เรื่องเล่ากรรมนรกสวรรค์ในพุทธ 29


โลกคือจักรวาลซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลาย...

บันทึกนี้ต่อจากตอนที่แล้ว...

 

บทที่ 4  ทัศนะนรกและสวรรค์ในพุทธ

 

 

        คำสอนของศาสนามีการกล่าวถึงนรกและสวรรค์  ตามความเชื่อของคนเราคือเมื่อตายไปแล้วตอนมีชีวิตอยู่ได้ทำชั่วไว้มากก็ไปเกิดในนรก  เมื่อทำดีมากก็ไปเกิดในสวรรค์  คนตายตามนัยปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค  คือ ความขาดไปแห่งชีวิตรูปหรือชีวิตินทรีย์ที่เนื่องในภพหนึ่ง ๆ  ชื่อว่า  การสิ้นชีวิต...มหามกุฎราชวิทยาลัย . ( 2532 : 1 ) . ชีวิตรูปนี้ในอภิธรรมแบ่งเป็น 2 อย่าง  ดังนี้

 

 

1 . ชีวิตของรูปธรรม  คือ  ชีวิตคน  สัตว์  เป็นต้นเรียกว่ารูปชีวิตินทรีย์

 

 

2 . ชีวิตของอรูปธรรม  คือ  ชีวิตของจิตและเจตสิก  เป็นต้นเรียกว่า  อรูปชีวิตินทรีย์หรือนามชีวิตตินทรีย์

 

 

        เมื่อชีวิตทั้ง 2 สิ้นไป  นามชีวิตินทรีย์จะไม่ขาดสูญไปแม้รูปชีวิตินทรีย์จะขาดไปแล้วก็ตาม  แต่ทั้งรูปและนามก็ต้องถูกทำลายไปเพราะเกี่ยวข้องอิงอาศัยกันและกัน

 

 

สาเหตุการสิ้นชีวิต

 

 

        การตายมีหลายสาเหตุ  แต่รวมได้ตามนัยมหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกากล่าวไว้ 4 ข้อ ดังนี้

 

1 . การตายเพราะสิ้นอายุ เป็นอายุขัยของแต่ละคน

 

2 . การตายเพราะสิ้นกรรม เป็นเหมือนไฟหมดน้ำมันแม้ว่าไส้ยังมีอยู่  แต่แสงไฟก็ต้องดับลง

 

3 .การตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรม  เป็นเหมือนไส้และน้ำมันหมดลงพร้อมกัน แสงไฟจึงดับ

 

4 . การตายเพราะประสบอุบัติเหตุ เป็นเหมือนแสงไฟที่มีไส้และน้ำมันยังอยู่แต่ไฟดับลงเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โดนลมพัด  ฝนตกน้ำท่วม  มีสิ่งมาทับ  เป็นต้น

 

        ในการตายของคนเราถ้ากล่าวเป็น 2 คือ การตายตามกาลและการตายที่ยังไม่ถึงกาลเวลา

 

 

เรื่องของโลก

 

        ในทางพุทธไม่ให้ความสำคัญเพราะต้องการสอนคนให้พ้นทุกข์  ดังพุทธดำรัสว่า...ดูก่อนมาลุงกยบุตร  อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์  ดูก่อนมาลุงกยบุตร  ความเห็นว่าโลกเที่ยง  โลกมีที่สุด  โลกไม่มีที่สุด  ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้น...ดังนี้เราไม่พยากรณ์  ความเห็นว่านี้ทุกข์  นี้เหตุเกิดทุกข์  นี้ความดับทุกข์  นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ดังนี้เราพยากรณ์..(ม . ม . 13 / 152 )

 แต่ในจูฬนีสูตรมีการกล่าวถึงโลกระหว่างพระอานนท์กับพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนกัน  และพระอรรถกถาจารย์รับมุมคิดเรื่องนี้มากล่าวถึงโลกในองค์รวมมี 3 ประเภท ดังนี้

 

1 . โลกคือสังขารที่มีการปรุงแต่งให้เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยและดับไปตามเหตุปัจจัย

 

2 . โลกคือหมู่สัตว์ทั้งในสามโลกคือนรก  สวรรค์  และโลกมนุษย์

 

3 . โลกคือจักรวาลซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลาย

 

        จากโลกทั้ง 3 ดังกล่าวมานี้เองทำให้เกิดมุมคิดจินตนาการเรื่องโลกและจักรวาลที่เล่าขานกันไม่จบสิ้นนั้นแล.

 

 

       

........................

บรรณานุกรม

 

มหามกุฎราชวิทยาลัย. ( 2525 ) . พระไตรปิฎกภาษาบาลี  ฉบับสฺยามรฏฺฐเตปิตกํ  2525 . กรุงเทพ ฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย .

 

มหามกุฎราชวิทยาลัย . ( 2527 ) . พระอภิธรรมปิฎก  เล่มที่ 2 วิภังค์  ภาคที่ 2  และอรรถกถา . กรุงเทพ ฯ : เฉลิชาญการพิมพ์.

 

มหามกุฎราชวิทยาลัย . ( 2532 ) . วิสุทธิมรรค  แปลภาค 2  ตอน 1  ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย . กรุงเทพ ฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 458137เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

lสวัสดีค่ะอาจารย์

.คงสบายดีนะคะ

.อ่านแล้วฉลาดขึ้นค่ะ ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับ คุณอุดมพันธ์

เป็นเรื่องเล่าอิงกระแสหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานะครับผม...อิ อิ อิ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท