กระต่ายกับเต่า ภาค 2 “เราไม่วิ่งแข่งกันแล้ว” หนังสือธรรมะที่ทำได้จริงๆ


นำธรรมะไปใช้กับชีวิตได้อย่างกลมกลืนและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ทำให้เราเกิดความซาบซึ้งถึงอานุภาพของคุณงามความดี

 

 

ผมได้หนังสือเล่มนี้มาจากแผงขายหนังสือเก่าย่านธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ ตรงข้ามสวนจตุจักร ที่มาขายในทุกวันศุกร์ ตามผมได้เคยเล่าไว้ในบันทึก “แผงหนังสือเก่า ซอยเฉยพ่วง ข้าง TMB สำนักงานใหญ่” (http://www.gotoknow.org/blog/attawutc/297566)  ตัวเล่มของหนังสือที่ผมได้มาค่อนข้างเยินแล้วพอสมควร ภายในรูปประกอบก็มีการถูกระบายสีทิ้งไว้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นฝีมือของเด็กๆ เจ้าของหนังสือก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้เสียอรรถรสในการอ่านลงไปได้ เหตุผลที่ผมเลือกซื้อเล่มนี้ก็เพราะเนื้อหาและการวางรูปเล่มตัวอักษร รูปภาพเป็นที่น่าสนใจ และยิ่งเป็นนักเขียนที่ชื่อ ฮ.นิกฮูกี้ หรือ พิทักษ์  ไทรงามด้วยแล้ว ก็ไม่ธรรมดา เท่าที่ผมติดตามผลงานของนักเขียนคนนี้มา เขาเป็นนักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจและได้แง่คิดทางด้านปรัชญาต่างๆ มากมายทีเดียว ตอนแรกนึกว่าคงเป็นพระหรืออาจารย์สอนหนังสือที่มีอายุมากซักหน่อย แต่ที่ไหนได้ เขาออกผลงานมาตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว อายุก็ยังไม่ถึง 40 ปีด้วยซ้ำ ผลงานที่สร้างชื่อก็คือ นิยายอิงธรรมมะเรื่อง “กูคือพระเจ้า” ที่ได้เข้ารอบ1 ใน 7 เล่มสุดท้ายของการประกวดรางวัลซีไรต์ เมื่อปี พ.ศ.2543

 

 

หลายท่านคงคิดว่าเนื้อหาของหนังสือเรื่องกระต่ายกับเต่า ภาค 2 “เราไม่วิ่งแข่งกันแล้ว” เล่มนี้  คงเหมือนกับที่เคยได้ยินนิทานกระต่ายกับเต่า ภาค 2 ในเวอร์ชัน อื่นๆ ที่ ภาคสอง กระต่ายกลับมาชนะเพราะไม่ยอมประมาทอีกแล้ว ภาคสามเต่ากลับมาชนะเพราะวางกลยุทธ์ไว้ดี ภาคสี่ทั้งช่วยกันเอาชนะอุปสรรคไปถึงเส้นชัยทั้งคู่แบบ Happy Ending แต่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เนื้อหาดังที่กล่าวมานี้ เรื่องนี้ต้องยกให้เต่าเป็นพระเอก ที่สามารถนำธรรมะไปใช้กับชีวิตได้อย่างกลมกลืนและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ทำให้เราเกิดความซาบซึ้งถึงอานุภาพของคุณงามความดี ดังคำพระที่กล่าว “การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง”

 

 

 

หนังสือเล่มนี้ได้สื่อให้เห็นถึงการนำธรรมะมาใช้ในชีวิตจริงเพื่อให้ชีวิตนั้นประสบความสำเร็จและมีความสุข โดยให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าธรรมะเป็นเรื่องยาก ธรรมะคือสิ่งรอบตัวที่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลา ทุกเหตุการณ์ ในตอนแรกเราอาจจะไม่เข้าใจในการตัดสินใจของเต่า แต่เหตุการณ์ในแต่ละอย่างจะเป็นตัวตอบคำถามที่เคยสงสัยได้อย่างชัดเจน เนื้อหาในตอนต้นของเรื่องจะสอนเราเกี่ยวกับการปล่อยวาง อุเบกขา ให้เข้าใจในเรื่องของธรรมชาติ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม สัตว์โลกทุกตัวมีกรรมเป็นของตนเอง เราจะหนีกรรมไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมจำนนต่อกรรม เพราะนั่นคือกรรมเก่าเป็นอดีตที่แก้ไขไม่ได้แล่ว สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องสร้างกรรมใหม่ให้เป็นกรรมที่ดี และอยู่กับปัจจุบัน อย่างทีคนโบราณกล่าวไว้ว่า “ทำบาปมากๆ ระวังเวรกรรมจะตามทันนะ”

 

 

ช่วงกลางเรื่องจนไปถึงตอนจบ หนังสือสื่อให้เห็นถึงการใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา และผลของการทำกรรมดีที่เต่าได้สร้างไว้ เพราะเชื่อในอานุภาพของคุณงามความดี ดังคำพระที่ว่า “เสียสละ ทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ”  ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นกับทุกๆ ตัว โดยที่แต่ละคนยังรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้ เช่น หมาป่าก็ไม่จำเป็นต้องเลิกกินเนื้อ แต่ยังกินซากสัตว์ที่ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ ทุกตัวเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน มีความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำมาหากินอย่างมีความสุข

 

 

หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย เด็กที่ยังอ่านไม่ได้ พ่อแม่ก็อ่านให้ฟังพร้อมกับให้ดูรูปประกอบไปด้วย เด็กที่พออ่านได้แล้วก็ปล่อยให้อ่านตามลำพังได้เพราะเนื้อหาและตัวอักษรในหนังสือดูไม่รกตา เมื่ออ่านจบแล้วพ่อแม่ก็มาชวนคุยสรุปความรู้สึกต่อเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์และตัวละครแต่ละตัว ว่าได้แง่คิดอะไรบ้าง ตามแนวทางของ AAR (After Action Review) และ  Reflectionเช่น เรื่องของความมีเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ความกตัญญู การให้อภัย การความคุมสติ ให้เกิดปัญญา เป็นต้น ส่วนผู้ใหญ่ก็เป็นอ่านเพื่อตอกย้ำความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 459153เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2011 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท