พลอยโพยม
นาง อมร ตันสุตะพานิช (สงวนสัตย์)

[บทความ] วัดเมือง...แดนประหารกบฎ "อั้งยี่"...ในรัชกาลที่ 3.


วัดเมือง...แดนประหารกบฎ "อั้งยี่"...ในรัชกาลที่ 3.

 

ที่มา : http://bangkrod.blogspot.com/

 

[บทความ] วัดเมือง...แดนประหารกบฎ "อั้งยี่"...ในรัชกาลที่ 3 ประวัติวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏิ์ (วัดเมือง)จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์... หรือ วัดเมืองตั้งอยู่เลขที่ 156 บนถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นวัดเก่าแก่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างโดย "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจักร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์" ในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดเมืองนี้สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์หรือวัดเมืองถือได้ว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่สร้างขึ้นเมื่อเกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองของฉะเชิงเทรา ใน พ.ศ. 2377 เมื่อมีการสร้างกำแพงเมืองเพื่อกำหนดขอบเขตของแปดริ้ว และให้เมืองแปดริ้วเป็นปราการรักษาพระนคร พร้อมทั้งเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านชาวเมืองให้ปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูในสมัยนั้น นอกจากนี้ในสมัยก่อนชาวบ้านต่างมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ทำให้มีการสร้างวัดขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองและเป็นที่พึ่งทางใจในยามสงคราม เนื่องจากวัดนี้ ตั้งอยู่ในเมือง ชาวบ้านจึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดเมือง"

 

วัดนี้สร้างโดยฝีมือช่างปั้นจากเมืองหลวง วัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพมหานคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา และทำการบูรณะวัดขึ้นใหม่ พระองค์ได้สถาปนาชื่อใหม่ว่า "วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์" ซึ่งมีความหมายกับชื่อว่า "วัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง" และได้ชื่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

 

ภายในวัดมีสถานที่สำคัญคือ "หอระฆัง" เริ่มก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยนางปุย กับ นางสาวแฝง ที่ได้รับการบริจาค และเพื่ออุทิศให้ "พระอินทราสา" ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา และ ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นศาลเจ้าเล็กที่มีศิลปะแบบจีน ที่ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2534 ในวัดมีพระอุโบสถหลังเก่า มี้ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 24 เมตร สูง 8 เมตร ในพระอุโบสถ พระอุโบสถได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกที่ติดกับแม่น้ำบางปะกง ส่วนพระวิหาร มีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 26 เมตร ฐานอยู่สูงกว่าระดับฐานพระอุโบสถประมาณ 0.90 เมตรอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ พระวิหารมีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลด 2 ชั้น ภายในวิหารมีพระประทานและพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกเศษ จำนวน 4 องค์ และมีรอยพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยสำริด มีภาพมงคล 108 หล่อในสมัยรัชกาลที่ 3

 

 

แดนประหารกบฎ "อั้งยี่"...ในรัชกาลที่ 3...

 

เจ้าเมืองปกครองดูแล ต่อมาได้เกิดปัญหากับชาวจีนที่ตั้งก๊กเรียกตัวเองว่า "อั้งยี่" ซึ่งทำการขยายอำนาจอิทธิพลจากเมืองชลบุรีเข้ามายังฉะเชิงเทรา ในเดือน 5 พ.ศ. 2391 พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทราและทำการเรียกเก็บค่าคุ้มครองหรือภาษีเถื่อนแข่งกับทางการ จนเจ้าเมืองฉะเชิงเทราขณะนั้นต้องนำกำลังไปปราบปรามทำให้พวกอั้งยี่แตกไปคนละทิศทาง แต่ตัวการใหญ่ที่หนีไปกลับไม่ยอมแพ้ได้หวนกลับมารุมทำร้ายเจ้าเมือง คราวนี้ถึงขั้นเป็นกบฎ และได้ฆ่า "พระยาวิเศษลือชัย" ผู้ว่าราชการจังหวัดและทหารคนสนิทในจวนจนกระทั่งเสียชีวิต มิหนำซ้ำยังตัดศีรษะเจ้าเมืองนำมาประจาน เพื่อข่มขวัญผู้คนให้เกรงกลัว แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดป้อมเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น และยังได้ประกาศให้เมืองฉะเชิงเทราเป็นอาณาจักรของพวกอั้งยี่อีกด้วย

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2391 ณ เวลานั้นความได้ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์" ยกพลจากเมืองสมุทรสาครมาปราบปรามพวกอั้งยี่ทั้งทางน้ำและทางบก ครั้งนั้นฝ่ายอั้งยี่ได้เข้ายึดวัดเมืองซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสุมกำลังเพื่อสู้กับทัพเมืองบางกอกแต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ พวกจีนอั้งยี่ถูกฆ่าตายกว่า 3,000 คน พวกที่ตายก็ตายไปฝ่ายที่เหลือก็ถูกจับเป็นเชลย และก็ยังมีบางส่วนที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อย เมืองชลบุรี อั้งยี่เมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ

 

 

ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับเมืองฉะเชิงเทราครั้งนั้น รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศว่า "อันการกระทำของอั้งยี่คราวนี้เป็นขบถต่อแผ่นดิน และยังกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการตัดศีรษะเจ้าเมือง อันเป็นตัวแทนต่างพระเนตรพระกรรณให้มาปกครองเมือง เอาศีรษะมาเสียบประจานให้ลงโทษประหารเชลยทุกคนและผู้ให้ความร่วมมือทั้งหมด และให้ไล่ตามจับกุมอั้งยี่ที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อยกลับมาประหารชีวิตทั้งหมด"

 

สถานที่ประหารชีวิตพวกอั้งยี่ ณ เวลานั้น ก็คือ บริเวณโคน "ต้นจันทน์" ใหญ่ของวัดเมือง เล่ากันว่าเหตุการณ์ชวนสยดสยองให้เวทนาน่าสงสารและแม้ว่าเหล่าอั้งยี่จะส่งเสียงร้องร่ำไห้ขอชีวิตอย่างไร เหล่าเพชฌฆาตก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปโดยจับนักโทษมามัดติดกับหลักประหารและผลัดเปลี่ยนกันลงดาบนักโทษนับร้อย ๆ คน จนเลือดสาดกระจายเนืองนองไปทั่วหลักประหารในวัดเมืองส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งน่าสะอิดสะเอียนเป็นยิ่งนัก ต่อมาอีก 2 ปีก็สิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฏาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี...

 

 

Photo credit : http://earth008.multiply.com/

 

หมายเลขบันทึก: 458661เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท