติธรรมจะปรากฎก็คงต้องออกแรงกันมากเลยค่ะ

ส่วนความตั้งใจดีๆก็เอาใจช่วยนะคะ ก็หวังว่าอะไรที่จะเข้าใปสุ่ชุมชน ก็อยากบอกว่าการมีส่วนร่วม รับฟังที่จะให้เขาเลือกและมีโอกาสจัดการตัวเองน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ

ตอนปี 39 ที่นั่นก็เคยมีการอพยพชาวบ้านลงมารอบหนึ่ง อพยพมาแล้วจัดสรรที่ทำกิน แต่บทเรียนจากหลายๆพื้นที่คือถึงที่สุด เอาชาวบ้านลงมาแล้วไม่ดูแลไม่ใส่ใจให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้จริงๆค่ะ เพราะชาวบ้านบางส่วนไม่ได้รับจัดสรรที่ดิน สุดท้ายก้ต้องหนีกลับไปบ้านเดิม ปัญหามันก็แก้ไม่ได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท