4.4.3 โลกาภิวัฒน์และวัฒนธรรมบริโภคนิยม
ผลผลิตที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีการผลิตย่อมต้องการการขายออกไปเพื่อทำกำไรให้แก่ผู้ผลิต ซึ่งอาจเป็นปัจเจกชน บริษัท หรือ รัฐ ก็เป็นได้ ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องโฆษณาชวนเชื่อให้สังคมผู้บริโภคเห็นความจำเป็นในการใช้สินค้าของตนที่ได้ผลิตขึ้น และเมื่อได้วิเคราะห์ว่าความต้องการบริโภคสินค้าประเภทนั้นเกิดการอิ่มตัวแล้ว ก็จะพัฒนาสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา โดยการใช้เทคโนโลยีผลิตได้อย่างรวดเร็ว
จึงเห็นได้ว่ามนุษย์ในปัจจุบันนี้ได้วิวัฒนาการความจำเป็นในการใช้สินค้าบริโภคอุปโภคมากกว่าคนในสมัยก่อนมากนัก ทั้งที่ร่างกายมนุษย์ก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการมานานกว่าแสนปีแล้ว จะเห็นได้ว่าสินค้าหลายอย่างไม่ได้มีความสำคัญต่อการดำรงชีพมากนัก จัดได้ว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่มนุษย์ในปัจจุบันนี้ก็บริโภคกันคิดเป็นจำนวนเงินมากยิ่งกว่าสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพมากหลายเท่า เช่น การบริโภคอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายนั้นอาจใช้เงินเพียงสัก 100 บาทต่อวันก็พอแล้ว (ปีพศ. 2547) แต่มนุษย์กลับใช้เงินซื้อโทรศัพท์มือถือราคา 10,000 บาทได้ หรือ น้ำหอมขวดละ 2,000 บาทได้ในวันเดียว หรือ แม้แต่รถยนต์ราคา 1,000,000 บาท ได้
บางคนสะสมเครื่องอุปโภคไว้มากมายเกินความจำเป็นเช่น มีปากกา 10 กว่าด้าม มีเสื้อผ้าหลายโหล รองเท้าหลายคู่ นาฬิกาหลายเรือน เครื่องเล่นอีเล็กทรอนิกส์ต่างๆอีกมากมาย ฯลฯ สิ่งเกินความจำเป็นเหล่านี้คือการบริโภค ที่มาพร้อมกับลัทธิบริโภคนิยม (consumerism) ซึ่งเป็นผลพวงโดยอ้อมของเทคโนโลยีทั้งสิ้น ขณะนี้เรากำลังถูกทำให้เชื่อว่าอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalism) ซึงก็คือกระแสของการผลิตและการบริโภคนั่นเอง เป็นกระแสที่ประเทศกลุ่มผู้กุมอำนาจการผลิตกำลังปั่นให้เห็นเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่อาจหลบหนีได้
ในขณะเดียวกันก็เกิดกระแสการต่อต้านโลกาภิวัฒน์โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที ดังจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันนับหมื่นคนเพื่อแสดงท่าทีคัดค้านระบบโลกาภิวัฒน์ในทุกครั้งที่มีการประชุมทางเศรษฐกิจที่มีประเทศผู้นำด้านการผลิตเป็นเจ้าภาพในการประชุม
คำถาม ให้นศ.ระบุสินค้าที่ตนหรือเพื่อนบริโภคมากเกินจำเป็น และให้อภิปรายว่าเกินจำเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมอภิปรายด้วยว่าหากเลิกใช้อุปกรณ์เหล่านั้นจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเราอย่างไรบ้าง (อย่าลืมกำหนดคำนิยามของ”คุณภาพชีวิต”ให้ดี)
ข้อดีของการบริโภคมากเกินความจำเป็นของร่างกายก็คงจะมีเหมือนกัน เพราะหากคนเราไม่บริโภค(ซื้อสินค้า)เสียเลย โลกเราก็คงจะกลับสู่ยุคดึกดำบรรพ์ กล่าวคือ ต่างคนต่างผลิตเพื่อใช้เฉพาะตนหรืออย่างมากก็ภายในครัวเรือนของตน การผลิต การค้าขาย (และการซื้อสินค้า) จึงมีส่วนสำคัญยิ่งที่ช่วยทำให้สังคมมนุษย์ได้พัฒนาขึ้นและมีความหลากหลาย
ยิ่งมีการซื้อมากเท่าใด (demand) ก็จะยิ่งมีการผลิต (supply) มากขึ้นเพียงนั้น และเมื่อมีการผลิตก็ต้องมีการจ้างแรงงานเพื่อทำการผลิต ซึ่งทำให้คนมีงานทำมากขึ้น และเมื่อได้เงินเดือนค่าจ้าง ก็เอามาซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่น เป็นงูกินหางกันอยู่อย่างนี้
แต่กินหางกันแล้วมันจะกินกลางตลอดตัวด้วยหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่เราต้องช่วยกัน "หาทางออก" กันต่อไป ถ้าหาได้ไม่ทันเวลา ก็คงต้องตายหมู่ร่วมกันเป็นแน่
...คนถางทาง (๕ กย. ๕๔)
ความสุขส่วนใหญ่ ไม่มีราคาแพง :)