ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สุขสันต์วันแห่งความสุขในปฐมนิเทศ ปปร. รุ่นที่ ๑๕


     เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดกิจกรรมปฐมนิเทศ นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ ๑๕ ณ โรงแรม Zign จังหวัดชลบุรี  ในการจัดการกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีคณาจารย์ นำโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร และ รศ.วุฒิสาร ตันไชย เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันประปกเกล้า และนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น ๑๔๑ รูป/คน  สำหรับนิสิตศึกษาในรุ่นนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกรัฐสภาทั้ง สส. สว. ผู้บริหารระดับสูงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อสารมวลชน

     ช่วงบ่ายของวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ เป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ซึ่งท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์สมควร โพธ์ทอง และคณะเป็นผู้นำกระบวนการกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วยการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้รู้จักกันและกันในกลุ่มพี่น้องชาว ปปร. รุ่น ๑๕ การร้องเพลง การจับมือ การโอบกอด การซักถามรายชื่อ ความชอบของแต่ละบุคคล  การเล่นเกมสร้าง "สะพานรัก ปปร." การเล่นเกมแข่งขันขยายความสัมพันธ์โดยการฉีกแผ่นกระดาษเอ ๔ ให้ยาวที่สุด การเชียร์กลุ่มฯลฯ

     สาระหลักที่ผู้เขียนมองว่า สถาบันพระปกเกล้าต้องการจะเน้นคือ การขยายความสัมพันธ์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ "เกมสร้างสะพานรัก" เพื่อแต่ละท่านซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของหน่วยงานต่างๆ จะต้องนำความ "ใหญ่" มากระจายให้เกิดความกลมเกลียวโดยการช่วยกันประคับประคองสะพานรักให้มั่นคงและแน่วแน่มากที่สุด การสร้างสะพานความสัมพันธ์ดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยพลังของสมาธิ และจิตใจที่แน่วแน่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน (มิใช่ชั่วข้ามคืน) นั้น จำเป็นจำต้องอาศัยพลังแห่งความเชื่อมั่นในกันและกัน ความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับอุปสรรคและความท้าทาย  ความมีสติสุขุมเยือกเย็น ความมาดมั่น และมุ่่งมั่นต่อเป้าหมาย และปัญญาที่ฉลาดและเฉียบแหลมมาเป็นเครื่องมือในการเสริมพลังดังกล่าวให้เกิดขึ้น

     นอกจากนี้  "อารมณ์ และออกกำลังกาย" เป็นสาระสำคัญอีกประการหนึ่งของกิจกรรมที่นำมาเสนอ เพื่อผู้บริหารระดับสูงมีความโน้มเอียงต่อการ "บริหารคนอื่น" รวมไปถึง "การบริหารงาน" แต่มักจะหลงลืมภารกิจในการ "บริหารตนเองด้วยการรักษาอารมณ์และการออกกำลังกาย" ฉะนั้น กิจกรรมในวันแรก จึงเน้นการเคลื่อนไหว (Movement) แต่ใจไม่หวั่นไหว โดยใช้กิจกรรม หรือเกมต่างๆ เป็นเครื่องมือ เช่น การวิ่งไปจับคู่กับกลุ่มอื่นๆ การร้องเพลง และกิจกรรมการเชียร์

     ในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๔  เป็นกิจกรรมภาควิชาการ  โดยการบรรยายวิชาพื้นฐานให้แก่นักศึกษา ซึ่งวิชาการพื้นฐานที่สถาบันพระปกเกล้าได้จัดให้มีการบรรยายประกอบด้วยวิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และรัฐสภาไทย โดย รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร  วิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น โดย รศ.วุฒิสาร ตันไชย วิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน โดย ศ.ดร.เทียนฉาย กีรนันท์ และวิชาบทบาท คปอ. กับการสร้างความปรองดองของประเทศ โดย ศ.ดร. คณิต ณ นคร  ซึ่งในความจริง ในแต่ละปีจะเป็นวิชารัฐธรรมนูญไทย โดย ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรโณ แต่อาจารย์มองว่า ขณะนี้ยังมีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ กันอยู่ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรอจังหวะที่เหมาะสมต่อการบรรยายวิชานี้

     ดังนั้น ในช่วงเช้าของวันที่ ๑๑ กันยายน รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร ได้เริ่มบรรยายวิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และรัฐสภาไทย  โดยอาจารย์ได้แบ่งพัฒนาการการเมืองไทยออกเป็น ๓ ช่วงคือ (๑) พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๙๐ เป็นช่วงของการสร้างและพัฒนาระบอบประชาธิไตยไทย (๒) พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๑๖ เป็นยุคเสนาธิปไตย ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการเมืองมากที่สุด และ (๓) พ.ศ.๒๕๑๖-ปัจจุบัน เป็นช่วงของการพัฒนาระบอบประชาธิไตยอีกครั้งหนึ่ง  ถึงกระนั้น ในช่วงที่สามนี้ อาจารย์มองว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญปี ๔๐ มีจุดเด่นที่ดีมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิเสรีภาพ และการให้อำนาจในการตรวจสอบนักการเมือง ฉะนั้น ถึงแม้จะเน้นเรื่อง "Strong Prime Minister" แต่ก็มีการสร้างองค์กรใหม่ๆ ตามรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของนักการเมือง

     หลังจากนั้น รศ.วุฒิสาร ตันไชย ได้บรรยายวิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งอาจารย์ได้ชี้ให้เห็นภาพของพัฒนาการเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๗  ถึงกระนั้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งของการการทำงานในปัจจุบันคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นแม้จะแบ่งอำนาจหน้าที่ออกเป็นสองชั้นคือ อบจ. กับ อบต. แต่การอำนาจหน้าที่มักจะทับซ้อนกัน รวมไปถึงการเข้าไปทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดต่างๆ จะเห็นว่า ในหลายๆ กรณีมักจะมีการ "ขบเหลี่ยมทางอำนาจหน้าที่อยู่เสมอ"

     เมื่อมองในภาพรวมของการปฐมนิเทศนักศึกษา ปปร. รุ่นที่ ๑๕ ทั้งสองวันแล้ว จะพบว่า การจัดกิจกรรมให้น้ำหนักทั้งภาคการสร้างความสัมพันธ์ปรองดองในกลุ่มนักศึกษาเพื่อให้สามารถประสมกลม และทะลายกำลังแห่งความปิดกั้นสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อไป  เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้จุดเด่นและศักยภาพที่แต่ละท่านมีอยู่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกันในเชิงวิชาการ และนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้ให้สอดรับกับองค์กรของตัวเอง โดยมุ่งหวังว่า การนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้จะก่อให้เกิดความสุขสถาพรของสังคมและประเทศชาติต่อไป

หมายเลขบันทึก: 460004เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2011 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ท่านอาจารย์แสวงหาความรู้ได้ตลอดเลยน่ะครับ ทั้งที่งานบริหารก็มาก ขอชมเชยจากใจครับ สู้ๆ ครับ

การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีคำว่าแก่เกินเรียน

เกมน่าสนใจมากครับ จะเข้าอ่านใหม่นะครับ

ท่านแสวงหาความรู้ โยมสรายุทธ และอาจารย์ ดร.ขจิต

  • ขอบคุณท่านที่ได้เข้ามาร่วมให้กำลังใจ จากท่านแสวงหาความรู้
  • ความตั้งใจคือ อยากจะ Back to School ในทุกๆ ปี
  • นี่เป็นการเรียนหลักสูตรที่ใฝ่ฝันมาเกือบห้าปีแล้ว มองว่า แม้จะเป็นพระ แต่เราก็อยู่ในสังคมแบบประชาธิปไตย การเรียนรู้ จะสามารถทำให้เราอยู่ในสังคมแบบนี้อย่างเข้าใจ และรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำหลักการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับหลักสูตร ป.โท และเอกที่ตัวเองสอนอยู่ที่ มจร.
  • โอกาสแบบนี้จะมีไม่ได้ ถ้าไม่ได้สถาบันพระปกเกล้าคอยหยิบยื่นให้ เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเราไม่สร้างโอกาส สถาบันฯ ก็คงไม่สามารถหยิบยื่นโอกาสให้ ข
  • อบคุณโอกาส ขอบคุณสถาบันพระปกเกล้า และขอบคุณชาว ปปร. ๑๕ ทุกท่าน

ท่านวอญ่า

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมน่ะ  ขอให้ท่านมีความสุขในกระแสแห่งธรรมในฐานะเป็นมุสลิมที่ดี

นมัสการ พระคุณเจ้าพระธรรมหรรษา........การปรองดอง

วันที่ 15 เพื่อนพระ ทิณภัทร อาภัสโร ....ที่จำพรรษา ที่วัดละหาร เมื่อปีที่แล้ว เขาจัดทอดกฐิน

ได้โทรมาบอกให้ผู้เขียนไปร่วมงานทอดกฐินด้วย

ในทางศาสนา งานทอดกฐินอิสลามไม่ร่วมไม่ได้....

แต่ทางมิตรภาพ ไม่มีข้อห้าม

จึงต้องไปเยี่ยมไปให่กำลังพระเพื่อนที่วัดหนองหิน หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี

ปรองดองกันไว้

กิจกรรม สะพานรัก(ประเทศ) สส น่าจะมาเรียนรู้ ครับ สาธุ สาธุ

  • นมัสการท่าน
  • น้ำลดแล้วหรือยังครับ
  • เป็นอย่างไรบ้างครับ

ท่าน ดร.ขจิต

  • ตอนนี้สถานการณ์เริ่มลดลงบ้างแล้ว เหลือประมาณ 80 ซม.
  • ตอนนี้ปรับตัวอยู่กับน้องร่วมกับพี่ๆ น้องๆ ได้แล้ว
  • ดีใจมีญาติเยอะเกือบพันคนที่มหาจุฬาฯ วังน้อย
  • ขอแสดงความเสียใจด้วย  เพราะเกษตรฯ ก็พบกับเหตุการณ์เดียวกัน
  • ให้กำลังใจกันนะท่าน ดร. สักวันโยมน้ำก็จะเดินทางผ่านไป
  • ที่บางเขนแย่เลยครับ
  • ที่ กำแพงแสนเลยเป็นศูนย์พักพิงเหมือนกันครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท