MBO ( การบริหารตามวัตถุประสงค์ )


MBO

             MBO ( management  by  objective ) “ การบริหารตามวัตถุประสงค์ เป็นกุศโลบายในการจัดการที่มุ่งผลสำเร็จของงานเป็นหลักโดยอาศัยการกำหนดวัตถุประสงค์การทำงาน  และมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินความก้าวหน้า หรือความสำเร็จของงานร่วมกันระหว่างผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

        แผนงาน และ วิธีที่ใช้ในการประเมินผลจะถูกกำหนดขึ้นด้วยความร่วมมือกันของบุคลากรในทุกระดับ ของสายการปฏิบัติงานภายใต้การทำงานร่วมกันเป็นทีม ”

        มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มในสังคม โดยประสงค์ต่อผลบางประการ เพื่อทั้งตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็น และเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์นั้น แต่เดิมมีบรรทัดฐาน หรือข้อตกลงที่แม้ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีแบบแผนที่เคร่งครัดผ่านจารีตประเพณี  โดยอาศัยวัฒนธรรม และขนมธรรมเนียม  เป็นเครื่องมือในการดำรงรักษาความสงบสุข และควบคุมการปฏิบัติตนในสังคม ทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมต่างพึ่งพา และผูกพันซึ่งกันและกัน มีการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกัน อันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์

        ในด้านการบริหารองค์กรก็เช่นเดียวกัน เพื่อให้องค์กรสามารถผลิตอย่างมีคุณภาพ และบริการเป็นที่พึงพอใจ ผู้บริหารเริ่มมีนโยบายใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับบุคคลในองค์กรมากขึ้น และมากขึ้นจนกระทั้งมีความพยายามที่จะส่งเสริม ให้ผู้ที่ทำหน้าที่ทำตามคำสั่ง สามารถร่วมทำในสิ่งที่เป็นงานเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญได้ นั่นคือกำหนดวัตถุประสงค์ ขององค์กรวัตถุประสงค์  ขององค์กรนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในเชิงการบริหาร เพราะเป็นรูปธรรมของ นโยบาย เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุผลตามนโยบาย  ในเชิงปฏิบัติการแล้วนโยบายยังมีความสำคัญรองลงไปจากวัตถุประสงค์  เนื่องจาก นโยบายนั้นเป็นนามธรรมที่ยึดหยุ่นได้  ในขณะที่วัตถุประสงค์เป็นเป้าหมาย อันชี้ชัด ที่จะสามารถวัดได้ วัตถุประสงค์เป็นหลักในการวางแผน รวมทั้งเป็นตัวกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่จะชี้ว่าการทำงานนั้นบรรลุผลในระดับใด

        การร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์นั้น สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นพื้นฐาน ดั้งเดิมของมนุษย์ที่มาอยุ่รวมกันตามที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น องค์กรเองก็เป็นสังคมมนุษย์ลักษณะหนึ่งด้วย เช่นกัน ดังนั้นการร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ของบุคลากรให้แก่องค์กร จึงสามารถตอบสนองความต้องการ พื้นฐานของคนที่อยู่ในองค์กรได้ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การพึ่งพาและผูกพันซึ่งกันและกัน มีการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกัน สามารถนำไปสู่วิวัฒนาการขององค์กร และมนุษย์ที่อยู่ในองค์กร ลักษณะสำคัญของการบริหารภายใต้ กุศโลบายนี้ คือ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถของคน ประณีตกับผลงาน และกระจายอำนาจในการคิด ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มพูนการสร้างสรรค์ ภายใต้กุศโลบายนี้ กลไกของการทำงานเป็นทีม หรือ การอยู่ร่วมกันในสังคมของมนุษย์จะทำงาน การควบคุมที่ไม่เป็นทางการ แต่ทว่าเคร่งครัดในระบบของวัฒนธรรมจารีตประเพณี จะมาแทนที่การควบคุมโดยกฎระเบียบอย่างเป็นทางการ และเมื่อทุกทีมมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์  ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ สิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม  ซึ่งย่อมหมายถึงทุกคนมีส่วนร่วมรับในความสำเร็จนั้น

        แม้ว่า กุศโลบายนี้จะมีคุณค่าในการบริหาร แต่ก็เช่นเดียวกับ กุศโลบายในการบริหารอื่นๆ ที่มีข้อจำกัด มิใช่ว่าทุกองค์กรที่นำเอาการบริหารตามวัตถุประสงค์ไปใช้ แล้วจะต้องประสบความสำเร็จเสมอไป  การที่บุคลากรขององค์กร ที่อยู่ภายใต้กรอบของการบริหารแบบจักรกลเป็นเวลานาน ย่อมเคยชินกับการถูกกำหนดงานให้ทำตามหน้าที่ และไม่คุ้นเคยกับการคิดริเริ่มสร้างสรรค์  แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนโดยธรรมชาติก็ตาม มนุษย์ที่ถูกปิดกั้นการเรียนรู้ และทำตามคำสั่งเป็นเวลานาน ย่อมไม่สามารถเสนอความคิดที่สร้างสรรค์ได้ดีเพียงพอ ผู้นำขององค์กรที่จะนำ การบริหารตามวัตถุประสงค์ไปใช้  จะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้มี

      วินัย  5  ประการ เพื่อให้องค์กร เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  และโดยการแปรสภาพจากองค์กรจักรกล ไปเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่มีชีวิตนี้เอง  จะสามารถทำให้กุศโลบายนี้  สามารถนำไปใช้ได้อย่าง มีประสิทธิผลอย่างแท้จริง

วินัย  5  ประการ คือ

  1. วินัยในการเพิ่มพูนภูมิปัญญา และความสามารถแห่งตนเองอย่างต่อเนื่อง
  2. วินัยในการปรับรูปแบบการรับรู้ภายในตนที่มีต่อโลก ให้สอดคล้องกับเป็นความจริง
  3. วินัยในการสร้าง และสานวิสัยทัศน์ร่วมกัน
  4. วินัยในการเรียนรู้ร่วมกัน
  5. วินัยในการคิดอย่างเป็นระบบ

      วินัยทั้ง 5 ประการที่จะนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่ง ในการนำกุศโลบายการบริหารตามวัตถุประสงค์ ไปใช้ให้บังเกิดผลสำเร็จปราศจากวินัยทั้ง 5 ประการนี้ แล้วองค์กร ยังคงต้องบริหารงานในลักษณะเดียวกับเครื่องจักร ที่ต้องมีการควบคุม และสั่งการเป็นลำดับขั้นตามสายการบังคับบัญชา การนำการบริหารตามวัตถุประสงค์ ในองค์กรที่ยังไม่พร้อมนั้น มีโอกาสที่จะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ เพราะย่อมจะต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจ การไม่ผูกพันกับเป้าหมายของผู้ปฏิบัติงาน หรือ กำหนดวัตถุประสงค์ และวางแผน โดยขาดพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง รวมไปถึงการประเมินค่า ข้อมูลย้อนกลับ ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  ดังนั้นเมื่อมีนโบบายที่จะนำการบริหารตามวัตถุประสงค์ มาใช้ ควรตรวจสอบศักยภาพ และความพร้อมของบุคลากรในองค์กรเสียก่อน เพื่อป้องกันความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น

        ข้อสังเกตประการสุดท้าย คือ  ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภค มีความต้องการ หรือมีความพึงพอใจที่สูงขึ้นทุกขณะ และด้วยเหตุผลที่องค์กรจักรกล ไม่สามารถตอบสนองได้ทันท่วงทีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงเป็นไปได้และเกิดขึ้นบ้างแล้ว ที่องค์กรจักรกลจะต้องประสบภาวะขาดทุนและไม้สามารถดำรงอยู่ได้ในการแข่งขันเสรี เมื่อผู้บริโภคเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมพวกเขาจะต้องจ่ายแพงกว่า หรือเท่ากันให้กับสินค้า  หรือบริการจากองค์กรเดิม ขณะที่ด้วยเม็ดเงินจำนวนเท่ากัน หรือน้อยกว่านั้น เขาสามารถได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ  หรือบริการที่เหนือชั้นกว่าองค์กรอื่น เมื่อนั้น คือจุดเริ่มต้นของความล่มสลาย ขององค์ที่ไม่ยอมปรับตัว

        การที่องค์กรไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อนำเอากุศโลบายการบริหารตามวัตถุประสงค์ ก็เนื่องจากสภาพขององค์กร ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ กุศโลบายนี้ นั่นคือ องค์กรนั้นยังไม่ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั่นเอง  เพื่อเข้าใจถึง ความสัมพันธ์  ระหว่างความสำเร็จในการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ กับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  เราจำเป็นต้องพิจารณาถึง องค์ประกอบสำคัญ ของการนำกุศโลบาย นี้ไปใช้  และปัจจัยที่ทำให้ เกิดความสำเร็จ       

หมายเลขบันทึก: 458384เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2011 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท