การประเมินความเสี่ยง


Risk Assessment

หน่วยงานด้านการประเมินความเสี่ยง

        1. U.S. EPA (United States Environmental Protection Agency) เป็นหน่วยงานหลักที่ศึกษาเรื่องการประเมินความเสี่ยง ในขั้นตอน dose-response assessment นั้น U.S. EPAรายงานค่าความปลอดภัยของสารไม่ก่อมะเร็งด้วยค่า reference dose (RfD) และ reference concentration (RfC) U.S. EPA ได้คำนวณค่า RfD/RfC ของสารเคมีมากกว่า 500 สารพร้อมทั้งรายละเอียดการคำนวณ สามารถสืบค้นได้จาก website www.epa.gov/iris

        2. ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาเรื่องการประเมินความเสี่ยงของสารไม่ก่อมะเร็งเท่านั้น สำหรับขั้นตอน dose-response assessment นั้น ATSDR รายงานค่าความปลอดภัยด้วยค่า Minimal Risk Level (MRL) ซึ่งหลักการคำนวณเช่นเดียวกับค่า reference doseของ U.S. EPA ข้อแตกต่างระหว่างฐานข้อมูลของ ATSDR และของ U.S. EPA คือ ATSDRจัดทำ MRL ของสารเคมีเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเฉียบพลัน (acute), ระดับปานกลาง(intermediate) และ ระดับเรื้อรัง (chronic) โดยค่า chronic MRL นั้นเทียบเท่ากับ RfD ของ U.S.EPA ในกรณีที่มีข้อมูลการศึกษาด้านพิษวิทยาหาสารเคมีที่มีระยะเวลาการศึกษาน้อยกว่า chronicATSDR จึงจัดทำค่า MRL สำหรับ acute หรือ intermediate ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการศึกษาโดยทั่วไปถ้าการศึกษาระยะสั้นน้อยกว่า 2 เดือน จะได้ค่า acute MRL ถ้าระยะเวลาการศึกษา 2เดือน – 1 ปี จะได้ค่า intermediate MRL ทำให้การนำค่า MRL ไปใช้ได้กว้างขวางกว่าค่า RfDของ U.S. EPA ซึ่งใช้เฉพาะผลที่เกิดจากการได้รับสารเป็นเวลานาน (chronic effects) เท่านั้น

การประเมินความเสี่ยงประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ

          1. Hazard Identification เป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสรุปว่าการได้รับสารเคมีที่กำลังสนใจอยู่นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ เนื่องจากมีสารเคมีเพียงไม่กี่สารเท่านั้นที่มีข้อมูลความเป็นพิษในมนุษย์อย่างแน่ชัด ดังนั้น hazard identification ของสารเคมีจึงรวมถึงผลการศึกษาในสัตว์ทดลองด้วยการประเมินความเสี่ยงจะหยุดเพียงแค่ขั้นตอน hazard identification เท่านั้น ถ้าไม่พบว่าการได้รับสารเคมีที่กำลังศึกษาอยู่นี้ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์

     2. Dose-Response Evaluation เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของสารที่ได้รับและความรุนแรงของความเป็นพิษทั้งเชิงคุณภาพ (qualitative) และเชิงปริมาณ(quantitative) ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง และอาจมีบางส่วนที่ได้จากการศึกษาในมนุษย์ การคำนวณความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีจะทำได้นั้น ต้องทราบความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างความเป็นพิษและปริมาณสารเคมีที่ได้รับ (dose-responserelationship) ด้วย ในขั้นตอนนี้แบ่งสารเคมีเป็น 2 กลุ่ม คือ

     2.1 สารไม่ก่อมะเร็ง (non-carcinogen) รวมถึงสารก่อมะเร็งที่ไม่มีผลต่อยีน (nongeneticcarcinogen) และความเป็นพิษอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเกิดมะเร็ง (non-carcinogenic effects)จากสารก่อมะเร็ง แนวความคิดเกี่ยวกับสารไม่ก่อมะเร็งคือ สารเคมีกลุ่มนี้แสดง threshold ซึ่งหมายถึงปริมาณสารเคมีที่มากที่สุด เมื่อได้รับเข้าไปทุกวันแล้วจะไม่ทำให้เกิดความผิดปกติใดๆ

     2.2 สารก่อมะเร็งที่มีผลต่อยีน (genetic carcinogen) สำหรับสารก่อมะเร็งจะใช้แนวความคิดที่ว่าสารกลุ่มนี้ไม่มี threshold ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะได้รับสารก่อมะเร็งปริมาณมากน้อยเพียงใดก็ตาม แม้เพียง 1 โมเลกุลก็มีโอกาส (probability) ที่จะเกิดมะเร็งได้

       3. Exposure Assessment เป็นการประเมินปริมาณสารเคมีที่มนุษย์หนึ่งคนหรือประชากรหนึ่งกลุ่มได้รับจากสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากของการประเมินความเสี่ยง ทั้งนี้เพราะความเป็นพิษของสารเคมีจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่ได้รับสารนั้น และความรุนแรงของความเป็นพิษขึ้นกับปริมาณของสารที่ได้รับ ดังนั้นถ้าการประเมินปริมาณสารที่ได้รับผิดพลาดจากความเป็นจริง การคำนวณความเสี่ยงก็จะมีความคลาดเคลื่อน (uncertainty) สูง

        4. Risk Characterization เป็นการรวบรวมเอาข้อมูลและผลการวิเคราะห์ของสามขั้นตอน ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มาใช้คำนวณความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดผลเสียในมนุษย์จากการได้รับสารเคมี

      Dose-response Assessment สำหรับสารไม่ก่อมะเร็งในขั้นตอน dose-response assessment สำหรับสารไม่ก่อมะเร็งนี้ จำเป็นต้องใช้ค่าต่างๆทางพิษวิทยาได้แก่NOEL (no-observed-effect level) หมายถึง ปริมาณของสารเคมีที่มากที่สุด ซึ่งได้รับทุกวันแล้วไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆต่อร่างกาย

         NOAEL (no-observed-adverse-effect level) หมายถึง ปริมาณของสารเคมีที่มากที่สุดซึ่งได้รับทุกวันแล้วไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษหรือผลเสีย (adverse effects) ใดๆ ต่อร่างกายความแตกต่างระหว่าง NOEL และ NOAEL อยู่ที่ endpoint ที่ทำการศึกษาเช่น สารเคมีสารหนึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงโดยการขยายหลอดเลือด ดังนั้นคุณสมบัตินี้ไม่นับว่าเป็นความเป็นพิษของสารเคมีสารนี้ แต่เมื่อให้สารนี้ในปริมาณที่สูงขึ้นจึงทำให้เกิดผลข้างเคียง (adverse effect) หรือความเป็นพิษขึ้น เช่น ผลต่อตับ ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากระดับเอนไซม์ ALT (alanine transaminase) หรือ SGPT (serum glutamate pyruvate transaminase)ในเลือดที่สูงขึ้น ดังนั้นปริมาณที่มากที่สุดที่ไม่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวคือ NOEL และปริมาณที่มากที่สุดที่ไม่ทำให้ ALT ในเลือดสูงขึ้นคือ NOAEL ในทางปฏิบัติเป็นการยากที่จะทำการศึกษาendpoint ได้ทุกชนิดเพื่อให้ได้ NOEL ส่วนใหญ่จะศึกษาเฉพาะ endpoint สำคัญๆ เช่น น้ำหนักตัวลดลงผลต่อตับ ซึ่งอาจศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของ liver enzymes ต่างๆ ในเลือด และการก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นต้น endpoint เหล่านี้แสดงถึงความเป็นพิษของสารเคมี ดังนั้นค่าที่ได้ก็คือNOAEL นั่นเอง ในทางพิษวิทยา NOAEL จึงเป็นค่าที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า NOEL 

        LOEL (lowest-observed-effect level) หมายถึง ปริมาณของสารเคมีที่น้อยที่สุด ซึ่งได้รับทุกวันแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นLOAEL (lowest-observed-adverse-effect level) หมายถึง ปริมาณของสารเคมีที่น้อยที่สุด ซึ่งได้รับทุกวันแล้วทำให้เกิดความเป็นพิษหรือผลเสียต่อร่างกาย (adverse effect) อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นซึ่งมักเป็นความผิดปกติที่กลับคืนได้ (reversible change) เช่น fatty liver และน้ำหนักตัวลดลง

หมายเลขบันทึก: 459213เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2011 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท