กรรมของการเป็นประธาน กกอ.


ประธาน บอร์ด ไม่ใช่ ซีอีโอ จึงไม่มีอำนาจเป็นผู้บังคับบัญชา ประธาน กกอ. ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของ สกอ. แม้แต่คนเดียว ผู้บังคับบัญชาคือเลขาธิการ กกอ. ดังนั้น ผู้บริหารงานที่เกี่ยวข้องกับ TQF คือ เลขาธิการ กกอ. และเจ้าหน้าที่ของ สกอ. ไม่ใช่ประธาน กกอ.

          ยิ่งนับวันผมก็ยิ่งสังเกตเห็นว่า ผู้คนเขาคาดหวังว่าประธาน กกอ. จะสั่งการหรือบันดาลให้สิ่งที่เขาต้องการเกิดขึ้นได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ชอบ TQF และต้องการล้ม TQF  มีคนที่สนิทกันมาขอ “อาจารย์สัญญาว่าจะไปแก้ไขไม่ได้หรือ”   คำตอบของผมคือ “ไม่ได้”   คำตอบคือ เพราะประธาน กกอ. ไม่มีอำนาจ
 
          คนมักเข้าใจผิด ว่าประธาน บอร์ด มีอำนาจสั่งการหรือตัดสินใจด้วยตนเองโดยลำพังได้   นี่คือความเข้าใจผิด 
 
          ประธาน บอร์ด ไม่ใช่ ซีอีโอ จึงไม่มีอำนาจเป็นผู้บังคับบัญชา   ประธาน กกอ. ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของ สกอ. แม้แต่คนเดียว   ผู้บังคับบัญชาคือเลขาธิการ กกอ.  ดังนั้น ผู้บริหารงานที่เกี่ยวข้องกับ TQF คือ เลขาธิการ กกอ. และเจ้าหน้าที่ของ สกอ.   ไม่ใช่ประธาน กกอ.
 
          การเป็นประธาน บอร์ด จึงต้องฝึก “ทำใจ”   เพราะเมื่อ บอร์ด ตัดสินใจเชิงนโยบายไปแล้ว   ฝ่ายปฏิบัติเอาไปปฏิบัติแบบขึงตึงหรือใช้วัฒนธรรมอำนาจ   บอร์ด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธาน) ก็โดนสวด  ก็ต้องรับไป   เพราะคนจำนวนมากแยกแยะไม่ได้ระหว่างหลักการกับวิธีการหรือรายละเอียด
 
          แต่ กกอ. เป็น บอร์ด ที่ไร้อำนาจยิ่งกว่า บอร์ด อื่นๆ   คือไม่มีอำนาจแต่งตั้งหรือปลด ซีอีโอ   ผู้มีอำนาจคือ รมต. ศึกษาธิการและ ครม.  ในขณะที่ บอร์ด อื่นๆ เช่น สภามหาวิทยาลัย  บอร์ดของบริษัท ต่างก็มีอำนาจแต่งตั้งและปลดซีอีโอทั้งสิ้น   ในกรณีเช่นนี้ บอร์ด มีลูกน้องอยู่ ๑ คน คือ ซีอีโอ   และ บอร์ด แสดงอำนาจผ่านการกำหนดข้อบังคับต่างๆ   รวมทั้งผ่านการสั่ง ซีอีโอ
 
          กกอ. ไม่มีลูกน้องแม้แต่คนเดียว เพราะเลขาธิการ กกอ. ท่านเป็นลูกน้อง รมต. ไม่ใช่ลูกน้องประธาน กกอ. และไม่ใช่ลูกน้อง กกอ.  แต่เราก็ทำงานด้วยกันได้ผ่านความเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง   ไม่ผ่านการบังคับบัญชา  
 
          การทำงานของ กกอ. นั้น ในความเห็นส่วนตัวของผม เป็นระบบที่ล้าหลัง   เพราะเน้นการใช้อำนาจแบบควบคุมสั่งการ โดยการออกกฎระเบียบ ที่ในหลายกรณีขาดกลไกติดตามการบังคับใช้ที่ได้ผล   แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เมื่อสถาบันคลังสมองเข้ามาทำหน้าที่กลไกทางวิชาการ สร้างความรู้ขึ้นใช้กำกับดูแลระบบอุดมศึกษา   และเมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง สถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งก็จะกำกับดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง   โดยมีสารสนเทศเปิดเผยให้สังคมคอยกำกับด้วย คือใช้กลไกความโปร่งใสช่วยกำกับพฤติกรรมขององค์กร
 
        ผมมีความเห็นใจเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอำนาจนิยม  เพราะเขาจะขาดหรือหย่อนการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ  เป็นชีวิตที่ “ขาดทุน” ในระยะยาว   เพราะจะกลายเป็นคนที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนและพลวัตของเรื่องที่เขามีหน้าที่เกี่ยวข้อง   และในที่สุดจะขาดความมั่นใจตนเองในงานตามหน้าที่ของตนนั่นเอง   ซึ่งในความเห็นของผม เป็นชีวิตที่น่าสงสาร   แต่ในภาพภายนอกเขามีอำนาจ
 
          ในสภาพเช่นนี้ นโยบายดีๆ หรือข้อบังคับดีๆ ซึ่งหมายความว่าหลักการดี (ดีต่อบ้านเมือง) แต่พอฝ่ายปฏิบัติเอาไปบังคับใช้ ก็ใช้แบบตึง ขาดความยืดหยุ่นตามสภาพจริง   คนที่ถูกบังคับ และตีความแบบเถรตรงก็จะเดือดร้อนมาก
 
          สมัยผมเป็นอาจารย์เด็กๆ จำได้ว่ามีเรื่องรำคาญใจบ่อยๆ ที่ต้องกรอกเอกสารจุกจิก   นอกจากบ่นหรือโวยแล้ว ผมก็จัดการหาเจ้าหน้าที่มารับผิดชอบส่วนที่จุกจิกนั้น   ฝึกให้เขาทำหน้าที่ได้ตามที่หน่วยเหนือกำหนด   ผมก็มีเวลาทำงานหลัก คืองานสร้างความเจริญให้แก่หน่วยงาน  
 
          แต่ผมก็เห็นด้วยว่า เวลานี้เรื่องจุกจิกด้านเอกสารรายงานมันมีมากขึ้น   และมีส่วนที่มากเกินควร   สมควรได้รับการแก้ไข 
 
          ในชีวิตส่วนตัวของผม ผมจะหาทางจัดระบบดูแลความจุกจิกให้เรียบร้อย  เพื่อปลดปล่อยตัวเองมาทำงานพัฒนาที่แท้จริงให้แก่องค์กรที่ผมสังกัด หรือให้แก่บ้านเมือง   ไม่ว่ามีตำแหน่งบริหารหรือไม่ก็ตาม ผมก็พยายามทำเช่นนั้น   ที่จริงชีวิตส่วนตัวของผมก็ยึดหลักนี้   โดยผมตีความว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นเรื่องจุกจิก จึงยกให้สาวน้อยดูแลหมด   ทำให้เขาพึงพอใจยิ่งนัก   

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ส.ค. ๕๔

         
         
         
             
หมายเลขบันทึก: 460566เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2011 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรื่อง TQF กับ ประธาน กกอ ฐานะ ผู้ลงนาม เป็นเรื่องที่ สังคมอุดมศึกษา แยกแยะไม่ได้ครับ ว่า "อะไรควร" "อะไรไม่ควร"ครับ

ดีใจที่เมืองไทยมีผู้ใหญ่ดี ๆ แบบหมอวิจารณ์ ที่ทำอะไรก็ไม่เคยผิดทั้งในกรณีอาจารย์สุกรี และล่าสุดคือ TQF ทั้งนี้เชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรชึ้นท่านก็จะไม่ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่ออะไรทั้งสิ้น เพราะอะไร ๆ ท่านก็ไม่ผิด พวกเราเด็กรุ่นหลังจะนำท่านมาเป็นตัวอย่างต่อไป

TQF น่าจะล้าสมัยในส่วนการนำไปปฏิบัติ ถ้าได้อ่านและเข้าใจบทความนี้นะครับ http://www.americanprogress.org/issues/2011/02/disrupting_college.html.

กำลังโดนเรื่องจุกจิกทับอยู่ครับ

อ่านเรื่องราวต่างๆของอาจารย์แล้วสนุกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท