ชีวิตที่พอเพียง : 92. ไม่ชอบคนเหลาะแหละ


         ที่จริงการเขียน บล็อก เราเน้นบันทึกเชิงบวก     ดังนั้นชื่อเรื่องนี้จึงไม่ค่อยดี    แต่จริงๆ แล้วผมต้องการสื่อว่าในชีวิตของผม ผมเลือกที่จะคบค้าและร่วมงานกับคนที่เป็น "คนจริง"

         เมื่อวาน หมอศิริวัฒน์ ผอ. สวรส. มาปรารภว่าอยากให้ผมช่วยแนะนำคนมาทำงานที่ สวรส.      เพราะเห็นว่าผมหาคนมาทำงานที่ สกว. ได้ดีมาก     นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมภูมิใจนะครับ     เราประสบความสำเร็จมากจริงๆ ในการเลือกเฟ้นคนมาทำงานระดับผู้บริหารที่ สกว.     คำปรารภของหมอศิริวัฒน์เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนบันทึกนี้  

         วิธีเลือกเพื่อนร่วมงานของผมเน้นที่ลักษณะการเป็นคนทำงานจริงจัง     เป็นคนซื่อสัตย์  ไม่เห็นแก่ตัว  ทำงานเป็นทีมได้  เรียนรู้ได้     ถ้าเป็นระดับบริหาร ก็จะดูสิ่งที่เรียกว่า track record หรือประวัติความสำเร็จในการทำงาน     ดูจิตใจด้านเห็นแก่ส่วนรวม     และที่สำคัญ ความสามารถเชิงสังเคราะห์ เชิงภาพรวม หรือเชิงการคิดรวบยอดเพื่อการดำเนินการต่อ     และสำคัญที่สุด คนที่เห็นคุณค่าของงานที่ทำจริงๆ     

         ผู้บริหารต้องสามารถทำตัว ปฏิบัติตัว แสดงความสามารถ ให้เป็นที่นับถือ เชื่อถือ ของภาคีที่มาร่วมงานได้     ภาษาอังกฤษว่าต้อง master respect ของผู้คนที่มาเกี่ยวข้องกับงานได้     และผมต้องการการ master respect ผ่านการทำงานร่วมกัน     ไม่ใช่ master respect เพราะอาวุโส  หรือเพราะวางตัวในฐานะที่สูงกว่า     เช่นเป็นผู้จัดสรรเงิน  หรือเป็นผู้ประเมิน   

         ที่สำคัญ ก่อนจะชวน/เชื้อเชิญ หรือเลือกมาทำงาน ผมจะบอกความต้องการของเราก่อน     และผมจะบอกอย่างชัดเจนที่สุดว่างานที่จะทำต้องการการทุ่มเทอุทิศตัวแบบทำงานเต็มเวลาจริงๆ      ไม่ใช่เต็มเวลาแบบราชการ     คือต้องใช้เวลาครุ่นคิดถึงงานอยู่เสมอ     เพราะงานที่ผมรับทำนั้น ไม่ใช่งานที่มีรูปแบบตายตัว ในลักษณะงานประจำ      แต่เป็นงานที่เรายังไม่รู้เลยว่าทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ     ต้องอาศัยความฝันหรือจิตนาการและการทดลองทำ      ซึ่งไม่ใช่แค่ทดลองแบบเดาสุ่ม     แต่ต้องมีวิธีคิด มียุทธศาสตร์ และกล้าลอง      งานแบบนี้คนที่ชอบจะสนุก และรู้สึกท้าทาย     คนที่ไม่ชอบจะทนไม่ได้ เพราะไม่มีรูปแบบตายตัว

         ดังนั้นคนที่ผมจะชวนหรือเชิญมาเป็นผู้บริหารต้องเป็นคนที่ผมเดาว่าชอบงานท้าทาย และไม่มีรูปแบบตายตัวแบบนี้     ซึ่งบางครั้งผมก็เดาผิด     แต่ในการทำงานแบบทำไปร่วมกันเรียนรู้ไป นั้น     ในที่สุดเราจะบรรลุผลสำเร็จ     คนนอกเขาไม่รู้ความล้มเหลวระหว่างทาง  เห็นแต่ความสำเร็จที่ปลายทาง      จึงคิดว่าผมเก่งในการหาคน เลือกคน     ซึ่งทั้งจริงและไม่จริง

         ผมมีข้อสังเกต ว่าคนไทยจำนวนมากมีนิสัยหลาะแหละ     ไม่ทำอะไรจริงจัง    ไม่อดทน ไม่รักงาน    ผมเคยได้ยินคนพูดในการประชุม KM ครั้งหนึ่งว่า "อย่าพูดเรื่องงาน  ปวดหัว"     ผมดูท่าทีของเขาแล้ว  รู้สึกว่าผู้พูดเป็นคนเหลาะแหละ     ผมบอกตัวเองว่าคนแบบนี้ผมไม่มีวันเลือกมาทำงานด้วยเด็ดขาด

        ผมโชคดี ที่ในช่วง ๑๓ ปีที่ผ่านมา มีโอกาสเลือกเพื่อนร่วมงานด้วยตนเอง      คนที่รู้กิตติศัพท์ผมเขาก็เลือกตัวเองไปชั้นหนึ่งแล้ว     คือคนกลัวงานหนัก กลัวการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ก็จะไม่มาสมัคร      คนที่ชอบเรียนรู้ ไม่กลัวงานหนัก ก็จะมา     คือคนเหลาะแหละจะไม่กล้ามาทำงานกับผม    ถ้าเขารู้จักผมมาก่อน

วิจารณ์ พานิช
๑๓ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 45541เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์

      มีครั้งหนึ่งตอนคุยกันในสภากาแฟวิจัยที่ มน. เกี่ยวกับสี่แยกอินโดจีน หนูเคยได้ยินบุคคลท่านหนึ่งพูดถึงลักษณะของคนไทย 6 ประเภทไว้ค่ะ  แต่ไม่แน่ใจว่าแต่ละประเภทจะแบ่งออกเป็นซักกี่เปอร์เซ็นต์ค่ะ

     1. หัวไว ใจสู้
     2. รอดูทีท่า
     3. เปิ่งตาลังเล
     4. หัวเหหัวดื้อ
     5. งอมือจับเจ่า
     6. บ่เอาไหนเลย
 

     ด้วยความเคารพค่ะ
     เจนจิต.

ขอโทษค่ะ (ขอแก้ไขคำผิดค่ะ)

3. เบิ่งตาลังเล
4. หันเหหัวดื้อ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท