เสร็จภารกิจการติดตามการดำเนินงานคัดเลือกครูสอนดีและครูผู้รับทุนครูสอนดี 14 จังหวัดภาคใต้ และมีข้อสังเกตมาฝาก


เกือบทุกจังหวัดยังเน้นการประเมินเอกสารเป็นสำคัญ แม้บางจังหวัดจะแจ้งว่าไม่ต้องส่งเอกสารมาก แต่ครูก็ยังเตรียมเอกสารมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความตระหนกว่าจะไม่ผ่านการประเมิน โดยเป็นความเข้าใจตามวัฒนธรรมเดิมของการประเมิน บางจังหวัด บางท้องถิ่น เกรงจะถูกทักท้วง ได้กำหนดหลักเกณฑ์/เครื่องมือประเมินตนเอง ไปประเมินครู/ให้เสนอผลงาน/เชิญมาสัมภาษณ์ ฯลฯ และส่วนใหญ่ครูต้องทำเอกสารเสนอด้วยตนเอง

     พวกเราคณะวุฒิอาสา 5 คน(เกษียณแล้วทุกคน)เพิ่งเสร็จภารกิจติดตามการดำเนินงานคัดเลือกครูสอนดีและครูผู้รับทุนครูสอนดี   14 จังหวัดภาคใต้  (Node 6  ภาคใต้) ของ สสค. โดยจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ 14 จังหวัดสุดท้าย  เราได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งสนุก  ตื่นเต้น และเสี่ยงภัยมาทุกรูปแบบ เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกในการดำเนินงานโครงการ จึงอาจมีปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจกันบ้าง แต่ในที่สุดทุกจังหวัดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นโครงการที่ดีมาก  ปฏิรูปวิธีทำงานตามวัฒนธรรมเดิมมาเป็นให้ท้องถิ่นร่วมกับภาคีทั้ง 5 ภาคส่วน มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ  จึงดูเป็นโครงการที่มีชีวิตมากๆ 
      ผมได้ลองเขียน
บทสรุปเบื้องต้น ที่เราพบข้อสังเกต ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 14 กันยายน 2554  เขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ (Node 6)มาแลกเปลี่ยนกันครับ
    
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น
      
1.1 ทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบทุกภาคส่วนตามแนวทางที่กำหนดในโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์เชิดชู ยกย่อง “ครูสอนดี”                 
       1.2 กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นสอดคล้องกับสภาพการดำเนินงานของแต่ละจังหวัดและท้องถิ่น ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์ที่กำหนด ระดับจังหวัดส่วนใหญ่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนาม มีส่วนน้อยที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามแทน สำหรับระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้นายอำเภอลงนามแทน  มี 1 จังหวัดที่ผู้ว่าราชการมอบหมายให้ผู้บริหารท้องถิ่นลงนามแทน 
       1.3 รายชื่อบุคคลที่เป็นประธานและเลขานุการ แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันตามความต้องการจำเป็นและตามความลุ่มลึกในการสรรหาและแต่งตั้ง บางจังหวัดมีกระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ รอบแรกก่อน แล้วคัดเลือกเหลือ 3 คน และคณะกรรมการฯเลือกประธาน 1 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิ บางจังหวัดก็พยายามประสานผู้ที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับในจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งทำให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้าที่เห็นได้อย่างเด่นชัด  
                1.4 บางจังหวัดมีการแต่งตั้งคณะทำงาน/อนุกรรมการ/ผู้ประสานงาน ในการดำเนินงานคัดเลือกครูสอนดี บางจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานประจำศูนย์ประสานงานฝ่ายเลขานุการเป็นการเฉพาะ และแต่งตั้งผู้ประสานงานประจำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   บางจังหวัดมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อการจัดทำเกณฑ์การคัดเลือกครูสอนดี และดำเนินการคัดเลือกในขั้นตอนแรกก่อนเสนอคณะกรรมการระดับจังหวัดคัดเลือก  บางจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัด มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพิ่มเติม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานที่ปรึกษา และมีท้องถิ่นจังหวัดเป็นเลขานุการของคณะกรรมการที่ปรึกษา เป็นต้น
     2. การกำหนดเกณฑ์การประเมินและแนวทางการดำเนินงาน
       
 2.1 การกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกครูสอนดี ส่วนใหญ่จังหวัดจะกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกครูสอนดีระดับจังหวัดภายใต้กรอบเกณฑ์มาตรฐานครูสอนดีตามโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ยกย่อง เชิดชู “ครูสอนดี”  โดยบางจังหวัดมีการกำหนดตัวบ่งชี้เพิ่มเติมตามบริบทของจังหวัด และเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และแนวการพิจารณาเพิ่มเติมได้ภายใต้กรอบเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนดไว้ตามโครงการฯ   
     3. การประสานงานและการสร้างความเข้าใจ
          
3.1 เกือบทุกจังหวัดมีปัญหาเรื่องการสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างจังหวัดกับท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้อง วิธีการที่ใช้ส่วนใหญ่จะประสานงานทางหนังสือราชการ และเชิญประชุมคณะกรรมการ จังหวัดใดที่มีการประชุมกันบ่อย  ก็สามารถสร้างความเข้าใจ ความตระหนักและเกิดการมีส่วนร่วมดำเนินการได้อย่างทั่วถึง แต่ส่วนใหญ่จะมีการประชุมน้อยครั้ง รวมทั้งคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่ครบ  มีการส่งตัวแทนและเปลี่ยนผู้เข้าร่วมประชุมบ่อย ทำให้ขาดความเข้าใจและการดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง
          3.2 ท้องถิ่นยังมีความรู้สึกว่าเป็นงานฝาก ไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรง จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในการดำเนินงาน ยิ่งมีระยะเวลาดำเนินการน้อยใกล้สิ้นปีงบประมาณ และไม่สอดคล้องกับงานที่เคยปฏิบัติ และการสื่อสารสร้างความเข้าใจไม่ชัดเจน ก็ยิ่งทำให้ไม่สนใจดำเนินงานมากขึ้น
          3.3 การประสานงานทางหนังสือราชการบางจังหวัดมีปัญหาในการตีความเรื่องหน่วยงานที่รับผิดชอบ  บางจังหวัดส่งเรื่องไปท้องถิ่นจังหวัด แล้วส่งต่อไปสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  บางหน่วยงานเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องก็เก็บเรื่องไว้ กว่าที่ อบจ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด จะได้รับเรื่องก็ล่าช้า เป็นต้น
     4. การประชาสัมพันธ์
       
4.1 ทุกจังหวัดเน้นการประชาสัมพันธ์ในภาพกว้างด้วยช่องทางที่หลากหลายตามศักยภาพของแต่ละจังหวัดและหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สื่อสารมวลชนในระดับจังหวัด  บางจังหวัดก็จัดทำสื่อต้นแบบหลากหลายกระจายให้แต่ละท้องถิ่นไปขยายผลประชาสัมพันธ์โดยจัดงบประมาณสนับสนุน ซึ่งเกิดผลดีในเชิงการรับรู้ข่าวสารในภาพกว้าง  แต่ทุกจังหวัดยังขาดรูปแบบวิธีการที่ชัดเจนในการลงไปในท้องถิ่น เพื่อพูดคุย สนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงลึกอย่างทั่วถึง จึงทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ ท้องถิ่นหรือผู้ปฏิบัติขาดความเข้าใจและความตระหนักในแนวทางการดำเนินงาน
       4.2 มีบางจังหวัดที่คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด ไม่ค่อยเอาใจใส่ในการประสานงานและสร้างความเข้าใจกับท้องถิ่น  แต่ท้องถิ่นกลับศึกษาเอกสารและกระตือรือร้นดำเนินการจนเกิดความก้าวหน้าด้วยตนเอง 
      5. กระบวนการสรรหาและคัดเลือก
      
5.1 การกำหนดโควต้าของคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด  ให้แต่ละท้องถิ่นไปสรรหาคัดเลือกนั้น มีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด  บางจังหวัดก็เปิดกว้างให้ท้องถิ่นสรรหา/คัดเลือกมา 5 – 20% บางจังหวัดก็กำหนดเฉพาะเพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบากในการคัดเลือก เช่น 4%   5%   6%    8%  เป็นต้น          
      5.2 การสรรหาและคัดเลือกครูส่วนใหญ่อยู่ในสถานศึกษา  ที่อยู่นอกสถานศึกษาหรือครูสอนเด็กด้อยโอกาส หรือการศึกษาทางเลือก หรือครูภูมิปัญญาท้องถิ่น จะมีน้อยมาก บางท้องถิ่นไม่มีเลย  รวมทั้งขาดข้อมูลสารสนเทศครูที่สอนนอกสถานศึกษาด้วย  ดังนั้น การคัดเลือกครูสอนดีที่จะได้รับทุนครูสอนดี ส่วนใหญ่จะเป็นครูสอนเด็กด้อยโอกาสในสถานศึกษาเกือบทั้งสิ้น
      5.3 มีแนวโน้มว่า มีหลายจังหวัดจะไม่สามารถคัดเลือกครูสอนดีและทุนครูสอนดีได้ครบตามโควต้าที่ สสค. กำหนด  รวมทั้งบางท้องถิ่นไม่มีการสรรหาและคัดเลือกครูสอนดี ด้วย  มีคำถามมาว่า ถ้าท้องถิ่นใดไม่มีการสรรหาและคัดเลือกครูสอนดีจะผิดไหม?  มีคณะกรรมการระดับจังหวัดแห่งหนึ่งตอบไปว่า "คงไม่มีตำรวจจับ แต่ในเมื่อท้องถิ่นใกล้เคียงเขามีการประกาศยกย่องครูสอนดีกัน ท่านจะตอบครูในท้องถิ่นท่าน หรือประชาชนในท้องถิ่นท่านได้อย่างไรว่า ท้องถิ่นท่านไม่มีครูที่สอนดีหรืออย่างไร"
      5.5 กระบวนการสรรหาครูในสถานศึกษา  เกือบทุกจังหวัด  ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคี 4 ฝ่าย(ผู้ปกครอง เพือ่นครู นักเรียน ผู้บริหาร)  อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นปัญหาจากการสื่อสารสร้างความเข้าใจ  
      5.6 การกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกครูสอนดี  เกือบทุกจังหวัดยังเน้นการประเมินเอกสารเป็นสำคัญ  แม้บางจังหวัดจะแจ้งว่าไม่ต้องส่งเอกสารมาก  แต่ครูก็ยังเตรียมเอกสารมาเป็นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นความตระหนกว่าจะไม่ผ่านการประเมิน  โดยเป็นความเข้าใจตามวัฒนธรรมเดิมของการประเมิน  บางจังหวัด  บางท้องถิ่น  เกรงจะถูกทักท้วง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์/เครื่องมือประเมินตนเอง  ไปประเมินครู/ให้เสนอผลงาน/เชิญมาสัมภาษณ์ ฯลฯ  และส่วนใหญ่ครูต้องทำเอกสารเสนอด้วยตนเอง
      5.7 การคัดเลือกครูสอนดีในบางท้องถิ่นที่มีสถานศึกษาหลายสังกัด  หลายโรงเรียน  มีจำนวนครูเป็นจำนวนมาก  เช่น  เทศบาลนคร  เทศบาลเมือง  เป็นต้น  ซึงคณะกรรมการระดับท้องถิ่นขาดพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์กับสถานศึกษา  และขาดการสื่อสารสร้างความเข้าใจความตระหนักในเชิงลึก  ทำให้ไม่มีการสรรหาครูสอนดีในบางโรงเรียน  รวมทั้งสัดส่วนการเสนอชื่อครูสอนดีบางท้องถิ่นก็เสนอตามโควต้า/เกินโควต้า  แต่บางท้องถิ่นไม่เสนอชื่อครูสอนดีเลย เป็นต้น
       ถือเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงพัฒนาในปีต่อๆไปครับ

     (ขออภัยที่ไม่ระบุจังหวัด แต่ใช้คำว่า"บางจังหวัด""บางท้องถิ่น"แทน)

หมายเลขบันทึก: 460429เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท