เส้นทางพันโค้ง…สู่คอที่สวยที่สุดในประเทศไทย


               ถนนเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่จังหวัดระนองนั้นมี 2 เส้นทางหลัก ๆ คือ เข้าทางอำเภอหลังสวน    ผ่านอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร 1 เส้นทาง และอีกเส้นทางหนึ่ง เข้าทางสี่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ผ่านไปทางหมู่บ้านทับหลี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการทำซาลาเปาที่สุดแสนอร่อย มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนไทยมากทีเดียว  หมู่บ้านทับหลีนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง 

 

 

 

พบว่าเส้นทางถนนสายนี้เป็นเส้นทางที่ขับรถยากเส้นทางหนึ่ง  ถนนตัดผ่านทั้งที่ราบเชิงเขา หุบเขา และลัดเลาะตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า และที่สำคัญ เป็นถนนเล็ก ๆ ที่รถยนต์ต้องวิ่งสวนทางกันอีกด้วย   

 

ระหว่างทางสังเกตเห็น….ป้ายข้างทางบอกไว้ว่า… ถนนสายนี้มีโค้งรวมทั้งสิ้น ร่วมสองพันโค้ง ในจำนวนนี้เป็นโค้งอันตรายมาก ๆ ร่วมร้อยโค้งเลยละ    การขับรถกว่าจะถึงตัวเมืองจังหวัดระนองนั้น คนขับแทบจะละสายตาไปชมวิวข้างทางไม่ได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว (สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ…กลิ่นไอของธรรมชาติแบบสุด ๆ จึงไม่แปลกใจเลยว่า… ธรรมชาตินั้นให้อะไรกับเราบ้าง ธรรมชาติให้สิ่งที่เราไม่ต้องตั้งโจทย์และคำถาม ถามกลับไปเลย  เพราะคำตอบมันมีอยู่ในตัวของมันแล้ว มีแต่เพียงคนที่คิดไม่ได้เท่านั้น ที่เฝ้าเวียนแต่จะตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับธรรมชาติที่แสนพิสุทธิ์นี้ เพียงเพื่อผลประโยชน์และค่าตอบแทนที่ทำร้ายธรรมชาติอย่างจงใจ )

 

ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรจากสี่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร มุ่งหน้าสู่จังหวัดระนอง จะพบเส้นทางถนนตรง ๆ นั้นน้อยมาก  ระหว่างทางที่ขับผ่าน ถนนสายคดเคี้ยวเหล่านี้ เริ่มปรากฏชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า   “หมู่บ่านทับหลี” ที่ตลอดสองข้างทางแทบจะเกือบทุกบ้านเลยก็ว่าได้  ตั้งซึ้งบรรจุสินค้านามว่า ซาลาเปาทับหลี สินค้าที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านไว้ จนระรานตาไปหมด

 

 

 

              จอดรถนั่งกินข้าวราดแกงจนหายหิว นั่งสักพักจึงได้หาจังหวะคุยกับแม่ค้าข้าวแกงว่า “ทำไมซาลาเปาที่นี่ถึงเยอะจัง” แม่ค้าข้าวแกงบอกว่า เยอะเพราะเค้าขายได้ทุกวัน และที่สำคัญซาลาเปาที่นี่ขึ้นชื่อมาก ๆ

               แอบสังเกตเห็นว่า..ร้านขายซาลาเปาแต่ละร้านจะโฆษณา ว่า เป็นเจ้าดั้งเดิม เจ้าแรก กันถ้วนทั่ว (แอบสงสัย) จึงกระซิบถามแม่ค้าว่า … “แล้วเจ้าไหนถึงเป็นเจ้าแรก เจ้าดั้งเดิมจริง ๆ ละครับ”

                แม่ค้าข้าวแกงบอกว่า “ร้านซาลาเปาแต่ละร้านก็จะมีสูตรทับหลีเป็นของตัวเอง เพราะทุกเจ้าต่างเป็นคนในพื้นที่นี้ทั้งนั้น ทุกสูตรจึงอร่อยเหมือนกัน” หากจะให้บอกว่าเจ้าดั้งเดิมที่ทำมานานมากนั้น ต้องร้านนี้ “ฮั่นหยกหย่วน” รับรองไม่ผิดหวัง และนี่คือคำตอบที่อยากรู้ เพราะอยากลิ้มลองรสชาติของซาลาเปาทับหลี ที่ขึ้นชื่อที่สุดยี่ห้อหนึ่งของเมืองไทย แบบสด ๆ เต็ม ๆ

 

 

              ซาลาเปาที่ขาย ลูกละ 6 บาทขนาด 2-3 คำกินต่อลูก สำหรับคนชนบทแบบเรา (คิดในใจ…ไม่แพงเลยสำหรับความอร่อยที่หากินกันไม่ได้ง่าย ๆ นัก) คนขายซาลาเปาเป็นผู้หญิงที่มีเชื้อสายจีน เธอมีบรรพบุรุษที่เป็นคนจีนผืนแผ่นดินใหญ่โดยแท้… บรรจงเอาซาลาเปาที่สั่งซื้อ ใส่กล่องให้

 

 

แพ็คกล่องเรียบร้อย  เธอยื่นซาลาเปาที่บรรจุลงกล่องให้  พร้อมรอยยิ้มที่เจอด้วยไมตรีจิตของเธอต่อเรา...  ในฐานะผู้เดินทางที่จอดรถลิ้มลอง รสชาด ซาลาเปาทับหลีที่เธอทำมากับมือของเธอ  เธอการันตีความอร่อยของสินค้าจากสีหน้าและแววตาที่เธอมีให้  ก่อนที่ข้าพเจ้าจะหันหลังกลับไปขึ้นรถเพื่อเดินทางต่อ

 

หมู่บ้านทับหลีแหล่งนี้  มีประวัติความเป็นมามากมาย  

http://tub-lee.moobanthai.com/history/

และนี่คือ…ความไม่ธรรมดาของคำว่า “ทับหลี

 

              นั่งกินซาลาเปาก่อนออกรถขับต่อไปยังจุดหมายปลายทาง  พบว่า…รอยยิ้มที่เธอการันตีความอร่อยของสินค้า เป็นจริงตามนั้นจริง ๆ ความนุ่มของเนื้อซาลาเปาและความหอมอร่อยของไส้ภายในที่ถูกห่อหุ้มเอาไว้ ทั้งไส้หมูสับ ไส้เค็ม ไส้หวาน และอีกหลาย ๆ ไส้ “ชวนชิมนัก”

ขับรถเลยหมู่บ้านทับหลีไปหน่อย   พบพื้นที่ ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยด้วยนะ  โชคดีที่ฝนไม่ตก การหยุดรถจอดชื่นชมธรรมชาติที่นี่จึงเป็นความกุลีกุจอที่ยอมรับกับตัวเองว่า...ชอบ 

 

 

  

ภูเขา ต้นไม้ ชาวนาเกี่ยวข้าว คนสวนกรีดยาง ภาพผู้หญิงกับเด็กที่ยืนเก็บมะม่วงหิมพานต์ใส่กระจาด...  ทำให้iรู้สึกและรับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้  ภาพนี้จึงเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

 

 

ลองมองดูนะครับว่า…รู้สึกเช่นไร?

 

              บรรยากาศและทิวทัศน์ ริมแม่น้ำกระบุรีนี้ คุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไป…. การเก็บภาพความทรงจำเอาไว้ในกล้องถ่ายรูป  หากวันไหนหรือครั้งคราใดก็ตามที่หวลระลึกถึง  มันก็จะปรากฏให้เห็นเสมอในภาพถ่ายและความทรงจำ  

 

 

 

             ภูเขาในภาพนี้ คือพื้นที่ป่าไม้ของประเทศพม่า ที่นั่งมองเห็นได้ถนัดตาว่า ป่าถูกโค่นเช่นกัน มีพืชเศรษฐกิจเข้าปลูกแทนที่ ทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน

              บริเวณริมฝั่งน้ำ ยังมีพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่หนาแน่นทีเดียว  ถามน้องที่เปิดร้านกาแฟสด บริเวณนี้ว่า ต้นไม้ที่ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำกระบุรีนี้ คือต้นอะไร คำตอบคือ “ต้นจาก” พืชเศรษฐกิจของพม่าที่ข้ามฝั่งมาขายฝั่งไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

 

 

                 บรรยากาศที่นี่เป็นใจนัก ธรรมชาติที่รังสรรค์  สายลมที่พัดผ่าน สัมผัสรู้ถึงความอ่อนโยนของธรรมชาติ ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ  เสียงนกร้อง ระลอกคลื่นของสายน้ำที่พลิ้วไหวไปยามเมื่อต้องกับสายลมที่พัดผ่านผิวน้ำนั้น

 

 

 

ยืนมองธรรมชาตินี้อยู่เป็นนานสองนาน มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านแถวนี้ ด้วยความรู้สึกที่บ่งบอกถึงความเป็นคนในพื้นที่ที่ไม่มีอะไรต้องคอยบิดบังซ่อนเร้นต่อแขกผู้มายืน บ่งบอกถึงความเป็นคนที่มีใจคอกว้างขวางได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

 

พี่เค้าเล่าให้ฟังว่า.. ครอบครัวของตัวเอง ตั้งแต่บรรพบุรุษมาแล้ว ตั้งรกรากอยู่ ณ ทิวเขาที่เห็นอยู่เบื้อหน้านั้น พี่เค้าบอกว่า…สมัยนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทย ซึ่งปัจจุบัน บริเวณนั้นก็ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ แต่เหตุที่คนไทยบางส่วนอาศัยอยู่ได้ อาจเป็นเพราะไม่มีความเจริญ แสงสีเสียงไม่เคยมองเห็นหรือรู้จัก ลูกหลานที่รุ่นหลัง ๆ จึงย้ายกันมาอยู่ฝั่งอำเภอกระบุรีเสียเป็นส่วนใหญ่

             ด้วยความที่เป็นที่ของบรรพบุรุษดังเดิม จึงยังคงมีคนไทยอาศัยอยู่ คนไทยกลุ่มนี้ แม้นกระทั่งตัวของพี่เค้าเอง จะมีบัตรประชาชน 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นของรัฐบาลทหารพม่าที่ออกให้  อีกใบหนึ่งเป็นของรัฐบาลไทย  ความหมายก็คือ เป็นคนสองสัญชาตินั่นเอง สามารถอยู่ที่ฝั่งพม่า หรือมาอาศัยอยู่ฝั่งไทยก็ได้ 

 

              พี่เค้าเล่าให้ฟังต่อว่า …พื้นที่บริเวณฝั่งพม่านั้น ยังคงมีหมู่บ้านที่เป็นคนไทยอาศัยอยู่  และยังบอกอีกว่า คนพม่าที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ เค้าก็จะไม่รุกราน หรือทำร้ายคนไทยที่อยู่ที่นั้นเลย   ต่างคนต่างอยู่ เป็นความผูกพันที่เปรียบได้ดังคำว่า ..น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า จริง ๆ (คิดได้เดี๋ยวนั้น)  แม้นกระทั่งปัจุจบันนี้ร่องรอยของความเจริญก็ยังคงเข้ามาไม่ถึง ทุกหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปา ถนนเป็นทางเดินของดินเดิม ๆ ข้าวของเครื่องใช้ ก็จะเป็นสินค้าที่มาจากฝั่งอำเภอกระบุรีแทบทั้งสิ้น

 

จึงถามต่อไปว่า …การเดินทางข้ามฝั่งไปมาระหว่างไทยกับพม่าผ่านแม่น้ำกระบุรีสายนี้ละเป็นอย่างไร?

 

พี่เค้าบอกว่า….ติดต่อข้ามไปมาหาสู่กันง่ายมาก เพียงแค่อาศัยเรือหางยาววิ่งข้ามฝั่งไป ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ถึงฝั่งพม่าแล้ว  และพี่เค้ายังชวนต่อว่า…อยากไปมั้ย ถ้าอยากไปก็สามารถข้ามไปกับพี่เค้าได้ 

ตัวเองก็ได้แต่นั่งยิ้ม รู้สึกมิตรไมตรีที่พี่เค้าหยิบยื่นให้  และตอบไปว่า…หากมีโอกาสและอยากข้ามฝั่งไปเที่ยว ...จะแวะมาหาพี่เค้าอีก พร้อมกับmemory เบอร์โทรของพี่เค้าไว้

 

 

หมู่บ้านทับหลี และคอคอดกระ… จึงเป็นความทรงที่อยากบันทึกเก็บไว้  ต่อไปภายภาคหน้า หากมีโอกาสเราคงได้มาเยือนที่แห่งนี้อีก ลาก่อนทับหลีและคอที่สวยที่สุดในประเทศไทย..

 

 


 

 

หมายเลขบันทึก: 461548เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2011 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 00:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ขอบคุณค่ะ เหมือนได้ตามไปเที่ยวด้วยความสุขใจค่ะ

สมัยเรียนก็รู้แต่เพียงว่าส่วนที่แคบที่สุดของไทยเรียกว่า"คอคอดกระ" ไม่นึกว่า

จะเป็น"คอ"ที่สวยที่สุดในไทยไปได้นะคะ

สำหรับการขายสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละที่คงจะคล้ายๆกัน  คือมีขายตามสองข้าง

ทางเรียงรายกันไปแล้วแต่ลูกค้าจะถูกตาต้องใจร้านไหนก็แวะซื้อกันไป....

เคยชิมแล้วค่ะซาละเปาทับหลี...ของเขาดังจริงๆ


  • ถ้าได้เลยลงมาถึงกระบี่
  • แวะมาคุยกันนะคะ

สวัสดีครับพี่ใหญ่

บันทึกนี้เขียนหลังจากกลับมาจากระนองครับ

เส้นทางสายสี่แยกปฐมพร ไประนอง ขับยากกว่า เส้นอำเภอพะโต๊ะไประนองมากนะครับ

รถบรรทุกหนัก ๆ จะวิ่งผ่านเส้นนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากทางลาดชันน้อยกว่าเส้นพะโต๊ะที่เป็นเทือกเขาสูงชัน

หากพี่ใหญ่ขับรถไปเที่ยวระนอง แนะนำให้ไปเส้นอำเภอพะโต๊ะจะดีกว่านะครับ แม้นจะขึ้นเขาสูง แต่ปริมาณรถและปริมาณโค้งจะน้อยกว่ามาก

...

ขอบคุณพี่ใหญ่มากครับ

หลับฝันดี นะครับ

สวัสดีครับครูก้อย

ในความเป็นธรรมชาติ นี่แหละครับครู

มันสวยจริง ๆ ครับ

คอคอดกระจึงเป็น core ของธรรมชาติ ที่ใครสัมผัสย่อมรู้สึกเช่นผม

ขอบคุณครูมากนะครับ

ราตรีสวัสดิ์ครับ

ขอบคุณคุณหมอเจ๊ มากนะครับ

เคยคิดนะครับว่า หากวันไหนผมมีโอกาสแวะไปกระบี่ จะแวะไปกราบสวัสดีคุณหมอสักครั้งหนึ่ง

ด้วยความเคารพ ครับ

อาจารย์ขจิต ครับ

ผมคิดอยู่ในใจเช่นกันครับว่า ...อาจารย์ต้องเคยไป

ที่นั้น มีวัด มีโรงเรียน มีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ

อาจารย์เคยไปจัดกิจกรรมเพื่อเด็กด้วยใช่มั้ยครับ

ขอบคุณที่อาจารย์เอาเด็ก ๆ มาฝากนะครับ

ใช้net ที่บ้านช้ามาก ๆ เลยละครับ สัญญาณมีแค่ขีดเดียว

ขอบคุณมิตรภาพที่หยิบยื่นให้กันเสมอนะครับอาจารย์

  • ไปนานแล้ว
  • ตอนเป็นนิสิตที่มศว สงขลา
  • ไปสร้างโรงเรียนให้นักเรียนครับ

คิดถึงอยู่เสมอค่ะ...

อ่านบันทึกของน้อง ๆ พี่ ๆ อยู่เสมอ เพียงแต่ไม่ได้เข้ามาคุยด้วย

ดูรูปแล้วมีความสุขตามบันทึกไปด้วยนะคะ เหมือนไปเที่ยวด้วยเลยค่ะ

ตอนนี้กำลังลุ้นน้ำท่วมบ้านอยู่ค่ะ

จ่อ ๆ ปากท่อแล้วค่ะ....โฮ...โฮ....

มีความสุขมาก ๆ นะคะ

พี่เข้าใจผิดมาตลอดว่าทับหลีอยู่ที่ตรัง  ขอบคุณน้องที่เล่าเรื่องได้สนุก ได้เกร็ดความรู้

พี่เคยใช้เส้นทางนี้ไประนอง แต่จำไม่ได้ว่าผ่านทับหลี

ถ้าได้มาจะแวะไปกินซาลาเปาค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแสงฯ

  • บรรยากาศดีน่าไปเที่ยวจังค่ะ
  • ขอบคุณมากมายที่นำมาฝากกัน 
  • ขอให้มีความสุขมากๆนะคะ

คิดถึง หนมเป้า สมัยเด็กๆ ถึงเครื่อง หมูถึง ไข่อวบ เครื่องเข้าเนื้อแป้ง น้ำจิ้มหรอยจังหู

พอจากบ้านไปเรียน กทม. อ้ายหยา หนมเป้า เครื่องจักร ไม่มีรสชาติเล้ย หาหรอยยาก

... คอที่สวยที่สุด คอระหง คอคอดกระ .. เส้นทางสายโรแมนติก เมืองไทยเราดีที่สุด

ไม่อยากนึก ถ้าโครงการสูบ ตัดเล คอแคบ เกิดขึ้น เป็นความสูญเสียมหันต์ของขวานไทยจ้า

สวัสดีค่ะ..คุณแสงแห่งความดี

ได้อ่านเรื่องเล่ายาวมากกก

แต่ขอบอกคุณภาพล้วนๆ เพลิดเพลินเหมือนเดินตามไปติด

หลากหลายความรู้ ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ รู้อย่างเดียว..

คอคอดกระ..อยู่ระนอง แต่เป็นไงบ้าง..ไม่เคยรู้

ขอบคุณ..ที่นำเรื่องราวดีๆมาแบ่งปัน ซาลาเปาคงอร่อยมากกก

คุณพ่อขายาว เกิดระนองค่ะ

สมัยหนึ่งครอบครัวเราไปเป็นระยะ ๆ ไปเยี่ยมปู่และย่า ตอนหลังทั้งสองท่านย้ายไปสงขลาจึงไปสงขลาแทน

ซาลาเปาทับหลีอร่อยจริง ไม่ลืม

ขนมจีนแถวตลาดก็อร่อย กินกับปาท่องโก๋ แปลกและอร่อยค่ะ

หงาว เป็นที่เที่ยวที่สวยแปลก เหมือนเนินเขาแถบยุโรป นะคะ

ขอบคุณที่พาไปเที่ยวค่ะ ยังไม่เคยไปภาตใต้เลย อยู่แต่ที่สูง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท