กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๓๑) : พลังของครูในการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็ก


 

ปีการศึกษานี้ คุณครูอ้อ – วนิดา สายทองอินทร์ ได้โอกาสกลับมาทบทวนจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนชั้น ๖ อีกครั้ง

 

เมื่อมองย้อนกลับไปก็พบว่าในการวางแผนจัดการเรียนรู้หัวข้อการเขียนโวหารต่างๆ ในปีการศึกษาที่แล้วเป็นการสอนรวดเดียวทั้งบรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร สาธกโวหาร  และ เทศนาโวหาร  ทำให้นักเรียนรุ่นที่แล้วขาดแรงบันดาลใจ และไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะพาไปสู่ศักยภาพได้เท่าที่ควรจะเป็น

 

 ปีนี้จึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าเราต้องไม่ทำพลาดซ้ำอีก  ปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับครูนอกเหนือจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เมื่อปีที่แล้วคือ ในปีการศึกษาใหม่นี้โรงเรียนนำกระบวนการพัฒนาครูโดยใช้กลุ่มเรียนรู้ ที่เรียกว่า Lesson Study เข้ามา ทำให้ครูมีเพื่อนเรียนรู้เอาไว้คอยปรึกษาหารือ และชวนกันขบคิดทั้งด้วยเรื่องของเนื้อหา ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างรอบคอบ

 

การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมอง จากกลุ่มเรียนรู้ที่มีช่วงวัยที่หลากหลายนี้ได้ก่อให้เกิดการต่อยอดความคิดซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี  ในกลุ่มของครูอ้อ มีคุณครูก้อย - จุฑารัตน์ และคุณครูนัท – นันทกานต์ ที่สอนในหน่วยวิชาภูมืปัญญาภาษาไทยด้วยกัน มาคอยช่วยคิด คือตัวครูอ้อเอง ที่มีประสบการณ์การสอนในระดับประถมต้นและประถมปลาย  คุณครูก้อย  ที่เคยมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย  และคุณครูนัท ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยมาได้ไม่กี่ปี  ดังนั้นในพวกเราทั้ง ๓ คน คุณครูนัทจึงเป็นคนที่จำอารมณ์ความเป็นเด็กได้ชัดที่สุด  ในขณะที่ครูอีก ๒ คนก็จะมีประสบการณ์ที่ต่างออกไปมาแบ่งปัน

 

โชคดีที่ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน ครูอ้อ และคุณครูนัทได้มีโอกาสไปเข้าอบรมการเรียนการสอนแนววอดอล์ฟ ในวิชา Blackboard drawing ทำให้ได้ไปเรียนรู้กระบวนการวาดภาพจากนิทานที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับการทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต้องการได้

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ครูต้องนำมาคิดร่วมด้วยในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบในแต่ละตอนคือ ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้แบบเปิด (Open Approach) ที่เริ่มต้นทำกันอย่างจริงจังเมื่อต้นปีการศึกษานี้  หัวใจสำคัญของ OA คือการใช้สถานการณ์ปัญหามาสร้างให้ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้  และการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้รู้จักวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ของตนเอง และวิธีการเรียนรู้ของเพื่อนด้วยการเปิดใจรับฟังเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน

 

เมื่อปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้มาประกอบเข้าด้วยกัน หน่วยการเรียนรู้ ตอน “ภาษาสื่อภาพ ภาพสื่อภาษา” จึงเกิดขึ้นมาและเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ของทั้งครูและศิษย์ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในบันทึกชื่อ ภาพของฉัน ภาพของเธอ  http://www.gotoknow.org/blog/krumaimai/444994

 

และ การเรียนรู้ในตอนนี้ก็ได้ทำหน้าที่เป็น met  before ให้กับการเรียนรู้ที่ออกแบบเอาไว้อย่างต่อเนื่องไปอีก  ๓ ตอน  แต่ที่ส่งผลยาวนานกว่านั้นก็คือ กิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นโอกาสและพื้นที่ของการค้นพบศักยภาพในการแสดงออกทางการเขียนของตน หากเขาได้พัฒนาทักษะการรับรู้ถึงความสามารถของตน  การหยั่งถึงวิธีการเรียนรู้และวิธีคิดของผู้อื่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้เขาเกิดความสามารถในการเรียนรู้ไปจนตลอดชีวิต

 

 

หมายเลขบันทึก: 455650เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2011 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถูกใจมากๆค่ะน้องครูใหม่..วิธีเล่าอ่านเข้าใจง่าย..ไม่ซับซ้อนยุ่งยากด้วยคำโตๆดูโก้ๆ แต่ยากที่จะเข้าใจ..และไม่มีข้อความด้านลบกระทบผู้ใด..ประทับใจค่ะ :)

ขอบพระคุณพี่ใหญ่มากค่ะ ที่ช่วยสะท้อนให้ได้รับรู้ข้อดีของวิธีถ่ายทอด

ใหม่ค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท