จะ "เกศทะลุซุ้ม" ไปทำไม


ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณา ก็ยิ่งเกิดศรัทธา รู้อย่างนี้แล้วผมว่า “พระสมเด็จ” มีอะไรมากกว่าจะมานั่งส่องกล้องมองพระกัน ผมว่าลองวางกล้องแล้วมองด้วยดวงตาแห่งศรัทธา โดยมีปัญญาควบคู่กันไปด้วย การศึกษาเรื่อง “พระสมเด็จ” ได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ

เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าครับว่า...ทำไม “พระสมเด็จ” ถึงต้องมีแม่พิมพ์เป็นแบบ  “เกศทะลุซุ้ม”  คงพอนึกภาพกันออกนะครับ  ใช่แล้วครับผมหมายถึงพิมพ์ที่ “เศียร” หรือ “เกศ” ของพระเป็นยอดแหลมพุ่งทะลุเส้นซุ้มที่ครอบองค์พระไปจรดขอบสี่เหลี่ยมด้านบนของพิมพ์พระนั่นแหละครับ   ถ้ายังนึกไม่ออก เก่าสยาม มีภาพประกอบให้ดูกันครับ  แบบนี้เลยครับ

ผมเองก็สงสัยเหมือนกันครับว่าทำไมถึงทำพิมพ์แบบนี้ขึ้นมา  เพราะอะไร  ช่างหลวงนี่ก็กระไรอยู่  จะทำให้เกศพระให้พอดีกับเส้นซุ้มไม่ได้เชียวหรือ   ลองสืบถามเท้าความกับหลายท่าน  แม้กระทั้งหาข้อมูลจากตำราที่ผู้รู้ ผู้ทรงภูมิเรื่อง “พระสมเด็จ” หรือ “อัตตชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี” ได้รจนาแต่งไว้ ก็ได้มาหลากหลายความเห็นครับ

บ้างก็ว่า “สมเด็จโต ท่านเคยขึ้นมากราบนมัสการ พระพุทธชินราช ที่เมือง พิษณุโลก  ท่านคงจะเอาอย่าง ซุ้มเรือนแก้วของ พระพุทธชินราช มาทำพิมพ์พระกระมัง” 

ผมฟังๆ ดูเผินๆ แล้วก็เข้าที แต่พิจารณาอีกทีเห็นว่าไม่น่าใช่ เพราะพระพุทธชินราชนั้น องค์พระเป็นปางมารวิชัย แล้ว “พระเศียร” หรือ “พระเกศ” ขององค์พระก็มิได้แหลมชะลูดจนทะลุซุ้มเรือนแก้วสักหน่อย  เป็นอันว่าตกไปครับความเห็นนี้

บางท่านว่ากันถึงขนาด “ มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง อยู่ในวัดพระแก้วนี่แหละ เกศยาวแบบนี้เลย จนต้องเจาะรูให้ทะลุครอบแก้วที่ช่างหลวงเขาทำไว้”  ว่าไปนั่น!

สำหรับความเห็นนี้ผมว่าไปกันใหญ่  ช่างที่ไหนจะมาทำครอบแก้วองค์พระพุทธรูปโดยมิได้วัดความกว้าง ความยาว ความสูง ก่อน  และเท่าที่ เก๋าสยาม ไปสืบค้นดูก็ยังไม่เจอพระพุทธรูปที่ว่านั่นในวัดพระแก้วเลยเห็นจะต้องตัดทิ้งเหมือนกันความเห็นนี้ 

เดินสงสัยอยู่หลายวัน เหลือบไปเห็นรูปสมเด็จ “โต” นั่งอยู่ในท่ายอดฮิตคือ นั่งขัดสมาธิแล้วกำมือทั้งสองข้างอยู่กลางลำตัวในลักษณะซ้อนกัน  แบบที่เราๆ คุ้นตากันนั่นแหละครับ นึกในใจเหมือนกันว่า  “สมเด็จโตครับทำไมพระพิมพ์ของท่านต้องเกศทะลุซุ้ม” ( เก๋าสยามสงสัยใกล้จะเพี๊ยนล่ะครับ)   ท่านก็ไม่ได้ว่ากระไร แต่มีข้อความท้ายรูปที่เห็นว่า ท่านกำมือเป็นปริศนาธรรม “กำ” หมายถึง “กรรม” มือที่กำอยู่ข้างบนเป็น “กุศลกรรม” กรรมฝ่ายดี ส่วนมือที่กำอยู่ข้างล่างเปรียบกับ “อกุศลกรรม” หรือกรรมชั่ว นั่นเอง

จึงนึกขึ้นมาได้ว่าตามพระราชประวัติของท่าน  ท่านชอบพูด หรือ กระทำอะไรเป็นปริศนาธรรม ดูอย่างคราวที่ท่านจุดใต้ตอนกลางวันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังเมื่อคราวสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ เพื่อไปถามความกับ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้นว่าแผ่นดินมืดมัว จะคิดอ่านกันอย่างไร จนได้รับคำมั่นว่าจะร่วมปกป้องเศวตฉัตรมิได้คิดก่อการใหญ่เป็นขบถต่อแผ่นดินแลราชวงศ์จักรี    ท่านจึงได้ดับ “ใต้” แล้วเดินทางกลับ  และมีอีกมากมายหลายเหตุการณ์ที่ท่าน “ทำ” หรือ “แสดง” ให้เราๆ ได้คิด  ผมว่า “พระสมเด็จ” ก็ดุจเดียวกัน

ความเห็นที่ดูจะเข้าท่าเข้าทางที่สุด เห็นว่า รูปทรงองค์พิมพ์ของพระสมเด็จนั้นแฝงไปด้วยปริศนาธรรม กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ นักเลงพระเรียก “เส้นบังคับพิมพ์นั้น” โบราณจารย์ท่านเปรียบไว้กับ “อริยสัจสี่” อันเป็นสัจจะความจริงสูงสุดสี่ประการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และเป็นข้อธรรมหลักในพระพุทธศาสนา ทีนี้ฐานทั้งสามนั้นท่านว่าเปรียบได้กับ “ศีล สมาธิ ปัญญา” เป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความเป็น “พุทธะ” องค์พระพุทธที่อยู่กลางพิมพ์พระเป็น “ปางสมาธิ” อันเป็นแนวทางปฏิบัติวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสั่ง     ส่วนเส้นซุ้มครอบองค์พระนั้นเปรียบไว้กับ “อวิชชา” กิเลส ตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ของกู “พระอยู่กับกูแท้...พระของมึงเก๊” (อันนี้นอกเรื่องครับ)  ที่ครอบงำอยู่ 

ที่นี้มาถึง “เกศทะลุซุ้ม”  เก๋าสยาม จึงขอต่อยอดความเห็นไปว่า ยอดเกศปลายแหลมที่แทงทะลุเส้นซุ้มที่ครอบองค์พระนั้น หมายถึง ปัญญาสูงสุดในทางพุทธศาสนา เปรียบได้กับเข็มปลายแหลมคมที่แทงทะลุ “อวิชชา” ให้เข้าถึง และ รู้เห็นตามความเป็นจริงคือ  “ อริยสัจสี่”   นั่นเอง

ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณา  ก็ยิ่งเกิดศรัทธา รู้อย่างนี้แล้วผมว่า “พระสมเด็จ”  มีอะไรมากกว่าจะมานั่งส่องกล้องมองพระกัน  ผมว่าลองวางกล้องแล้วมองด้วยดวงตาแห่งศรัทธา โดยมีปัญญาควบคู่กันไปด้วย  การศึกษาเรื่อง “พระสมเด็จ” ได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ 

สวัสดีครับ

 

หมายเลขบันทึก: 459307เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2011 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท