คุณลักษณะการสอนที่เป็นเลิศ


นักการศึกษาส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องต้องกันว่า คุณภาพของครูเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการพิจารณาคุณภาพของโรงเรียน แต่องค์ประกอบอะไรเล่าจะบ่งชี้คุณภาพของครูได้ในบทความนี้         ซึ่งเก็บความมาจากเรื่อง  Teaching  for  Excellence  โดยท่านจะทราบคุณลักษณะที่ผู้บริหารต้องการให้มีในตัวครู ซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญที่บ่งชี้ประสิทธิภาพของครู 15 ประการ

ผู้บริหารโรงเรียนมองท่านอย่างไร

                  ผู้บริหารการศึกษาผู้มีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกครู มีภาระงานสำคัญที่สุดอยู่อย่างหนึ่ง   ที่ต้องรับผิดชอบในการจัดวางครูมืออาชีพที่มีคุณภาพลงในแต่ละชั้นเรียน       มีองค์ประกอบหลายประการที่มีส่วนสำคัญต่อประสิทธิผลของโรงเรียน แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็คือคุณภาพของครู   ผู้บรหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลอาจเห็นแตกต่างกันบ้างในการจัดลำดับความสำคัญในการคัดเลือกครู   แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะเห็นด้วยกับคุณลักษณะพื้นฐานที่ทำให้ครูมีประสิทธิภาพ

                คุณภาพที่ส่งผลต่อตัวนักเรียน การปรับปรุงการสอน          และช่วยให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความราบรื่น ลองตรวจสอบคุณสมบัติเหล่านี้ เพื่อดูว่าคุณลักษณะใดที่ท่านนำมาใช้ได้ดีอยู่แล้ว และ      คุณลักษณะใดที่ท่านสามารถนำไปปรับใช้ได้

 

คุณลักษณะสำคัญ 15 ประการ

                1. แสดงความกระตือรือร้น  ท่านต้องกระตือรือร้นที่จะสอน และหากมีก็จงแสดงออกมา!         ทำให้การเรียนสนุก ความกระตือรือร้นในการสอนของท่านจะทำให้เกิดแรงจูงใจในนักเรียนของท่านอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้เมื่อออกมานอกห้องเรียนแล้วเขาก็จะคงมีความรู้สึกอยากทำงานร่วมกันต่อไป

                2. รู้เนื้อหา  ท่านต้องติดตามหาความรู้ในสายงานที่ท่านถนัดอยู่เสมอ         ถ้าท่านสอนระดับก่อนประถมศึกษา ท่านก็ควรหมั่นอ่านวารสารด้านปฐมวัย ถ้าท่านสอนเคมีก็ต้องหาโอกาสเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ       ในสถาบันท้องถิ่นที่จัดขึ้น ไม่ว่าท่านจะเพิ่งเริ่มเป็นครูปีแรกหรือเป็นปีที่ 30 แล้วก็ตาม อย่ามัวหลงภูมิใจอยู่กับความรู้ ความสามารถเดิม ๆ จงคอยติดตามความเคลื่อนไหวในสายวิชาที่ท่านถนัดอยู่เสมอ

                3. ทำงานให้เป็นระบบ      องค์กรที่มีประสิทธิภาพจะยินดีให้ท่านใช้เวลาศึกษาหาความรู้ร่วมกับนักเรียนให้มากขึ้น ท่านต้องคิดค้นวิธีทำงานประจำวันที่มีประสิทธิผล      รวบรวมผลงานของนักเรียนจัดหาวัสดุการเรียนการสอนมาให้ มอบงานกลับไปทบทวนและแนะนำด้วยว่าเมื่องานเสร็จแล้วให้ทำอะไรต่อ    ให้ข้อมูลข่าวสารในชั้นเรียนให้ถูกต้อง ชัดเจน ฯลฯ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องกำหนดวิธีการทำงานให้เป็นระบบ        เพื่อควบคุมชั้นให้ดำเนินไปได้ตามแนวทางที่ต้องการ แล้วจะทำให้ท่านมีเวลาสอนและช่วยเหลือนักเรียนในรายที่จำเป็นได้มากขึ้น

                4. สอนอย่างกระฉับกระเฉง  ไม่ว่าผู้บริหาร ผู้นิเทศงาน หรือผู้บริหารในสายงานอื่น ๆ จะชื่นชมผู้ทำงานหนักเหมือน ๆ กัน ครูที่มีประสิทธิภาพจะวุ่นอยู่กับงาน ทำโน่นทำนี่ เขาจะไม่อยู่นิ่ง จะยุ่งอยู่ตลอดเวลา เขาจะวุ่นอยู่กับนักเรียนและเพื่อนครูอย่างเอาจริงเอาจัง

                5. แสดงเจตคติที่ดี  โวลแตร์ ปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า “การตัดสินใจที่กล้าหาญชาญฉลาดที่สุดของคนเราในรอบหนึ่งวัน ก็คือ การตัดสินใจที่อยู่ในช่วงอารมณ์ดี”   นักเรียนไม่ต้องการครูที่อยู่ในอารมณ์บูด เขาต้องการต้นแบบที่มีเจตคติดี เขาจะคอยฟังว่าท่านพูดคุยกับคนอื่นอย่างไร   และฟังกระทั่งความรู้สึกของเสียงที่ผ่านคำพูดออกมา ท่านควรแสดงออกมาอย่างระมัดระวังเอาใจใส่และให้ความเคารพ   เช่นเดียวกับผู้บริหารก็ต้องสะท้อนเจตคติที่ดีต่อครู ต่อนักเรียน และต่อชุมชนด้วย

                6. วางแนวทางการจัดชั้นให้ประสบความสำเร็จ       วางแนวทางและกำหนดระบบการบริหารจัดการชั้นเรียนตั้งแต่วันแรกที่ท่านเข้าชั้นเรียน การมีวินัยและความมีเหตุผลเป็นสิ่งจำเป็นต่อนักเรียนในการทำงานและการทำให้ชั้นอยู่ในระเบียบแล้วบริหารชั้นให้เป็นไปตามกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง จงหลีกเลี่ยงกฎระเบียบที่ไม่ได้กำหนดไว้ เพราะไม่ช้านักเรียนจะเรียนรู้ว่าคำที่ท่านพูดไม่มีความหมาย

                7. กำหนดระยะเวลาในแผนการสอน    เนื้อหาที่เรียนจะมากน้อยย่อมขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเรียน นักเรียนเรียนได้ดีที่สุดโดยการกระทำ ไม่ใช่โดยการจ้องดู และไม่ใช่โดยการฟังเท่านั้น       ท่านต้องวางแผนการสอนตามกำหนดเวลาตลอดหลักสูตรของท่าน ไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่าเมื่อสิ้นปีการศึกษาแล้วพบว่ามีเวลาไม่พอจะสอนให้จบหลักสูตรได้

                8. ดำรงทักษะมนุษยสัมพันธ์ไว้  ในข้อสรุปชั้นต้น ผู้แสดงความเห็นใช้คำว่า       “ทำงานกับผู้อื่นได้ดี” หมายความว่า ผู้บริหารต้องการครูที่ทำงานกับผู้อื่นได้ดี ถ้าคนไม่ชอบพฤติกรรมของท่านเขาก็จะไม่เข้าหาท่านจะพากันให้ความร่วมมือท่านน้อยลง นี่เป็นความจริง ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนร่วมงาน         ผู้ปกครอง และแม้กระทั่งนักเรียน การศึกษาเป็นธุรกิจเกี่ยวกับมนุษย์       ทักษะมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครูที่ประสบความสำเร็จ

                9. พูดจาสื่อความหมายให้ได้ความชัดเจน  ครูที่มีประสิทธิภาพจะให้ข้อมูลข่าวสารชัดเจน อธิบายให้ชัดเจนพร้อมทั้งแสดงให้ดูขณะที่อธิบายด้วย เมื่อต้องการให้ข้อมูลใหม่ ครูต้องให้แนวทางที่ถูกซึ่งรวมถึงการอธิบาย การกำหนดหัวข้อ การสรุปย่อและการทบทวน บ่อยครั้งที่เด็ก ๆไม่เข้าใจว่าเขาเรียนอะไร        หรือทำไมเขาจึงต้องเรียน

                10. ถามคำถามให้มีประสิทธิภาพ      การถามเป็นเครื่องมือการสอนที่มีอำนาจ ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้จากการถามที่ดี ตั้งคำถามกับนักเรียนทั้งชั้น   แม้ครูจะต้องการถามเฉพาะตัวนักเรียน เมื่อจะถามเฉพาะตัวจงถามคำถามออกไปก่อนแล้วค่อยระบุชื่อนักเรียน หลังจากนั้นต้องให้เวลานักเรียนคิด    อย่าเรียกชื่อเตือนถี่เกินไป ตัวอย่างที่ไม่ค่อยได้ผล เช่น “นที เธอคิดอย่างไร่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์มากที่สุดของเอดิสัน            และเพราะเหตุใด” อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเราเอ่ยชื่อคนอื่นออกไป  คนอื่นก็จะไม่สนใจคิดหาคำตอบและไม่สนใจติดตามเรื่องที่ถามต่อไป ทางที่ควรครูน่าจะพูดว่า “อะไรเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์มากที่สุดของเอดิสัน     และเพราะเหตุใด” แล้วหยุดเว้นระยะสัก 3-5 นาที การทิ้งช่วงเช่นนี้จะทำให้ทุกคนต้องคิดหาคำตอบ      มันดูเหมือนกับต้องเสียเวลานาน แต่วิธีนี้ครูเก่ง ๆ จะใช้ได้ผลดี

                11. แยกแยะการสอนให้แตกต่างกัน  สิ่งท้าทายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งในการสอนก็คือ    การทำงานร่วมกันกับนักเรียนในรูปแบบต่าง ๆ กัน ทั้งบุคลิกและอัตราเร่งในการสอน    ครูต้องผสมผสานให้ผู้เรียนได้ฟังไปด้วยได้เห็นด้วยพร้อม ๆ กับใช้เทคนิคมาประกอบ เช่น บทเรียนพิเศษ ต้องรวบรวมนักเรียนที่มีความอ่อนด้อยคล้าย ๆ กัน หรือมีช่องว่างทักษะใกล้เคียงกันมาเข้ากลุ่มย่อย เป็นต้น

                12. สร้างความสำเร็จในชั้นของท่าน  อัตราความสำเร็จก็มีความสำคัญ     ถ้างานที่ทำต่อเนื่องมากสำหรับนักเรียนเขาจะเกิดความคับข้องใจ เป็นผลให้มีปัญหาทางพฤติกรรมและหมดความพยายาม    รายงานการวิจัยชี้ให้เห็นว่า อัตราความสำเร็จอย่างน้อยควรได้ 80% เมื่อนักเรียนไม่ประสบผลสำเร็จ    จงสอนต่อไปและหรือให้งานที่ง่ายลงมาจนกว่าเขาจะชนะมันได้

                13. ตั้งความหวังให้สูง  ผู้บริหารต้องการครูที่ตั้งความหวังในตัวนักเรียน ความคาดหวังสูง ๆ จำเป็นต้องชี้แจงให้เป็นที่รู้กันล่วงหน้าเพื่อให้ได้ผลงานที่ดี ครูที่ประสบผลสำเร็จต้องไม่เพียงแต่คอยรับความร่วมมือเท่านั้น แต่ต้องแสดงความต้องการออกมาให้รู้ด้วย คนเรายินดีให้ความร่วมมือหากไม่ถูกบังคับหรือไม่ใช่วิธีการหยาบคาย ความจริงแล้ว นักเรียนมักเคารพครูที่คาดหวังในตัวเขาไว้สูง

                14. สร้างบรรยากาศให้น่าชื่นชมยินดี       อย่าปล่อยให้นักเรียนของท่านนั่งใจล่องลอยไปนอกชั้นเรียน หรือเหม่อลอย เซื่องซึม เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง จงทำบรรยากาศในห้องเรียนให้สนุกสนาน รื่นเริง เพื่อจะได้กระตุ้นให้การเรียนรู้ได้ผล ครูไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งวิเศษมหัศจรรย์ขึ้น   มาช่วยในการเรียนการสอน แต่ห้องเรียนที่สดชื่นขณะที่นักเรียนรู้สึกสบาย ๆ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้มากกว่า

                15. จงยืดหยุ่น   การสอนต้องการความยืดหยุ่น ท่านต้องปรับหัวข้อการเรียนให้เหมาะสมกับเวลาแทนที่ท่านจะยึดติดอยู่กับแผนการเรียน         ท่านควรสนองตอบความต้องการของนักเรียนเพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนภารกิจประจำและกฎข้อบังคับที่อยู่ เมื่อจำเป็นต้องช่วยเด็ก ท่านต้องควบคุมอารมณ์ และนำบทเรียนให้เดินหน้าไปได้เมื่อแผนการเรียนที่ท่านทำไว้อย่างดีแล้วต้องมาเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เหนือการควบคุมของท่าน    ดังคำกล่าวสมัยใหม่ว่า  “การยืดหยุ่นจะไม่ทำให้งานเสียได้”

ข้อควรสังเกต

                นักบริหารการศึกษาที่ดีต้องการความมั่นใจในความสำเร็จทางด้านวิชาการของเด็ก ๆ ทุกคน   เพื่อให้โรงเรียนได้รับความเชื่อมั่น เขาจึงต้องรับผิดชอบในการพัฒนาครูให้มีคุณภาพ สามารถสอนได้อย่างลึกซึ้ง การศึกษามิใช่เป็นแต่เพียงศาสตร์        และคุณภาพที่ต้องการสร้างให้มีขึ้นในตัวครู จะแปรเปลี่ยนไปตามวัตถุประสงค์และความต้องการของโรงเรียน ซึ่งแตกต่างกัน อย่างไรก็ดีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักทั่วๆ ไปซึ่งผู้บริหารที่มีคุณธรรมจะต้องแสวงหาเมื่อเขาต้องการครูใหม่หรือพยายามพัฒนาครูให้มีความเชี่ยวชาญในการสอนยิ่งขึ้น

                โปรดให้ความสำคัญกับคุณลักษณะความเป็นเลิศทั้ง 15 ประการนี้ว่า โปรดตรวจสอบว่าสิ่งใดที่ท่านมีอยู่แล้ว ข้อใดที่ท่านไม่มี ท่านต้องการปรับปรุงข้อใด   จัดลำดับความต้องการ แล้วพัฒนาตนเองขึ้นมาเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในวิชาชีพครู

                ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับตัวของท่านเอง

ที่มา http://www.moe.go.th/wijai/teaching.htm

หมายเลขบันทึก: 459354เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2011 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเป็นบ้างนะครับ

ได้แค่พอฟังเข้าใจเท่านั้นเอง 

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

พร้อมกับมาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท