Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

๒. กัณฑ์หิมพานต์


เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาค ประชาชนสีพีโกรธแค้นจึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกต พระนางเทพผุสดีได้จุติลงมาเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช เมื่อเจริญชนม์ได้ ๑๖ ชันษา จึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร" ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉัททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงนำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมี ให้นามว่า "ปัจจัยนาค" เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ ๑๖ พรรษา ราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี พระราชบิดาราชวงศ์มัททราช มีพระโอรส ๑ องค์ชื่อ ชาลี ราชธิดาชื่อ กัณหา พระองค์ได้สร้างโรงทาน บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ ต่อมาพระเจ้ากาลิงคะแห่งนครกาลิงครัฐได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาค พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่พระเจ้ากาลิงคะ ชาวกรุงสัญชัย จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร

ผุสดีเทพกัญญารับพรทั้งหลายดังนี้ แล้วจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้น บังเกิดในพระครรภ์อัครมเหสีของพระเจ้ามัททราช ในวันขนานพระนามของพระนางนั้น พระญาติทั้งหลายขนานพระนามว่า ผุสดี ตามนามเดิมนั้น เพราะเมื่อพระนางประสูติมีพระสรีระ ราวกะว่าประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ประสูติแล้ว พระนางผุสดีราชธิดานั้นทรงเจริญด้วยบริวารใหญ่ ในกาลมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี ได้เป็นผู้ทรงพระรูปอันอุดม ครั้งนั้น พระเจ้าสีวีมหาราชทรงนำพระนางผุสดีมา เพื่อประโยชน์แก่พระเจ้าสญชัยกุมารราชโอรส ให้ยกฉัตรแก่ราชโอรสนั้น ให้พระนางผุสดีเป็นใหญ่กว่าเหล่านารีหมื่นหกพัน ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสีของสญชัยราชโอรส.

เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
นางผุสดีนั้นจุติจากดาวดึงส์เทวโลกนั้นบังเกิดในขัตติยสกุล ได้ทรงอยู่ร่วมด้วยพระเจ้าสญชัย ในนครเชตุดร.

พระนางผุสดีได้เป็นที่รักที่เจริญใจแห่งพระเจ้าสญชัย. ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราช เมื่อทรงอาวัชชนาการก็ทรงทราบว่า บรรดาพรทั้ง ๑๐ ประการที่เราให้แก่นางผุสดี.

พร ๙ ประการสำเร็จแล้ว จึงทรงดำริว่า โอรสอันประเสริฐเป็นพรข้อหนึ่ง ยังไม่สำเร็จก่อน. เราจักให้พรนั้นสำเร็จแก่นาง.

ในกาลนั้น พระมหาสัตว์อยู่ในดาวดึงส์เทวโลก อายุของมหาสัตว์นั้นสิ้นแล้ว. ท้าวสักกะทรงทราบความนั้น จึงไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์ตรัสว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ควรที่ท่านจะไปสู่มนุษยโลก. ควรถือปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งนางผุสดี อัครมเหสีของพระเจ้าสีวีราช ณ กรุงเชตุดร. ตรัสฉะนี้แล้ว ถือเอาปฏิญญาแห่งพระโพธิสัตว์ และเหล่าเทพบุตรหกหมื่นเหล่าอื่นผู้จะจุติ แล้วกลับทิพยวิมานที่ประทับของตน.

ฝ่ายพระมหาสัตว์จุติจากเทวโลกนั้น เกิดในพระครรภ์แห่งพระนางผุสดี. เทพบุตรหกหมื่นก็บังเกิดในเคหสถานแห่งอำมาตย์หกหมื่น ก็ในเมื่อพระมหาสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระมารดา.

พระนางผุสดีผู้มีพระครรภ์ เป็นผู้ทรงใคร่จะโปรดให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔. ที่ท่ามกลางพระนคร ๑. ที่ประตูพระราชวัง ๑. ทรงสละพระราชทรัพย์หกแสนกหาปณะทุกวันๆ บริจาคทาน.

ครั้นพระเจ้าสญชัยสีวีราชทรงทราบความปรารถนาของพระนาง จึงให้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้รู้นิมิตมาทำสักการะใหญ่. แล้วตรัสถามเนื้อความนั้น พราหมณ์ผู้รู้นิมิตทั้งหลายจึงทูลพยากรณ์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ท่านผู้ยินดียิ่งในทาน มาอุบัติในพระครรภ์แห่งพระราชเทวี จักไม่อิ่มในทานบริจาค. พระราชาได้ทรงสดับพยากรณ์นั้น ก็มีพระหฤทัยยินดี. จึงโปรดให้สร้างโรงทาน ๖ แห่งมีประการดังกล่าวมาแล้ว ให้เริ่มตั้งทานดังประการที่กล่าวแล้ว.

จำเดิมแต่กาลที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ ส่วนอากรของพระราชาได้เจริญขึ้นเหลือประมาณ. เหล่าพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าสญชัย ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์.

พระนางผุสดีราชเทวีมีบริวารใหญ่ เมื่อทรงพระครรภ์ครั้น ๑๐ เดือนบริบูรณ์. มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรพระนคร จึงกราบทูลพระราชสวามี. พระเจ้ากรุงสีวีจึงให้ตกแต่งพระนครดุจเทพนคร. ให้พระราชเทวีทรงรถที่นั่ง อันประเสริฐทำประทักษิณพระนคร. ในกาลเมื่อพระนางเสด็จ ถึงท่ามกลางถนนแห่งพ่อค้า. ลมกรรมชวาตก็ป่วนปั่น ราชบุรุษนำความกราบทูลพระราชา พระราชาทรงทราบความ จึงให้ทำพลับพลาสำหรับประสูติแก่พระราชเทวี ในท่ามกลางวิถีแห่งพ่อค้า. แล้วให้ตั้งการล้อมวงรักษาพระนางเจ้าผุสดีประสูติพระโอรส ณ ที่นั้น.

พระนางเจ้าผุสดีทรงครรภ์ถ้วนทศมาส เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร ประสูติเราท่ามกลางวิถีของพ่อค้าทั้งหลาย.

พระมหาสัตว์ประสูติจากพระครรภ์แห่งพระมารดา เป็นผู้บริสุทธิ์ ลืมพระเนตรทั้งสองออกมา. เมื่อออกมาก็เหยียดพระหัตถ์ต่อพระมารดาตรัสว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันจักบริจาคทาน มีทรัพย์อะไรๆ บ้าง. ครั้งนั้น พระชนนีตรัสตอบว่า พ่อจงบริจาคทานตามอัธยาศัยของพ่อเถิด แล้ววางถุงกหาปณะพันหนึ่ง ในพระหัตถ์ที่แบอยู่.


พระโพธิสัตว์พอประสูติแล้วได้ตรัสกับพระมารดา ๓ คราว คือในอุมมังคชาดก (เสวยพระชาติเป็นมโหสถ) คราว ๑.

ในชาดกนี้คราว ๑.

ในอัตภาพมีในภายหลัง (คือเมื่อเป็นพระพุทธเจ้า) คราว ๑.

 
ครั้งนั้น ในวันถวายพระนามพระโพธิสัตว์ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขยายพระนามว่า เวสสันดร เพราะประสูติในถนนแห่งพ่อค้า.

เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ชื่อของเราไม่ได้เกิดแต่พระมารดา ไม่ได้เกิดแต่พระบิดา เราเกิดที่ถนนพ่อค้า เพราะเหตุนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร.

ก็ในวันที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ช้างพังเชือกหนึ่งซึ่งเที่ยวไปได้ในอากาศ นำลูกช้างขาวทั้งตัวรู้กันว่าเป็นมงคลยิ่งมา. ให้สถิตในสถานที่มงคลหัตถี แล้วหลีกไป. ชนทั้งหลายตั้งชื่อช้างนั้นว่า ปัจจัยนาค. เพราะช้างนั้นเกิดขึ้น มีพระมหาสัตว์เป็นปัจจัย. พระราชาได้ประทานนางนม ๖๔ นาง ผู้เว้นจากโทษมีสูงเกินไปเป็นต้น มีถันไม่ยาน มีน้ำนมหวานแก่พระมหาสัตว์. ได้พระราชทานนางนมคนหนึ่งๆ แก่เหล่าทารกหกหมื่นคน ผู้เป็นสหชาติกับพระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์นั้นทรงเจริญด้วยบริวารใหญ่ กับด้วยทารกหกหมื่น. ครั้งนั้นพระราชาให้ทำเครื่องประดับ สำหรับพระราชกุมารราคาแสนหนึ่ง พระราชทานแด่พระเวสสันดรราชกุมาร. พระราชกุมารนั้นเปลื้องเครื่องประดับนั้น ประทานแก่นางนมทั้งหลาย.

ในกาลเมื่อมีชนมพรรษา ๔-๕ ปี ไม่ทรงรับเครื่องประดับที่นางนมทั้งหลายเหล่านั้นถวายคืนอีก. นางนมเหล่านั้นกราบทูลประพฤติเหตุแด่พระราชา. พระราชาทรงทราบประพฤติเหตุนั้น ก็ให้ทำเครื่องประดับอื่นอีกพระราชทาน. ด้วยทรงเห็นว่า อาภรณ์ที่ลูกเราให้แล้ว ก็เป็นอันให้แล้วด้วยดี จงเป็นพรหมไทย. พระราชกุมารก็ประทานเครื่องประดับ แก่เหล่านางนม ในกาลเมื่อยังทรงพระเยาว์ถึง ๙ ครั้ง.

ก็ในกาลเมื่อพระราชกุมารมีพระชนมพรรษา ๘ ปี พระราชกุมารเสด็จไปสู่ปราสาทอันประเสริฐ ประทับนั่งบนพระยี่ภู่ทรงคิดว่า เราให้ทานภายนอกอย่างเดียว. ทานนั้นหายังเราให้ยินดีไม่. เราใคร่จะให้ทานภายใน.

แม้ถ้าใครๆ พึงขอหทัยของเรา เราจะพึงให้ผ่าอุระประเทศ นำหทัยออกให้แก่ผู้นั้น. ถ้าเขาขอจักษุทั้งหลายของเรา เราก็จะควักจักษุให้.

ถ้าเขาขอเนื้อในสรีระเราจะเชือดเนื้อ แต่สรีระทั้งสิ้นให้.

ถ้าแม้ใครๆ พึงขอโลหิตของเรา เราก็จะพึงถือเอาโลหิตให้. หรือว่าใครๆ พึงกล่าวกะเราว่า ท่านจงเป็นทาสของข้า เราก็ยินดียอมตัวเป็นทาสแห่งผู้นั้น.
เมื่อพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ทรงคำนึงถึงทาน เป็นไปในภายใน. ซึ่งเป็นพระดำริแล่นไปเอง เป็นเองอย่างนี้.

มหาปฐพีอันหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็ดังสนั่นหวั่นไหว. ดุจช้างตัวประเสริฐตกมัน อาละวาดคำรามร้อง ฉะนั้น. เขาสิเนรุราชก็โอนไปมา มีหน้าเฉพาะเชตุดรนครตั้งอยู่. ดุจหน่อหวายโอนเอนไปมา ฉะนั้น. ฟ้าก็คะนองลั่นตามเสียงแห่งปฐพี ยังฝนลูกเห็บให้ตก. สายอสนีอันมีในสมัยมิใช่กาล ก็เปล่งแสงแวบวาบ. สาครก็เกิดเป็นคลื่นป่วนปั่น.

ท้าวสักกเทวราชก็ปรบพระหัตถ์ ท้าวมหาพรหมก็ให้สาธุการ เสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกัน ได้มีตลอดถึงพรหมโลก.

สมจริงดัง พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า
ในกาลเมื่อเราเป็นทารก เกิดมาได้ ๘ ปี เรานั่งอยู่บนปราสาท คิดเพื่อจะบริจาคทานว่า เราพึงให้หัวใจ ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย. ถ้าใครขอเรา ให้เราได้ยิน เราก็พึงให้. เมื่อเราคิดถึงการบริจาคทาน อันเป็นความจริง หฤทัยก็ไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นอยู่ในกาลนั้น. แผ่นดินซึ่งมีเขาสิเนรุ และหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ ก็หวั่นไหว.

ในกาลเมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนมพรรษาได้ ๑๖ ปี. พระโพธิสัตว์ได้ทรงศึกษาศิลปทั้งปวงสำเร็จ. ครั้งนั้น พระราชบิดาทรงใคร่จะประทานราชสมบัติแก่พระมหาสัตว์. ก็ทรงปรึกษาด้วยพระนางเจ้าผุสดีผู้พระมารดา จึงนำราชกัญญานามว่า มัทรี ผู้เป็นราชธิดาของพระมาตุละ แต่มัททราชสกุล. ให้ดำรงอยู่ในที่อัครมเหสี ให้เป็นใหญ่กว่าสตรีหมื่นหกพัน อภิเษกพระมหาสัตว์ในราชสมบัติ. พระมหาสัตว์ทรงสละทรัพย์หกแสน ยังมหาทานให้เป็นไปทุกวันๆ จำเดิมแต่กาล ที่ดำรงอยู่ในราชสมบัติ.


สมัยต่อมา พระนางมัทรีประสูติพระโอรส พระญาติทั้งหลายรับ พระราชกุมารนั้นด้วยข่ายทองคำ. เพราะฉะนั้น จึงขนานพระนามว่า ชาลีราชกุมาร. พอพระราชกุมารนั้นทรงเดินได้. พระนางมัทรีก็ประสูติพระราชธิดา. พระญาติทั้งหลายรับ พระราชธิดานั้นด้วยหนังหมี. เพราะฉะนั้น จึงขนานพระนามว่า กัณหาชินาราชกุมารี. พระเวสสันดรโพธิสัตว์ประทับคอช้างตัวประเสริฐอันตกแต่งแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรโรงทานทั้งหก เดือนละ ๖ ครั้ง.


กาลนั้นในกาลิงครัฐเกิดฝนแล้ง ข้าวกล้าไม่สมบูรณ์ ภัย คือความหิวเกิดขึ้นมาก. มนุษย์ทั้งหลายไม่อาจเป็นอยู่ก็ทำโจรกรรม ชาวชนบทถูกทุพภิกขภัยเบียดเบียน ก็ประชุมกันติเตียนที่พระลานหลวง. เมื่อพระราชาตรัสถามถึงเหตุ จึงกราบทูลเนื้อความนั้น. ครั้งนั้นพระราชาตรัสว่า ดีละ ข้าจะยังฝนให้ตก. แล้วส่งชาวเมืองกลับไป. ทรงสมาทานศีล รักษาอุโบสถศีลสิ้น ๗ วัน. ก็ไม่ทรงสามารถให้ฝนตก. พระราชาจึงให้ประชุมชาวเมือง. แล้วรับสั่งถามว่า เราได้สมาทานศีล รักษาอุโบสถศีลสิ้น ๗ วัน ก็ไม่อาจยังฝนให้ตกจะพึงทำอย่างไร. ชาวเมืองกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าพระองค์ไม่สามารถให้ฝนตก. พระราชโอรสของพระเจ้าสญชัยในกรุงเชตุดรทรงนามว่า เวสสันดร. นั้นทรงยินดียิ่งในทาน. มงคลหัตถีขาวล้วน ซึ่งไปถึงที่ใดฝนก็ตกของพระองค์ มีอยู่. ขอพระองค์ส่งพราหมณ์ทั้งหลายไปทูลขอ ช้างเชือกนั้นนำมา. พระราชาตรัสว่า สาธุ แล้วให้ประชุมเหล่าพราหมณ์ เลือกได้ ๘ คน ชื่อรามะ ๑ ธชะ ๑ ลักขณะ ๑ สุชาติมันตะ ๑ ยัญญะ ๑ สุชาตะ ๑ สุยามะ ๑ โกณฑัญญะ ๑. พราหมณ์ชื่อรามะเป็นประมุขของพราหมณ์ทั้ง ๗. ประทานเสบียงส่งไป ด้วยพระราชบัญชาว่า ท่านทั้งหลายจงไปทูลขอช้างพระเวสสันดรนำมา.


พราหมณ์ทั้ง ๘ ไปโดยลำดับลุถึงเชตุดรนคร บริโภคภัตในโรงทาน. ใคร่จะทำสรีระของตนให้เปื้อนด้วยธุลี ไล้ด้วยฝุ่น แล้วทูลขอช้างพระเวสสันดร. ในวันรุ่งขึ้น ไปสู่ประตูเมืองด้านปาจีนทิศ ในเวลาพระเวสสันดรเสด็จไปโรงทาน. ฝ่ายพระราชาเวสสันดรทรงรำพึงว่า เราจักไปดูโรงทาน จึงสรงเสวยโภชนะรสเลิศต่างๆ แต่เช้า. ประทับบนคอคชาธารตัวประเสริฐซึ่งประดับแล้ว เสด็จไปทางปาจีนทวาร. พราหมณ์ทั้ง ๘ ไม่ได้โอกาสในที่นั้น. จึงไปสู่ประตูเมืองด้านทักษิณทิศ ยืนอยู่ ณ สถานที่สูง. ในเวลาเมื่อพระราชาทอดพระเนตรโรงทานทางปาจีนทวารแล้ว เสด็จมาสู่ทักษิณทวาร ก็เหยียดมือข้างขวาออกกล่าวว่า พระเจ้าเวสสันดรราช ผู้ทรงพระเจริญจงชนะๆ.


พระเวสสันดรมหาสัตว์ทอดพระเนตร เห็นพราหมณ์ทั้งหลาย ก็บ่ายช้างที่นั่งไปสู่ที่พราหมณ์เหล่านั้นยืนอยู่ ประทับบนคอช้าง ตรัสคาถาที่หนึ่งว่า

พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีขนรักแร้ดก มีเล็บยาว มีขนยาวและฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ เหยียดแขนขวา จะขออะไรเราหรือ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปรุฬฺหกจฺฉนขโลมา ความว่า มีขนรักแร้ดก มีเล็บงอก มีขนดก คือมีเล็บยาว มีขนยาว มีขนเกิดที่รักแร้ รักแร้ด้วย เล็บด้วย ขนด้วย เรียกว่า กจฺฉนขโลมา รักแร้ เล็บ ขนของพราหมณ์เหล่าใดงอกแล้ว พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีรักแร้ เล็บและขนงอกแล้ว.

พราหมณ์ทั้ง ๘ กราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะทูลขอรัตนะ ซึ่งยังแคว้นแห่งชาวสีพีให้เจริญ ขอพระองค์โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ ซึ่งมีงาดุจงอนไถ สามารถเป็นราชพาหนะ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุรุฬฺหวํ ได้แก่ สามารถเป็นราชพาหนะได้.

พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เราใคร่จะบริจาคทานเป็นไปภายใน ตั้งแต่ศีรษะเป็นต้น พราหมณ์เหล่านี้มาขอทาน เป็นไปภายนอกกะเรา แม้อย่างนั้น เราจะยังความปรารถนาของพราหมณ์เหล่านั้น ให้บริบูรณ์ ประทับอยู่บนคอช้างตัวประเสริฐ ตรัสคาถานี้ว่า
เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ เป็นช้างราชพาหนะสูงสุด ที่พราหมณ์ทั้งหลายขอเรา เรามิได้หวั่นไหว.

ครั้นตรัสปฏิญญาฉะนี้แล้ว
พระราชาผู้ผดุงรัฐสีพีให้เจริญ มีพระหฤทัยน้อมไปในการบริจาคทาน เสด็จลงจากคอช้าง พระราชทานทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปคุยฺหํ ได้แก่ ราชพาหนะ. บทว่า จาคาธิมานโส ได้แก่ มีพระหฤทัยยิ่งด้วยการบริจาค. บทว่า อทา ความว่า ได้พระราชทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย.

พระมหาสัตว์ทรงทำประทักษิณช้าง ๓ รอบ เพื่อทรงตรวจที่กายช้างซึ่งประดับแล้ว ก็ไม่เห็นในที่ซึ่งยังมิได้ประดับ จึงทรงจับพระเต้าทองคำ อันเต็มด้วยน้ำหอมเจือดอกไม้ ตรัสกะพราหมณ์ทั้งหลายว่า ดูก่อนมหาพราหมณ์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาข้างนี้ ทรงวางงวงช้างซึ่งเช่นกับพวงเงิน อันประดับแล้วในมือแห่งพราหมณ์เหล่านั้น หลั่งน้ำลงพระราชทานช้างอันประดับแล้ว อลังการที่ ๔ เท้าช้างราคา ๔ แสน. อลังการ ๒ ข้างช้างราคา ๒ แสน. ข่ายคลุมหลัง ๓ คือข่ายแก้วมุกดา ข่ายแก้วมณี ข่ายทองคำ ราคา ๓ แสน. กระดึงเครื่องประดับที่ห้อย ๒ ข้างราคา ๒ แสน. ผ้ากัมพลลาดบนหลังราคา ๑ แสน. อลังการคลุมกะพองราคา ๑ แสน. สายรัด ๓ สายราคา ๓ แสน. พู่เครื่องประดับที่หูทั้ง ๒ ข้างราคา ๒ แสน. ปลอกเครื่องประดับงาทั้ง ๒ ราคา ๒ แสน. วลัยเครื่องประดับทาบที่งวงราคา ๑ แสน. อลังการที่หางราคา๑ แสน. เครื่องประดับอันตกแต่งงดงามที่กายช้าง ยกภัณฑะไม่มีราคารวมราคา ๒๒ แสน. เกยสำหรับขึ้นราคา ๑ แสน. อ่างบรรจุของบริโภคเช่นหญ้าและน้ำ ราคา ๑ แสน. รวมเข้าด้วยอีกเป็นราคา ๒๔ แสน. ยังแก้วมณีที่กำพูฉัตร ที่ยอดฉัตร ที่สร้อยมุกดา ที่ขอ ที่สร้อยมุกดาผูกคอช้าง ที่กะพองช้าง และที่ตัวพระยาช้าง รวม ๗ เป็นของหาค่ามิได้. ได้พระราชทานทั้งหมดแก่พราหมณ์ทั้งหลาย และพระราชทานคนบำรุงช้าง ๕๐๐ สกุลกับทั้งควาญช้าง คนเลี้ยงช้างด้วย.
ก็มหัศจรรย์มีแผ่นดินไหวเป็นต้น ได้มีแล้วพร้อมกับพระเวสสันดรมหาราชทรงบริจาคมหาทาน โดยนัยอันกล่าวมาแล้ว ในหนหลังนั่นแล.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อพระบรมกษัตริย์พระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว ในกาลนั้น ความน่าสะพึงกลัวขนพองสยองเกล้าได้เกิดมี เมทนีดลก็หวั่นไหว.
เมื่อบรมกษัตริย์พระราชทานช้างตัวประเสริฐ ในกาลนั้น ได้เกิดมีความน่าสะพึงกลัวขนพองสยองเกล้า ชาวพระนครกำเริบ.
ในเมื่อพระเวสสันดรบรมกษัตริย์ผู้ยังชาวสีพีให้เจริญ พระราชทานช้างตัวประเสริฐ ชาวบุรีก็เกลื่อนกล่น เสียงอันอื้ออึงก็แผ่ไปมากมาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตทาสิ ได้แก่ ได้มีในเวลานั้น. บทว่า หตฺถินาเค ได้แก่ สัตว์ประเสริฐ คือช้าง. บทว่า ขุภิตฺถ นครํ ตทา ความว่า ได้กำเริบแล้ว.

ได้ยินว่า พราหมณ์ทั้งหลายได้ช้างแถบประตูด้านทักษิณทิศ นั่งบนหลัง มีมหาชนแวดล้อม ขับไปท่ามกลางพระนคร มหาชนเห็นแล้วกล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า แน่ะเหล่าพราหมณ์ผู้เจริญ ท่านขึ้นช้างของเราทั้งหลาย ท่านได้มาแต่ไหน. พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า ช้างนี้พระเวสสันดรมหาราชเจ้าพระราชทานแก่พวกเรา. เมื่อโต้ตอบกะมหาชนด้วยวิการแห่งมือเป็นต้น พลางขับไปท่ามกลางพระนคร ออกทางประตูทิศอุดร ชาวพระนครโกรธพระบรมโพธิสัตว์ ด้วยสามารถเทวดาดลใจให้คิดผิด จึงชุมนุมกัน กล่าวติเตียนใหญ่แทบประตูวัง.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว เสียงอื้ออึงน่ากลัวเป็นอันมาก ก็เป็นในนครนั้น ในกาลนั้น ชาวพระนครก็กำเริบ.
ครั้งนั้น ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญรุ่งเรือง พระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว เสียงอื้ออึงน่ากลัวเป็นอันมาก ก็เป็นไปในนครนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โฆโส ได้แก่ เสียงติเตียน. บทว่า วิปุโล ได้แก่ ไพบูลย์เพราะแผ่ออกไป. บทว่า มหา ได้แก่ มากมายเพราะไปในเบื้องบน. บทว่า สิวีนํ รฏฺฐวฑฺฒเน ได้แก่ กระทำความเจริญแก่แว่นแคว้นของประชาชน ผู้อยู่ในแว่นแคว้นสีพี.

ครั้งนั้น ชาวเมืองมีจิตตื่นเต้น เพราะพระเวสสันดรพระราชทานช้างสำคัญของบ้านเมือง จึงกราบทูลพระเจ้าสญชัย.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
พวกคนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตรทั้งหลาย พ่อค้า ชาวนาทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวนิคม ชาวสีพีทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว เห็นช้างถูกพราหมณ์ทั้ง ๘ นำไป พวกเหล่านั้นจึงกราบทูลพระเจ้าสญชัยให้ทรงทราบว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แคว้นของพระองค์อันพระเวสสันดรกำจัดเสียแล้ว พระเวสสันดรพระโอรสของพระองค์ พระราชทานช้างตัวประเสริฐของเราทั้งหลาย ซึ่งชาวแว่นแคว้นบูชาแล้ว ด้วยเหตุไร.
พระเวสสันดรพระราชทานช้างของเราทั้งหลาย ซึ่งมีงาดุจงอนไถ เป็นราชพาหนะ รู้ชัยภูมิแห่งการยุทธ์ทุกอย่าง ขาวทั่วสรรพางค์ เป็นช้างสูงสุด คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลืองซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้ ฝึกดีแล้ว พร้อมด้วยพัดวาลวีชนี มีกายสีขาวเช่นกับเขาไกรลาส พร้อมด้วยเศวตฉัตรทั้งเครื่องลาดอันงาม ทั้งหมอทั้งคนเลี้ยง เป็นราชยานอันเลิศ เป็นช้างพระที่นั่ง พระราชทานให้เป็นทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ เสียด้วยเหตุไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุคฺคา ได้แก่ เด่น คือรู้กันทั่ว คือปรากฏ. บทว่า นิคโม ได้แก่ คนมีทรัพย์ชาวนิคม. บทว่า วิธมํ เทว เต รฏฺฐํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แคว้นของพระองค์ถูกกำจัดเสียแล้ว. บทว่า กถํ โน หตฺถินํ ทชฺชา ความว่า พระราชทานช้างที่รู้สึกกันว่า เป็นมงคลยิ่งของเราทั้งหลาย แก่พราหมณ์ชาวกาลิงครัฐ ด้วยเหตุไร. บทว่า เขตฺตญฺ สพฺพยุทฺธานํ ความว่า ผู้สามารถรู้ความสำคัญของชัยภูมิแห่งการยุทธ์ แม้ทุกอย่าง. บทว่า ทนฺตึ ได้แก่ ประกอบด้วยการฝึกจนใช้ได้ ตามชอบใจ. บทว่า สวาลวีชนึ ได้แก่ ประกอบด้วยพัดวาลวีชนี. บทว่า สุปตฺเถยฺยํ ได้แก่ พร้อมด้วยเครื่องลาด. บทว่า สาถพฺพนํ ได้แก่ พร้อมด้วยหมอช้าง. บทว่า สหตฺถิปํ ความว่า พร้อมด้วยคนเลี้ยง คือคนบำรุงช้าง และคนดูแลรักษาช้าง ๕๐๐ สกุล.

ก็และครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวอย่างนี้อีกว่า
พระเวสสันดรนั้นควรพระราชทาน ข้าวน้ำและผ้านุ่ง ผ้าห่ม เสนาสนะ เพราะว่า ของนั้นสมควรแก่พราหมณ์ทั้งหลาย พระเวสสันดรนี้เป็นพระราชาสืบวงศ์มาแต่พระองค์ เป็นผู้ทำความเจริญแก่สีพีรัฐ ข้าแต่พระเจ้าสญชัย พระเวสสันดรผู้พระราชโอรสพระราชทานช้าง เสียทำไม ถ้าพระองค์จักไม่ทรงทำตามคำอันนี้ของชาวสีพี ชะรอยชาวสีพีจักพึงทำพระองค์กับพระราชโอรสไว้ในเงื้อมมือของตน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วํสราชาโน ได้แก่ เป็นมหาราชมาตามเชื้อสาย. บทว่า ภาเชติ ได้แก่ พระราชทาน. บทว่า สิวิหตฺเถ กริสฺสเร ความว่า ชนชาวสีพีรัฐทั้งหลายจักทำพระองค์กับพระราชโอรส ในมือของตน.

พระเจ้าสญชัยได้ทรงสดับดังนั้น ทรงสำคัญว่า ชาวเมืองเหล่านี้จักปลงพระชนม์พระเวสสันดร จึงตรัสว่า
ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แว่นแคว้นจักพินาศไปก็ตามเถิด เราก็ไม่พึงเนรเทศพระโอรสผู้หาความผิดมิได้ จากแคว้นของตนตามคำของชาวเมืองสีพี เพราะลูกเกิดแต่อุระของเรา และเราไม่พึงประทุษร้ายในโอรสนั้น เพราะเธอเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตรอันประเสริฐ แม้คำติเตียนจะพึงมีแก่เรา และเราจะพึงได้บาปเป็นอันมาก ฉะนั้น เราจะฆ่าลูกเวสสันดรด้วยศัสตรา ได้อย่างไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาสิ ตัดบทเป็น มา อโหสิ ความว่า จงอย่าเป็น. บทว่า อริยสีเลวโต ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลและวัตรอันประเสริฐ คือสมาจารสมบัติอันประเสริฐ. บทว่า ฆาตยามเส ได้แก่ จักฆ่า. บทว่า ทุพฺเภยฺยํ ความว่า ลูกของเราไม่มีโทษ คือปราศจากความผิด.

ชาวสีพีได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า
พระองค์อย่าประหารพระเวสสันดรนั้น ด้วยท่อนไม้และศัสตรา เพราะพระปิโยรสนั้นหาควรแก่เครื่องพันธนาการไม่ พระองค์จงขับพระเวสสันดรนั้นเสียจากแคว้น พระเวสสันดรจงประทับอยู่ ณ เขาวงกต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา นํ ทณฺเฑน สตฺเถน ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าทรงประหารพระเวสสันดรนั้น ด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตรา. บทว่า น หิ โส พนฺธนารโห ความว่า พระเวสสันดรนั้นเป็นผู้ไม่ควรแก่พันธนาการเลยทีเดียว.

พระเจ้าสญชัยได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า
ถ้าชาวสีพีพอใจอย่างนี้ เราก็ไม่ขัดความพอใจ ขอโอรสของเราจงอยู่ตลอดราตรีนี้ และจงบริโภคกามารมณ์ทั้งหลาย แต่นั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวสีพีจงพร้อมกันขับโอรสของเราจากแว่นแคว้นเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสตุ ความว่า พระเจ้าสญชัยตรัสว่า ลูกเวสสันดรจงอยู่ให้โอวาทแก่บุตรและทาระ พวกเจ้าจงให้โอกาสเธอ ราตรีหนึ่ง.

ชาวเมืองสีพีรับพระราชดำรัสว่า พระโอรสนั้นจงยับยั้งอยู่ สักราตรีหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระเจ้าสญชัยส่งชาวเมืองเหล่านั้นให้กลับไปแล้ว เมื่อจะส่งข่าวแก่พระโอรส จึงตรัสเรียกนายนักการมา ส่งไปสำนักพระโอรส นายนักการรับพระราชกระแสรับสั่ง แล้วไปสู่พระนิเวศน์แห่งพระเวสสันดร กราบทูลประพฤติเหตุ.

เมื่อพระศาสดา จะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แน่ะนายนักการ เจ้าจงลุกรีบไปบอกลูกเวสสันดรว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชาวสีพีและชาวนิคมขัดเคืองพระองค์ มาประชุมกัน พวกคนที่มีชื่อเสียงและพระราชบุตรทั้งหลาย พ่อค้าทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวนิคม ชาวสีพีทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว ในเมื่อราตรีนี้สว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวสีพีทั้งหลายพร้อมกันขับพระองค์จากแว่นแคว้น.
นายนักการนั้นอันพระเจ้ากรุงสีพีส่งไป ก็สวมสรรพาภรณ์ นุ่งห่มดีแล้ว ประพรมด้วยแก่นจันทน์ เขาสนานศีรษะในน้ำ แล้วสวมกุณฑลมณี ไปสู่วังอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นพระนิเวศน์แห่งพระเวสสันดร เขาได้เห็นพระเวสสันดรรื่นรมย์ อยู่ในวังของพระองค์นั้น ซึ่งเกลื่อนไปด้วยเสวกามาตย์ ดุจท้าววาสวะของเทพเจ้าชาวไตรทศ.
นายนักการนั้นไป ณ ที่นั้นได้กราบทูลพระเวสสันดร ผู้รื่นรมย์อยู่ว่า ข้าแต่พระจอมพล ข้าพระบาทจักทูลความทุกข์ของพระองค์ ขอพระองค์อย่ากริ้วข้าพระบาท นักการนั้นถวายบังคมแล้วร้องไห้ กราบทูลพระเวสสันดรว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เป็นผู้ชุบเลี้ยงข้าพระบาท เป็นผู้นำมาซึ่งรส คือความใคร่ทั้งปวง ข้าพระบาทจักกราบทูลความทุกข์ของพระองค์ เมื่อข่าวแสดงความทุกข์ อันข้าพระบาทกราบทูลแล้ว ขอฝ่าพระบาททรงยังข้าพระบาทให้ยินดี.
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ชาวสีพีและชาวนิคมขัดเคืองพระองค์ มาประชุมกัน พวกคนที่มีชื่อเสียง และพระราชบุตรทั้งหลาย และพวกพ่อค้าทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวนิคม ชาวสีพีทั้งสิ้น ประชุมกันแล้ว ในเมื่อราตรีนี้สว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวสีพีทั้งหลาย พร้อมกันขับพระองค์จากแว่นแคว้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมารํ ได้แก่ พระราชาที่นับว่าเป็นกุมาร เพราะยังมีพระมารดาและพระบิดา. บทว่า รมฺมานํ ได้แก่ ผู้ประทับนั่งตรัสสรรเสริญ ทานที่พระองค์ให้แล้ว มีความโสมนัส. บทว่า อมจฺเจหิ ได้แก่ แวดล้อมไปด้วยเหล่าอำมาตย์ ผู้สหชาติประมาณหกหมื่นคน ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ ภายใต้เศวตฉัตรที่ยกขึ้นแล้ว. บทว่า เวทยิสฺสามิ ได้แก่ จักกราบทูล. บทว่า ตตฺถ อสฺสายนฺตุ มํ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อข่าวแสดงความทุกข์นั้น อันข้าพระบาทกราบทูลแล้ว ขอฝ่าพระบาทโปรดยังข้าพระองค์ให้ยินดี คือขอพระองค์โปรดตรัสกะข้าพระบาทว่า เจ้าจงกล่าวตามสบายเถิด. นักการกล่าวอย่างนั้น ด้วยความประสงค์ดังนี้.

พระมหาสัตว์ตรัสว่า
ชาวสีพีขัดเคืองเราผู้ไม่เห็นความผิด ในเพราะอะไร แน่ะนักการ ท่านจงแจ้งความผิดนั้นแก่เรา ชาวเมืองทั้งหลายจะขับไล่เรา เพราะเหตุไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิสฺมิ ได้แก่ ในเพราะเหตุอะไร. บทว่า วิยาจิกฺข ความว่า จงกล่าวโดยพิสดาร.

นักการกราบทูลว่า
พวกคนมีที่ชื่อเสียงและพระราชบุตรทั้งหลาย พ่อค้าทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ขัดเคืองพระองค์ เพราะพระราชทานคชสารตัวประเสริฐ ฉะนั้น พวกเขาจึงขับพระองค์เสีย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขียนฺติ แปลว่า ขัดเคือง.

พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงโสมนัส ตรัสว่า
ดวงหทัยหรือจักษุ เราก็ให้ได้ จะอะไรกะทรัพย์นอกกายของเรา คือ เงิน ทอง มุกดา ไพฑูรย์หรือแก้วมณี ในเมื่อยาจกมาแล้ว เราได้เห็นเขาแล้ว พึงให้พาหาเบื้องขวาเบื้องซ้ายก็ได้ เราไม่พึงหวั่นไหว เพราะใจของเรายินดีในการบริจาค ปวงชาวสีพีจงขับไล่ หรือฆ่าเราเสียก็ตาม พวกเขาจะตัดเราเสียเป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด เราจักไม่งดเว้นจากการบริจาค เป็นอันขาด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาจกมาคเต ความว่า เมื่อยาจกมาแล้ว ได้เห็นยาจกนั้น. บทว่า เนว ทานา วิรมิสฺสํ ความว่า จักไม่งดเว้นจากการบริจาค เป็นอันขาด.

นักการได้ฟังดังนั้น เมื่อจะกราบทูลข่าวอย่างอื่นตามมติของตน ซึ่งพระเจ้าสญชัยหรือชาวเมือง มิได้ให้ทูลเลย จึงกราบทูลว่า
ชาวสีพีและชาวนิคมประชุมกัน กล่าวอย่างนี้ว่า พระเวสสันดรผู้มีวัตรอันงาม จงเสด็จไปสู่ภูผาอันชื่อว่า อารัญชรคีรี ตามฝั่งแห่งแม่น้ำโกนติมารา ตามทางที่พระราชาผู้ถูกขับไล่ เสด็จไปนั้นเถิด. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกนฺติมาราย ได้แก่ ตามฝั่งแห่งแม่น้ำชื่อว่าโกนติมารา. บทว่า คิริมารญฺชรํ ปติ ความว่า เป็นผู้มุ่งตรงภูผาชื่อว่าอารัญชร. บทว่า เยน ความว่า นักการกราบทูลว่า ชาวสีพีทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า พระราชาทั้งหลายผู้บวชแล้ว ย่อมไปจากแว่นแคว้นโดยทางใด แม้พระเวสสันดรผู้มีวัตรงดงาม ก็จงเสด็จไปทางนั้น ได้ยินว่า นักการนั้นถูกเทวดาดลใจ จึงกล่าวคำนี้.

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น จึงมีพระราชดำรัสว่า สาธุ เราจักไปโดยมรรคาที่เสด็จไปแห่ง พระราชาทั้งหลายผู้รับโทษ ก็แต่ชาวเมืองทั้งหลายมิได้ขับไล่เราด้วยโทษอื่น ขับไล่เราเพราะเราให้คชสารเป็นทาน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักบริจาคสัตตสดกมหาทาน สักหนึ่งวัน ชาวเมืองจงให้โอกาส เพื่อเราได้ให้ทาน สักหนึ่งวัน รุ่งขึ้น เราให้ทานแล้วจักไปในวันที่ ๓
ตรัสฉะนี้ แล้วตรัสว่า
เราจักไปโดยมรรคาที่พระราชาทั้งหลายผู้ต้องโทษ เสด็จไป ท่านทั้งหลายงดโทษให้เราสักคืนกับวันหนึ่ง จนกว่าเราจะได้บริจาคทานก่อนเถิด.

นักการได้ฟังดังนั้นแล้วกราบทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า ข้าพระบาทจักแจ้งความนั้นแก่ ชาวพระนครและแด่พระราชา ทูลฉะนี้ แล้วหลีกไป.
พระมหาสัตว์ส่งนักการนั้นไปแล้ว จึงให้เรียกมหาเสนาคุตมาเฝ้า. ดำรัสให้จัดสัตตสดกมหาทานว่า พรุ่งนี้เราจักบริจาคสัตตสดกมหาทาน ท่านจงจัดช้าง ๗๐๐ เชือก. ม้า ๗๐๐ ตัว. รถ ๗๐๐ คัน. สตรี ๗๐๐ คน. โคนม ๗๐๐ ตัว. ทาส ๗๐๐ คน. ทาสี ๗๐๐ คน. จงตั้งไว้ซึ่งข้าวน้ำ เป็นต้นมีประการต่างๆ สิ่งทั้งปวงโดยที่สุด แม้สุราซึ่งเป็นสิ่งไม่ควรให้ แล้วส่งอำมาตย์ทั้งหลายให้กลับ แล้วเสด็จไปที่ประทับพระนางมัทรีแต่พระองค์เดียว ประทับนั่งข้างพระยี่ภู่อันเป็นสิริ ตรัสกับพระนางนั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ตรัสเรียก พระนางมัทรีผู้งามทั่วสรรพางค์นั้นมาว่า พัสดุอันใดอันหนึ่งที่ฉันให้เธอ ทั้งทรัพย์อันประกอบด้วยสิริ เงิน ทอง มุกดา ไพฑูรย์มีอยู่มาก และสิ่งใดที่เธอนำมาแต่พระชนกของเธอ เธอจงเก็บสิ่งนั้นไว้ทั้งหมด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิทเหยฺยาสิ ความว่า เธอจงเก็บขุมทรัพย์ไว้. บทว่า เปติกํ ได้แก่ ที่เธอนำมาแต่ฝ่ายพระชนก.

พระราชบุตรีพระนามว่ามัทรี ผู้งามทั่วพระกาย จึงทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพจะโปรดให้เก็บทรัพย์ทั้งนั้นไว้ในที่ไหน ขอพระองค์รับสั่งแก่หม่อมฉันผู้ทูลถาม ให้ทราบ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมพฺรวิ ความว่า ทูลกระหม่อม เวสสันดรพระสวามีของเราไม่เคยตรัสว่า เธอจงเก็บทรัพย์ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ เฉพาะคราวนี้พระองค์ตรัส เราจักทูลถามทรัพย์นั้นจะโปรดให้เก็บไว้ในที่ไหนหนอ พระนางมัทรีมีพระดำริดังนี้ จึงได้ทูลถามดังนั้น.

พระเวสสันดรบรมกษัตริย์จึงตรัสว่า
ดูก่อนพระน้องมัทรี เธอจงบริจาคทานในท่านผู้มีศีลทั้งหลายตามควร เพราะที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวงอย่างอื่น ยิ่งกว่าทานการบริจาค ย่อมไม่มี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทชฺเชสิ ความว่า แน่ะพระน้องมัทรีผู้เจริญ เธออย่าได้เก็บทรัพย์ไว้ในที่มีพระคลัง เป็นต้น เมื่อจะเก็บเป็นขุมทรัพย์ที่จะติดตามตัวไป พึงถวายในท่านผู้มีศีลทั้งหลาย ในแว่นแคว้นของเรา. บทว่า น ห

คำสำคัญ (Tags): #กัณฑ์หิมพานต์
หมายเลขบันทึก: 462326เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2011 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กัณฑ์หิมพานต์ ประดับด้วยคาถา ๑๓๔ พระคาถา

เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

วัดพระเชตุพนวิมลสังคลาราม กรุงเทพมหานคร

เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “ตวงพระธาตุ”

ประกอบกิริยาอวยทานของพระเวสสันดรที่ทรงบริจาคทาน

ข้อคิดจากกัณฑ์

การทำความดี มักมีอุปสรรค

เนื้อความโดยย่อ

เทพธิดา “ผุสดี” พระอัครมเหสีแห่พระอินทรเทพ

ทรงจุติจากสวรรค์ลงมาถือกำเนิดเป็นพระธิดากษัตริย์มัททราช

มีพระนาม “ผุสดี” ดังทศพรประการที่ ๔ ที่ทรงขอไว้

ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชยแห่งกรุงสีพี

เมื่อมีพระโอรสนามว่า “พระเวสสันดร”

ด้วยทรงประสูติในตรอกพ่อค้า

ก็ทรงได้สมพระปรารถนาในทศพรประการที่ ๕

ด้วยพระกุมารเวสสันดรนั้น

ทันที่ประสูติจากพระครรภ์ ก็ทรงทูลขอทรัพย์บริจาคทันที

และเมื่อทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา

ก็ทรงสร้างทานศาลาขึ้น ๖ แห่ง สำหรับบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้โดยถ้วนหน้า

ในวันที่ พระเวสสันดร ประสูตินั้น

ทรงได้ช้างเผือกขาวบริสุทธิ์

ที่แม่ช้างชาติฉัททันต์นำมาถวายไว้ในโรงช้าง

ชาวสีพีขนานนามช้างว่า “ปัจจัยนาเคนทร์”

ด้วยเป็นช้างมงคลที่แม้ขับขี่ไปในที่ใด

ก็จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

กาลต่อมา เมื่อเมืองกลิงคราษฎร์ เกิดข้าวยากหมากแพง

ด้วยฝนฟ้าแล้งมิตกต้องตามฤดูกาล

พระเจ้ากลิงคราษฎร์มิอาจทรงแก้ไขได้

แม้จะทรงรักษาอุโบสถศีลครบกำหนด ๗ วันแล้วก็ตาม

จนต้องทรงแต่งตั้งพราหมณ์ ๘ คน

ไปทูลขอ ช้างปัจจัยนาเคนทร์ จาก พระเวสสันดร

พระเวสสันดรก็ประทานให้

เป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ

ถึงขั้นกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากบ้านเมืองไป

พระเวสสันดร แม้จะประทาน ช้างปัจจัยนาเคนทร์

จนต้องถูกเนรเทศก็มิทรงย่อท้อที่จะบำเพ็ญทาน

ยังทรงทูลขอโอกาสบริจาคทานครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “สตสดกมหาทาน”

ก่อนที่จะทรงจากไป ทรงให้พระนางมัทรีบริจาคทรัพย์ถวายแด่ผู้ทรงศีล

และให้พระนางทรงอยู่บำรุงรักษาพระโอรสพระธิดา

ทั้งทรงอนุญาตให้อภิเษกสมรสใหม่ได้

แต่พระนางมัทรีขอตามเสด็จไปพร้อมพระโอรสและพระธิดา

และได้ทรงพรรณนาถึงความสวยงามและน่าทัศนาของป่าหิมพานต์ถึง ๒๔ พระคาถา

เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่า พระนางเต็มพระทัยโดยเสด็จ

มิได้ทรงเห็นเป็นเรื่องทุกข์ทรมานแต่ประการใด

ตัวละครสะท้อนคุณธรรม

พระเวสสันดร เป็นแบบอย่างของผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ไม่ยึดติดกับอำนาจวาสนา บริบูรณ์ใน พรหมวิหาร ๔ ประการ

ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

พระโบราณจารย์เจ้า ได้แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาในเวสสันดรชาดกไว้โดยลำดับดังนี้

ผู้บูชากัณฑ์หิมพานต์ (กัณฑ์ ที่ ๒)

ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนาทุกประการ

ครั้นตายแล้วได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์

เสวยสมบัติอันมโหฬาร

มีบริวารแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่เป็นนิตย์

จุติจากสวรรค์แล้วจะลงมาเกิดในขัตติยมหาศาล

หรือตระกูลพราหมณ์มหาศาล อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สฤงคาร

บริวารมากมาย นานาปประการ

เช่น โค กระบือ ช้างม้า รถ ยานพาหนะนับประมาณมิได้

ประกอบด้วยความสุขกายสบายใจทุกอิริยาบถ

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตก ในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.

ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.

นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.

พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.

อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.

ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.

พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.

พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.

พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.

ชาลีกุมาร คือ ราหุล.

กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.

ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.

ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

นี่เป็นเนื้อเรื่องเต็มรึเปล่าคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท