KM กับการพัฒนาเยาวชน


เยาวชนเป็นคนในช่วงอายุที่มีพลังมาก มีกำลังเหลือ ถ้าไม่ส่งเสริมให้เป็นผู้แสดงออก ผู้กระทำ ในด้านดี ด้านบวก ด้านสร้างสรรค์ เยาวชนก็จะหันไปแสดงออกในด้านที่เขาทำง่าย และมีกลุ่มผู้แสวงประโยชน์มารอชักชวนอยู่แล้ว กลายเป็นเยาวชนที่สร้างปัญหา ทำสิ่งที่เป็นอบายมุข ให้ความสุข สนุก ชั่วแล่น แต่ทำลายอนาคตตนเอง ทำลายสังคมภาพรวม

KM กับการพัฒนาเยาวชน

         วันที่ ๒๕ สค. ๔๙ ผมไปฟังการอภิปรายเรื่อง "บทเรียนภาวะวิกฤติสังคมไทย กับการพัฒนาเยาวชนเพื่อสังคม ปัจจุบันและอนาคต"     เนื่องในวันฉลอง ๕๑ ปี สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์  มศว.      มี ศ. ดร. จรรจา สุวรรณทัต เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย     ผู้ร่วมอภิปรายคือ คุณสุวรรณี คำมั่น ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน  สศช.    กับ อ. กิตติกร มีทรัพย์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิทยาคลินิด กระทรวงสาธารณสุข      ผมเจียดเวลาไปฟังเรื่องนี้ เพราะคิดว่า KM น่าจะมีบทบาทเข้าไปเป็นเครื่องมือได้มาก

         เรามักจะบ่นปัญหาเรื่องเยาวชน    พยายามศึกษาเรื่องปัญหาเยาวชน     สื่อมวลชนก็ประโคมพฤติกรรมแปลกๆ ร้ายๆ ของเยาวชน      ผมมองว่าสังคมเราเสพติดข่าวร้าย ข่าวความรุนแรง  เสพติดปัญหา  เสพติดการบ่น

        ผมมองว่ามีกระบวนทัศน์ใหม่  วิธีปฏิบัติใหม่  ที่น่าจะยกมาดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน     คือกระบวนทัศน์เชิงบวก  วิธีปฏิบัติเชิงบวก      สำหรับนำมาสร้างสรรค์สังคมในประเด็นที่ซับซ้อน     รวมทั้งประเด็นการสร้างสรรค์เยาวชน   
 
        จากกระบวนทัศน์และแนวทางเชิงบวก (แนวคิด KM และ AI)   เราก็หาความสำเร็จของเยาวชนเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผล     ในแนวทางนี้เราจะไม่เน้นแก้ปัญหา     แต่เน้นขยายความดี  เน้นการขยายการทำดี ที่มีอยู่แล้ว     เอาเรื่องราวของการทำดีมาเป็นข่าวในสื่อมวลชน      ให้โอกาสสังคมได้ "เสพข่าวดี"     ถ้าถึงขนาดเสพติดเรื่องราวความสำเร็จ เสพติดการชื่นชมยินดี     ก็จะเป็นความสำเร็จของสังคมไทย

         แนวทางปัจจุบันมองคล้ายๆ กับว่าเยาวชนเน่าหมดแล้ว      ถูกมอมเมาหมดแล้ว     ซึ่งผมไม่เชื่อ     ผมพบกลุ่มเยาวชนที่ร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ ในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ     แม้ว่ากลุ่มเยาวชนที่ทำเรื่องดีเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เยาวชนส่วนใหญ่     แต่เราก็มีเยาวชนดี  รวมกลุ่มกันทำดี พอสมควร     แนวคิดใหม่ คือแทนที่จะเอาใจใส่เฉพาะเยาวชนที่เสื่อม     ก็เอาใจใส่เยาวชนที่ดี ให้มากกว่า     หาทางไปร่วมกับเยาวชนเหล่านั้นในการนำเรื่องราวของการสร้างสรรค์ออกสู่สังคม     เอามา ลปรร. กันเพื่อขยายผล     ทั้งขยายสู่แนวลึก และสู่แนวกว้าง

        ผมมองว่าหน่วยงานที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมีอยู่ไม่น้อย     แต่เดาว่าส่วนใหญ่ทำเพื่อสร้างผลงานของตนเอง     เยาวชนเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ  ถูกศึกษา  ถูกแก้ไข     เราน่าจะคิดใหม่ ทำใหม่     ให้เยาวชนเป็น "พระเอก นางเอก" ของการแก้ไขปัญหาเยาวชนเอง     เข้าทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง      คือให้เยาวชนเองเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาเยาวชน  ในส่วนของการสร้างทักษะชีวิต  สร้างภูมิคุ้มกันต่อสิ่งชั่วร้าย  สร้างค่านิยมที่ทำให้เยาวชนมี "ราก" หยั่งในสังคมวัฒนธรรมไทย อย่างมั่นคง   

       ผมมองว่าการพัฒนาเยาวชน  มี ๒ ด้านประกอบกัน     คือด้านตัวเยาวชนเอง    กับด้านสังคมแวดล้อม     ผู้ใหญ่และหน่วยงานทั้งหลายควรเน้นทำด้านดูแลสภาพแวดล้อมไม่ให้เข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากเยาวชนอย่างทำลาย   ไม่ให้เอาความชั่วร้ายไปใส่เยาวชน     ในส่วนของการพัฒนาด้านตัวเยาวชน  ควรให้เยาวชนเป็นผู้กระทำ  เป็นผู้ดำเนินการ     หน่วยงานและผู้ใหญ่เข้าไปเป็นกองเชียร์ กองชื่นชม  กองเชื่อมโยงเรื่องราวดีๆ     ตีความเรื่องราวดีๆ ของเยาวชนออกสู่สังคมในภาพรวม     และสร้างวาทกรรมเชิงบวกด้านเยาวชน ขึ้นจากเรื่องจริง ที่เป็นเรื่องราวดีๆ ที่เยาวชนดำเนินการเอง

        เยาวชนเป็นคนในช่วงอายุที่มีพลังมาก  มีกำลังเหลือ     ถ้าไม่ส่งเสริมให้เป็นผู้แสดงออก ผู้กระทำ  ในด้านดี ด้านบวก ด้านสร้างสรรค์     เยาวชนก็จะหันไปแสดงออกในด้านที่เขาทำง่าย     และมีกลุ่มผู้แสวงประโยชน์มารอชักชวนอยู่แล้ว     กลายเป็นเยาวชนที่สร้างปัญหา  ทำสิ่งที่เป็นอบายมุข  ให้ความสุข สนุก ชั่วแล่น     แต่ทำลายอนาคตตนเอง  ทำลายสังคมภาพรวม

       ถ้าคิดแนวบวกเช่นนี้     ก็จะสามารถใช้วิธีการ KM และ AI (Appreciative Inquiry) เป็นเครื่องมือพัฒนาเยาวชน     ผมมองว่าการดำเนินการแก้ปัญหาเยาวชนเท่าที่ทำมาแล้วดูจะยิ่งหมดหวัง ชวนท้อแท้      จึงเขียนบันทึกนี้เพื่อชี้โอกาสใหม่  จากมุมมองใหม่  วิธีการแนวใหม่      ซึ่งเป็นแนวขยายความดี     ไม่ใช่แนวต่อสู้ความชั่วหรือทำลายความชั่ว

วิจารณ์ พานิช
๒๕ สค. ๔๙
ระหว่างนั่งฟังการอภิปราย

หมายเลขบันทึก: 46287เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เห็นด้วยกับอาจาย์หมอมากๆ ค่ะ
  • ในส่วนงานที่ทำ ก็พยายามส่งเสริมให้นิสิตได้เป็นพระเอก นางเอก คือใช้วิธีชวนให้นิสิตคิด และ นำเสนอ สิ่งที่เค้าอยากเห็น อยากได้ และอยากเป็น ในด้านบวก แล้วช่วยกันคิดหาวิธีทำในสิ่งที่เค้าต้องการ  ให้เค้าช่วยกันทำ เราเป็นผู้สนับสนุน ให้คำปรึกษาบ้าง และช่วยชม ช่วยเชียร์ 
  • สิ่งที่ได้ กับตันเองตรงๆ ก็คือ  "รู้สึกมีความสุขในการทำงานมากขึ้น"
  • สิ่งที่ได้กับนิสิต คือ ดูเค้ามั่นใจ และเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามสื่อ หรือกระแสสังคม มากเท่าเมื่อก่อน ที่สำคัญ เค้าจะทำงานเป็นทีม คือ ฟัง และยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนๆ มากขึ้น
  • ขอบคุณนะคะ ที่อาจารย์ให้ความสำคัญกับเยาวชน อย่างจริงใจ
  • ขอเป็นแนวร่วม ที่จะพัฒนาแนวคิดนี้ ต่อไปนะคะ

แก้มแหม่ม

  • อ่านบทความนี้แล้ว เห็นประโยชน์เป็นอย่างมาก ต้อง Print ออกมาทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำมาใช้ในการจัดทำ "การเขียนแผนการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัดชุมพร" ซึ่งรับเป็น Strategic Partner ให้กับสนง.พัฒนาสังคมฯ จ.ชุมพร
  • ขอขอบพระคุณมากครับ.

 

- ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ

- ในส่วนของแนวทางการพัฒนาเยาวชนนั้น อีกส่วนหนึ่งที่ผมมองว่าค่อนข้างที่จะมีบทบาทมากต่อการพัฒนาเยาวชนคือ พ่อ-แม่ผู้ปกครอง (อาจรวมเป็นด้านสังคมแวดล้อมก็ได้) เนื่องจาก Culture ในการเลี้ยงลูกของคนไทยเรายังปลูกฝังให้ลูกๆ ต้องคอยเชื่อฟังพ่อแม่ทุกอย่าง(ส่วนมาก) หากเรามีการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แต่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยก็อาจจะเป็นเหตุให้ไม่อนุญาตให้มาร่วมกิจกรรมการพัฒนากับเราได้ ดังนั้นในการพัฒนาเยาวชนเราควรที่จะทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง ทราบด้วย ซึ่งผมคิดว่าน่าจะสัมฤทธิ์ผลสูง

- การแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมากครับ แต่ในยุคของโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมากด้วย Technology โดยเฉพาะด้านสื่อต่างๆ ที่เร็วมาก อีกทั้งเป็นการนำเสนอข่าวที่ร้อนฉาว ที่เป็นภาพลบ ค่อนข้างมาก (ด้านบวกก็มีครับแต่ค่อนข้างน้อย)  โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับวัยรุ่น จึงทำให้วัยรุ่นขาดความยั้งคิดที่เป็นเหตุเป็นผล เกิดการลอกเลียนแบบจึงส่งผลให้ปัญหาต่างๆตามมาอย่างมากมาย ดังเช่นกรณีที่เด็กนักเรียนฆ่ากันตายที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมจึงใคร่ขอเสนอว่าเราจะทำอย่างไรให้สื่อต่างๆ ได้พยายามนำเสนอข่าวในมุมที่สร้างสรรค์ให้มากขึ้น

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

ที่กลุ่มงานจิตเวช รพ.ยโสธร...เราทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายเยาวชนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี  2544 เรื่อยมา..เราไม่ทราบหรอกคะว่าเราทำ KM แต่เราทำภายใต้การค้นหาศักยภาพที่ดีของมนุษย์...และแรงขับภายในออกมา...แสดงออกอย่างเหมาะสมภายใต้ฐานคิดทางด้านจิตวิทยา...และกิจกรรมทางด้านจิตวิทยา...(ที่กลุ่มงานเราเชื่อในกระบวนการทางด้านจิตวิทยาเพราะจบมาทางศาสตร์ด้านนี้ถึง 4 คน...เป็นสาขาจิตวิทยาคลินิก 1 ท่าน และจิตวิทยาให้คำปรึกษาอีก 4 ท่าน)

ความต่อเนื่องที่เราพบนั้น...เหมือนเป็นการศึกษาระยะยาว...เพราะเยาวชนที่เป็นเครือข่ายของเราทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มารับการบำบัดทั้งทางด้านยาเสพติด...การปรับพฤติกรรมความก้าวร้าวรุนแรง...และกลุ่มที่ยังไม่ก้าวมาสู่วงจรแห่งความเสี่ยง...เราสามารถลดปัญหาและได้เยาวชนคืนกลับสู่สังคมได้...จากนั้นมีการขยายผลไปในกลุ่มอื่นในโรงเรียน สถาบันการศึกษา...โดยกลุ่มเป้าหมายข้างต้นนั้นจะเป็นแกนนำเครือข่าย...

และเมื่อเด็กเยาวชนเหล่านี้จบออกไป...ทุกวันนี้ก็ยังมาช่วยงานพี่ๆ...จิตเวช...ในการพัฒนาเยาวชนต่อไป...คะจึงค่อนข้างเชื่อในกระบวนการดังกล่าว...พอมาพบบันทึกจึงทราบว่าอาจารย์ใช้เรียกว่า วิธีการ KM และ AI (Appreciative Inquiry) เป็นเครื่องมือพัฒนาเยาวชน ...

ขอบคุณคะ

กะปุ๋ม

อ่านแล้วเห็นด้วยกับอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ

ความคิดเห็นในเรื่องเยาวชนไทยทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเราผลักปัญหาให้สถานศึกษาเป็นหน่วยงานที่ต้องให้ความรู้และสร้างแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีให้เด็กซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่านโยบายการศึกษาไทยมันวนเวียนในอ่างมานานแล้วเพราะตามสภาพสังคมไทยทุกวันนี้วัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้วมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจำนวนมากและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนเพราะในวัยเรียนเรากล้ายอมรับความจริงหรือไม่ว่าปัจจุบันพ่อ 13 แม่ 12 เยอะมากและการมีเพศสัมพันธ์กับวัยคราวพ่อของวัยรุ่นเพียงเพื่อต้องการบัตรเติมเงิน(300)เท่านั้นเองซึ่งผมเคยสัมภาษณ์น้องก็จะบอกว่าไม่ถือว่าเป็นการขายบริการซึ่งการทำอย่างนั้นเป็นการไร้ศักดิ์ของลูกผู้หญิงมากและผมเองรับผิดชอบเรื่องเด็กและเยาวชนมาพอสมควร พบว่าน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะเครื่องมือไฮเทคทั้งหลายบางคนมีแต่คลิปเต็มเครื่องโทรเลยเราควรหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งผมเห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์แต่อยากเสนอให้ผลักดันสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท