กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๓๓) : การจัดวางให้เกิดการเรียนรู้


 

คุณครูที่สอนในหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๑ – ๒ มีนัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกบ่ายวันพุธ  

 

วงเมื่อวานนี้ตอนช่วง check in คุณครูปุ๊กให้ทุกคนลองใคร่ครวญความรู้สึกของตน คุณครูหลายคนอยู่ในอาการอ่อนระโหยโรยแรง  โดยเฉพาะคุณครูที่สอนชั้น ๑ คือคุณครูจอย ที่บอกกับวงว่าบอกไม่ถูกว่าตอนนี้อยู่ในอารมณ์ไหน  ส่วนคุณครูแอนบอกกับวงว่าตั้งแต่เช้ามายังไม่ได้นั่งเลย  ขอพักหายใจหน่อย  คุณครูจีบอกว่ากำลังคิดเรื่องงานที่ตรวจค้างอยู่  และคุณครูรุ้งที่สอนชั้น ๔ ด้วยกัน บอกว่าปวดหัวจี๊ดๆ คุณครูชนกจากชั้น ๕ บอกว่าวันนี้มีเรื่องดีๆ ที่น่าชื่นใจเกิดขึ้นกับตัวเอง

 

วันนี้จึงเปิดวงกันด้วยเรื่องเล่าดีๆ ที่พาทุกคนกลับไปในบรรยากาศการเรียนการสอนในชั้นเรียนของคุณครูชนก สามิติ ในการเรียนรู้เรื่อง “ปัญญากับทรัพย์” ของมโหสถ คุณครูปุ๊กที่เข้าสังเกตชั้นเรียนนี้อยู่ด้วยได้ช่วยเสริมว่าชั้นเรียนนี้มีบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากครั้งก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด

 

คุณครูชนกเล่าว่าการตั้งโจทย์สถานการณ์ปัญหาเปิดวันนี้ใช้ดาวมาเป็นตัวเปิด และจากกิจกรรมการตอบคำถาม ทำให้บางคนได้ดาวเพิ่มจากที่มีอยู่  บางคนต้องเสียดาวไปเพราะไม่รอบคอบในการตอบคำถาม  ซึ่งในที่สุดกิจกรรมนี้ก็นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าเราต้องใช้ปัญญาที่มีอยู่รักษาทรัพย์เอาไว้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรื่องที่จะเรียนกันต่อไป

 

และที่คุณครูชนกภูมิใจมากก็คือ ในการเขียนกระดานวันนี้ ครูไม่ได้เขียนอะไรที่เป็นคำของครูเลย แต่เป็นการเขียนจากคำและความเข้าใจของเด็กที่เสนอกันขึ้นมาทั้งสิ้น วันนี้ทุกคนกระตือรือร้นที่จะแสดงปัญญา และพร้อมที่จะฟังความคิดของกันและกันเป็นอย่างดี

 

หลังจากที่จบกิจกรรมนี้ คุณครูชนกได้ข้อสรุปว่า  “เด็กทุกคนเรียนได้ แต่ครูต้องจัดกระบวนการดีๆ ให้เขาเข้าสู่การเรียนรู้”  คุณครูปุ๊กเสริมว่าคำตอบของพวกเขาแต่ละคน ทำให้ครูได้เห็นเด็กเป็นรายบุคคลด้วย และวันนี้มีเด็กคนหนึ่งมาพูดสะท้อนให้ครูปุ๊กฟังว่า “เหมือนเราเรียนมหาวิทยาลัยกันเลยนะคะ คุณครูไม่บอกอะไรให้เลย ให้คิด เขียน ทำความเข้าใจเอง มากกว่าที่คุณครูจะบอกหนู”

 

เรื่องเล่าเรื่องที่สองเป็นของคุณครูแอน – สุธนา ศิริธนดีพันธุ์  ที่ชวนเด็กชั้น ๑ นำดอกมะลิ  ดอกรัก และดอกบานไม่รู้โรย มาปักลงบนลูกมะนาว เพื่อมอบให้กับคุณแม่ พร้อมกับการเขียนถึงความรู้สึก และความตั้งใจดีๆ ที่อยากมอบให้กับคุณแม่ 

 

กิจกรรมนี้ทำให้คุณครูแอนได้เห็นการเรียนรู้ของตัวเอง ที่เกิดจากการยอมให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเอง   ด้วยใจที่เชื่อมั่นว่าพวกเขาทำได้  และเมื่อครูคลายความคาดหวังลงก็จะไม่มีอะไรถูกกดเอาไว้  และที่สำคัญคือครูต้องมีศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองสอน

 

เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว  ประสบการณ์ดีๆ ที่ทุกคนนำมาแลกเปลี่ยนกันนี้ ทำให้ช่วงเวลาที่ได้มาอยู่ร่วมกันมีความหมาย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้หยุดพักจากงานอื่น เพื่อมารู้จักกับการเรียนรู้ร่วมกันที่สร้างสุขให้อย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ตอน check out ทุกคนจึงรู้สึกผ่อนคลาย หายเหนื่อย และเปี่ยมไปด้วยพลังกายและพลังใจได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 460638เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2011 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบันทึกที่แสดงวิธีจัด PLC ที่เยี่ยมยอดมากครับ

วิจารณ์

เรื่องราวน่าประทับใจครับ ผมผ่านโรงเรียนเพลินพัฒนาทุกเย็นวันศุกร์ระหว่างทางกลับบ้าน ก็รู้สึกได้ถึง Ecological System ที่เป็นพลวัติครับ

เรียน อาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวงนี้ ทำให้ได้ยินคำของเพลโตที่ว่า "Good actions give strength to ourselves and inspire good actions in others." ได้ชัดเจนจริงๆ ค่ะ

ครูใหม่

Dr. Pop คะ

ช่วงนี้ถ้าได้แวะเข้ามาที่โรงเรียนตอนเย็นวันศุกร์ ก็จะได้เห็นผู้ปกครองและครูเล่นกีฬาด้วยกัน แล้วปล่อยให้เด็กๆ ได้เล่นกันมอมแมมจนมืดค่ำ จนคุณแม่บอกว่าสงสัย "ต้องพาลูกไปเลิกโรงเรียนที่วัดถ้ำกระบอก" ค่ะ

ศุกร์ไหนว่าง อยากแวะเข้ามานั่งเล่นริมสนามก็เชิญได้นะคะ

:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท