วิธีสอนแบบชี้ทาง แต่ไม่พาเดิน


ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง เธอคือผู้เดินทาง ...ซึ่งผมเห็นว่านี่คือการ “พบกันครึ่งทาง” ระหว่างครูศูนย์กลาง หรือ นักเรียนศูนย์กลาง

วิธีสอนที่ดีที่สุด

 

ผมได้ทิ้งงานวิศวกรวิจัยกับองค์กรอวกาศในมหาประเทศที่ทำมาสิบกว่าปี (จนถึงพศ. ๒๕๓๘)  มาเป็นครูบ้านนอกในประเทศไทย  เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ทำงานที่ใฝ่ฝันเสียที

 

แต่นั้นมา ผมได้ครุ่นคิดหาวิธีการสอนที่ดีที่สุด สำหรับนักเรียนไทย และนักเรียนโลกด้วย  ผมว่าผมคิดออกเมื่อสักประมาณพศ. ๒๕๔๕ จึงอยากขอฝากไว้ให้ประดาครูผู้เป็นเพื่อนร่วมอาชีวะทั้งหลายโปรดช่วยกันนำไปรำพึงต่อด้วยครับ

 

ผมเห็นว่าการสอนแบบ นร.เป็นศูนย์กลางนั้น (นรศ.)  (ตามพรบ.การศึกษา ๒๕๔๒)  เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับบางช่วงอายุเท่านั้น แต่ถ้านำมาใช้แบบหว่านแห จะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่สังคม  เหมือนดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งผมได้แจงแสดงหลักฐานไว้มากหลาย แต่ไม่มีใครสนใจสักคน

 

ผมเห็นว่าวัยที่เหมาะกับ นรศ.  คือ อนุบาล ป 1-2  และ ป.โท-เอก  กล่าวคือ ที่ต้นน้ำและปลายน้ำ เท่านั้น

 

ส่วนตรงกลางน้ำ คือ ประถมปลาย มัธยม และ ป ตรี ต้องปรับมาใช้ครูเป็นศูนย์กลาง  เรื่องนี้ยาว...ผมได้เขียนไว้มากหลายแล้วในอดีต ว่างๆมีเวลา จะเก็บเอามาร่อนตะแกรง แถลงใหม่ เป็นรอบที่สามสิบ  

 

แต่โดยคร่าวๆ คือ แรกเพาะเมล็ดพันธุ์นั้น เราต้องการปลูกฝังความกล้าคิด กล้าฝัน กล้าแสดงออก ไว้ในดวงจิตบริสุทธิ์ของเขา ...ถ้าเรายัดความรู้มากไป จิตเขาก็เต็มเสียแต่เนิ่นๆ แล้ว  

 

เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ผู้โปรแกรมอัดข้อมูลใน ROM ไว้หมดแล้ว RAM ก็แทบไม่เหลือพื้นที่ เพราะ rom+ram = constant

 

ส่วนตรงกลางๆ เราต้อง “ป้อนความรู้”  เพราะทุกวันนี้ต่างจากสมัยก่อนที่ความรู้ได้สะสมไว้จนมีหลายเล่มเกวียน ขืนปล่อยให้แต่ละคนไปลองผิดลองถูกเอาเอง เรียนรู้แบบลูกวัวควาย  โดยครูเป็นเพียงผู้ช่วย (facilitator) มันจะไม่มีแรงพอ ไม่ทันกาล ไม่มีปสภ.  

 

แต่การป้อนความรู้นั้นต้องป้อนแบบวิธีอันมีปสภ. ยิ่ง ของครูผู้ยิ่งใหญ่ (ไพศาลคุรุ = พระพุทธเจ้า)  ที่ทรงสอนว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง เธอคือผู้เดินทาง ...ซึ่งผมเห็นว่านี่คือการ พบกันครึ่งทาง” ระหว่างครูศูนย์กลาง หรือ นักเรียนศูนย์กลาง

 

ครูต้องฝึกตนให้มีความรู้พอที่จะชี้ทางได้ถูก เพราะได้เคยคลำหาทางและทดลองเดินทางนั้นมาจนช่ำชองแล้ว   จากนั้นก็มาชี้ช่องและแนะให้เด็กเดิน โดยเด็กต้องเดินทางด้วยตนเอง

 

เด็กทดลองเดินทางไป..ก็สะดุดตอไม้ หกล้มปากแตก หรือชมดอกไม้ไปพลาง.. ก็ไม่ว่ากัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ด้วยกันทังนั้น

 

แต่ถ้าครูพาเข้าทาง พาเดินทางชี้ชมดอกไม้ ผีเสื้อทุกตัว ไปเสียหมดทุกอย่าง เด็กก็ไม่สนุก เบื่อ เป็นการเรียนรู้แบบเดินตามครูเซื่องๆ ไปอย่างนั้นเอง  เห็นดอกไม้สวยที่ตัวเองชอบเป็นพิเศษ (แต่ครูไม่ชอบ) จะขอหยุดชมก็ไม่ได้ ต้องเดินตามขบวนที่ครูนำ

 

พอหยุดดูชมในสิ่งที่ตนรักเสียเพลินนาน    อ้าว ..ครูและหมู่หายไปไหนแล้ว ... จะคลำหาทางออกป่าก็ไม่เจอ ก็หลงป่าไปเตลิดเถิดเทิง  ทั้งนี้เพราะครูไม่ได้ ชี้” แนวทางไว้แต่แรก

 

วิธีการสอนแบบ ชี้ทาง”  ที่ว่านี้คือ...ครูสอน หลักการ”  และ “วิธีการอย่างคร่าว” เท่านั้น อย่าลงรายละเอียดของวิธีการ ส่วนรายละเอียด ให้นร. นศ. ไปศึกษาหาเรียนรู้กันเอาด้วยตนเอง

 

แต่ทุกวันนี้การศึกษาเราเสียเวลามากในการนำเด็กเดินทาง ซึ่งครูเองก็เหนื่อยและเบื่อ ส่วนเด็กเองก็ไม่ได้อะไรนอกจากเดินตามครูต้อยๆ  แถวก็ยาว คนหลังๆ ก็ฟังไม่ได้ยิน และไม่ค่อยเห็นอะไรที่ครูชี้ให้ดูระหว่างทาง

 

การสอนแบบวิธี “ชี้ทาง” นี้ พอจบป.ตรี ถือได้ว่าพวกเขาเดินคลำทางออกจากป่าใหญ่ผืนแรกมาได้แล้ว มีความชำนาญการเดินป่าพอสมควร

 

สำหรับนศ. ป.โทเอกนั้น จากนี้ไปเขาต้องบุกเบิกหาเส้นทางใหม่ในป่าอันกว้างใหญ่ลึกเพื่อแสวงหา “สมุนไพร” หรือ “เครื่องเทศ” ตัวใหม่ๆ มาให้สังคม

 

ซึ่งครูเองก็เคยไปด้อมมองหามาบ้างแล้ว แต่ครูก็ยังไม่มั่นใจนัก ประกอบกับครูก็มีภาระมากที่ต้องไปหาช่องทางอื่นๆ อีกหลายทาง  ก็ต้องบอกใบ้ให้ข้อมูลเขา เพื่อให้เขาไปเดินแสวงหาข้อมูลเชิงลึกมาให้ครู ซึ่งเขาก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยในตัวเองระหว่างการแสวงหาเส้นทางนั้น

 

ซึ่งต่อไปเขาก็คงได้สะสมความรู้ความคิดจนกลายเป็น “ครูผู้ชี้ทาง” ได้อีกคนหนึ่ง

 

...คนถางทาง (๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๔)

หมายเลขบันทึก: 455051เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2011 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

ส่วนกลางน้ำ..มีแรงเหวี่ยง แรงดึงดูด มากมายหลายทิศทาง

อาจทำให้พวกเขาพลัดตกข้างทาง ตกคูน้ำ ไปไม่ถึงจุดหมาย

ครูคงต้องคอยประคับประคองให้เขาเดินไปอย่างปลอดภัย

ด้วยความขอบคุณ เข้ามาอ่านบันทึกบ้านนี้

ต้องอ่านสทีสองสมองจะได้คิด ติดตามวิเคราะห์ เหมือนการกินข้าวที่อร่อยต้องเคี้ยวนานแล้วค่อยๆกลื่นให้ลื่นใหลลงในกะเพราะ

นโยบายรัฐ แบบเหวี่ยงแห ปูพรหม เขานิยมใช้ ราชราชหัวไวสนองนโยบายทันที

แต่นโยบายชาวบ้านที่ผ่านประสบการณ์ สั่งสมเรียนรู้รัฐมักไม่ส่งเสริม

นโยบายการจัดสวัสดิการชาวบ้าน ต่อรองกันนานกว่าจะเห็นด้วย

นโยบาย การศึกษา แบบ บ้าใบไกลบ้าน ยังคงเป็นที่สนใจของคนมีตังค์อยู่

สวัสดีค่ะ

แวะมารับสาระดีๆค่ะ

ในฐานะที่เป็นผู้ชึ้ทางด้วยคนหนึ่ง

ตอนนี่ไม่แน่ใจเลยค่ะว่าจะเป็นผู้ชี้ทางได้ดีมากน้อยแค่ใหน

เพราะผู้ที่สั่งให้ชี้ยังไม่มั่นใจเลย

เดินผิด หลงทางกันตลอด

กว่าจะหาทางออกมาได้เกือบไม่ทัน

 

ขอบคุณครู อ.นุ ครูpadee พี่วอญ่า ที่ติดตามเสมอมา

ผมเห็นว่าครูเราวันนี้ส่วนใหญ่ จะชี้ทางก็ชี้ผิดเสียเป็นส่วนใหญ่เสียแล้ว ถ้าให้เดินนำจะมิยิ่งพากันหลงป่ากันไปใหญ่หรือครับ อิอิ

ผมจึงเห็นว่าก่อนอื่นเอาครูมาฝึกให้ชี้ทางให้ถูกเป็นประการแรก ประหยัดกว่ามาก ดีกว่าให้พาเดินไปในทางผิดๆ

เอ้า พอดีมีครู bonnie มาร่วมถางทางด้วยอีกคน สงสัยว่าทริปนี้สนุกแน่ (ว่าแต่ว่าถ้าหลงทางก็ขุดเผือกขุดมันกินกันกลางป่าพอประทังชีวาแล้วกันนะ ฮิฮิ)

การศึกษาไทยเรา มันมี "คนสั่งทาง" ที่สักแต่ว่าสั่งขี้มูก ถุยถ่มตามที่จำฝรั่งมา แล้วพวกเราก็ก้มหัวค้อมรับ นำไปปฏิบัติแบบเชื่องๆ ผมว่าถึงเวลาแล้ว (ถึงเวลาแล้ว ...วาทกรรมนำสมัยเลยนะเนี่ย) ที่พวกเราบรรดาครูและบาทั้งหลาย ต้องกล้ายกมือถาม ค้าน กลางสภา กันเสียที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท